เสียงจากหลุมศพ อบอุ่นหรือสยอง?/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

เสียงจากหลุมศพ อบอุ่นหรือสยอง?

 

ความตายเป็นสิ่งที่ยังไม่มีเทคโนโลยีขั้นสูงชนิดไหนสามารถต้านทานได้ แต่อาจจะมีเทคโนโลยีบางอย่างที่ช่วยให้คนที่ยังเหลืออยู่ข้างหลังได้โอบอุ้มความทรงจำที่มีต่อคนรักที่จากไปแล้วไว้ได้นานขึ้นกว่าเดิมโดยไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา

ในงาน MARS ซึ่งเป็นงานประจำปีที่ Amazon จัดขึ้นโดยจะอัพเดตเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทั้งแมชชีนเลิร์นนิ่ง ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอวกาศ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ของ Amazon ได้ขึ้นเวทีและสาธิตฟีเจอร์ใหม่ซึ่ง Alexa ผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะที่คิดค้นและพัฒนาโดย Amazon สามารถทำได้ โดยเป็นฟีเจอร์ที่จะทำให้คนที่เรารักที่จากโลกนี้ไปแล้วได้กลับมาอยู่ข้างๆ เราอีกครั้งในรูปแบบของเสียงที่เราคุ้นเคย

Amazon เริ่มต้นด้วยการเน้นย้ำความสำคัญของการสวมคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์เข้าไปให้กับระบบปัญญาประดิษฐ์เนื่องจากเทคโนโลยีได้กลายเป็นเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างเรามากขึ้นทุกวัน

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคนจำนวนมากต้องสูญเสียคนที่รักไปกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ถึงแม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะไม่สามารถช่วยกำจัดความเจ็บปวดจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่อย่างน้อยๆ มันจะช่วยเก็บรักษาทรงจำที่เรามีต่อคนๆ นั้นให้คงอยู่ได้นานกว่าเก่า

จากนั้น Amazon ก็เปิดวิดีโอที่เผยให้เห็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่พูดกับ Alexa ซึ่งฝังอยู่ในลำโพงอัจฉริยะว่า “ให้คุณยายอ่านนิทานให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ”

แทนที่เสียงอ่านนิทานที่เปล่งออกมาจากลำโพงจะเป็นเสียงของผู้ช่วย Alexa ก็กลับกลายเป็นเสียงของคุณยายของเด็กน้อยที่ล่วงลับไปแล้วแทน

Amazon อธิบายว่า ระบบสามารถเลียนเสียงของคนๆ หนึ่งได้โดยใช้ต้นฉบับการบันทึกเสียงที่ยาวเพียงแค่หนึ่งนาทีเท่านั้น นั่นแปลว่าในยุคที่วิดีโอและเสียงถูกบันทึกกันทุกวินาที ไม่เพียงแต่เราจะสามารถสั่งให้ระบบเลียนเสียงคนที่เรารักที่ไม่อยู่บนโลกใบนี้แล้วได้เท่านั้นแต่ยังสามารถให้มันเลียนเสียงใครก็ได้บนโลกใบนี้ได้ด้วย

นี่ยังเป็นเพียงแค่การสาธิตบนเวทีภายในงานเท่านั้น Amazon ยังไม่ได้ระบุว่าจะเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้าถึงฟีเจอร์นี้ได้เมื่อไหร่ หรือจะเปิดให้ใช้งานได้จริงหรือเปล่า แต่ก็เป็นการตอกย้ำให้เราได้เห็นชัดเจนว่าเทคโนโลยีพร้อมให้ใช้ได้แล้ว

เรื่องนี้ทำให้ฉันคิดถึง 2 ประเด็นหลักๆ อย่างแรกก็คือการที่เทคโนโลยีช่วยสร้างความจริงเสมือนขึ้นมาให้เรารู้สึกราวกับคนที่เรารักไม่เคยจากเราไปไหนมันช่วยเยียวยาเราได้จริงไหม และอย่างที่สองก็คือเทคโนโลยีการเลียนเสียงอย่างแนบเนียนจะนำพาสังคมไปถึงจุดไหนได้บ้าง

ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามในการเก็บรักษาตัวตนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของคนที่ตายไปแล้วเพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ อย่างเช่นในรูปแบบของแชตบ็อต โดยปัญญาประดิษฐ์จะเรียนรู้จากบทสนทนาในสมัยที่คนคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ แล้วลอกเลียนสำนวนวิธีการเขียนให้คล้ายกับตัวจริงที่สุดเพื่อให้เพื่อนและครอบครัวยังคงส่งข้อความไปคุยด้วยได้ทั้งที่เจ้าตัวจะอำลาโลกใบนี้ไปนานแล้ว

ฟีเจอร์ใหม่ที่ Amazon สาธิตบนเวทีในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการอัพเกรด จากที่พิมพ์คุยกับ “ผู้วายชนม์” ได้ ก็เพิ่มความสมจริงอีกระดับให้ได้ยินเสียงด้วย

 

ฉันคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยหรือไม่ช่วยเยียวยาจิตใจที่สูญเสีย แต่ฉันคิดก็คิดว่าการได้ยินเสียงคนที่เราคิดว่าคงจะไม่มีวันได้ยินอีกแล้วมาพูดคุยกับเราได้อีกครั้งหนึ่งก็น่าจะทำให้จิตใจอิ่มเอมและบรรเทาความคิดถึงไปได้ไม่น้อยซึ่งแต่ละคนก็คงจะมีประสบการณ์หรือปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป เพราะเมื่อข่าว Amazon ออกมาก็มีหลายความเห็นอยู่เหมือนกันที่บอกว่าการเลียนเสียงคนที่ตายไปแล้วแบบนี้เป็นอะไรที่หลอนสุดๆ

Amazon เลือกหยิบยกตัวอย่างของคุณยายที่ตายไปแล้วมาใช้ในการสาธิต ทำให้ผู้ชมรู้สึกอิ่มเอมไปด้วยความสุข

แต่อันที่จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ถูกจำกัดให้เลียนเสียงเฉพาะคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น มันยังสามารถทำหน้าที่ได้หลายรูปแบบมากๆ อย่างเช่น พ่อแม่ที่ทำงานหนักไม่มีเวลาอ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือใช้เพื่อเปลี่ยนเสียงผู้ช่วยส่วนตัวให้เป็นเสียงดาราที่เราชื่นชอบ

ในขณะเดียวกันถ้าหากเทคโนโลยีจะถูกหยิบยกไปใช้ในทางที่มิชอบบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรและก็เตรียมใจไว้ด้วยเลยว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

 

เทคโนโลยีการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาแปลงเสียงหรือที่เรียกว่าดีพเฟกเป็นสิ่งที่เริ่มใช้กันจริงแล้วและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงมาโดยตลอด ประโยชน์ของมันหลักๆ มักจะอยู่ในวงการบันเทิง อย่างเช่นการใช้ในภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอเกม หรือการบันทึกเสียงพอดแคสต์

วงการเหล่านี้ใช้ดีพเฟกในการเลียนเสียงเพื่อช่วยแก้ไขจุดบกพร่องและทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ อย่างเช่น หากผู้ดำเนินรายการพูดข้อมูลผิดพลาดสักจุด วิศวกรด้านเสียงหรือตัดต่อเสียงก็สามารถใช้ดีพเฟคในการพิมพ์สคริปต์และสร้างเสียงปลอมขึ้นมาแทนที่ได้ทันที โดยจะฟังดูสมจริงไร้รอยต่อราวกับผู้ดำเนินรายการไม่เคยพูดอะไรผิดเลย และความสะดวกของมันก็คือสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วเพียงแค่ไม่กี่คลิก

เมื่อปีที่แล้วก็เคยมีสารคดีเรื่องหนึ่งที่นำเสนอเกี่ยวกับเชฟ Anthony Bourdain ที่เสียชีวิตในปี 2018 โดยทีมงานได้ใช้เอไอมาโคลนเสียงของเขามาอ่านข้อความในอีเมลที่เขาเขียน ก็ทำให้เกิดเสียงตอบรับที่แตกต่างกันออกไป

บางคนก็บอกว่ามันคือการหลอกลวง น่าสยดสยอง

ในขณะที่บางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องปกติมากที่การทำสารคดีจะต้องมีการเฟ้นหาเทคนิคใหม่ๆ มาใช้เพื่อนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้ได้สมจริงที่สุด

ส่วนภัยอันตรายที่จะมาพร้อมกับดีพเฟกนั้นก็ไม่ต้องสงสัยว่าจะน่ากลัวแค่ไหน ขนาดอาชญากรคอลเซ็นเตอร์ปลอมทุกวันนี้แม้จะยังเลียนเสียงใครไม่ได้ก็สร้างความเสียหายหลอกเงินคนไปแล้วมากมายขนาดนี้

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอีกไม่นานข้างหน้าคอลเซ็นเตอร์ลวงโลกเหล่านั้นมาในรูปแบบเสียงของคนในครอบครัว เพื่อนที่เราสนิท หรือเสียงของใครสักคนในสังคมที่ทุกคนให้ความเชื่อถือ

แค่คิดก็สยองยิ่งกว่าการได้ยินเสียงจากหลุมศพเสียอีก