เปิดวิบากกรรมเอสเอ็มอีครึ่งปีหลัง ต้นทุนพุ่ง สายป่านสั้น รัฐเลือกปฏิบัติ!!/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เปิดวิบากกรรมเอสเอ็มอีครึ่งปีหลัง

ต้นทุนพุ่ง สายป่านสั้น รัฐเลือกปฏิบัติ!!

 

สภาพเศรษฐกิจไทยเวลานี้ที่กำลังเผชิญปัญหาของแพงทั้งแผ่นดิน ไม่เว้นแม้กระทั่งโลงศพปรับราคาเพิ่มขึ้นจนคนจำนวนหนึ่งต้องขอผ่อนผันเพื่อใช้บรรจุร่างบุคคลอันเป็นที่รัก สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่าว่า ปัญหาของแพง สาเหตุหลักมาจากพลังงานโลกพุ่งไม่หยุดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อเกือบ 4 เดือน จนกดดันเงินเฟ้อไทยพุ่งทะยาน ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2565 พุ่งถึง 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่เดือนมิถุนายนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก คือแรงกดกันสำคัญให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เตรียมประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย วันที่ 10 สิงหาคมนี้

ปัญหาไม่เพียงผู้บริโภคที่กำลังทุกข์ แต่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้เล่นสายป่านสั้นอย่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดด (สตาร์ตอัพ) ต่างทุกข์ไม่ต่างกัน

 

ล่าสุด “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ประเมินสถานการณ์เอสเอ็มอีครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และแนวโน้มครึ่งปีหลัง ว่า ครึ่งปีแรกเอสเอ็มอีต้องเผชิญมรสุมโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2564 และ 2563 จนเกิดผลกระทบ 3 ด้าน คือ

1. หนี้ 3 กองที่รอระเบิดเวลา ประกอบด้วย หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของจีดีพี หนี้เสียเอสเอ็มอี และหนี้นอกระบบ

2. ต้นทุนพลังงานพุ่ง ค่าครองชีพทะยาน

และ 3. เงินเฟ้อสูง

ขณะที่ครึ่งปีหลังเอสเอ็มอียังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งจาก

1. สถานการณ์พลังงาน น้ำมัน แอลพีจี ไฟฟ้า ขนส่ง ที่สูงขึ้นอย่างมาก

2. สถานการณ์ต้นทุน ปัจจัยการผลิตที่วัตถุดิบสินค้าเกษตร ประมง ปศุสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น จากปัญหาปุ๋ย และอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น

3. สถานการณ์เงินเฟ้อ ส่งผลต่อภาคแรงงานรายได้ต่ำ และคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย

4. สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังกับสงครามแบ่งขั้วเลือกข้างที่จะขยายเป็นสงครามการค้า สงครามโลกหรือไม่

และ 5. สถานการณ์การเมืองไทยที่มีความไม่แน่นอน ทำให้การขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ขาดความรวดเร็ว และประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ ก่อนที่จะรอให้รัฐบาลช่วยเหลือ แสงชัยบอกว่า เอสเอ็มอีต้องเริ่มต้นจากการช่วยตัวเองก่อน สิ่งที่ทำได้ทันทีคือ การท่องคาถา “อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น อยู่ยาว”

เริ่มตั้งแต่ ลดต้นทุน คือ กำไร บริหารต้นทุนเท่าที่จำเป็น และมีแผนบริหารความเสี่ยงธุรกิจให้อยู่รอด พร้อมเดินหน้า

นวัตกรรม คือ กำไร สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เอสเอ็มอีต้องเร่งกล้าคิด กล้าทำ กล้านำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ บริการ รูปแบบธุรกิจใหม่และปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมให้อยู่เป็น ท่ามกลางวิกฤตต้นทุนแพง รวมทั้งต้องใช้กลไกเครือข่ายเข้าถึงเชื่อมโยงมาตรการต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือของภาครัฐได้ด้วย

นอกจากนี้ ต้องรู้จักพอเพียง คือ กำไร ไม่สร้างหนี้เกินกำลัง สร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ และบริหารงบประมาณอย่างรัดกุมมีเหตุผลคุ้มค่าให้อยู่เย็น

และสุดท้ายคือ คุณธรรม คือ กำไร มุ่งการค้าที่เป็นธรรม ไม่ค้าขายอย่างเอาเปรียบรายเล็กกว่า ใช้จริยธรรม คุณธรรมนำธุรกิจให้ยั่งยืน และอยู่ยาว

 

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยังสะกิดภาครัฐให้ช่วยเหลือโดยด่วน โดยควรเริ่มตั้งแต่รัฐต้องใช้นิยามเอสเอ็มอีของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทั้งประเทศ รวมทั้งภาคธนาคารต่างๆ เพื่อสื่อสารเชิงนโยบาย และกลยุทธ์ดำเนินการเป็นทิศทางเดียวกัน จากนั้นต้องบริหารประสิทธิภาพงบประมาณเดิม อาทิ ซอฟต์โลนที่เหลืออีกหลายหมื่นล้าน และพักทรัพย์พักหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่พยายามใช้ก็ใช้ไม่หมด เหลืออีกหลายหมื่นล้านเช่นกัน รวมถึงมาตรการต่างๆ ควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละหน่วยสรุปผลดำเนินการ และกระจายเม็ดเงินให้หน่วยงานที่ทำได้ดีมีแนวทางการปรับปรุงเข้าถึงเอสเอ็มอีชัดเจนได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนกู้หนี้ใหม่

พร้อมสะท้อนปัญหาที่ฟังแล้วสะดุ้ง โดยระบุว่า ปัจจุบันภาครัฐหลายหน่วยงานมีความพยายามจะมีมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่สิ่งที่สำคัญต้องการก้าวข้ามกับดักความคิดแบบเดิม ที่วันนี้ พรุ่งนี้ สถานการณ์เปลี่ยน ทฤษฎีเดิมกลับไม่ตอบโจทย์ รัฐต้องช่วยกันสร้างทฤษฎีใหม่ ยกตัวอย่างบางโครงการไม่ต่างกับไฟไหม้ฟาง โครงการดีทำแล้วหาย ขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนผู้บริหาร เปลี่ยนคนทำ หรือทำแล้วสะดุดโดนตอ ไม่ทำต่อ อาทิ การสนับสนุน SME-GP หรือจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ทำเป้าหมายให้แต่ละหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างสินค้าบริการเอสเอ็มอี 30% ทำได้เพียง 1 ปี พบว่าดีเกินเป้าหมาย ได้ 44% ในปี 2564 แต่พอปี 2565 กลับยกเลิกเป้า 30% ก่อนแล้วมาบอกเอสเอ็มอีทีหลัง คืออะไร เรื่องนี้ไม่ควรทำ

นอกจากนี้ ยังพบความลักลั่นมาตรฐานการพิจารณาปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ควบคุมโดยภาครัฐ อีกอุปสรรคสำคัญของเอสเอ็มอี เพราะปัจจุบันหากเป็นธุรกิจรายใหญ่ ความเสี่ยงต่ำ แบงก์คิดอัตราดอกเบี้ยถูกมาก เพียง 1-2% ขณะที่เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงสูง ถูกโขกสับ ดอกเบี้ยแพง 8-15% เลยทีเดียว

และหากเป็นนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อบุคคล ดอกเบี้ยพุ่งทะยานสูงถึง 20-35% ถือเป็นกลไกที่บิดเบี้ยว อยากให้ภาครัฐรับรู้ปัญหาและปรับวิธีคิดเป็น ยิ่งเล็ก ยิ่งต้องมีแต้มต่อต้องการให้เติบโต

 

ขณะที่ปัญหาหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล แสงชัยระบุว่า หากธุรกิจใดต้องเผชิญจะไม่ต่างกับการติดคุกทางการเงินเป็นเวลานานถึง 3 ปี ไม่ว่าจะมีมูลหนี้เสียเท่าไหร่ก็ตาม และยังตามหลอกหลอนหลัง 3 ปี

กลไกแบบนี้ซ้ำเติมเอสเอ็มอีลูกหนี้ให้หันหน้าเข้าสู่หนี้นอกระบบ ทางรอดสุดท้าย ทำให้ท้ายสุดธุรกิจนั้นๆ ก็ยากจะฟื้นฟูกลับมาได้

ดังนั้น ภาครัฐต้องคิดนวัตกรรมการแก้หนี้ใหม่ที่ก้าวข้าม Moral Hazard หรือภาวะภัยทางศีลธรรม โดยควรเร่งแก้หนี้เสีย รหัส 21 ที่เกิดจากโควิด-19 และก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นดีมาตลอด ด้วยแพลตฟอร์มการฟื้นฟูแก้หนี้ ร่วมกับการเติมทุน สำหรับผู้ประกอบการ หรือลูกหนี้ รหัส 21 อย่างเร่งด่วน

ประเด็นสุดท้ายคือ ระบบการธนาคารกับการปล่อยสินเชื่อ ควรมีแพลตฟอร์มการดูแลเอสเอ็มอีชั้นดีเอาไว้ ส่วนเอสเอ็มอีที่ไม่ผ่านการพิจารณาควรเปลี่ยนจากการทิ้งไปเฉยๆ เป็นการช่วยเหลือให้กลับเข้าระบบสินเชื่อธนาคาร และเป็น OKRs (เครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและกำหนดตัววัดผล) ของธนาคาร อาทิ มาตรการเอสเอ็มอี รีคอล นำเอสเอ็มอีที่เกือบจะได้มาดูแลให้คำปรึกษาแนะนำกลับเข้าขอสินเชื่อใหม่

ล่าสุดทางสมาพันธ์ได้เริ่มทำแซนด์บ็อกซ์กับธนาคารออมสิน เอสเอ็มอี ดี แบงก์ พร้อมสร้างที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอีกับ ธปท. และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) แล้ว

เพื่อทำให้คำว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นเรื่องจริง!!