2026 นอร์เวย์รับเรือนิวเคลียร์รักษ์สิ่งแวดล้อม อนาคตไทยมีแหลมฉบัง?…รับเรือครุยส์ 2025/บทความพิเศษ

เรือพลังงานนิวเคลียร์ยาว 500 ฟุต จุผู้โดยสาร 60 คนของอู่อุลสไตน์ นอร์เวย์

บทความพิเศษ

บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์

 

2026 นอร์เวย์รับเรือนิวเคลียร์รักษ์สิ่งแวดล้อม

อนาคตไทยมีแหลมฉบัง?…รับเรือครุยส์ 2025

 

“โกลบอลไลเซชั่น” หรือ “โลกาภิวัตน์” ที่ราชบัณฑิตไทยบัญญัติศัพท์บอกถึงความเปลี่ยนแปลงสากลทั่วโลก นวัตกรรมจนผู้เฒ่าค้างวัยตามคนหนุ่มสาวยุคนี้แทบไม่ทัน

หนึ่งในสถานการณ์โลกที่กำลังก้าวไกล แม้ขณะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนให้มนุษย์ต้องฆ่ากันก็ตาม ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงเจ้าปัญหา เรียกสิ่งนี้ว่า Electric Vehicle หรือรถอีวีที่ได้ยินกันหนาหู

ออร่ารถชนิดนี้มีดีตรงช่วยลดปัญหาโลกร้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษเทใส่โลก เช่น มลพิษทางเสียงที่นับวันจะคุกคามสังคมไทยมากขึ้นทุกที

รถอีวีกำลังเป็นของเล่นชิ้นใหม่ด้วยราคาเริ่มต้นคันละ 3-4 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท วิ่งได้ไกล 178 กิโลเมตร ชาร์จไฟบ้านใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง หลายแห่งกำลังเร่งสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าขึ้นมารองรับ นับเป็นบริบทใหม่ที่กำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ขณะนี้

และต่อไปนี้…ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน ต่างกันตรงสิ่งหนึ่งเป็นรถอีกสิ่งเป็นเรือ

ซีเอ็นเอ็น ภาคท่องเที่ยว เมื่อ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เสนอรายงานข่าวเขียนโดยนายเจโคโพ พริสโค ทำเอาคนวงการท่องเที่ยวทั่วโลกต่างหูผึ่ง เพราะแทงใจดำนักสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่มีต่อการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ หรือเรือ “ครุยส์” ที่จะนำไปสู่อนาคตด้วยเรือพลังงานนิวเคลียร์

รายงานดังกล่าวให้รายละเอียดว่า อุลสไตน์อู่ต่อเรือรายใหญ่นอร์เวย์ได้มีแนวคิดที่จะออกแบบสร้างเรือชนิดใหม่ ให้เป็นก้าวแรกเพื่อการปรับลดค่ามลพิษให้เป็น “ศูนย์” สำหรับการทัวริ่งโดยเรือสำราญ ซึ่งเป็นโฉมใหม่ของการเดินเรือทางทะเลมหาสมุทร

เรือดังกล่าวมีขนาดความยาว 500 ฟุต สามารถรองรับผู้โดยสาร 60 คน ขับเคลื่อนด้วยปฏิมากรณ์นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่และทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งบอบบางอยู่แล้ว อีกทั้งยังสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในเรืออีกด้วย

นายพริสโคยังรายงานอีกว่า การพัฒนาได้เริ่มทดลองครั้งแรกเมื่อปี 1960 จนค้นพบอะตอมโลหะเป็นพลังงานนิวเคลียร์สำเร็จนับแต่ปี 2008 และนำสู่การพัฒนาครั้งนี้ ขณะหลายประเทศก็กำลังศึกษาในเรื่องเดียวกัน เช่น สหราชอาณาจักร จีน แคนาดา เดนมาร์ก

รายงานข่าวได้สรุปว่า ปี 2026 หน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพื้นที่ฟยอร์ดฝั่งตะวันตกนอร์เวย์ มีความเห็นว่าบริเวณสองชายฝั่งทะเลตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกโดยยูเนสโก จึงจะปิดและไม่อนุญาตให้เรือที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงทุกชนิด ยกเว้นเรือพลังงานนิวเคลียร์เข้าทะเลแถบนี้เพื่อปลอดมลพิษและมีค่าเป็น”ศูนย์”

 

อ่านข่าวชิ้นนี้แล้วถึงเราจะไม่ใช่นอร์วีเจียนเจ้าของทะเลนอร์วีเจียน แห่งคาบสมุทรแอตแลนติก ที่มีท้องน้ำกับภูผาธรรมชาติสวยงามอลังการ ก็อดชื่นชมแนวคิดนี้ไม่ได้ที่คิดจะเก็บมรดกชิ้นนี้ไว้ส่งต่อลูกหลาน โดยปลอดการถูกคุกคามทำลายฟยอร์ดธรรมชาตินานนับร้อยปี

แต่…เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถูกใช้เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวมายาวนาน และปี 2562 ก่อนโควิดระบาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวทางเรือสำราญทั่วโลกมากถึง 24.5 ล้านคน ขณะเดียวกันทะเลนอร์วีเจียนมีบริษัทเดินเรือท่องเที่ยวมากมาย ทั้งสัญชาตินอร์เวย์และเพื่อนบ้านสแกนดิเนเวียน เยอรมัน อิตาลี และจากทั่วโลกขนนักท่องเที่ยวปีหนึ่งไม่รู้เท่าไร ด้วยเรือแต่ละลำไม่ต่างโรงแรมลอยน้ำสามารถบรรจุผู้โดยสารได้ถึง 1,500-3,000 คน

เมื่อเรือนำเที่ยวก่อสารพิษกลายเป็นของต้องห้ามกับดินแดนแห่งนี้ คงมีแต่เรือพลังงานนิวเคลียร์บริสุทธิ์ ช่วยรักษาสมดุลธรรมชาติอย่างทะนุถนอม…แต่ทิศทางของธุรกิจการเดินเรือครุยส์ก็อาจถึงคราวปรับปลี่ยนทัวรูตติ้งได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ซึ่งต้องเฝ้าติดตามดูกันต่อไปในปี 2026

 

หันกลับมามองบ้านเราบ้าง ซึ่งมีพื้นที่ทะเลหรือมาริไทม์ โซน 350,000 ตารางกิโลเมตร รัฐมนตรีท่องเที่ยวไม่รู้ว่ากี่คนต่อกี่คนถึงคนล่าสุด พูดกันจังเรื่องยกบ้านเราเป็น “ฮับ” เรือสำราญแห่งอาเซียน

จำกันได้ไหมเมื่อ 30 ปีที่แล้วในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ได้ตกลงกันให้ประเทศอาเซียนที่มีทะเล ยกเว้น สปป.ลาว บุกเจาะตลาดดึงเรือสำราญเหล่านี้ทั้งฝั่งแปซิฟิกกับแอตแลนติกขนนักท่องเที่ยวมาเยือนทะเลอาเซียน

โดยมีสมมุติฐานว่านักท่องเที่ยวในเรือแต่ละลำ เป็นกลุ่มรีไทร์มีเป๋าตังค์ตุงและเวลาเหลือเฟือที่จะทัวริ่งกับเรือได้นานเป็นเดือนเพื่อเยือนอาเซียน เพียงแต่ขอให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเทียบเท่าสากลรองรับคนเฒ่าคนแก่ที่มากับเรือ เท่านั้นแหละเงินทองก็จะไหลมาเทมาอาเซียน

ที่ประชุมจึงมีมติให้แต่ละประเทศสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะท่าเทียบเรืออันทันสมัยไม่ต่างท่าเทียบเครื่องบิน

สิงคโปร์เป็นชาติแรกและชาติเดียวที่สร้างเทอร์มินัลเสร็จ และปัจจุบันมี Singapore Cruise Center และ Marina Bay Cruise Center

ส่วนไทยถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย ทั้งที่แหลมฉบังขานรับอีอีซี ท่าเรืออ่าวขามภูเก็ต และท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ

คอนเทนต์นี้จะตอบรับการเป็น “ฮับ” เรือสำราญแห่งอาเซียนเลิกพูดได้เลย ตราบที่เรายังไม่พัฒนาให้ก้าวไกลกว่านี้

ท่าเรือแหลมฉบังที่ว่าทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ก็ยังเป็นเพียงแผนดำเนินงานบนแผ่นกระดาษ เอ4 ขณะการก่อสร้างต้วมเตี้ยมอยู่เพียงเฟส 3 ขุดลอกชายฝั่งกับถมทะเลซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จส่งมอบได้ปี 2025 ก่อนนอร์เวย์ปิดรับเรือพลังงานเชื้อเพลิงปีเดียว

ส่วนท่าเรือน้ำลึกอ่าวขามภูเก็ตเพิ่งจะผ่านการระดมทุน และเปิดเวทีประชาพิจารณ์จึงว้าเหว่เหลือเกินกับการเตรียมรับเรือสำราญขนาดใหญ่มาเทียบลำเพื่อให้คนเหยียบแผ่นดินไทย

แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรือเหล่านี้จะมาทอดสมอให้ผู้โดยสารได้ไปดมกลิ่นไทยแลนด์ 6-7 ชั่วโมง แล้วกลับขึ้นนอนบนเรือหรือถอนสมอไปยังพอร์ตอื่นโดยไม่ทิ้งอะไรไว้ให้มากไปกว่านี้

น่าเสียดายจริงๆ และคงจะเป็นคำตอบที่ว่า…เมื่อนอร์เวย์รับเฉพาะเรือพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตข้างหน้า แล้วไทยล่ะจะได้ส่วนบุญรับเรือครุยส์เปลี่ยนรูตติ้งเหล่านี้บ้างหรือไม่?