มนัส สัตยารักษ์ : หลักฐานใหม่

หลังจากส่งต้นฉบับเรื่องที่เกี่ยวกับ “คดีทุจริต” ไป 3 บทซ้อน โดยได้เอ่ยถึงชื่อคดีดังหลายเรื่อง บางเรื่อง (แม้จะยังไม่ถึงฎีกา) ก็ถือได้ว่าสำเร็จเสร็จสรรพถึงที่สุดไปแล้ว หลายเรื่องกำลังทยอยกันรอคิวด้วยความตื่นเต้น และบางเรื่องก็มาจากความทรงจำอันสับสน เพราะประเทศไทยเรามีคดีทุจริตคอร์รัปชั่นมากเกินไป

จนอยู่ในอันดับที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ “ทีไอ” (Transparency International) กับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น หรือ “ซีพีไอ” (Corruption Perception Index หรือ CPI) จัดอันดับประเทศสอบตกคอร์รัปชั่น

ทุกเรื่องที่ยกมาพูดถึงในหน้านี้บางทีไม่ได้ผ่านการตรวจทานในข้อเท็จจริง ด้วยว่าข้อเท็จจริงมักจะมี 3 ด้าน กล่าวคือ ข้อเท็จจริงที่ถูกใส่ไข่และแต่งแต้มด้วยสีของฝ่ายสร้างข่าว ข้อเท็จจริงเชิงปฏิเสธจากฝ่ายที่ถูกกล่าวหา และ…ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริง

ส่งต้นฉบับเรื่อง “ที่ดินยายเนื่อม” ไปพักหนึ่ง ผมก็ได้อ่านข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งของคดี ข้อเท็จจริงอีกด้านนี้คล้ายเป็นหนังคนละเรื่องกับที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาล แม้ผมจะไม่กลัวถูกฟ้องร้องในความผิดพลาดก็ตาม แต่ความรับผิดชอบของคนเขียนหนังสือทำให้กังวลใจอยู่ตลอดเวลาที่ผ่านมา

แต่คิดอีกทีก็ไม่น่าจะกังวล เพราะทุกคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่เราพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ต่างก็มี “ข้อเท็จจริง” 3 ด้านทั้งสิ้น

เราใช้เวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานนานเกินไป และเสียเวลากับการเฉไฉไปตามนโยบายของผู้มีอำนาจมากเกินไป

นอกจากจะอยากเห็นความคลี่คลายและจุดจบของเรื่อง “สร้างโรงพักทดแทน 369 แห่ง ควบสร้างแฟลตตำรวจ 163 หลัง” ซึ่งคาใจตำรวจทั่วประเทศแล้ว เราอยากเห็นความคืบหน้าของเรื่อง ไม้วิเศษ “จีที 200” กับเรื่อง “เรือเหาะ” อีกด้วย

หลังจาก “ความอยากจะเห็น” ผลของคดีทุจริตต่างๆ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ก็มีคำเตือนจากน้องคนหนึ่งว่า หลายเรื่องที่เขียนถึงนั้นเขาปิดแฟ้มการสอบสวนไปแล้ว ระวังจะเดือดร้อนเปล่าๆ ไม่เข้าเรื่อง

แล้วก็เป็นความจริงอย่างที่เขาเตือน โดยเฉพาะเรื่อง “เรือเหาะ” ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ป.ป.ช. มีมติตีตกไปด้วยเหตุ “ไม่มีมูล” ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2558

ถ้านักเคลื่อนไหวทางการเมืองร้องขอให้ คตง. ตรวจสอบอีกครั้ง ประธาน ป.ป.ช. ย้ำว่าต้องมีหลักฐานใหม่!

นั่นหมายความว่าเรื่องเรือเหาะ “เสร็จ” ไปแล้ว แล้วรื้อขึ้นมาเขียนทำไม?

เรื่องเรือเหาะนี้ สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานข่าวไปทั่วโลกเมื่อ 18 กันยายน ว่า กองทัพบกของไทยถูกร้องเรียนให้สอบสวนกรณีซื้อเรือเหาะที่ใช้งานไม่ได้มูลค่า 10 ล้านเหรียญ (หรือประมาณ 350 ล้านบาท) ต้องปลดประจำการหลังจากจอดทิ้งมานาน 8 ปี

สื่อไทยก็คงจะรอดตัวไปจากการถูกด่ากราดว่าขายข่าวเสียหายของรัฐบาล

และผมคิดว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ “ทีไอ” กับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น หรือ “ซีพีไอ” เขาคงไม่ต้องการหลักฐานใหม่หรอก แค่นี้ก็พอที่จะลดอันดับการ “รับรู้” คอร์รัปชั่นของไทยได้แล้ว ว่าจะรองบ๊วยที่เท่าไร

ส่วนที่ผมอยากจะรู้อย่างมากของเรื่องนี้ก็คือ ใครเป็นคนเสนอขาย ทบ. หรือใครเป็นเสนอให้ ทบ. ซื้อ และเขาใช้ “คำพูด” อย่างไรซึ่งสามารถจูงใจนักการเมืองผู้มีอำนาจหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูง ให้ยอมตัดสินใจซื้อเรือเหาะที่เห็นกันชัดๆ อยู่ว่าไม่มีประโยชน์ต่อราชการแต่อย่างใด

ผมมั่นใจว่าข้อความใน “คำพูด” นี่แหละคือหลักฐานใหม่

ในประเด็นของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 นั้น มีความคืบหน้าเพียงว่าอยู่ในระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติม โดยขอเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ ได้รับคำพิพากษาจากศาลประเทศอังกฤษที่ให้ยึดทรัพย์นักธุรกิจที่จำหน่ายเครื่องจีที 200 แต่ยังมีหลายประเด็นที่จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม

แต่ผมจำได้ว่าศาลประเทศอังกฤษได้พิพากษาตัดสินจำคุกเจ้าของบริษัทผู้ผลิตมาตั้งแต่สิงหาคม 2556 หรือ 4 ปีมาแล้ว

และผมคลับคล้ายคลับคลาว่า เรื่องเครื่องตรวจจับระเบิดนี่ “เสร็จ” ไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีมติว่าประเทศไทยเคยให้ถ้อยคำยืนยันว่ามีประสิทธิภาพ จึงถูกตัดสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิต

นับเป็นความพ่ายแพ้ของ “หมูปากแข็ง”

ทั้งเรื่องเรือเหาะและเรื่องจีที 200 ข้างต้น เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และมีชื่อผู้เกี่ยวข้องมากมายรวมทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกฯ และรองนายกรัฐมนตรี (ความมั่นคง) ในยุคนั้นด้วย

ในห้วงเวลาอันชุลมุนของบรรดาคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ก็มีเรื่อง “มท.1 เซ็นอนุมัติให้บริษัทในเครือกระทิงแดงเช่าที่ดินป่าชุมชน” บูมเข้ามาในสื่อต่างๆ สนั่นหวั่นไหว

มท.1 ก็คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.อนุพงษ์ จึงกลายเป็นตำบลกระสุนตก

CORRECTION-CATEGORY
Thai army chief General Anupong Paojinda answers questions from the press during a press conference at the Army headquarters in Bangkok on September 2, 2008. Thailand’s powerful army chief vowed the military would try to negotiate a peaceful end to anti-government protests and would not use force against activists besieging the premier’s office. AFP PHOTO/PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ข้อสังเกตจากข่าว “เรือเหาะ” กับข่าว “ป่าชุมชน” ก็คือ พล.อ.อนุพงษ์ ออกอาการฟิวส์ขาด กังขาว่าเรื่องเรือเหาะเป็นเรื่องเก่าหลายปี กับเรื่องป่าชุมชนเซ็นอนุมัติตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ทำไมถึงโผล่ขึ้นมาในตอนนี้

ท่านสงสัยนักข่าวและผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งมีหลายต่อหลายหน่วยงาน

จะโดยสัญชาตญาณหรือเปล่าก็ไม่ทราบ มีคำสัมภาษณ์ตีความได้ว่าคนให้ข่าวกับหน่วยงานที่เสนองานเป็นผู้ผิด ไม่ใช่ท่านแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เรื่องนี้ ทำให้นายกรัฐมนตรีเรตติ้งตกมาก และอาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ท่านอารมณ์เสียถึงขนาดขอร้องว่า “หยุดด่าสักวันได้ไหม?” ทั้งที่ไม่มีใครด่าท่าน

ผมตั้งใจว่าจะไม่พูดเรื่องเหล่านี้อีก… ถ้าไม่จำเป็น

เรื่องที่อยากจะพูดถึงวันนี้คือเรื่อง สน.ทดแทน 396 แห่ง และแฟลตที่พัก 163 หลัง แต่ปรากฏว่ายังไม่พบความเคลื่อนไหวหรือคืบหน้า ยังคงได้ชื่อว่าเป็นตำนานหรือมหากาพย์ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 (หรือก่อนหน้านั้นก็ไม่แน่ใจ)

จำได้แต่ว่าเรื่องเริ่มขึ้นจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ดูแล สตช.) เปลี่ยนการแยกประมูลเป็นรายภาค (12 สัญญา) เป็นสัญญาเดียว แล้วต่อมาตกเป็นข่าวอื้อฉาวเนื่องจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด เกิดสภาพรกร้าง การทุบทำลาย และตอม่อหรือเสาเป็นอนุสาวรีย์แห่งการคอร์รัปชั่น ทั้งๆ ที่ผลการสอบสวนยังไม่ยืนยันว่าเป็นคอร์รัปชั่น

แล้วเรื่องยังคาราคาซังมาแต่บัดนั้น โดยที่ยังมองไม่เป็นแสงของปลายอุโมงค์เลยว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไรและเมื่อใด หรือว่ากำลังรอหลักฐานใหม่?

ได้ข่าวว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจฯ จะไปพบและพูดคุยกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นัยว่าเพื่อปรึกษาหารือเรื่องการปฏิรูป

ฝากถามเรื่อง สน.ทดแทน 396 แห่ง กับเรื่องอาคารที่พัก 163 หลังด้วย