เสน่หาพญาแร้ง (2) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

เสน่หาพญาแร้ง (2)

 

ตั้งต้นด้วยความแค้น ผลสำเร็จย่อมห่างไกล ไม่ต่างจากพญาแร้งแห่งเขานิลกาฬา

เมื่อหนุ่มน้อย (พญาแร้งแปลง) ถามว่าตายายเป็นอะไรถึงมานอนร้องไห้อย่างนี้ ทั้งสองระเบิดพายุอารมณ์ทันที แค้นที่หนุ่ม ‘ตัวช่วย’ กลายเป็น ‘ตัวซวย’ โดยไม่คาดคิด

“ครั้งนี้จะพากันบรรลัย

เจ้าพาราตรัสคาดโทษมา สามวันท่านจะฆ่าให้ตักษัย

ให้เร่งทำตะพานทองไป แต่เรือนเราไซร้ให้ถึงวัง

เอ็งไม่เจียมตัวกลัวภัย จะพากันบรรลัยเพราะโอหัง

ลูกชาวกรุงศรีไม่อินัง แกล้งชังฆ่าเราให้บรรลัย”

หนุ่มน้อยยิ้มปลอบใจ ‘เรื่องจิ๊บๆ แค่นี้ไว้เป็นธุระข้า อย่าร้อนใจ ตายายมาเหนื่อยๆ กินข้าวกินปลาเถอะ’

คืนนั้นพญาแร้งคืนร่างเดิมบินกลับไปยังเขานิลกาฬา ระดมพลแร้ง ‘บรรดาที่อยู่ในจอมผา ชวนกันโผผินบินมา’ ยังกระท่อมตายาย

ทันทีที่มาถึง พญาแร้งเนรมิตกระท่อมซอมซ่อเป็นปราสาททองโอฬาร ร่ายมนต์ให้บริวารแร้งแปลงเป็นคนช่วยงานโยธาเฉพาะกิจเสร็จโดยพลัน

“จัดสรรกันทำตะพานทอง กุก่องใหญ่ยาวเป็นนักหนา

ล้วนทองพิจิตรรจนา เข้ามาจนถึงทวารวัง

มีทั้งราชวัติฉัตรแก้ว เลิศแล้วเรียงรายอยู่สะพรั่ง

ให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ ดุริยางค์ดนตรีเป็นโกลา”

เมื่อสะพานทองคำงามจับตาปรากฏเด่นเป็นสง่าทอดยาวถึงพระราชวัง ผลงานเข้าตาและได้ใจท้าวสันนุราช มองเห็นอนาคตสดใสของพระธิดาพิกุลทอง ยอมรับว่าที่ลูกเขยอย่างไม่มีข้อแม้

“อันหลานของยายกับตา ชะรอยวาสนามันเคยคู่

บุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นพ้นรู้ ควรกูจะให้พระธิดา”

 

ทรงปรึกษาพระมเหสีว่าหลานชายตายายเป็นผู้มากบารมี สมควรจัดงานอภิเษกให้ครองคู่กับพระธิดา พิธีจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ให้คู่บ่าวสาว

“ขึ้นนั่งบนแท่นราชาภิเษก ภายใต้เศวตฉัตรซ้ายขวา

พราหมณ์รดน้ำสังข์ตามวิวาห์ เษกให้สองราเจ้าครองกัน

ให้ตั้งบายศรีทองบายศรีแก้ว เสร็จแล้วเวียนเทียนทำขวัญ

ครบเจ็ดรอบแล้วโบกควัน โห่สนั่นครั่นครื้นทั้งเวียงไชย”

ทุกขั้นตอนผ่านไปอย่างราบรื่น เมื่ออยู่สองต่อสองในห้องหอ ถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม พญาแร้งเริ่มรุกเร้า

“ลูบโลมรับขวัญกัลยา คิดถวิลจินดาข้างในใจ

ขอเชิญนิ่มนวลยวนสวาดิ เข้าที่ไสยาสน์พิสมัย

เจ้าจะอายเหนียมแก่เรียมไย พี่จะช่วยกล่อมให้เจ้านิทรา”

ลูกสาวที่จำใจแต่งงานเพราะเกรงใจพ่อ อึดอัดใจนั่งนิ่ง ความไม่ยินยอมพร้อมใจฉายชัด

“นางก้มพักตร์อยู่ไม่พาที จะจงรักภักดีก็หาไม่

มิรู้ที่จะตอบประการใด ชลนัยน์คลอครองนัยนา”

พญาแร้งทั้งปลอบทั้งขู่ มือไม้พัลวันไม่อยู่นิ่ง

“ฤๅเจ้ามิปลงลงใจ ขัดเคืองสิ่งใดนะโฉมศรี

ว่าพลางอิงแอบแนบยวนยี จะบิดผันหันหนีไม่ฟังแล้ว

เหมือนราหูจู่จับเอาจันทร์ได้ รู้จักหรือไม่นางน้องแก้ว

อยู่ในใจมือของพี่แล้ว จะคลี่คลายแก้วอย่าสงกา”

ระฆังช่วยนางเอกของเรื่องไว้ทัน พญาแร้งที่ฟอร์มดีมาแต่ต้นจึงอดแอ้มสาว เพราะมีตัวช่วยล่าสุดมาเป็นก้างขวางคอ

“แต่สัมผัสเย้ายวนเชยชม มิได้ร่วมภิรมย์เสน่หา

จนล่วงเข้าสองยามเวลา เทวดาดลจิตให้หลับไป”

 

หนุ่มหลับปุ๋ย แต่สาวยัง จังหวะนั้นเกิดเหตุไม่คาดคิด

“ในเมื่อเพลาราตรีนั้น จอมขวัญมิทันจะหลับใหล

ให้เหม็นกลิ่นแร้งเป็นเหลือใจ ที่ไหนจึงเหม็นขจรมา

ความเหม็นเช่นนี้มิทนได้ เหมือนแร้งจังไรตายห่า

เหม็นเมื่อกูสรงคงคา ฤๅว่ามาจับอยู่แห่งไร”

นางพิกุลทองพยายามมองหาที่มาของกลิ่น พญาแร้งมีอาการไม่ต่างกับคนที่ผายลมแล้วแกล้งกลบเกลื่อน ดังที่กวีบรรยายว่าพญาแร้งแปลง

“ลุกขึ้นทำเหม็นด้วยทรามวัย เห็นหลากแก่ใจใช่พอดี”

ทั้งยังสันนิษฐานเป็นคุ้งเป็นแควว่านางพิกุลทองน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลิ่นร้ายกาจนี้

“แต่ก่อนบุราณท่านกล่าวไว้ สัตว์สิ่งใดใดเป็นซากผี

อย่าถ่มน้ำลายคายรดนั้นไม่ดี หญิงนั้นจะอัปรีย์บรรลัย

ชะรอยเจ้าได้ด่าทอมัน กลิ่นนั้นติดตามสำแดงให้”

รู้อยู่เต็มอกว่ากลิ่นอันเคยคุ้นนี้ของใคร พญาแร้งแปลงรีบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการออกตัวว่า

“พี่ให้ร้อนรนเป็นพ้นใจ ลุกไปชำระกายา”

ตัวเหม็นก็ต้องอาบน้ำให้กลิ่นจางลง แล้วหาของหอมมากลบกลิ่นที่หลงเหลือ ดังที่กวีเล่าว่า

“เอาเครื่องพระสุคนธ์มาลูบไล้ หวังจะให้กลบกลิ่นของปักษา

มิให้รู้กลมารยา แล้วกลับเข้ามาประทมไป”

ขืนอยู่ต่อกลัวความจะแตกก่อนได้แก้แค้นนางพิกุลทอง พญาแร้งแปลงจึงออกอุบายพานางไปเยี่ยมพระบิดามารดาที่จากมานาน โดยกราบทูลลาพ่อตาแม่ยาย คือท้าวสันนุราชและพระมเหสีว่า ครั้งนี้จะ

“ไปเยี่ยมปิตุเรศมารดา จะโศกาเศร้าสร้อยหมองศรี

แต่ลูกพลัดพรากจากบุรี หลายปีมาแล้วไม่แจ้งใจ

อันตัวของลูกพระบิดา จะเป็นลูกยายตาก็หาไม่

เที่ยวไล่เนื้อหลงพลดั้นด้นไพร จึงมาอาศัยยายกับตา

จนเป็นเกือกทองรองธุลี ลูกนี้ทุกข์ร้อนเป็นนักหนา

ลูกจะขอพาองค์พระธิดา ไปด้วยลูกยาในครั้งนี้”

 

นอกจากขอลากลับบ้านเกิดเมืองนอนไปเยี่ยมเยียนบุพการีแล้ว ขออนุญาตพาลูกสะใภ้ไปไหว้ด้วย ลูกเขยที่งามสง่าคารมดีเอ่ยปากทั้งที มีหรือพ่อตาแม่ยายจะใจแข็งต่อคำขอ พระชนกชนนีของนางพิกุลทองไม่ขัดข้อง ตรัสอนุญาตทันที

“สำคัญว่าจริงทุกสิ่งไป จึงปราศรัยด้วยความเสน่หา

เจ้าจะไปเยี่ยมเยียนพระพารา จะพาเมียไปด้วยก็ตามใจ”

ทั้งยังสนับสนุนเรือพาหนะ ครบครันเครื่องบรรณาการไปถวายพระบิดามารดาของพญาแร้งแปลง

“พ่อจะจัดแจงเภตรา ไปส่งลูกยาอย่าหม่นไหม้

ว่าแล้วก็สั่งเสนาใน ให้เร่งไปทำเภตรา

ให้พร้อมทั้งเครื่องบรรณาการ ต้นหนคนงานถ้วนหน้า

เร่งรัดตำรวจตรวจตรา เราจะให้ลูกยาไปเมืองไกล”

ในวันเดินทาง ท้าวสันนุราชทรงฝากฝังลูกสาวให้ลูกเขยช่วยดูแล

“พ่อขอฝากองค์อัคเรศ คือดั่งดวงเนตรทั้งซ้ายขวา

เจ้าผิดพลั้งสิ่งไรจงเมตตา เจ้าอย่าสลัดตัดรอน”

ทั้งยังตรัสเตือนพระธิดาด้วยความรักอาลัย

“เจ้าพิกุลทองของบิดา ลูกยาจงจำคำพ่อสอน

ตัวเจ้าจะไปต่างนคร บังอรฝากตัวท่านจงดีฯ”

ตั้งแต่เกิดมานางพิกุลทองไม่เคยจากพระชนกชนนีไปไหนลำพัง ครั้งนี้ต้องทำสิ่งฝืนความรู้สึก

“วิ่งเข้ากราบองค์พระชนนี หนักใจลูกนี้พ้นปัญญา

ครั้นจะมิไปก็ไม่ได้ เกรงเดชท้าวไทเป็นนักหนา

ชลเนตรฟูมฟองนองตา โศกาสะอื้นร่ำไร”

นางพิกุลทองจำต้องร่วมทางไปกับพระสวามีที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ จะได้เป็น ‘เมีย’ หรือเป็น ‘อาหาร’ หรือเป็นทั้งสองอย่าง ติดตามฉบับหน้า •