E-DUANG : คำถาม จาก 24 มิถุนายน 2475 คำถาม ถึง เพื่อไทย กับ ก้าวไกล

คำปราศรัยของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ กับ คำปราศรัยของ นายรังสิ มันต์ โรม ในงาน”90 ปี 24 มิถุนายน 2475”ซึ่งจัดโดยมูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์ ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงเพราะ นายรังสิมันต์ โรม ปราศรัยในแง่ที่เป็น ส.ส.คนสำคัญของพรรคก้าวไกล

หากแต่ยังดำรงอยู่ในฐานะเป็น”โฆษก”ของพรรคอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น เหมือนกับว่า นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ จะได้รับเชิญให้ไปแสดงวิสัยทัศน์จากพื้นฐานแห่งการเป็นแกนนำนปช.และโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในตำแหน่งเลขาธิการนปช.

กระนั้น ความฝังจำใหม่ของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็คือ การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น”ผู้อำนวยการ”ครอบครัวเพื่อไทย ยืนเรียงเคียงกับ นส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัว

ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม ได้ประกาศ อย่างแจ้งชัดเปิดเผยถึงท่าทีของพรรคก้าวไกลไม่ว่าจะต่อ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ว่าจะต่อการตระเตรียมนโยบายในการเลือกตั้ง

ขณะที่กล่าวสำหรับ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อาจประกาศจากมุมของนปช.ที่มีบทบาทในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

แต่ยังมิได้ประสานเข้ากับแนวของ”ครอบครัว”เพื่อไทย

 

จุดหนึ่งของพรรคก้าวไกลต่อสถานการณ์อันเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษา ยน 2553 ซึ่งเกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนที่เคลื่อนไหวในนามของนปช.ในนามของคนเสื้อแดง

นั่นก็คือ การยืนยันที่จะนำเอากรณีเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2563 เข้าสู่การพิจารณาในศาลระหว่างประเทศ

ไม่เพียงแต่เท่านั้นพรรคก้าวไกลยังยืนยันที่จะเสนอให้มีการนิรโทษกรรมต่อกรณีของการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรในปี 2563 ต่อเนื่องมายังปี 2565 อีกด้วย

2 ข้อเสนออันมาจากพรรคก้าวไกลเท่ากับเป็นการสื่อโดยตรงไปยังชะตากรรมของนปช. ไปยังชะตากรรมของคณะราษฎร คำถามก็คือท่าทีของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นอย่างไร

ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ ท่าทีในทาง”ส่วนตัว”และท่าทีใน

จุดแห่ง”ผู้อำนวยการ”ครอบครัวเพื่อไทยว่าจะดำเนินไปอย่างไร

 

มีความเป็นไปได้ว่า ยิ่งวาระแห่งการเลือกตั้งคืบคลานเข้ามาใกล้ เพียงใด กระแสและการกดดันจากสังคมต่อพรรคการเมืองและนัก การเมืองก็จะแหลมคมมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าปม”รัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าปมเรื่อง”การกระจายอำนาจ”

การต่อสู้ทางการเมืองที่ถือ”นโยบาย”เป็นเครื่องมืออันทรงพลังจึงท้าทายและเรียกร้องสำนักของพรรคการเมืองอย่างสูง

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล