ว่าด้วยเรื่องของหูฟัง Passive vs Active NC / เครื่องเสียง : พิพัฒน์ คคะนาท

Focal Utopia Tournaire Gold/Diamond Audiophile Headphones

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

 

ว่าด้วยเรื่องของหูฟัง

Passive vs Active NC

 

มีทั้งเรื่องราวและข่าวคราวของรุ่นใหม่ๆ ออกมาให้พูดถึงอยู่เนืองๆ นะครับ กับชุดหูฟังหรือ Headphones ที่เวลานี้กลายเป็น ‘คู่หู’ ที่ขาดไม่ได้ของอวัยวะประการที่ 33 ของผู้คน โดยเฉพาะมนุษย์เมืองไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็คือ ‘มือถือ’ ที่ใช้เรียกกันแทนสมาร์ตโฟนนั่นละ เพราะหากขาดหายไปในชีวิตประจำวันแม้สักเพียงอึดใจ สำหรับใครบางคนนี่อาจขาดใจเอาได้จริงๆ เลย

ด้วยทุกวันนี้สำหรับหลายๆ คนแล้ว หากจะบอกว่าสมาร์ตโฟนเปรียบได้กับลมหายใจของชีวิต, ก็คงไม่ผิดไปสักกี่มากน้อย

นั้นเอง, ที่ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอันเกี่ยวกับอุปกรณ์ชนิดนี้เติบโตอย่างที่นึกไม่ถึงเอาเลย เพราะมีจำหน่ายวางขายไปทั่วทุกแห่งหน รวมทั้งทุกระดับราคา ว่ากันตั้งแต่หลักสิบตามแผงในตลาดนัด ตามชั้นวางในร้านสะดวกซื้อ ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์เฉพาะทาง ไปยันขายกันเฉพาะในห้างระดับ Flagship Store ด้วยราคาหลักแสน หลายๆ แสน ไปยันหลักล้านก็มีให้เห็น

ชุดหูฟังราคาแพงที่สุดที่ดูเหมือนยังไม่มีใครทำลายสถิติลงได้ในเวลานี้ คือ Focal Utopia by Tournaire ซึ่งสนนราคาอยู่ที่ US$ 120,000 และหากจะให้ครบถ้วนก็ควรมีอุปกรณ์สำหรับแขวนวางเฉพาะยามที่ไม่ได้ใช้งานด้วย ซึ่งมีราคาอยู่ที่สิบเปอร์เซ็นต์ของชุดหูฟัง คือ US$ 12,000 ครับ

ส่วนชุดหูฟังที่มีราคาแพงรองลงมาเท่าที่ตรวจสอบได้ คือ Onkyo H900M ครับ ชุดนี้ (คือที่เห็นในรูป) ปิดป้ายราคาค่าตัวเอาไว้ที่ US$ 100,000 แต่ที่แพงน่าจะเป็นเพราะประดับด้วยเพชรน้ำหนักรวมถึง 20 กะรัต ซะมากกว่า

Onkyo H900M

ครับ, ก็อย่างที่บอกข้างต้น คือเรื่องชุดหูฟังนี่ มันมีราคาให้เลือกตามอัธยาศัย ก็สุดแท้แต่ละเลือกใช้งานกัน ทั้งจากความชอบ ความเหมาะสม ความคุ้มค่า, อะไรก็ว่ากันไป

อย่างไรก็ตาม ชุดหูฟังไม่ว่าจะเป็นแบบครอบหู หรือสอดเข้าช่องหูที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ต่างก็มีคุณสมบัติประการหนึ่งที่ควรนำมาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการเลือกหามาใช้งาน นั่นก็คือระบบตัดเสียงรบกวน ที่ปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของการออกแบบ

ซึ่งเทคนิคที่นิยมใช้กันในปัจจุบันก็คือ Active Noise Canceling ที่รู้จักกันในชื่อ ANC นั่นเอง

ในขณะที่ผู้ผลิตบางรายยังคงใช้การออกแบบระบบตัดเสียงรบกวนแบบเดิมๆ หรือเป็นแบบ Passive คือไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์และวงจรทางไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นวิธีป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกด้วยการออกแบบรูปทรงทางกายภาพของอุปกรณ์เพื่อการนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าหากออกแบบโครงสร้าง และรูปทรง รวมทั้งเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมแล้ว ก็สามารถปิดกั้นเสียงรบกวนจากภายนอกไม่ให้เข้าไปรบกวนเสียงที่กำลังฟังผ่านชุดหูฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

ซึ่งการออกแบบในลักษณะปิดด้านหลังที่เรียกกันว่า Closed-Back รวมทั้งการใช้แผ่นรองหรือ Ear Cup ตลอดจนสายครอบศีรษะที่สามารถปรับให้กระชับได้ ด้วยวัสดุที่มีความยืดหยุ่นและนุ่มนวล อาทิ หนังฟอกคุณภาพสูง รวมทั้งการปรับใช้ขนาดของจุกหูฟังที่เหมาะสมกับช่องหู เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยให้ชุดหูฟังแบบพาสซีฟสามารถป้องกัน หรือกั้นเสียงรบกวนที่อยู่รายรอบได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การออกแบบเพื่อตัดเสียงรบกวนหรือความสามารถในการตัดเสียงรบกวน ‘ตามธรรมชาติ’ ของการออกแบบดังกล่าว มันก็ใช่ว่าจะเป็นการตัดเสียงรบกวนที่ ‘เหมาะสม’ ในยามสวมใส่ใช้งานจริง

 

ขณะที่ระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอ็กทีฟ หรือ ANC นั้น เป็นการออกแบบวงจรทางไฟฟ้าเพื่อให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำงานตามเจตนารมณ์การออกแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละค่ายที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่เหมือนกันก็คือเมื่อไรก็ตามที่เปิดให้ระบบทำงาน อายุการใช้งานแบตเตอรี่ในการประจุเข้าแต่ละครั้งจะสั้นลง ยิ่งเปิดใช้งานเป็นเวลานานๆ หรือตลอดเวลา แบตก็จะยิ่งหมดเร็วขึ้น ขณะที่การออกแบบวงจรตัดเสียงรบกวนของชุดหูฟังประเภทนี้ ต่างก็มีคุณสมบัติในการเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน รวมทั้งประสิทธิภาพการทำงาน ที่อาจจะไม่สอดคล้องความต้องการหรือใช่ว่าจะเหมาะสมกับทุกๆ คน ซึ่งควรจะได้ทดลองก่อนตัดสินใจ

นอกจากนั้นแล้ว ชุดหูฟังแบบ ANC รุ่นใหม่ๆ มักจะผนวกคุณสมบัติที่เอื้อความสะดวกขณะใช้งานในรูปแบบต่างๆ มาให้มากมาย ซึ่งอาจจะมากเกินความจำเป็นในเวลาใช้งานสำหรับบางคนก็เป็นได้ ก็ต้องพิจารณาประเด็นนี้ประกอบการเลือกด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่ายิ่งเขาใส่อะไรเข้ามามากเท่าไร นั่นก็หมายความว่าจำนวนเงินที่เราต้องจ่ายก็จะต้องเพิ่มมากตามไปด้วยนั่นเอง

ข้อดีที่เห็นได้ชัดของชุดหูฟังแบบ ANC ที่ได้รับการออกแบบมาดีก็คือ นอกจากจะสามารถตัดเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชนิดที่สงัดจริงๆ มีแต่เพียงเสียงเพลงให้ได้ยินเท่านั้นแล้ว ยังสามารถตัดเสียงรบกวนให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมขณะสวมใส่ใช้งานอีกด้วย โดยที่ผู้ใช้สามารถเลือกระดับ หรือรูปแบบ ของการตัดบรรยากาศเสียงรายรอบได้ตามต้องการ

เป็นต้นว่า สวมใส่อยู่ในสถานบริการสาธารณะที่พลุกพล่าน จอแจ อาทิ ท่าอากาศยานหรือสถานีรถโดยสารขนาดใหญ่ ขณะที่ต้องการความเป็นส่วนตัวด้วยการฟังเพลงโปรด ก็สามารถเลือกโหมดการทำงานของชุดหูฟังให้รับรู้ความเคลื่อนไหวของบรรยากาศรายรอบได้ เช่น พอจะได้ยินเสียงประกาศต่างๆ เพื่อไม่พลาดข่าวสารสำคัญ เป็นต้นว่า การเรียกขึ้นเครื่อง หรือการเปลี่ยนเวลาของขบวนเดินรถ, อะไรทำนองนี้

ซึ่งในการทำงานนั้นนอกจากชุดวงจรประมวลผลที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องกอปรไปด้วยชุดไมโครโฟนที่ติดตั้งตามตำแหน่งต่างๆ เพื่อรับรู้บรรยกาศเสียงรายรอบด้วย โดยชุดไมโครโฟนจะทำหน้าที่รับเสียงต่างๆ แล้วส่งเข้าไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของชุดประมวลผล ซึ่งจะทำหน้าที่กรองและตัดเสียงรบกวนหรือเสียงของบรรยากาศรายรอบให้เหมาะสมกับโหมดการใช้งานที่เลือก ซึ่งในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เท่าที่ได้ลองเล่นและใช้งานพวกชุดหูฟังระบบ ANC พบว่าส่วนใหญ่ให้การทำงานในแง่นี้ได้อย่างน่าชื่นชม

คือให้รับรู้ถึงอรรถรสและความสุนทรีย์ของเสียงดนตรีได้ดี ขณะเดียวกันก็สามารถตัดเสียงรบกวน หรือกรองเสียงของบรรยากาศรายรอบได้อย่างเหมาะสม ไม่ทำลายเสียงดนตรีที่กำลังฟัง ขณะเดียวกันก็ให้รับรู้ ‘เสียง’ ของสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่พลาดข่าวสารต่างๆ ตามที่กล่าวข้าวต้นแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ในแง่ของความปลอดภัยด้วย

เพราะไม่น่าจะต่ำกว่าสองสามครั้ง (ที่เป็นข่าวแล้วนะครับ) ที่เกิดอุบัติเหตุต่อบุคคลอันเนื่องมาจากสวมหูฟังขณะเดินทาง ซึ่งบางกรณีถูกรถไฟชนจนเสียชีวิตขณะที่กำลังเดินอยู่ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

เที่ยวนี้หยิบเรื่องชุดหูฟังแบบพาสซีฟกับพวก ANC มาพูดถึง ก็เนื่องเพราะเห็นชุดหูฟัง Active Noise Canceling รุ่นใหม่ๆ ออกมากันเยอะมาก ทำให้พวก ‘ตกรุ่น’ ที่ยังอยู่ในตลาดต่างพากันลดราคาลงมาอย่างน่าสนใจ หลายๆ รุ่นปกติราคาหมื่นกว่าหรือใกล้ๆ หมื่น พอมีรุ่นใหม่ๆ ออกมา พวกตกรุ่นที่ว่าราคาลดลงอย่างฮวบฮาบ ชนิดที่เหลือไม่ถึงครึ่งก็ยังมี

เลยใคร่แนะว่าหากกำลังมองหาชุดหูฟังอยู่ ลองพิจารณาพวกตกรุ่นที่ว่าดู มีให้เลือกพอประมาณเลยล่ะครับ ถ้าเลือกเพื่อเอาไว้ใช้งานจริงๆ แล้วละก็, คุ้มครับ

เพราะหลายๆ ตัวในยุคสมัยของมันนั้น นับว่าเป็น ‘เต้ย’ ที่มีเสียงชื่นชมไม่ขาดสายเอาเลย •