‘พระธรรมศาสตร์’ คัมภีร์ที่ ‘ปรีดี พนมยงค์’ เหาะไปเอามาจากกำแพงจักรวาล | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในหนังสือ “ประชุมกฎหมายไทย ภาค 1 กฎหมายตราสามดวง” ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเรือน พ.ศ.2473 นั้น เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงประวัติของ “พระธรรมศาสตร์” (เอกสารต้นฉบับเรียก “พระธรรมสาตร” ตามอย่างคำสะกดบาลี) ว่ามีที่มาอย่างไร

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ในสมัยของ “พระเจ้ามหาสมมติราช” นั้น มีเจ้าพนักงานตัดสินคดีความต่างๆ ชื่อว่า “พระมโนสาร” อยู่มาวันหนึ่งก็มีกระทาชายสองนายทะเลาะกันเรื่องผลแตง เนื่องจากว่า แตงของกระทาชายนายคนแรกปลูกอยู่บนไร่ของตนเอง แต่แตงเจ้ากรรมกลับเลื้อยเข้าไปออกผลในไร่ของนายอีกคนหนึ่ง จึงเกิดเป็นปัญหาทะเลาะกันว่า ผลแตงที่ออกมานั้นควรจะเป็นของใครแน่?

พระมโนสารตัดสินความคดีนี้ว่า แตงไปออกผลที่ไร่ของชายคนไหน ก็ให้ผลแตงเป็นของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น

แต่เรื่องราวกลับลุกลามกลายเป็นดราม่าใหญ่โต เนื่องจากนายคนแรกเห็นว่าพระมโนสารตัดสินได้ไม่ยุติธรรม เรื่องราวจึงร้อนไปจนถึงพระมหาสมมติราช ต้องให้อำมาตย์คนอื่นมาตัดสินคดีความนี้เสียใหม่มันเสียอย่างนั้น

และอำมาตย์ใหม่ที่ว่านี้ก็เปลี่ยนคำตัดสินคดีของพระมโนสารเสียใหม่ โดยให้ยกผลแตงขึ้นแล้วไล่ไปตามลำต้นแตง ถ้าแตงขึ้นมาจากลำต้นที่อยู่ในไร่แตงของผู้ใด ก็ให้ผลแตงตกเป็นของเจ้าของไร่ที่ปลูกแตงต้นนั้น

คราวนี้พสกนิกรเห็นด้วยกับคำตัดสิน จึงเกิดการแซ่ซ้องสรรเสริญพระมหาสมมติราชเป็นอันมาก

ด้วยรู้สึกผิด พระมโนสารจึงได้หนีไปบวชเป็นฤๅษีมันเสียอย่างนั้น

แต่ด้วยเกรงว่ากษัตริย์จะไม่ธำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม มโนสารดาบสจึงได้เหาะไปยังกำแพงจักรวาล ที่สุดขอบของจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง แล้วจดจำเอาพระธรรมศาสตร์ อันเป็นตัวอักษรที่ถูกจำหลักไว้บนกำแพงทั้งหมด แล้วกลับมาเขียนเป็น “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” ให้พระมหาสมมติราชใช้เป็นหลักกฎหมายในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งพระมหาสมมติราชก็รับไว้ และใช้สืบเนื่องมายังรุ่นลูกหลานของพระองค์ตราบชั่วกาลนาน

แน่นอนว่า “พระธรรมศาสตร์” ที่ว่านี้ก็คือหลักการที่กฎหมายตราสามดวงใช้สำหรับอ้างอิง (ไม่อย่างนั้นเขาจะนำเอาประวัติมาเขียนไว้ข้างหน้าหนังสือเล่มนี้ทำไมกัน) แต่ผมคงไม่ต้องนำมาเล่าในที่นี้ถ้าผู้รวบรวมกฎหมายโบราณต่างๆ มาพิมพ์ในชื่อ “ประชุมกฎหมายไทย ภาค 1 กฎหมายตราสามดวง” นั้น ไม่ได้มีชื่อว่า ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในขณะนั้น รับราชการในกระทรวงยุติธรรม โดยมีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”

“ประชุมกฎหมายไทย ภาค 1 กฎหมายตราสามดวง”

 

แน่นอนว่า ตามปรัมปราคติของอินเดียนั้น “พระมนู” (ซึ่งก็คือรากของชื่อ มโนสาร ในพระธรรมศาสตร์ฉบับไทย) เป็นผู้บัญญัติพระธรรมศาสตร์เพื่อเป็นหลักในการปกครองขึ้น ต่างกับในพระธรรมศาสตร์ของไทยที่ระบุว่า พระมโนสารไปจดจำมาจากจารึกที่เขาจักรวาล แต่ชื่อ “มโนสาร” นั้น ชวนให้นึกถึง “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และถึงแม้ว่าความเรื่องการพิจารณาคดีไร่แตงนั้น ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพระธรรมศาสตร์อินเดีย แต่ก็ไม่ใช่ว่า อ.ปรีดีจะแต่งเรื่องตอนนี้ขึ้นมาเองหรอกนะครับ เพราะบุคคลที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้านั้นอย่างรัชกาลที่ 4 เองก็ทรงรู้จักนิทานเรื่องคดีไร่แตงของพระมโนสารเช่นกัน

รัชกาลที่ 4 ตรัสถึงนิทานเรื่องพระมโนสารตัดสินคดีไร่แตง ไว้ในข้อเขียนของพระองค์ที่ชื่อ “นานาธรรมจาริณี” โดยต้นฉบับเก่าที่สุดนั้น ถูกตีพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ เล่ม 2 ฉบับ 9 จ.ศ.1247 (พ.ศ.2428) อันเป็นปีที่พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว โดยได้ทรงวิจารณ์ถึงตำนานเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“เมื่อพิเคราะห์ไปโดยเลอียดตามสังเกต สำนวนแต่งเปนภาษาคาถามคธจะไม่เปนคำคนต้นกัลป จะเปนคำกัลปจากภาษาอื่นที่เขียนไว้แต่ก่อนเปนภาษามอญฤาพม่าคนที่แต่งเปนภาษามคธก็ไม่สู้รู้ภาษามคธถ้วนถี่ดีนัก เหมือนกับคนชาววัดเรียนรู้ภาษามคธบ้างตามทางพระพุทธสาศนา” (อักขรวิธีคงตามต้นฉบับเดิม)

สรุปง่ายๆ ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า เรื่องราวเกี่ยวกับคดีไร่แตงที่พระมโนสารตัดสินความนี้ แต่งขึ้นโดยคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่ไม่รู้ภาษาบาลีดีนัก โดยน่าจะเป็นชาวมอญ หรือชาวพม่าแต่งขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้นะครับ เมื่อคำนึงเรื่องที่อ้างต่อๆ กันมาว่า พระธรรมศาสตร์ของไทยนั้นแปลมาจากภาษามอญอีกทอด

อย่างไรก็ตาม ในพระธรรมศาสตร์ของมอญ ไม่ว่าจะเป็นฉบับพระธรรมวิลาสะ, ฉบับพระเจ้าฟ้ารั่ว หรือฉบับอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เข้าใจตรงกันว่า เป็นต้นเค้าที่ส่งต่อให้ฉบับพม่าอีกทอดนั้น เรียก “พระมโนสาร” ว่า “พระมนู” ตามอย่างแขกพราหมณ์ และไม่มีเรื่องของการตัดสินคดีไร่แตง ในขณะที่พระธรรมศาสตร์ฉบับภาษาพม่านั้น เรียกชื่อพระมโนสาร และมีเรื่องการวินิจฉัยคดีไร่แตงเหมือนฉบับภาษาไทย

ดังนั้น ชื่อพระมโนสารจึงเป็นชื่อใหม่ที่เรียกตามความนิยมอย่างพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่มาพร้อมกับเรื่องราวการตัดสินคดีไร่แตงที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นมา แต่จากหลักฐานที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนั้นไม่อาจบอกได้ว่า เคยมีพระธรรมศาสตร์ของมอญสำนวนอื่น ที่เรียกพระมนูว่า พระมโนสาร และมีเรื่องราวของคดีไร่แตง อันเป็นต้นตอของพระธรรมศาสตร์ไทย และพม่า แต่ได้สูญหายไปตามกาลเวลาแล้วหรือไม่? หรือพระธรรมศาสตร์ไทยจะแปลมาจากฉบับภาษาพม่า แต่เข้าใจผิดเพี้ยนกันในภายหลังว่าคัดลอกมาจากมอญแน่?

ไม่ว่าพระธรรมศาสตร์ฉบับไทยจะแปลมาจากฉบับมอญ สำนวนที่สูญหายไปแล้ว หรือฉบับพม่าก็ตาม ข้อมูลข้างต้นก็เป็นหลักฐานว่า อ.ปรีดีไม่ได้แต่งเรื่องนี้แทรกเข้ามาเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเปรียบเทียบท่านเข้ากับนิทานเรื่องนี้ในการสื่อความเชิงสัญลักษณ์ไม่ได้เสียหน่อย

ปรีดี พนมยงค์

ใครที่พอจะทราบประวัติของ อ.ปรีดีอยู่บ้าง ย่อมพอจะสามารถเปรียบเทียบความในนิทานตอนที่เล่าว่า “พระมโนสาร” ไปนำ “พระธรรมศาสตร์” ซึ่งอยู่ที่กำแพงสุดขอบของจักรวาลมาเพื่อใช้เป็น “หลักการ” สำหรับปกครองบ้านเมืองของพระมหาสมมติราช กับการที่ อ.ปรีดีไปเรียนวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วได้นำเอาวิชาความรู้ที่เป็นหลักการของโลกสมัยใหม่ ในยุคโน้นกลับมาทำงานที่กระทรวงยุติธรรม โดยได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ได้แน่

ก็ในเมื่อเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแล้ว เจ้าคำว่า “มนูธรรม” ในบรรดาศักดิ์ที่ว่า ก็คือชื่อของ “พระมนู” หรือที่พระธรรมศาสตร์ไทยเรียกว่า “พระมโนสาร” ผู้ประดิษฐ์ (หรือในปรัมปราคติไทยคือ นำมาจากกำแพงจักรวาล) “ธรรม” คือ “พระธรรมศาสตร์” นั่นเอง

ควรจะสังเกตด้วยว่า หนังสือ “ประชุมกฎหมายไทย ภาค 1 กฎหมายตราสามดวง” นั้น เป็นหนังสือที่พิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาส์น ในปี พ.ศ.2473 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากที่ อ.ปรีดีได้รับบรรดาศักดิ์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ส่วนโรงพิมพ์นิติสาส์นนั้นเป็นกิจการส่วนตัวของ อ.ปรีดี ที่ใช้สำหรับตีพิมพ์วารสารนิติสาส์นรายเดือน วางขายแก่ผู้ที่สนใจกฎหมายบ้านเมือง และใช้พิมพ์หนังสือชุด “ประชุมกฎหมายไทย” เล่ม 1-12 ซึ่งมีประชุมกฎหมายไทย ภาค 1 กฎหมายตราสามดวง เป็นหนังสือเล่มแรกในชุดหนังสือที่ว่านี้ โดยหนังสือชุดนี้ได้สร้างทั้งรายได้ และความนิยมให้กับตัวของ อ.ปรีดีเองเป็นอย่างมาก

ที่สำคัญก็คือหลังเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎร อันมี อ.ปรีดีเป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญ ได้ออก “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476” โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และบรรดาวิชาอื่นๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง

ทั้งหมดนี้ อ.ปรีดีมีบทบาทเป็นผู้ร่างโครงการ หาที่ตั้ง ละวางหลักสูตรของมหาวิทยาลัย แถมยังได้รับการแต่งตั้งเป็น “ผู้ประศาสน์การ” คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย เมื่อระหว่าง พ.ศ.2477-2490

ในช่วงระหว่างนั้นเอง อ.ปรีดีมีความตั้งใจให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเป็น “ตลาดวิชา” ให้ราษฎรมีความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา

ดังนั้น นอกเหนือจากที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะมีแหล่งเงินทุนจากค่าสมัครเข้าเรียนของนักศึกษาแล้ว จึงยังมีเงินดอกผลของธนาคารแห่งเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งอีกด้วย

โดย อ.ปรีดีได้มอบหุ้นของธนาคารแห่งนี้ให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองถึง 80% พร้อมกับที่ยกโรงพิมพ์นิติสาส์นของตนเองให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อใช้สำหรับพิมพ์ตำราอีกต่างหาก

ดังนั้น จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินความจริงมากไปนัก ถ้าจะบอกว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” หรือ อ.ปรีดี พนมยงค์ นี่แหละครับ ที่เป็นผู้ไปนำเอา “พระธรรมศาสตร์” จากกำแพงจักรวาล มาไว้ที่สยามประเทศไทย •