กัญชา เมาหรือไม่เมา? / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

กัญชา เมาหรือไม่เมา?

 

ประวัติศาสตร์จดจำวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กัญชา ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป

ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านนั้นถือว่าเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการศึกษาและการใช้เพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ

แต่สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ถึงความห่วงกังวลและผลกระทบในช่วง “สุญญากาศ” ยังไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะที่จะรับมือกับสถานการณ์กิจกรรมสันทนาการ และการบริโภคเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร คนที่ไวหรือแพ้กัญชา

รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวที่จะได้รับอันตรายได้

 

ความรู้เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ในเวลานี้พอจะสรุปได้อย่างเป็นทางการตามคณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในเว็บไซต์ https://www.medcannabis.go.th ระบุว่า 6 โรคหรือภาวะอาการโรค ที่สารกัญชามีประโยชน์ในการรักษา โดยมีข้อมูลวิชาการสนับสนุนชัดเจน

1) ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

2) โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา

3) ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

4) ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

5) ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีน้ำหนักน้อย

6) การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต

และมีอีก 4 กลุ่มโรคหรือภาวะโรค ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากสารกัญชา แต่ยังต้องการงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง) และโรคอื่นๆ ที่จะมีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการต่อไป

 

ปัจจุบันในการแพทย์แผนไทย ตำรับยากัญชาที่ได้รับประกาศในรายการยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติสามารถเบิกได้โดยคนไข้ไม่ต้องจ่าย มี 8 รายการ ซึ่งเป็นตำรับยาแผนไทย 3 รายการ คือ ยาแก้ลม แก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ และยาทำลายพระสุเมรุ

และที่เป็นรูปแบบยาน้ำมันกัญชา 5 รายการ เช่น ยาน้ำมันกัญชาที่มี CBD : THC (1:1) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวด ยาน้ำมันกัญชาที่มี CBD : THC (20:1) ในผู้ป่วยลมชักรักษายากด้วยยาแผนปัจจุบัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในทางยาพื้นบ้านก็มีการเก็บสำรวจประโยชน์ทางยากันมาก เช่น การเก็บข้อมูลจากตำราหรือคัมภีร์โบราณของภาคใต้ สำรวจสืบค้นเอกสารที่ภาคใต้เรียกว่า “หนังสือบุด” โดย อ.ชัยวุฒิ พิยะกุล, อ.เบ็ญจวรรณ บัวขวัญ, อ.เกรียงไกร บรรจงเมือง, อ.มาณี แก้วชนิด และ อ.สมบูรณ์ ทิพย์นุ้ย รวมไว้ในหนังสือ 108 ตำรับยาภูมิปัญญากัญชาใต้ ที่คววรนำมาศึกษาวิจัยเพื่อการแพทย์

ขอยกยาแก้เบื่ออาหาร ชื่อไพเราะว่า “เสน่ห์ข้าว” พบในตำราฉบับกำนันนิยม หาญชนะ ที่ จ.กระบี่ ซึ่งตำรับยาเหมือนกับที่พบในตำรับยาที่อื่นคนละสถานที่ แต่มีตัวยาตรงกัน ได้แก่ เอาคนทีสอ 1 ลูกตูม 1 ใบกัญชา 1 บอระเพ็ด 1 ตำผงน้ำผึ้งรวงเป็นกระสายทำแท่นไว้เท่าลูกพุทธากินแล

มูลนิธิสุขภาพไทยสนับสนุนการใช้เพื่อการแพทย์ แต่ระหว่างรอลุ้น ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่จะมีเนื้อหาสาระทั้งส่งเสริมและป้องกันผลกระทบหรือไม่ ปัจจุบันจึงยังไม่มีกฏหมายเฉพาะมาดูแลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อย่างชัดเจน เสมือนให้ทุกคนมีวิจารณญาณและความรับผิดชอบกันเองในครอบครัว ชุมชน สังคม

ดังนั้น ขอทำความเข้าใจด้วยว่า “สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้” หรือ “คุณอนันต์ โทษมหันต์” เช่นกัน

กัญชาเป็นพืชแปลก มีทั้งสารที่เรียกว่า “สารเมาและติดได้” หรือ THC และ “สารไม่เมาหรือต้านเมา และไม่ติด” หรือ CBD ทั้งสารเมาและไม่เมา มีประโยชน์ทางการแพทย์

เช่น สารเมา-THC การนำมาเป็นยาแก้ปวด แก้นอนไม่หลับ แก้เบื่ออาหาร แต่ต้องระวังถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เสพติดได้และมีผลต่อจิตประสาทด้วย

สำหรับสารไม่เมา-CBD นำมาใช้แก้อาการอักเสบ อาการชัก แก้วิตกกังวล ฯลฯ แต่จะใช้พร่ำเพรื่อมากมายก็ไม่ได้ ต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย

การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพสำคัญเช่นกัน จะให้บรรลุผลดีต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง รู้จักใช้พืชสมุนไพรให้กระจ่าง ถูกต้น ถูกส่วน วิธีปรุงยาไม่ผิดเพี้ยน ปริมาณหรือวิธีการกินก็ต้องถูกต้องไม่น้อยไปมากไป

และควรรู้ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ด้วย ขึ้นชื่อว่า “ยา” ต้องใช้ให้เหมาะสม และโดยเฉพาะ “ยากัญชา” ไม่ใช่ยาวิเศษที่ยิ่งใช้ยิ่งดีแต่ต้องใช้ให้พอดี และในความเป็นจริงพบว่าคนไข้หลายรายก็ใช้ไม่ได้เพราะแพ้กัญชา

ในวงของอาหารที่มีความคาบเกี่ยวกับอาหารสุขภาพหรือจะเรียกกัญชาเป็นอาหารสมุนไพรด้วยนั้น ขอให้ตระหนักในสารเมาและสารไม่เมาด้วย โดยเฉพาะการปรุงอาหารกินเองหรือเลี้ยงในหมู่คณะ

มีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 9 มิถุนายน และไม่ได้อยู่ในระบบรายงานของกระทรวงซึ่งน่าจะมีลักษณะนี้จำนวนพอสมควร เช่น แม่ครัวนึกว่าไม่มีผลเสียก็ซอยใบกัญชาผสมในอาหารข้าวยำ ที่แต่ดั้งเดิมเมนูเช่นนี้ไม่มีการใส่กัญชา

ผลคือมีผู้ที่แพ้และไวต่อกัญชามีอาการใจสั่น หายใจลำบาก คุณป้าอีกคนกินแกงใส่กัญชาแล้วง่วงซึมอยากนอน ดีที่ไม่ได้ขับรถ เป็นต้น

ใครที่แพ้หรือเมากัญชาให้แก้แบบเร่งด่วนเหมือนแก้เมาเหล้า กินของเปรี้ยวๆ เช่น น้ำมะนาว บ๊วย มะขามเปรี้ยว และแนะนำกินชารางจืดแก้เมาด้วย

 

คําปรารถนาดี (คำเตือน) ที่ใช้ในรูปแบบยาหรืออาหาร ผู้ไม่ควรใช้ คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด เคยมีอาการแพ้กัญชาแล้ว หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ผู้ที่กำลังกินยาวาร์ฟาริน (WARFARIN) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ผู้ที่เคยมีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้สูงอายุก็ต้องระมัดระวังใช่ว่าจะเป็นยาบำรุงสำหรับทุกคน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับและไต

เราควรมาช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ขอเรียกว่า New Norm เกี่ยวกับการใช้กัญชา เช่น ร้านอาหาร เมนูอาหาร เปิดเผยสง่างามประกาศว่าใส่หรือไม่ใส่กัญชาเพื่อให้ผู้บริโภครู้และตัดสินใจ ใครที่กินกัญชาต้องตระหนักว่า ไม่ควรขับรถเพราะสารออกฤทธิ์จะเกิดขึ้นหลัง 2-3 ชั่วโมง แม้ว่าบางรายอาจไม่มีผลก็ตามแต่เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ และไม่นำเอาส่วนช่อดอกและใบที่ติดช่อดอก มาใช้ปรุงอาหารเพราะมีสารเมาสูงมีผลกระทบสูง เป็นต้น และควรมีมาตรการอื่นๆ ที่เร่งสร้างบรรทัดฐานใหม่

กัญชาไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสารออกฤทธิ์ในกัญชามีผลต่อจิตประสาทและชวนให้เคลิบเคลิ้มยึดติดกับความสุขเช่นนี้ ด้วยความอยากรู้อยากลองที่มีในตัวมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น ก็อาจนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพและจิตประสาท

มาช่วยกันสร้าง New Normal บริโภคกัญชาด้วยกันดีกว่า •