แสนดี : พ่อเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผม/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

แสนดี

: พ่อเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผม

 

ใครที่เคยคุยกับแสนปิติ สิทธิพันธุ์ หรือ “แสนดี” (Sandy) ลูกชายคนเดียวของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะรับรู้ได้ถึงความทุ่มเท, จริงจังและ “รักพ่อ” ของชายหนุ่มคนนี้เป็นอย่างยิ่ง

สัปดาห์ก่อน ผมชวน “แสนดี” ตั้งวงคุยใน Suthichai Live

บอกเขาว่าไม่ใช่เป็นการสัมภาษณ์ แต่อยากจะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความอ่านของเขาที่มีต่อตัวเอง, คุณพ่อ และความฝันของตัวเอง

ผมถามแสนดีว่าชีวิตได้เปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากคุณพ่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนท่วมท้น และแสนดีกลายเป็นข่าวเกือบจะทันที

“Very surreal…very unexpected…”

อาจแปลได้ว่า “เหนือจริง…คาดไม่ถึงมาก่อน”

ในความหมายของคนอ่านหนังสือหรือถ้าเป็นภาษาของนักเขียนอย่างที่แสนดีกำลังพยายามฝึกฝนตัวเองให้เป็น คำว่า surreal อาจหมายถึง “ความฝันผสมแฟนตาซี”

นั่นหมายความว่าการที่คุณชัชชาติได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผลสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเขาและคนไทยไม่น้อยเลย

ผลที่ตามมาก็คือผู้คนสนใจเขามากขึ้น มาทักทาย มาขอสัมภาษณ์ มาพูดคุยมากขึ้น

ผมถามต่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างอื่นๆ มีอะไรบ้างไหม

“คุณพ่อผมก็ยังเป็นคุณพ่อผม ท่านกำลังทำหน้าที่ของท่านอย่างแข็งขันสำหรับคนไทย สำหรับคนกรุงเทพฯ…”

แล้วแสนดีจะกลับมาเมืองไทย…และจะช่วยคุณพ่ออะไรบ้างไหม

“ผมจบปริญญาตรีแล้ว จะหยุดหนึ่งปีก่อนทำปริญญาโท…ผมก็อาจจะช่วยคุณพ่อในทางใดทางหนึ่ง แต่จะไม่ทำอะไรที่ไปรบกวนใคร…”

ความหมายของแสนดีคงจะไม่ได้มามีตำแหน่งหรือหน้าที่อะไร แต่จะเป็นการช่วยในฐานะส่วนตัว

“ผมมีโครงการส่วนตัว และอยากจะหาประสบการณ์การทำงาน ระหว่างนี้ก็สมัครเรียนปริญญาโท…มีเรื่องราวประเดประดังกันมาเยอะแยะ”

ผมถามว่าคุณพ่อได้บอกว่าอยากให้ทำอะไรหรือเปล่า

“เปล่า ไม่มี ผมก็จะแค่ทำหน้าที่สังเกตการณ์ ผมก็ติดตามข่าวคราวของท่านมาตลอด ติดตามคลิปวีดีโอ และข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับท่าน…”

แสนดียิ้มอารมณ์ดี พร้อมกับแซวว่า “ไม่แน่นะ ผมอาจจะเป็นหนึ่งในบรรดานักวิจารณ์การทำงานของท่านก็ได้นะครับ…”

แล้วคิดว่าคุณพ่อจะว่าอย่างไร

“ท่านก็คงต้องการเสียงวิจารณ์ทางสร้างสรรค์ ท่านเป็นนักการเมือง ความคิดเห็นของคนอื่น (feedback) เป็นเรื่องสำคัญ…ท่านจำเป็นต้องมีเสียงสะท้อนจากรอบด้าน (feedback loop)

แสนดีบอกว่าคุณพ่อเป็นคนมองโลกในแง่บวกเสมอ

“แม้ว่าบางครั้งเสียงวิจารณ์นั้นอาจจะแรง แต่ท่านก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ และท่านก็เดินหน้าทำงานต่อไป ไม่ย่อท้อ…” แสนดีบอก

 

ถามว่าตอนที่รู้ว่าคุณพ่อจะสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. แสนดีคิดอย่างไร

และคุณพ่อบอกแสนดีหรือไม่ว่ามีเหตุผลอย่างไร

“ผมบอกคุณพ่อว่าท่านควรจะเดินหน้าไปเลย ถ้าท่านอยากจะทำก็ลุยไปเลย…”

แล้วตอนนั้นคิดว่าพ่อจะชนะหรือเปล่า

“ผมมีความมั่นใจมากว่าท่านจะชนะ…ผมรู้สึกว่าท่านเป็น perfect candidate (ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบ)…”

ผมแซวว่าที่พูดอย่างนั้นก็คงเป็นเพราะเป็นลูกของพ่อน่ะสิ

แสนดีหัวเราะ “ก็อาจจะใช่ ผมย่อมจะมีความลำเอียงเข้าข้างพ่ออยู่แล้ว”

ถามว่าคุณชัชชาติมีคุณสมบัติส่วนตัวอะไรที่คนนอกครอบครัวอาจจะไม่ล่วงรู้มาก่อน

“คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของท่านก็น่าจะเป็นเรื่อง Empathy (การเอาใจเขามาใส่ใจเรา)…”

ผมบอกว่าชีวิตของคุณพ่อในสายตาของแสนดีมีความหลากหลาย (จากอาจารย์มหาวิทยาลัย, ผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์, เข้าพรรคเพื่อไทยและเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค, เป็นรัฐมนตรีคมนาคม และตัดสินใจออกจากพรรคมาเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อิสระ)

“อาจจะเป็น chance และ fate สำหรับคุณพ่อก็ได้”

หมายถึงโอกาสที่ผ่านมาหรือไม่ก็เรื่องของเส้นทางที่ชะตากรรมกำหนดไว้

แสนดีอ้าง Invictus ที่ว่า I am the master of my of fate, captain of my own ship.

“ฉันคือผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง เป็นกัปตันเรือของตัวเอง…”

“Invictus” คือโคลงสั้นเขียนโดยกวีอังกฤษ William Ernest Henley (1849-1903)

 

ปีนี้แสนดีอายุ 22 ปี เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา

เราเห็นคุณชัชชาติขอลางานไปร่วมพิธีรับปริญญาของลูก…มีภาพไลฟ์สดจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้นอย่างต่อเนื่อง

คุณชัชชาติเคยเล่าให้สื่อไทยฟังว่า ในวัย 1 ขวบ 2 เดือนต้องพาแสนดีไปพบแพทย์หลังญาติพี่น้องทักว่าทำไมเรียกแสนดีแล้วไม่ตอบสนอง

วันที่ 31 มีนาคม 2001 ถือได้ว่า เป็นวันเปลี่ยนชีวิตของคุณชัชชาติ

เพราะหมอวินิจฉัยว่าลูกชายคนเดียวหูหนวก มีปัญหาการรับฟัง

คุณชัชชาติเล่าว่าเกิดความสับสน ทำอะไรไม่ถูก ไปไหว้พระบนบานขอให้หาย เปิดเพลงให้ฟังหวังกระตุ้นให้ลูกได้ยิน

แต่แสนดีหูหนวกสนิท ต้องผ่าตัดประสาทหูเทียมเท่านั้น

จากคำบอกเล่าของคุณชัชชาติเอง เมื่อตั้งสติได้ จึงค้นหาข้อมูลรอบด้าน ก่อนตัดสินใจพาแสนดีไปรักษาที่ออสเตรเลีย

แต่เวลานั้นคุณชัชชาติยังเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ไม่สามารถลางานเป็นเวลานานได้ หรือจะลาออกก็ไม่ได้

จึงเลือกสมัครสอบชิงทุนวิจัยที่ออสเตรเลียแทน เพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตที่แดนจิงโจ้

จากนั้นจึงได้เข้าร่วมโปรแกรมการฝึกออกเสียงพร้อมกับลูกชาย

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่ แสนดีจึงเป็นเด็กหูหนวกหนึ่งในไม่กี่คนที่เข้าเรียนแบบเด็กปกติได้

แสนดีจึงใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่เข้ารับการรักษา จนถึงวันนี้

 

ผมถามแสนดีว่าพ่อกับลูกคงจะมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษเพราะต้องร่วมมือกันตั้งแต่เขายังเด็กเพื่อผ่านพ้นปัญหาของการรับฟังของแสนดีตั้งแต่อายุยังน้อย

“ใช่ครับ เราสนิทกันมาก คุณพ่อเป็นเหมือนเพื่อนที่ดีที่สุดของผมเลย…เป็นพ่อตัวอย่าง เป็นพ่อที่น่าเทิดทูน เป็นต้นแบบ สู้เคียงข้างกันในทุกช่วงของชีวิต ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร”

แสนดีบอกว่าตอนเป็นเด็กไม่ค่อยจะเข้าใจนักว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง

“มันเป็นเรื่องที่ยากมาก คุณจะอธิบายให้เด็กเล็กๆ คนหนึ่งเข้าใจได้อย่างไรว่าเขาสูญเสียความสามารถในการฟังแล้ว…มันใช้เวลายาวนานพอสมควรที่ผมจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม…”

ผมถามว่าคุณพ่อกับเขาสื่อสารกันอย่างไรในภาวะที่ยากลำบากตอนนั้น

“มันเหมือนกับเป็นความเข้าใจระหว่างผมกับคุณพ่อครับว่า…เราต้องช่วยกัน ถ้าท่านช่วยผม ผมก็ต้องช่วยคุณพ่อด้วยเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหานั้น และมันคือความพยายามร่วมกัน…”

แสนดีบอกว่า “ถ้าไม่มีพ่อและแม่ที่คอยช่วยผม…ผมก็จะไม่มีวันนี้”

(สัปดาห์หน้า : เป้าหมายของชีวิตแสนดี)