เศรษฐกิจล่มสลายโดยสมบูรณ์ ของประเทศศรีลังกา/บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ "รอยเตอร์"

บทความต่างประเทศ

 

เศรษฐกิจล่มสลายโดยสมบูรณ์

ของประเทศศรีลังกา

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ได้ประกาศว่า “เศรษฐกิจของศรีลังกาได้เข้าสู่ภาวะล่มสลายโดยสมบูรณ์” หลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ถือว่าเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ประเทศศรีลังกาได้รับเอกราชมาเมื่อปี ค.ศ.1948

โดยเหตุผลสำคัญของวิกฤตที่เกิดในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการ “ขาดแคลนเงินทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศ” ในการจ่ายเงินเพื่อนำเข้าพลังงาน จนทำให้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ “ขาดแคลน” จนต้องตัดการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน เพื่อประหยัดพลังงาน และนำไปสู่ภาวะปัญหาน้ำมันดีเซลหมดประเทศ จนทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้

นอกจากนี้ ก็ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ยา และพลังงาน รวมไปถึงการขาดแคลนข้าวของต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 เพื่อเก็บรักษาเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นเอาไว้ ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน เมื่อขาดแคลน สินค้าก็ราคาพุ่งสูงขึ้น ปรากฏกลายเป็นภาพของประชาชนที่ต้องเข้าคิวเพื่อซื้ออาหารเป็นแถวยาวเหยียด

ขณะที่เด็กนักเรียนหลายล้านคน ถึงกับต้องการเลื่อนการสอบออกไป เพราะไม่มีกระดาษ!

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาล คือการประกาศให้ข้าราชการมีวันหยุดเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้มีเวลาในการปลูกผักไว้สำหรับกิน เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตการขาดแคลนอาหาร

จากประเทศที่เคยมีภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงปีละ 8 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์!!

 

ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ประเทศศรีลังกาเจอกับวิกฤตหนักหนาขนาดนี้ มาจากการ “บริหารประเทศที่ผิดพลาด” ของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่ประเทศศรีลังกาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนในตระกูล “ราชปักษา” มาอย่างยาวนาน จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีอิทธิพลกับการเมืองระดับประเทศมากที่สุดในโลก

ซึ่งเรื่องนี้ถูกมองว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศศรีลังกาเดินไปสู่ความ “ล้มเหลว”

เรื่องราวของตระกูลราชปักษา เริ่มจากการที่นายมหินทรา ราชปักษา ได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1970 ที่ถือว่าเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในสภาตอนนี้ ก่อนที่ในเวลาต่อมา นายชามาล พี่ชายของมหินทรา ก็ได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ส.เช่นกัน ในช่วงทศวรรษ 1980

โดยนายมหินทราได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากลุกขึ้นมากล่าวประณามการละเมิดสทธิมนุษยชนของกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย ช่วงปี 1987-1989 และยังเป็นผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ จนนำไปสู่การได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีแรงงานของนายมหินทราในปี 1994 สมัยที่จันทริกา กุมารตุงคะ เป็นประธานาธิบดี

ก่อนที่นายมหินทราจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2004 และในปีถัดมา ก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีศรีลังกา ต่อเนื่องสองสมัยถึงปี 2015 ขณะที่โคฐาภยะ ราชปักษา น้องชาย ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีศรีลังกาเมื่อปี 2019 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ก็ยังมีพี่น้องอีก 2 คนของตระกูลราชปักษา ที่ร่วมอยู่ในการครองอำนาจของศรีลังกา คือ ชามาล ราชปักษา และบาซิล ราชปักษา อย่างชามาลก็เป็นรัฐมนตรีชลประทาน ส่วนบาซิลก็เป็นรัฐมนตรีคลัง

นี่ยังไม่นับรวมบรรดาลูกหลานที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอีกด้วยหลายต่อหลายคน

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก นายมหินทราก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยยื่นเรื่องลาออกกับนายโคฐาภยะ น้องชายผู้เป็นประธานาธิบดี หลังจากที่ทั้งคู่ตกเป็นเป้าของต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาสู่การล่มสลายเช่นนี้

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ศรีลังกากลับฟื้นคืนมาได้ในทันที ตอนนี้ บรรดาผู้นำประเทศต่างพากันหาหนทางเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ มีพลังงานใช้ พยายามเจรจาหาซื้อน้ำมันภายใต้เงื่อนไขของการไม่มีเงินในตอนนี้ และขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศ

แต่สถานการณ์ต่างๆ ในประเทศศรีลังกายังคงดำดิ่งลงเรื่อยๆ ล่าสุด เตรียมขึ้นค่าไฟขึ้นไปอีก แถมยังประกาศยุติการขายเชื้อเพลิงทุกชนิดสองสัปดาห์ เว้นแต่ใช้เพื่อบริการจำเป็นเท่านั้น เพื่อสำรองพลังงานไว้ใช้ยามจำเป็นจริงๆ

วิกฤตของศรีลังกาครั้งนี้ถือว่าหนักหน่วงอย่างยิ่ง เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การเมืองที่แย่ๆ สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศล่มสลายได้จริงๆ!!