‘แปลกแยก’ จากประชาชน/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘แปลกแยก’ จากประชาชน

 

เพราะเป็นประเทศที่ดูเหมือนพัฒนามาด้วยเจตนาไม่ให้ความรู้กับประชาชนเพื่อเข้าใจ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ทำให้จนป่านนี้การปกครองที่เรียกว่า “ระบบรัฐสภา” ในความหมายที่ควรจะเป็น ดูจะยังห่างไกลจากความรู้ความเข้าใจของคนไทยอีกมาก ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งตัวสมาชิกสภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส.เอง

ประเทศที่ผู้คนเข้าใจประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ย่อมไม่มีทางที่จะมีข้อสรุปว่า “คณะรัฐมนตรีไม่ให้เกียรติรัฐสภา” กระทั่งประธานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องเตือน “นายกรัฐมนตรี” ให้จัดการเรื่องตอบกระทู้ของ ส.ส.ให้เรียบร้อย ไม่ใช่ละเลยจนเสียหายต่อ “ประชาธิปไตย” ที่รัฐสภาเป็นศูนย์กลางอำนาจที่แท้จริง

ความไม่เข้าใจในระบอบทำให้แต่ละฝ่ายวางท่าทีหรือทำหน้าที่อย่างที่ควรไม่ถูก

อย่าว่าแต่คนอื่น แม้กระทั่ง ส.ส.เอง หากจะบอกว่าไม่เข้าใจหน้าที่ของตัวเองก็ไม่น่าจะผิด

 

ตัวอย่างชัดๆ คือช่วงโกลาหลของการย้ายพรรค มีเหตุผลหนึ่งที่ ส.ส.ใช้เป็นข้ออ้างคือ “เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทำงานได้ง่ายกว่า”

เมื่อถามว่า “งานอะไร” คำตอบคือ “งานพัฒนาพื้นที่ในเขตเลือกตั้ง” เพราะ “ส.ส.รัฐบาลประสานของบประมาณได้ง่ายกว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน กระทรวงต่างๆ พร้อมจะเอื้อเฟื้อให้มากกว่า”

แน่นอนว่านั่นคือความจริง แต่เป็นความจริงที่เลวร้าย เพราะความเข้าใจในหน้าที่ของ ส.ส.หลุดไปจากความหมายของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอย่างแบบจะสิ้นเชิง

ด้วยหน้าที่ในการจัดการพัฒนาพื้นที่นั้นเป็นงานปกติของรัฐบาลโดยมีข้าราชการเป็นกลไก

ส่วน ส.ส.นั้นหน้าที่หลักในการตรากฎหมายให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ

การทำงานแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของ ส.ส.

แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนจะกลับหัวกลับหาง ส.ส.จำนวนไม่น้อยให้ค่ากับการสร้างผลงานในพื้นที่มากกว่าผลงานในบทบาทของสมาชิกสภา

เมื่อทั้งที่ “ประชาธิปไตย” เป็นระบอบการเมืองที่ให้น้ำหนักกับ “อำนาจประชาชน” แต่ศูนย์กลางอำนาจไปอยู่ที่ “รัฐบาล” แทนที่จะเป็น “รัฐสภา” ทำให้ความสำคัญของ “พรรคการเมือง” ไม่เท่ากับ “คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี”

การตัดสินใจจะลงคะแนนให้ใครถูกผูกโยงไว้กับ “แคนดิเดตนายกฯ” มากกว่าจะเป็นศรัทธาที่ให้กับพรรค

 

จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจอะไรที่ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด ในคำถาม “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” ผลจะออกมาเป็น “แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวของ “ทักษิณ ชินวัตร” มากที่สุดคือร้อยละ 25.28 รองลงมาเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร้อยละ 18.68 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหลือแค่ร้อยละ 11.68 ถูกทิ้งห่างอย่างเหลือเชื่อ

แต่เมื่ออันดับรั้งท้ายเป็น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่มีร้อยละ 1.56 กับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ร้อยละ 1.52 ความเหลือเชื่อนั้นจึงพอจะให้หาเหตุผลได้อยู่บ้าง

นั่นคือ “ความเอือมระอาต่อการสืบทอดอำนาจ”

คะแนนนิยมของผู้นำพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจจึงระเนนระนาด

ไม่สมราคาของพรรคที่มีภาพของความแข็งแกร่ง มี ส.ส.ย้ายมาเข้าพรรคกันคึกคัก

เหมือนหน้าที่ที่ ส.ส.เข้าใจคือ “เป็นพรรครัฐบาลทำงานได้มากกว่า” กับที่ “ประชาชนตั้งความหวัง” นั้นเป็นคนละเรื่องกัน

ศรัทธาประชาชนต่อผลงาน “ส.ส.” ไม่ได้เกี่ยวกับ “ผลงานรัฐบาล”

ทำให้หากจะตีความว่า “ความเข้าใจของนักการเมือง” กับ “ความคิดของประชาชน” ในหน้าที่ของ ส.ส.เดินกันคนละทาง