ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
ลึกแต่ไม่ลับ
จรัญ พงษ์จีน
โพลก็คือโพล
“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาสครั้งที่ 2/2565” ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
คำถามที่ว่า “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้” พบว่า
อันดับ 1 “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ร้อยละ 25.28 อันดับ 2 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ร้อยละ 18.68 อันดับ 3 “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 13.24 อันดับ 4 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 11.68 อันดับ 5 “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ร้อยละ 6.80 อันดับ 6 “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ร้อยละ 6.60 อันดับ 7 “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ร้อยละ 4.20 อันดับ 8 “นายกรณ์ จาติกวณิช” ร้อยละ 3.76 อันดับ 9 “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ร้อยละ 2.92 อันดับ 10 “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ร้อยละ 1.68
เมื่อถามว่า “พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้” พบคำตอบว่า อันดับ 1.พรรคเพื่อไทยร้อยละ 36.36 อันดับ 2.ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย ร้อยละ 18.68 อันดับ 3.พรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.88 อันดับ 4.พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7 อันดับ 5.พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 6.32 อันดับ 6.พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 3.04 อันดับ 7.พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.96 อันดับ 8.พรรคกล้า ร้อยละ 2.68 อันดับ 9.พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 2.56
ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ครั้งนี้ มีความแตกต่างกับ “นิด้าโพล” ครั้งที่แล้ว ในคำถามเดียวกัน “วันนี้ ประชาชนอยากให้ใครเป็นนายกฯ” อันดับ 1 “ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้” ร้อยละ 36.54 อันดับ 2 “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 16.93 อันดับ 3 “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ร้อยละ 10.74 อันดับ 4 “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” ร้อยละ 10.55 อันดับ 5 “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ร้อยละ 5.51
การสำรวจกระแสนิยมทางการเมือง “โพล” เหมือนกระจกวิเศษที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทายผลออกมาถูกต้องตรงเป๊ะแทบทุกครั้ง ไม่ต้องดูไกลไป กรณีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง “นิด้าโพล” และสำนักอื่นๆ กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง หวยออกที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นำโด่งแบบม้วนเดียวจบมาตลอด และผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม “ชัชชาติ” ชนะถล่มทลาย แลนด์สไตล์มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์กว่า 1.38 เสียง ทุบสถิติของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ที่เคยทำไว้เมื่อปี 2556 อย่างกระเจิดกระเจิง
โพล คือกระจกเงาสะท้อน มีผลดีมากกว่าผลเสีย หากหยิบฉวยมาแก้ไขปรับปรุง ป้องกันการทำผิดทำพลาด ให้กระแสนิยมกลับฟื้นคืนมา แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องของนานาจิตตัง เป็นความเชื่อส่วนบุคคล แล้วแต่มุมมอง
มี 2 คนกลับไปมองอีกอย่างซะงั้น คนแรก “พล.อ ประยุทธ์” ระบุว่า “โพลก็คือโพล ก็แล้วแต่ใครเป็นคนทำ เห็นทำมา 3-4 ครั้งก็ไม่ตรงกันสักอัน”
ขณะที่ “พี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” มีมิติทางความคิดพิมพ์เดียวกัน “อย่าไปเชื่อโพลมาก บางทีไปถามเด็ก แต่คนอายุ 35 ปีขึ้นไปยังสนับสนุนเราดีกว่าเดิมด้วย ผมมั่นใจว่าครั้งหน้าได้ไม่ต่ำกว่า 150 ที่นั่ง 2 เดือนที่ตั้งพรรคเราได้ ส.ส.กว่า 100 คน ทำงานมา 4 ปี มีผลงานมากมาย จะไม่ได้ 150 เสียงได้อย่างไร ครั้งหน้าใครที่อยู่กับเราได้แน่นอน”
“ลุงป้อม” นั่งในกระด้งแล้วยกตัวเอง เชื่อว่า “พปชร.” เหาะได้
ที่น่าประหลาดใจ ไม่ว่าโพลกี่สำนักทำการสำรวจ ทั้งประเด็น “บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ” หรือ “พรรคการเมืองใดที่จะสนับสนุนในวันนี้”
ปรากฏว่า “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่รั้งอันดับ 2 ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ชื่อหลุดวงโคจร จมกระเบื้องไปอยู่โซนท้ายตารางสุด ไม่ติด “ท็อปเท็น”
ขณะเดียวกัน “พรรคภูมิใจไทย” ต้นสังกัด เลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กวาดที่นั่ง ส.ส.มามากถึง 51 ที่นั่ง จากบัญชีรายชื่อ 12 คน และเขตเลือกตั้ง 39 คน เข้าป้ายมาในลำดับที่ 5 แปลงหลาว เป็นฐานกำลังหลัก ช่วยค้ำบัลลังก์ให้รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยืนยงคงกระพันได้นานและดีมากที่สุด แต่กลับติดทำเนียบนาม จากผลสำรวจมาในลำดับที่ 9
ทั้งๆ ที่หลังร่วมรัฐบาล “ตู่ 1” เป็นต้นมา “ภูมิใจไทย” โชว์อานุภาพของการดูด ใช้มอเตอร์ที่มีกำลังสูง ผสมผสานแรงดูดเชิงกล ได้ ส.ส.งอกเพิ่มขึ้นมา 11 คน จากก้าวไกลหรืออนาคตใหม่เดิม “พลังประชารัฐ” ก็ไม่ละเว้น ขนคณะมา 3-5 คน แถมล่าสุดไปไล่เก็บ “งูเห่า” ข้างกำแพงบ้าน และฝากเลี้ยงไว้ที่ริมรั้วบ้านหลังเดิม “เพื่อไทย” อีก 2-3 ราย
ตอนนี้ “ภูมิใจไทย” ใหญ่บะละฮึ่ม มี ส.ส.ทั้งที่เปิดเผยตัวตน และหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในรูมากถึง 77 คน
“ภูมิใจไทย” มีฐานกำลังเป็นรองพลังประชารัฐแค่ไม่กี่เสียง แต่ “2 น.” บริหารการเมืองได้ยอดเยี่ยม สงบเยือกเย็นดุจภูผา มีโควต้ารัฐมนตรีอยู่ 7 ที่นั่ง ตามสัดส่วนเดิม 51 ที่นั่ง
ประกอบด้วย 1. “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ-รมว.สาธารณสุข 2. “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม 3. “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 4. “นายทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย 5. “นางมนัณญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ 6. “นางกนกวรรณ วิลาวัลย์” รมช.ศึกษาธิการ 7. “นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.คมนาคม
หาก “ภูมิใจไทย” ไม่นิ่ง ต้องต่อรองขอโควต้ารัฐมนตรีเพิ่มตามสัดส่วนที่ ส.ส.ในสังกัดงอกเพิ่มขึ้นมา ถ้าเอาตัวเลข 77 เสียงมาเป็นตัวตั้ง ก็ต้องได้ตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างน้อยก็ 1 ว่าการ และ 1 รัฐมนตรีช่วย แต่ภูมิใจไทยอยู่เป็น ไม่เหลิงคิดว่าตัวเองใหญ่ ในทางปฏิบัติเลยเสียงดังฟังชัด
หาก “พล.อ.ประยุทธ์” รอดสันดอน ลากยาวอยู่จนครบเทอม ศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป จะระเบิดเถิดเทิงขึ้นในปี 2566
ซึ่ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ทำการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว เป็น 400 เขตทั่วประเทศ เพิ่มขึ้น 50 คนจากปี 2562 และบัญชีรายชื่ออีก 100 ที่นั่ง
“ภูมิใจไทย” มีของตายอยู่ในมือ มากมายทั้งภาคอีสาน-กลาง-ใต้ คาดว่าจะได้ที่นั่งเพิ่ม โอกาสที่จะเข้าป้ายเป็นอันดับ 2 รองเพื่อไทย มีความเป็นไปได้สูงมาก
โดยเฉพาะสนามเลือกตั้งปักษ์ใต้บ้านเรา “ภูมิใจไทย” ได้ของดีมีชาติตระกูลมาเสริมทัพ เติมความแข็งแกร่งมากมายหลายจังหวัด มีโอกาสที่จะคว้าที่นั่งเลข 2 หลัก จากที่มีอยู่ขณะนี้ 8 ที่นั่ง
โอกาสที่ “ภูมิใจไทย-เสี่ยหนู” ตอนนี้ ดูดีมีภาษีกว่า “พปชร.-ประยุทธ์” เสียด้วยซ้ำ