ศิลปินผู้ใช้สตรีตอาร์ตเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม Shepard Fairey / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ศิลปินผู้ใช้สตรีตอาร์ต

เป็นพลังขับเคลื่อนสังคม

Shepard Fairey

 

จากการที่ได้ดูวิดีโอสัมภาษณ์ศิลปินผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแคมเปญของผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุดอย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (https://bit.ly/3QGTOvx)

ทำให้เราอดรู้สึกไม่ได้ว่าศิลปะก็สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมได้

ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินอีกคนที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลกกัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เชพเพิร์ด แฟรี่ (Shepard Fairey)

ศิลปินสตรีตอาร์ตชาวอเมริกัน ผู้ทรงอิทธิพลและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในโลก ถือกำเนิดจากกระแสสตรีตอาร์ตและวัฒนธรรมสเก๊ตบอร์ดที่เฟื่องฟูในช่วงต้นยุค 1990

ผลงานของเขาแพร่หลายในวงกว้าง และจุดกระแสเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของสตรีตอาร์ตไปทั่วโลก ดังเช่นที่ศิลปินสตรีตอาร์ตในตำนานอย่างแบงก์ซี (Banksy) เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“ถ้าเชพเพิร์ด แฟรี่ เข้าไปในเมืองไหน ศิลปินกราฟฟิตี้ทุกคนในเมืองนั้นจะต้องตื่นตระหนกกันยกใหญ่ ผมมั่นใจอย่างมากว่าเขาแทรกแซงทุกพื้นที่บนท้องถนนได้มากกว่าศิลปินกราฟฟิตี้หน้าไหนในประวัติศาสตร์ นั่นหมายความว่าเขาคือผู้ชนะที่แท้จริง”

ปสเตอร์ Hope (2008), ภาพจาก https://bit.ly/3Ncm8Tv

ผลงานโปสเตอร์, สติ๊กเกอร์ หรือศิลปะบนผนังกำแพงของเขาเป็นส่วนผสมของการล้อเลียนเสียดสี, การล้มล้าง, ความขัดแย้ง และความพยายามในการทำลายขอบเขตระหว่างศิลปะแบบเดิมๆ กับพาณิชยศิลป์ และการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะและการล่วงล้ำ

เขายังมีชื่อเสียงในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์ทั้งในเชิงการเมืองและการค้า โดยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแคมเปญที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก

เขาริเริ่มแคมเปญสตรีตอาร์ตที่ผลิตผลงานศิลปะในรูปของสติ๊กเกอร์กว่า 10 ล้านชิ้น

ผลงานของเขาถูกทำซ้ำ เผยแพร่ และติดบนผนังกำแพงบนถนนหนทางในเมืองหลายแห่งทั่วโลก

นอกจากการทำงานสตรีตอาร์ตบนท้องถนนแล้ว แฟรี่ยังพัฒนาธุรกิจส่วนตัวที่ขายผลงานต่างๆ บนเว็บไซต์ของเขา ทั้งผลงานที่จัดแสดงในหอศิลป์ สิ่งพิมพ์ หนังสือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปจนถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

ถึงแม้การทำเช่นนี้จะทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะศิลปินว่าเอาศิลปะมาแปดเปื้อนการค้า แต่แฟรี่ก็หาได้แคร์ไม่ เหตุเพราะเขาต้องการทำให้ศิลปะสามารถเข้าถึงผู้คนแทบทุกคน และทำให้แทบทุกคนเข้าใจ รวมถึงสามารถซื้อหา และดูชมผลงานของเขาได้ทั่วถึง

แฟรี่สร้างผลงานของเขาจากภาพในสื่อธรรมดาสามัญรอบๆ ตัว ทั่วๆ ไป ที่ใครๆ ก็รู้จัก และคุ้นตา ทำให้ผลงานของเขาเข้าถึงและเข้าใจง่าย

เขาขายผลงานให้ผู้คนโดยตรงทางเว็บไซต์ในราคาย่อมเยา (ตั้งแต่ 45-100 เหรียญสหรัฐ) ทำให้ใครๆ ก็สามารถซื้องานของเขาได้โดยไม่ต้องผ่านนายหน้า หรือหอศิลป์ใดๆ

เขายังมักจะแสดงผลงานของเขาในพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาดูงานได้โดยไม่จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

โปสเตอร์ Hope ที่ดัดแปลงไปใช้สนับสนุนกระแสเคลื่อนไหว Occupy Wall Street ในปี 2011, ภาพจาก https://bit.ly/3Ncm8Tv

 

แฟรี่อธิบายว่าผลงานของเขาเป็นเสมือนหนึ่งการทดลองทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบ ปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) ที่ตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ แฟรี่ใช้ภาพศิลปะแบบประชานิยมของเขาบนสติ๊กเกอร์ โปสเตอร์ หรือสิ่งพิมพ์ที่ติดตามท้องถนน เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นสามัญสำนึกของผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของ “ภาพ” ในสื่อต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่พวกเขาเห็นกันจนชินชา

ในช่วงแรกๆ ผลงานของแฟรี่ยังไม่แฝงประเด็นทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งนัก เขาเพียงใช้สไตล์แบบโซเชียลลิสต์ เรียลลิสม์ (Socialist Realism) หรือศิลปะสัจสังคมนิยม ที่หยิบยืมมาจากโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต เพื่อดึงดูดความสนใจของสาธารณชนและกระตุ้นให้เกิดคำถามต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมรอบๆ ตัว

จนกระทั่งเมื่อจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมกับนโยบายทางการทหารอันแข็งกร้าว แทนการใช้สันติวิธี ซึ่งขัดใจแฟรี่อย่างแรง จนทำให้เขาหยิบเอาประเด็นทางการเมืองเหล่านั้นมาแสดงออกในเชิงต่อต้านผ่านผลงานศิลปะของเขา ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านสงครามอิรัก และนโยบายทางการเมืองแบบอนุรักษนิยมขวาจัดของบุช

แฟรี่ใช้ผนังและกำแพงบนท้องถนนในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่แสดงออกทางความคิดอย่างแหลมคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดคำถามต่อสังคม และยึดคืนพื้นที่สาธารณะจากการเป็นพื้นที่โฆษณาขององค์กรธุรกิจและรัฐบาล ให้กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งการต่อต้านและประณามสงครามอิรักและนโยบายของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

เขายังทำผลงานที่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมต่างๆ อย่างประเด็นทางสิ่งแวดล้อม, พลังงานทางเลือก และสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ อีกด้วย

โปสเตอร์ Honest Gil Fulbright SOLD (2014), ภาพจาก https://bit.ly/3Ncm8Tv

 

ในช่วงเวลาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2004 แฟรี่สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักสุดของเขาขึ้นมาอย่างโปสเตอร์ (Barack Obama) Hope (2008) โดยแรกเริ่มเดิมที เขาทำออกมาเป็นโปสเตอร์ติดบนผนังกำแพงข้างถนนหนทาง ก่อนที่มันจะไปเตะตาทีมทำแคมเปญของบารัก โอบามา จนถูกติดต่อขอใช้เป็นโปสเตอร์รณรงค์หาเสียงหลักของโอบามา

ซึ่งต่อมาโปสเตอร์ที่ว่านี้ก็กลายเป็นโปสเตอร์รณรงค์หาเสียงที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดชิ้นหนึ่งในโลกตะวันตก

และเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โอบามาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ในที่สุด

แฟรี่ใช้ภาพของโอบามาในอากัปกิริยาที่กำลังมองไกลออกไปข้างหน้า มีสีหน้าท่าทางที่ดูมองโลกในแง่ดีและมีเกียรติ ซึ่งชวนให้นึกถึงภาพของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ โดยหยิบยืมสีสันของธงชาติอเมริกันมาใช้เป็นโทนสีหลักของภาพเพื่อสะท้อนอารมณ์แห่งความรักชาติ เขาออกแบบโปสเตอร์นี้โดยได้แรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์ของโอบามาในการประชุมคณะกรรมการประชาธิปไตยแห่งชาติ

ในช่วงเวลานั้น แฟรี่กำลังประท้วงนโยบายของบุชในการก่อสงครามอิรัก และเมื่อเขารู้ว่าโอบามาชูนโยบายสนับสนุนการรักษาพยาบาลฟรี (โอบามาแคร์) และการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เขาจึงตัดสินใจว่าเขาต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง และทำโปสเตอร์นี้ขึ้นมาเองโดยไม่มีใครจ้างวาน

Revolutions Mural (2011), ชิคาโก, อิลลินอยส์. สหรัฐอเมริกา https://bit.ly/3zVGP36

แฟรี่กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบโปสเตอร์นี้ว่า

“โอบามากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการที่เขาไม่ได้เป็นคนผิวขาว (ที่เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) ผมจึงเลือกใช้สีแดง ขาว และน้ำเงิน ในภาพของเขา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เปี่ยมสไตล์ และเป็นบุคคลในอุดมคติ”

เดิมทีแฟรี่ใช้คำว่า “ก้าวหน้า” (Progress) เป็นสโลแกนใต้ภาพ แต่เมื่อโปสเตอร์นี้กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทางผู้จัดทำแคมเปญการเลือกตั้งจึงขอให้เปลี่ยนสโลแกนเป็นคำว่า “ความหวัง” (Hope) แทน และกลายเป็นแคมเปญหลักของการเลือกตั้งไปในที่สุด

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้คนรู้สึกสิ้นหวังภายใต้รัฐบาลของบุช โปสเตอร์นี้จึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้คนเหล่านั้น” แฟรี่กล่าว

แม้ผลงาน Hope ในรูปของโปสเตอร์ 300,000 แผ่น และสติ๊กเกอร์ 500,000 ชิ้น จะถูกตีพิมพ์ออกมา แต่แฟรี่ก็ไม่ได้เรียกร้องค่าลิขสิทธิ์จากผลงานชิ้นนี้ เขายังเปิดให้คนดาวน์โหลดผลงานชิ้นนี้ได้ฟรีๆ ในเว็บไซต์ของเขา เพื่อให้คนทั่วไปเอาไปพิมพ์ออกมาเองได้

ผลงาน Hope เวอร์ชั่นสีทอง ยังกลายเป็นผลงานสะสมถาวรของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) อีกด้วย

โปสเตอร์ Power and Equality (2007), ภาพจาก https://bit.ly/3n60Xb0

ถึงแม้แฟรี่จะเคยบอกอย่างชัดเจน ว่าเขาไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด แต่เขาก็เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ และยังมักจะบริจาคเงินส่วนหนึ่งจากรายได้ หรือกำไรจากการขายผลงานของเขาให้องค์กรที่สนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ อย่าง การสมรสเพศเดียวกัน หรือการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เป็นต้น

เช่นเดียวกับนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่หลายคนที่สามารถส่งสารไปสู่มวลชนผ่านดนตรีของพวกเขา แฟรี่เองก็สามารถใช้ภาพของเขาเชื่อมโยงความรู้สึกของผู้คนมากมาย ผลงานของเขาสื่อสารโดยตรงกับผู้คนจำนวนมาก ที่ได้แรงบันดาลใจจากสุนทรียะในภาพ หรือแม้แต่ความคิดของเขา

เช่นเดียวกับภาพโปสเตอร์ของโอบามาที่แสดงให้เห็นว่าการสื่อสารด้วย “ภาพ” เพียงภาพเดียวนั้นทรงพลังยิ่งกว่าการรณรงค์ทางการเมืองไหนๆ ก็ตาม •

 

ข้อมูล : หนังสือ Art & Agenda : Political Art and Activism โดย Silke Krohn, เว็บไซต์ https://bit.ly/3blgIZ5