เสาอินทขีล / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เสาอินทขีล

เสัาพงฯนทฯขีลฯฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า เสาอินทะขีน

เสาอินทขีล คือ เสาหลักเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเสาก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่รูปหกเหลี่ยมที่มีพระพุทธรูปปางรำพึงและบุษบกอยู่บนยอดเสา ความสูงจากฐานประมาณ 1 เมตร

ปัจจุบันตั้งอยู่ในวิหารจัตุรมุขแบบล้านนาที่มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด โดยมีรูปปั้นยักษ์สองตนยืนอารักขา บริเวณด้านหน้าวิหารหลวงของวัดเจดีย์หลวง

พระมหาหมื่นวุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม เชียงใหม่ เล่าถึงตำนานของเสาอินทขีลไว้ว่า บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนานั้น เดิมทีเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาติพันธุ์ลวะ เรียกว่า เวียงนพบุรี

ในเมืองนี้ แต่ก่อนมีผีคอยหลอกหลอนทำให้ชาวเมืองเดือดร้อน ไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยากยากจน

พระอินทร์จึงได้ประทานความช่วยเหลือ บันดาลบ่อเงิน บ่อทอง และบ่อแก้วไว้ในเมือง ให้เศรษฐีลวะ 9 ตระกูล แบ่งกันดูแลบ่อทั้ง 3 บ่อ บ่อละ 3 ตระกูล

โดยคนลวะต้องถือศีลรักษาคำสัตย์ เมื่ออธิษฐานสิ่งใดก็จะได้ดังสมปรารถนา ซึ่งคนลวะก็ปฏิบัติตาม

และต่างก็มีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์สืบมา

 

ข่าวความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเวียงนพบุรี ซึ่งเป็นตระกูลของลวะเลื่องลือไปไกลและได้ชักนำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปันสมบัติ

คนลวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ หรือยักษ์ 2 ตน ขุดอินทขีล หรือเสาตะปูพระอินทร์ ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี

เสาอินทขีลมีฤทธิ์มาก ดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม คนลวะแนะนำให้พ่อค้าถือศีลรักษาคำสัตย์และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้

พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ที่เฝ้าเสาอินทขีลโกรธพากันหามเสาอินทขีลกลับขึ้นสวรรค์ไป และบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง

มีลวะผู้เฒ่าคนหนึ่ง ไปบูชาเสาอินทขีลอยู่เสมอ ทราบว่ายักษ์ทั้งสองนำเสาอินทขีลกลับสวรรค์ไปแล้วก็เสียใจมาก จึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาว บำเพ็ญศีลภาวนาใต้ต้นยางเป็นเวลานานถึง 3 ปี ก็มีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ

ลวะเกิดความกลัวจึงขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ

พระเถระบอกว่า ให้ลวะ 4 ฝ่าย คือ พระภิกษุ ฤๅษี ผี และประชาชน ร่วมกันหล่ออ่างขางหรือกระทะขนาดใหญ่ แล้วใส่รูปปั้นต่างๆ อย่างละ 1 คู่ ช้าง ม้า เป็นต้น ปั้นรูปคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาใส่กระทะใหญ่ลงฝังในหลุมแล้วทำเสาอินทขีลไว้เบื้องบนทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้นภัยพิบัติ

การทำพิธีบวงสรวงสักการบูชา จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เสัาพงฯนทฯขีลฯฯ เสัาหลฯักเมิอฯงฯฯที่วัดฯเจดียฯ์หลฯวฯง เสาอินทขีล เสาหลักเมืองที่วัดเจดีย์หลวง

ต่อมาพระเจ้ากาวิละให้สร้างรูปปั้นกุมภัณฑ์และรูปพระฤๅษีไว้พร้อมเสาอินทขีล เป็นสัญลักษณ์คู่กันเอาไว้ข้างวิหาร

การสักการบูชาเสาอินทขีลจะเริ่มทำในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ และเสร็จในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เป็นประจำทุกปี

จึงเรียกว่า เดือนแปดเข้าเดือนเก้าออกเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง ฝนตกตามฤดูกาล

ไม่มีโรคร้ายเภทภัยมาเบียดเบียน •