ขอขมาผีช้าง ‘เขมรปนลาว’ เป็นไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ช้างเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการค้า

ดังนั้น ราชสำนักโบราณตั้งแต่สมัยแรกเริ่มให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อช้างเสมือนเครือญาติผู้ใหญ่จึงมีพิธีกรรมอย่างยิ่งใหญ่และซับซ้อนต่อช้าง ตั้งแต่การคล้องช้างจนถึงฝึกช้าง ซึ่งต้องปรนเปรอช้างอย่างใกล้ชิด

พิธีกรรมเกี่ยวกับช้างในราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีสืบเนื่องยาวนานจากวิถีขี่ “ช้างต่อ” จับช้างป่ามาฝึกเป็นช้างงานของคนทุกชาติพันธุ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ปัจจุบันยังพบร่องรอยหลักฐานอยู่ในกลุ่มชาวกูย (หรือกวย หรือส่วย) พูดภาษาเขมร ลุ่มน้ำมูล

คำฉันท์ดุษฎีสังเวยเป็นวรรณกรรมราชสำนัก แต่งเป็นภาษาเขมรโดยคณะนักปราชญ์ขอม (พูดภาษาเขมร) รัฐละโว้-อโยธยา ต่อมาถูกใช้งานพิธีกรรมเกี่ยวกับช้างในราชสำนักอยุธยาตอนต้นซึ่งใช้ภาษาเขมร หลังจากนั้นราชสำนักอยุธยาเชื้อวงศ์สุพรรณภูมิ (จากสุพรรณบุรี) ยึดอำนาจแล้วเปลี่ยนใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ คำฉันท์ดุษฎีสังเวยก็ถูกทำให้เป็นภาษาไทย แต่ยังเต็มไปด้วยภาษาเขมรที่สอดแทรกด้วยบาลี-สันสกฤต

ส่วนคำนิยามกระแสหลักมีต่างไปมากจะคัดมาไว้ให้เลือกดังนี้

“คำฉันท์ดุษฎีสังเวย แต่งโดยขุนเทพกวี ชาวสุโขทัย จัดเป็นวรรณคดีไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ข้อความนี้เป็นที่รับรู้แพร่หลายเพราะอยู่ในตำราเรียนตามระบบการศึกษาของไทยทุกวันนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระวินิจฉัยว่าคำฉันท์ดุษฎีสังเวยแต่งขึ้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ (เมื่อพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2457)

กรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545) สันนิษฐานว่าคำฉันท์ดุษฎีสังเวยน่าจะแต่งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133) ขึ้นไป เพราะผู้แต่งคือขุนเทพกวีเป็นขุนนางเมืองสุโขทัย ถูกกวาดต้อนลงไปอยุธยา และครั้งนั้นสุโขทัยตกเป็นเมืองร้าง

 

“เขมรปนลาว” ในอยุธยา

คําฉันท์ดุษฎีสังเวยแทบไม่มีภาษาไทย เพราะเต็มไปด้วยภาษาเขมรกับภาษาบาลี-สันสกฤต ผู้แต่งเรื่องนี้น่าจะอยู่ในวัฒนธรรมเขมร ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งสืบทอดต่อเนื่องตั้งแต่ “ทวารวดี” ที่เมืองละโว้ จนถึงกรุงอโยธยาศรีรามเทพ (ก่อนกรุงศรีอยุธยา) ดังพบว่าราชสำนักอยุธยาระบุชัดเจนว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาสายหนึ่งสืบจากวงศ์เขมรหรือเป็นขอม ต่อมาผสมปนเปกับอีกสายหนึ่งสืบจากวงศ์สุพรรณภูมิซึ่งเป็นชาวสยามแล้วเรียกตนเองว่าไทย

พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสืบวงศ์จากกษัตริย์กรุงศรียโสธร (เมืองพระนครหลวง) แห่งกัมพูชา เกี่ยวดองเครือญาติผ่านทางขอมละโว้ (ลพบุรี) เป็นที่รับรู้ในราชสำนักพระนารายณ์ (พบในคู่มือทูตสยามไปยุโรป ซึ่งเป็นเอกสารราชการกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2224 พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 หน้า 90-94)

ตำนานล้านนาบางฉบับระบุว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาสืบวงศ์ขอมละโว้ ส่วนคำให้การชาวกรุงเก่าบอกตรงๆ ว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาสืบวงศ์จากพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แห่งเมืองพระนครหลวง กัมพูชา

ราชสำนักรุงศรีอยุธยาสมัยแรกพูดภาษาเขมร เพราะเป็นภาษาชั้นสูงสืบต่อจากทวารวดีและละโว้ที่ลพบุรี ครั้นราชสำนักอยุธยาเปลี่ยนเป็นพูดภาษาไทย จึงยกย่องภาษาเขมรเป็นภาษาของ “เทวราช” หรือราชาศัพท์

ขอขมาผีช้าง

คําฉันท์ดุษฎีสังเวย รวมทั้งคำขวัญกล่อมช้าง ถูกสร้างตามประเพณีที่สืบเนื่องจากการยกย่องนับถือช้างและผีช้างเสมือนญาติผู้ใหญ่จึงมีพิธีขอขมาผีช้างเมื่อจะจับมาใช้งานของคนสุวรรณภูมิหลายพันปีมาแล้ว

ชาวสุวรรณภูมิมีพิธีกรรมขอขมาเมื่อไปจับช้างป่ามาฝึกใช้งานหนัก ซึ่งเรียกตามภาษาท้องถิ่นแม่น้ำมูลในอีสานใต้ว่า “โพนช้าง” หมายถึงกิจกรรมขี่หลัง “ช้างต่อ” ไล่จับ “ช้างป่า” (“ต่อ” หมายถึงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อนำไปล่อสัตว์ป่าชนิดเดียวกันให้ติดกับดักเพื่อจับสัตว์ป่านั้น เช่น นกต่อ, ไก่ต่อ เป็นต้น)

“โพน” เป็นคำยืมจากภาษาเขมรว่า “โพล” [โพล (อ่าน โปล) แปลว่า พูด, บอก, บ่น, ว่า, แถลง, แสดง, บอกบทพากย์ (พจนานุกรมเขมร-ไทยฯ พ.ศ.2323 หน้า 448)] แล้วกลายรูปเป็นโพน [ไทยยืมคำเขมร “โพล” ใช้ว่าโพนทะนา (หมายถึง นินทาว่าร้ายหรือกล่าวโทษต่อสาธารณะ)] โพนช้างจึงมีความหมายหลายอย่างดังนี้

1. ปรนเปรอและโอ้โลมเกลี้ยกล่อมช้างต่อ เพื่อให้มีกำลังแข็งแรงพร้อมปะทะช้างป่า

2. วิงวอนร้องขอต่อผี (คืออำนาจเหนือธรรมชาติ) ด้วยคำคล้องจองในพิธีเซ่นผีขอให้ปัดเสนียดจัญไรในการจับช้างป่า

3. เกลี้ยกล่อมโอ้โลมช้างป่าที่คล้องได้แล้วด้วยคำคล้องจอง ให้หยุดเกรี้ยวกราดอาละวาดวุ่นวายจะได้อยู่ดีกินดี

คำฉันท์ดุษฎีสังเวยเพื่อสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับช้างมี 3 ตอน ได้แก่ สดุดีอวยสังเวย, สดุดีขอช้าง, สดุดีสิทธิดาบส

(1.) สดุดีอวยสังเวย เป็นบทสรรเสริญเทพยดาและผี ได้แก่ กำเนิดพระพิฆเนศ, ผีประกำ [พระกรรม ผีสิงในเชือกบาศคือเชือกประกำ และมีข้อมูลอีกมากดูในบทความเรื่อง พระคเณศ ครูช้างพราหมณ์สยาม ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551 หน้า 34-39], ผีภูเขา (พระพนม), ผีป่า (พระไพร)

(2.) สดุดีขอช้าง เป็นบทสรรเสริญเทพยดาและผีที่สถิตอยู่ประจำเครื่องมือควบคุมช้างทำจากเหล็กงอ มีปลายแหลม ใช้สับบังคับช้างเคลื่อนไหวตามต้องการของผู้ควบคุมช้าง

(3.) สดุดีสิทธิดาบส เป็นบทสรรเสริญ “สิทธิดาบส” (สิทธิ แปลว่าความสำเร็จ) ผีพื้นเมืองเกี่ยวกับช้างที่ได้รับการยกฐานะเป็น “ดาบส”

ชื่อ “สิทธิ” ยังพบในบทพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนว่ากรมพฤฒิบาศ มีจางวางชื่อตำแหน่งว่า “พระอีศวรธิบดีศรีสิทธิพฤทธิบาศ” กับเจ้ากรมชื่อ “หลวงสิทธิไชยบดี”

คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า ไม่พบชื่อผู้แต่ง น่าจะแต่งโดยคณะนักปราชญ์ราชกวีครั้งกรุงเก่า เพื่อใช้เกลี้ยกล่อมปลอบประโลมช้างป่าที่ถูกคล้องได้แล้ว และจะถูกนำเข้ากรุงไปฝึกเป็นช้างงาน

กล่อมช้างทำตามประเพณีกล่อมลูก, กล่อมพระบรรทม, กล่อมขวัญ (ทำขวัญ) ฯลฯ ต่างกันที่ลักษณะคำประพันธ์และผู้ถูกกล่อมเป็นช้างป่า ดังนั้น ลีลาโวหารย่อมดัดแปลงต่างไป

ถ้อยคำสำนวนกล่อมช้างต่างจากดุษฎีสังเวยตรงที่มีภาษาเขมรน้อยลง และใช้ภาษาเข้าใจง่ายกว่ากัน เป็นร่องรอยว่าแต่งสมัยหลังจากดุษฎีสังเวย แต่จะระบุช่วงเวลาชัดเจนคงเป็นไปไม่ได้ นอกจาก “เดา” ตามกันไป •