อุ๊งอิ๊ง-พิธา โพลก็คือโพล (นะจ๊ะ)/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

อุ๊งอิ๊ง-พิธา

โพลก็คือโพล (นะจ๊ะ)

 

ผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนิด้าโพลล่าสุด สะท้อนภาพทิศทางการเมืองในช่วงเวลาที่รัฐบาลเหลือเวลาอยู่อีกเพียง 9 เดือน

ต่อข้อถามถึงบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ ผลปรากฏอันดับ 1 ร้อยละ 25.28 คือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ระบุยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 3 ร้อยละ 13.24 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แซงหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่หล่นไปอยู่อันดับ 4 ร้อยละ 11.68

อันดับ 5 ร้อยละ 6.80 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, อันดับ 6 ร้อยละ 6.60 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 4.20 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อันดับ 8 ร้อยละ 3.76 นายกรณ์ จาติกวณิช, อันดับ 9 ร้อยละ 2.92 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว, อันดับ 10 ร้อยละ 1.68 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, อันดับ 11 ร้อยละ 1.56 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, อันดับ 12 ร้อยละ 1.52 นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ร้อยละ 2.08 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายชวน หลีกภัย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นต้น

ภาพรวมจากผลโพล สะท้อนหลายแง่มุมการเมืองที่มีความเชื่อมโยงไปยังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ส่วนหนึ่งเพราะคะแนนนิยมของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร พุ่งทะยานขึ้นมาอยู่อันดับ 1 เหนือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หล่นไปอยู่อันดับ 4 ต่อท้ายนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ไม่เพียงเป็นประธานที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม พรรคเพื่อไทย ยังเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่เริ่มลั่นกลองนำทัพลุยหาเสียงในหลายพื้นที่จังหวัดภาคอีสาน

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์มีบทบาททางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตเพียงหนึ่งเดียวโดยพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ผลโพลที่ออกมาไม่ว่าอันดับ 1 ของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร อันดับ 3 ของนายพิธา หรืออันดับ 4 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีความสำคัญ มีความหมายต่อโฉมหน้าการเมืองในอนาคต

ที่ประชาชนต่างต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ก้าวไปข้างหน้า หลังจากตกอยู่ในภาวะเสื่อมถอยทุกด้านมานาน 8 ปีในยุคสมัยรัฐบาลลุง “3 ป.”

เศรษฐกิจพัง น้ำมันแพง เงินเฟ้อพุ่ง ส่งผลต่อปากท้องประชาชน

ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นเรื่องยากที่คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับฟื้นคืนเหมือนตอนยึดอำนาจเข้ามาใหม่ๆ

ที่สำคัญ ไม่เพียง พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่เสื่อมถอย แต่ยังลุกลามไปถึงพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลในฐานะ “นั่งร้าน” อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ตามผลโพลที่ปรากฏไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

ไม่ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล

 

หากมองถึงที่มาคะแนนนิยมของอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ที่ทะยานขึ้นมาอันดับ 1 อยู่เหนือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังเปิดตัวเข้าพรรคเพื่อไทยในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม เมื่อปลายปี 2564 และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในเดือนมีนาคม 2565

นอกจากเหตุผลที่ว่า ประชาชนต้องการเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง

ยังบวกกับแรงหนุนส่งจากแฟนคลับที่ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองอดีตนายกรัฐมนตรี

ยังอาจรวมไปถึงการที่อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ดึงเอา “เต้น” นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.คนเสื้อแดง กลับมาร่วมงานกับพรรค แต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

อันปรากฏภาพความคึกคักขั้นสุด ผ่านการเคลื่อนไหวในการลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ภายใต้ยุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า”

ประชาชนนับหมื่นคนสวมเสื้อสีแดง สกรีนข้อความ “ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม” มารอรับแน่นทุกจุด ขานรับยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์

ขณะที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคได้รับคะแนนนิยมทางการเมือง อันดับ 3 ที่ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยบุคลิกที่สุภาพ ไม่ก้าวร้าวรุนแรง การอภิปรายในสภาที่คมคาย ฉายภาพนักการเมืองคนหนุ่มรุ่นใหม่

ประกอบกับชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง ชื่นชอบนโยบายพรรคก้าวไกล ผสานเข้ากับภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งกลุ่มก้าวหน้า ประชาชนจึงต้องการให้เข้ามาบริหารประเทศ ในฐานะผู้ได้รับคะแนนนิยมอันดับ 3

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ คนปัจจุบัน ที่ร่วงลงมาอยู่อันดับ 4 ด้วยเหตุผลร้อยแปดพันประการ แต่หลักๆ เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง กระทบปากท้องชาวบ้าน เดือดร้อนแสนสาหัส ที่ยังหาทางออกไม่ได้

ลามไปยังพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะภูมิใจไทย ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้รับคะแนนนิยมอยู่ในโซนท้ายตาราง

ทั้งที่พรรค “ดูด” ส.ส.จากฝ่ายค้านเข้ามาจำนวนมาก ช่วงเวลาหนึ่งนายอนุทินถูกยกให้เป็นตัวเต็งนายกฯ สำรอง หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนเหตุผลที่ทำให้คะแนนนิยมอนุทิน ภูมิใจไทย ดำดิ่งลงตามนายกฯ นอกจากผลงานรัฐบาลโดยรวมที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ส่วนหนึ่งยังมาจากการที่กระแสประชาชนไม่ปลื้มกับ ส.ส.งูเห่า ที่ภูมิใจไทยเลี้ยงไว้ยั้วเยี้ยเต็มพรรค

 

ผลสำรวจตัวบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับอันดับคะแนนนิยมพรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนอีกด้วย ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 36.36 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ไม่สนับสนุนพรรคใด อันดับ 3 ร้อยละ 17.88 พรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคฝั่งรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 ร้อยละ 7.0 อันดับ 5 ร้อยละ 6.32 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 3.04 พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 7 ร้อยละ 2.96 พรรคไทยสร้างไทย

อันดับ 8 ร้อยละ 2.68 พรรคกล้า อันดับ 9 ร้อยละ 2.56 พรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 2.52 ระบุพรรคอื่นๆ

หากมองย้อนไปถึงผลสำรวจนิด้าโพล ในไตรมาสแรก ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 28.86 ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย อันดับ 2 ร้อยละ 25.89 พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 16.24 พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.97 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 7.03 พรรคพลังประชารัฐ

ซึ่งจากผลสำรวจทั้งช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสอง สะท้อนภาพชัดว่า พรรคพลังประชารัฐ คะแนนเป็นรองพรรคเพื่อไทย แม้แต่พรรคก้าวไกลก็ยังเหนือกว่า

ยิ่งผลสำรวจล่าสุด พรรคเพื่อไทยพุ่งขึ้นจากร้อยละ 25.89 มาเป็นร้อยละ 36.36 ขยับขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนมากเป็นอันดับ 1 ส่วนก้าวไกลคงที่ในอันดับ 3 แต่สัดส่วนคะแนนมากขึ้น

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐอันดับดีขึ้น 1 อันดับ แต่คะแนนมีแนวโน้มลดลง

สวนทางพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทั้งเพื่อไทย-ก้าวไกล ที่คะแนนนิยมขยับขึ้นมานำทั้งในส่วนของพรรค และตัวบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร หรือนายพิธา

ผลสำรวจนิด้าโพล ยังสอดรับไปในทิศทางเดียวกับผลเลือกตั้ง กทม.

โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขต ที่พรรคเพื่อไทยกวาดไป 20 ที่นั่ง พรรคก้าวไกล 14 ที่นั่ง เท่ากับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้ที่นั่งรวมกัน 34 ที่นั่ง แลนด์สไลด์ เกินครึ่ง พรรคพลังประชารัฐได้เพียง 2 ที่นั่ง

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณเชียร์ ก็พ่ายแพ้ชนิดย่อยยับ แชมป์เก่าเข้ามาเป็นที่ 5

แลนด์สไลด์ 1.38 ล้านคะแนนเป็นของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก. 50 เขต ที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีชัยชนะเหนือพรรคฝ่ายรัฐบาลว่า เป็นแค่การเลือกตั้งจังหวัดเดียว ไม่เกี่ยวกับคะแนนนิยมรัฐบาล ไม่ได้สะท้อนเรตติ้งรัฐบาล

กรณีนิด้าโพลก็เช่นเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “โพลก็คือโพล แล้วแต่ว่าใครจะทำ เห็นทำมา 3-4 อันไม่ตรงกันสักอัน ใช้วิธีโทรศัพท์บ้างอะไรบ้าง แต่ฟังไว้ แล้วดูไว้ก็แล้วกัน”

เป็นปฏิกิริยาที่พยายามด้อยค่าผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในขณะที่กระแสความนิยมตนเองอยู่ในอันดับต่ำกว่า “อุ๊งอิ๊ง” ต่อท้าย “พิธา”

น่าสนใจว่าในสภาพการณ์แบบนี้ นักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐคิดอย่างไร นักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลมองอย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองหรือไม่ เพื่อคุมเกมอย่างใกล้ชิด

พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อใครอื่นเป็นแคนดิเดตนายกฯ คู่ไปกับชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ เป็น 2 ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจติดตาม

เช่นเดียวกับติดตามเส้นทางของ “อุ๊งอิ๊ง-พิธา” สองผู้นำตัวแทนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ จะนำพาพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล สอดประสานกันอย่างไรเพื่อต่อสู้โค่นล้มพรรคฝ่ายอำนาจในปัจจุบัน

พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าหมายเลือกตั้งครั้งหน้าต้องชนะแลนด์สไลด์ กวาด ส.ส.เกินครึ่งสภา 250 เสียง

ซึ่งหลายคนวิเคราะห์ว่า ถึงพรรคเพื่อไทยมีโอกาสสูงที่จะชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 แต่จะถึงขั้นแลนด์สไลด์หรือไม่ ไม่มีใครกล้าฟันธง เพราะมองว่าเป็นเรื่องยาก เกินกว่ากำลังของพรรคในปัจจุบัน

แต่หากจะเป็นแลนด์สไลด์ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย มีความเป็นไปได้มาก จากการประสานพลังของ “อุ๊งอิ๊ง” กับ “พิธา” สัญลักษณ์ตัวแทนคนรุ่นใหม่ จากพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เข้าด้วยกัน พุ่งถล่มใส่ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคฝ่ายตรงข้ามให้ราบคาบ

ผลออกมาก็เป็นชัยชนะแลนด์สไลด์ในอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนการเลือกตั้ง ส.ก. 50 เขตที่เพิ่งผ่านไป

เพียงแต่เป้าหมายขยายใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ