ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ชัชชาติกับเส้นทางสู่ผู้นำประเทศ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุด คุณแพทองธาร ชินวัตร ก็แซงคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อันดับหนึ่งในดวงใจประชาชน

และถ้าคำนึงว่า “แพทองธาร” เพิ่งมีตำแหน่งในครอบครัวเพื่อไทยไม่กี่เดือน ความสำเร็จของแพทองธารคือชัยชนะเหนือลุงวัย 68 ที่ใช้ปืนปกครองประเทศปีที่ 8 และแจกเงินด้วยภาษีประชาชนกว่าอดีตนายกฯ ทุกคน

ตรงกันข้ามกับความเชื่อว่าอำนาจรัฐได้มาด้วยเงินหรือกระบอกปืน ความสำเร็จของคุณแพทองธารคือชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีปืน, ไม่มีเงิน, ไม่มีระบบราชการ และไม่มีอำนาจรัฐในมือเข้าปีที่ 8 ส่วนฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยอย่างคุณประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐมีทุกอย่างสมบูรณ์

ขณะที่คุณประยุทธ์ในอดีตมักใส่ร้ายป้ายสีคุณทักษิณ ชินวัตร, คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยว่าชนะเพราะเงิน คุณแพทองธารที่คะแนนนิยมพุ่งแรงกลับถูกคุณประยุทธ์ตอบโต้น้อยมาก พลังประชารัฐที่โดดเด่นเรื่องดูถูกคนเลือกเพื่อไทยกลับหุบปากไปเฉยๆ

เหมือนคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และภูมิใจไทยที่ไม่พูดอะไรเลย

 

ผลการสำรวจความเห็นของนิด้าโพลบอกว่า “แพทองธาร” คะแนนพุ่งเพราะคนรักทักษิณและพรรคเพื่อไทย และถึงแม้ประโยคนี้จะเป็นความจริงเหมือนฟ้ายังมีวันเปลี่ยน แต่ก็อาจทำให้คนเข้าใจว่าความนิยมต่อคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยเพิ่งพุ่งพรวดจนคุณแพทองธารได้อานิสงส์ไปโดยปริยาย

พูดตรงๆ ไม่ว่าจะมีรัฐประหารและการปลุกระดมมวลชนต่อต้านกี่ครั้ง ความผูกพันที่คนส่วนใหญ่มีต่อคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยไม่เคยตก ผลเลือกตั้งของประเทศหลังปี 2544 จบด้วยชัยชนะของฝ่ายทักษิณตลอด ต่อให้จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญและตั้ง กกต.เพื่อเอาเปรียบฝ่ายทักษิณทุกครั้งก็ตาม

พูดให้ตรงยิ่งขึ้น คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการสร้างความผูกพันระหว่างพรรคกับประชาชนมากที่สุดในประเทศ การยุบพรรค, คุกคาม และยัดคดีคนสำคัญของพรรคไม่เคยทำให้พรรคแพ้เลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว

แม้คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะเป็นสาเหตุสำคัญให้คุณแพทองธารขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของนิด้าโพล แต่เหตุผลอีกข้อที่คนจำนวนมากสนับสนุนคุณแพทองธารเป็นนายกฯ คือความเป็น “คนรุ่นใหม่” ของตัวคุณแพทองธารเอง

คำถามคือคำว่า “คนรุ่นใหม่” หมายถึงอะไร?

จริงอยู่ว่านานแล้วที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับ “คนรุ่นใหม่” ในการเมือง แต่ขณะที่ “คนรุ่นใหม่” ในอดีตได้แก่หนุ่มสาวที่นำเสนอตัวเองในรูปเสื้อเชิ้ตขาวและกางเกงยีนส์ “คนรุ่นใหม่” ในปัจจุบันกลับหมายถึงคนที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการและความคิดใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

ชัยชนะของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่สร้างพรรคอนาคตใหม่โดยไม่มีอดีต ส.ส. แต่กลับมีคนทั้งประเทศเลือกกว่า 6.3 ล้านคือหลักฐานสำคัญว่าสังคมต้องการ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งไม่ได้วัดโดยจำนวนวันที่หายใจบนโลก แต่คือคนที่มีความคิดเปลี่ยนแปลงประเทศ และมีความสามารถนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงๆ

ในแง่นี้ สังคมยอมรับ “คนรุ่นใหม่” เพราะคาดหวังว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นหัวหอกเปลี่ยนแปลงสังคม อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือลูกนักการเมืองอายุน้อยๆ จึงไม่ค่อยถูกมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่จนประสบความสำเร็จการเมืองมากนัก หากไม่สามารถทำให้คนเชื่อว่าเป็นหัวหอกสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

คนจำนวนมากเลือกธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ปี 2562 เพราะเชื่อว่าธนาธรสามารถเปลี่ยนประเทศ ยิ่งกว่านั้นคือทั้งธนาธรและอนาคตใหม่พูดประเด็นที่คนรุ่นใหม่เชื่อว่าประเทศควรเปลี่ยนอย่างเพศวิถี, สุราก้าวหน้า, ปฏิรูปสถาบัน, ยกเลิกทหารเกณฑ์, สร้างเศรษฐกิจใหม่, ฟื้นประชาธิปไตย ฯลฯ

อนาคตใหม่สร้างนโยบายที่สนองความต้องการคนแต่ละกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (niche market) พลังของอนาคตใหม่เกิดจากยุทธศาสตร์การสร้างพรรคให้เป็น platform ซึ่งเปิดกว้างกับทุกคนจนไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรคได้ ถึงแม้จะมีบางคนกระแนะกระแหนว่าธนาธรเสียงดังกว่าคนอื่นก็ตาม

ปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงแบบไหนที่สังคมไทยต้องการในปี 2565 จนเป็นสิ่งที่ใครก็ตามที่ต้องการเป็นผู้นำการเมืองต้องยึดกุมให้ได้จริงๆ

ถ้าธนาธรคือนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จที่สุดในปี 2562 จนเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ชัชชาติก็คือนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จแบบเดียวกันในปี 2565 ถึงขั้นยังมองไม่เห็นเลยว่าความนิยมที่ประชาชนมีต่อชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะถึงจุดสูงสุดที่ใด

ชัชชาติก็ผ่านเดือนแรกในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนนิยมพุ่งกระฉูดกว่าวันชนะเลือกตั้ง ยิ่งกว่านั้นคือกระแสความนิยมของประชาชนต่อคุณชัชชาติยังคงพุ่งไม่หยุด เช่นเดียวกับกระแสการเปรียบเทียบคุณชัชชาติกับคุณประยุทธ์ หรือแม้กระทั่งคุณชัชชาติกับรัฐมนตรีทุกคนในรัฐบาล

คุณชัชชาติไม่ใช่พวกเดียวกับรัฐบาล และรัฐบาลก็แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเหม็นขี้หน้าคุณชัชชาติตั้งแต่แรก คุณประยุทธ์แดกดันคุณชัชชาติว่ากรุงเทพฯ แค่จังหวัดเดียว คุณสุชาติ ชมกลิ่น กระแหนะกระแหนว่าชลบุรีก็มี ส.ส.แลนสไลด์ ส่วนคุณเสรี สุวรรณภานนท์ ก็แขวะว่าชัชชาติสร้างความขัดแย้งและโฆษณาตัวเองมากไป

หนึ่งเดือนที่คุณชัชชาติทำงานทำให้รัฐบาลหุบปากเรื่องคุณชัชชาติเงียบสนิท ความนิยมที่ประชาชนมีต่อคุณชัชชาติมากจนเครือข่ายรัฐบาลที่ยังโจมตีคุณชัชชาติเหลือแค่คนที่พูดแล้วมีคนฟังไม่มากนัก

ส่วนเรื่องที่โจมตีเป็นข้อหาคลิกเบทประเภทจุดยืนเรื่องสถาบัน หรือไม่ก็คือชัชชาติดวงไม่ดี

 

ความสำเร็จของคุณชัชชาติมาจากการวางตัวของคุณชัชชาติให้เป็นผู้ว่าฯ ของคนทุกคน คุณชัชชาติจึงใส่ชุดขาวต้อนรับองคมนตรีที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ได้, ไปงานตลาดราษฎรเพื่อพบเพนกวินและรุ้งได้ ซ้ำยังไม่มีใครแซะคุณชัชชาติเวลาใส่ชุดขาวแบบแซะธนาธรและปิยบุตรที่แต่งแบบนี้ไปรัฐพิธี

คุณชัชชาติทำตัวเองให้เป็น platform ของทุกฝ่าย ซ้ำยังเดินไปหาทุกฝ่ายอย่าง TDRI, สสส., องค์กรต้านโกง ฯลฯ โดยไม่สนใจข้อกล่าวหาที่บางกลุ่มโจมตีว่าองค์กรเหล่านี้เป็น “สลิ่ม” จนอาจพูดได้ว่าชัชชาติกับคนทุกฝ่ายโดยไม่สนใจเรื่องขั้วทางการเมืองหรือ “เครือข่าย” ของกลุ่มใดเลย

ชัชชาติคล้ายอนาคตใหม่ในแง่สร้างองค์กรที่ไม่มีใครเจ้าของจนเกิดองค์กรที่เป็นของทุกคน หรือพูดเปรียบเทียบก็ได้ว่าขณะที่หลายพรรคการเมืองเต็มไปด้วยคนที่เป็น “ท่าน” จนพรรคเป็นระบบนายกับบ่าว ชัชชาติกับอนาคตใหม่สร้างองค์กรแนวราบที่ทุกคนเท่ากันจนพร้อมทุ่มพลังให้องค์กร

ชัชชาติจุดประกายให้เกิดความหวังในสังคมที่คนสิ้นหวังแทบทุกเรื่อง ความหวังนำไปสู่ความเชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลง และความเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความสำเร็จในฐานะผู้นำทางการเมือง

ชัชชาติไม่ได้อยู่ในวัย”คนรุ่นใหม่” อย่างอนาคตใหม่หรือธนาธร แต่ความคิดชัชชาติใหม่จนชัชชาติเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพียงแต่ชัชชาติดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ซึ่งสามารถเลี่ยงประเด็นที่สร้างความขัดแย้งได้ง่ายกว่าธนาธรและอนาคตใหม่ซึ่งถูกทำลายหลังเลือกตั้งแค่ปีเดียว

แกนของการเมืองไทยหลังปี 2562 วางอยู่บนความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบเผด็จการ ตัวละครสำคัญล้วนเป็นบุคคลหรือกลุ่มที่สามารถระดมพลังในสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562, ม็อบราษฎรปี 2563 และชัชชาติในปัจจุบัน

แน่นอนว่าวิธีทำงานของชัชชาติแตกต่างกับอนาคตใหม่หรือธนาธร แต่ที่ทั้งสองส่วนเหมือนกันคือการเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความสำเร็จในการทำให้สังคมเชื่อมั่นในความเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงด้วย ต่อให้ชัชชาติจะไม่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แรกอย่างธนาธรก็ตาม

ขณะที่คุณประยุทธ์ทำทุกทางเพื่อยึดทำเนียบเป็นของตัวเองถึงปี 2570 ซึ่งเท่ากับ “ระบอบประยุทธ์” จะควบคุมประเทศไทยนานถึง 13 ปี คนไทยทั้งประเทศได้แสดงออกตั้งแต่ปี 2562 ว่าเดินหน้าสู่เส้นทางแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการตัดขาดจากคุณประยุทธ์อย่างสิ้นเชิง

บทเรียนของการเมืองไทยหลังปี 2562 คือสังคมไทยต้องการความเปลี่ยนแปลง, สังคมพร้อมจะทุ่มเทสนับสนุนบุคคลหรือกลุ่มที่มีศักยภาพสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วย

และหัวใจของความสำเร็จทางการเมืองมาจากการระดมพลังทุกฝ่ายในองค์กรที่เป็นแนวราบอย่างกว้างขวางที่สุดในแต่ละช่วงเวลา

ผู้นำการเมืองที่ประสบความสำเร็จคือคนที่สามารถระดมความสนับสนุนจากประชาชนได้มากกว่าคนอื่นในเวลาเดียวกัน หัวใจของความสำเร็จทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตบหมายถึงคะแนนเสียงและความยอมรับนับถือ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ใครมีสองเรื่องนี้พร้อมกันก็เป็นนายกฯ ได้เลย