ศาลสูงสุดสหรัฐ กับคำตัดสินที่กระทบ ‘สิทธิทำแท้ง’/บทความต่างประเทศ

AP

บทความต่างประเทศ

 

ศาลสูงสุดสหรัฐ

กับคำตัดสินที่กระทบ ‘สิทธิทำแท้ง’

 

ผู้หญิงชาวอเมริกันจำนวนมากในเวลานี้กำลังตั้งคำถามสำคัญกับสังคมว่า “ผู้หญิงชาวอเมริกันมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้งด้วยตัวเองได้หรือไม่?”

เมื่อล่าสุด “ศาลสูงสุดสหรัฐ” ลงมติ 6 ต่อ 3 “คว่ำ” คำตัดสินคดี “โรกับเวด” (Roe v. Wade) ที่ศาลสูงสุดสหรัฐตัดสินเอาไว้เมื่อปี 1973 ที่เคยเปิดทางให้ “การทำแท้ง” เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นว่าในเวลานี้ สิทธิทำแท้งของผู้หญิงอเมริกันนั้นกำลังจะถูกศาลยึดคืนไป

จากเดิมที่ทั้งประเทศมีสิทธิทำแท้งได้เท่ากับคำตัดสินในปี 1973 แต่นับจากนี้

“แต่ละรัฐ” ในสหรัฐอเมริกาจะสามารถออกกฎหมาย “ห้าม” การทำแท้งได้ตามต้องการ จนเกิดเป็นการประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศจากกลุ่มที่มีแนวคิดสนับสนุนการทำแท้ง หรือ “Pro-Choice” ที่มองว่าการทำแท้งเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงที่ควรจะเลือกได้ด้วยตนเอง

 

จุดเริ่มต้นของการการต่อสู้ทางสังคมครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นจากคดี “โรกับเวด” หรือคดีระหว่าง “เจน โร” และ “เฮนรี เวด”

“เจน โร” เป็นนามแฝงของ “นอร์มา แม็กคอร์เวย์” หญิงโสดวัย 22 ปี ไม่มีงานทำ และกำลังตั้งท้องลูกคนที่ 3 ยื่นฟ้องต่อรัฐเท็กซัสในปี 1969

แม็กคอร์เวย์ต้องการทำแท้ง แต่ “รัฐเท็กซัส” ที่อาศัยอยู่นั้นกลับมีกฎหมาย “ห้ามทำแท้ง” เว้นแต่จะเป็นกระบวนการเพื่อช่วยชีวิตมารดาเท่านั้น

ขณะที่ “เฮนรี เวด” เป็นอัยการจาก “ดัลลัสเคาน์ตี้” รัฐเท็กซัส เป็นคู่กรณีของแม็กคอร์เวย์ มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของรัฐเท็กซัสอย่างเคร่งครัด นั่นส่งผลให้แม็กคอร์เวย์ดำเนิดคดีฟ้องร้องต่อ “เวด” โดยอ้างว่า “กฎหมายห้ามทำแท้ง” ของรัฐเท็กซัสไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การต่อสู้คดีล่วงเลยมาถึงปี 1973 ศาลสูงสุดสหรัฐมีคำวินิจฉัยด้วยมติ 7-2 คุ้มครองสิทธิของแม็กคอร์เวย์ในการทำแท้งได้

ศาลสูงสุดให้สิทธิผู้หญิงอเมริกันสามารถตัดสินใจทำแท้งได้ในช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งภรรภ์โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่รัฐสามาถจำกัดสิทธิบางอย่างได้ในการตั้งครรภ์ช่วง 4-6 เดือน และสามารถห้ามทำแท้งได้ในช่วงอายุครรภ์ 7-9 เดือนได้

แม้แม็กคอร์เวย์ที่สู้คดียาวนานถึงเกือบ 4 ปี ไม่ได้ทำแท้งตามที่ต้องการ โดยคลอดลูกสาวระหว่างการสู้คดีและยื่นเรื่องให้มีผู้รับอุปการะต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ครั้งนี้ส่งผลให้กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ต้องเป็นไปตามคำตัดสินของศาลสูงสุดที่ “มีอำนาจวินิจฉัย” ตีความประเด็นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้กับทุกรัฐในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

กลับมาที่คำตัดสินของศาลสูงสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นคดีที่มีชื่อว่า “ด็อบบ์กับแจ๊กสัน” โดย “ด็อบบ์” คือชื่อของ “โธมัส ด็อบบ์” นายแพทย์สาธารณสุขแห่งรัฐมิสซิสซิปปีในฐานะตัวแทนของรัฐ

ส่วน “แจ๊กสัน” คือชื่อคลินิกที่รับทำแท้ง ยื่นฟ้องต่อรัฐมิสซิสซิปปี หลังจากในปี 2018 มีการออกกฎหมายห้ามทำแท้งหลังอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ พร้อมกับมีข้อยกเว้นจำกัดซึ่งไม่รวมถึงการถูกข่มขืนและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้มีพันธุกรรมใกล้ชิดกันเข้าไปด้วย

คลินิกแจ๊กสันอ้างว่าการออกฎหมายดังกล่าวของรัฐมิสซิสซิปปี เป็นการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ

คดีต่อสู้กันยาวนานเช่นเดียวกันก่อนที่เรื่องจะถูกนำขึ้นสู่ศาลสูงสุด ซึ่งสุดท้ายตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 เสียง ให้ฝั่ง “ด็อบบ์” ชนะคดี ทำให้คำตัดสินในคดี “โรกับเวด” เมื่อ 50 ปีก่อนเป็นโมฆะลงโดยปริยาย

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ศาลสูงสุดสหรัฐมีผู้พิพาษาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม 6 เสียงต่อผู้พิพากษาสายเสรีนิยม 3 เสียง ซึ่งสัดส่วนเอียงข้างดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ที่สามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมเข้าไปดำรงตำแหน่งได้มากถึง 3 คน จนฝั่งอนุรักษนิยมมีเสียงข้างมากเหนือผู้พิพากษาฝั่งเสรีนิยมถึง 2 เสียง

ผลที่ตามมาจากคำตัดสินในครั้งนี้อาจส่งผลให้ 26 รัฐในสหรัฐอเมริกาฐานเสียงพรรครีพับลิกันที่มีนโยบายอนุรักษนิยม จะสามารถพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ให้สิทธิในการทำแท้งให้เข้มงวดมากขึ้น หรืออาจถึงขั้นออกกฎหมายห้ามทำแท้งในทุกกรณีตามมาได้

ขณะที่งานวิจัยของ “Planned Parenthood” องค์กรให้บริการยุติการตั้งครรภ์ระบุว่าคำตัดสินดังกล่าวอาจทำให้ผู้หญิงอเมริกันที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์จำนวนราว 36 ล้านคนจะไม่สามารถเข้าถึงบริการทำแท้งได้เลยหลังจากนี้

 

บทความในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สเองยอมรับว่า คำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐจะส่งผลให้ผู้หญิงเสี่ยงที่จะต้องทำแท้งแบบผิดกฎหมายและอันตรายกับสุขภาพและชีวิตมากขึ้น

การเข้าถึงการทำแท้งอาจยังคงเข้าถึงได้สำหรับผู้หญิงในรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครตที่มีนโยบายเสรีนิยม รวมไปถึงผู้หญิงที่มีเงินมากพอที่จะเดินทางไปทำแท้งในรัฐอื่น แต่สำหรับผู้หญิงที่ยากจน โดยเฉพาะในรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมแล้ว การเข้าถึงการทำแท้งนั้นจะเป็นสิ่งที่ท้ายทายอย่างยิ่ง

ด้านผลสำรวจของ “ซีเอ็นเอ็น” เกี่ยวกับคำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐนั้นก็มีผลที่น่าสนใจเมื่อพบว่ามีชาวอเมริกัน 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการให้ศาลสูงสุดคว่ำคำตัดสินคดี “โรกับเวด” ลง

แต่ก็มีชาวอเมริกันอีกมากถึง 69 เปอร์เซ็นต์ที่คัดค้านคำตัดสินดังกล่าว

หลังจากนี้เรื่อง “สิทธิการทำแท้ง” ของผู้หญิงในสหรัฐคงจะเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ทางการเมืองในสหรัฐ ระหว่างพรรครีพับลิกัน พรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมที่สนับสนุนแนวคิด “Pro-Life” สนับสนุนสิทธิของตัวอ่อนครรภ์มารดา ที่มองคำตัดสินของศาลสูงสุดครั้งนี้เป็นเหมือนกับชัยชนะ

ขณะที่พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีนโยบายแบบ “Pro-Choice” เองก็ยืนหยัดในจุดยืนเรื่องสิทธิการทำแท้ง และหวังจะให้การเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ต่อไป