2503 สงครามลับ สงครามลาว (87)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (87)

 

ข้าคือทหารเสือพราน

“สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” ของ “ชาลี คเชนทร์” บันทึกเรื่องราวในส่วนของทหารเสือพรานในช่วงเวลาสำคัญนี้ไว้ดังนี้

“ครั้นฝ่ายเวียดกงและขบวนการปะเทดลาวยึดทุ่งไหหินได้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2514 พร้อมกับได้ส่งกำลังเข้าขับไล่ผลักดันทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารเสือพรานถอยร่นไม่เป็นขบวนจนต้องถอนทัพกลับไปทางตอนใต้เมืองล่องแจ้งแล้ว หน่วยเหนือได้ส่งกำลังพลทหารเสือพรานหน่วยใหม่ คือ บีซี 616 617 และ 618 เข้าไปเสริมเป็นกองหนุนรักษาพื้นที่บนเนินสกายไลน์ และบริเวณตอนใต้เมืองล่องแจ้ง ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้บีซี 606 เข้ายึดถ้ำตำลึงและเนินซีบร้า เพื่อตัดทอนการไล่ล่าของข้าศึกจากทุ่งไหหิน โดยสั่งการให้บีซี 617 ตรึงแนวรักษาพื้นที่บนภูล่องมาดเพื่อขัดขวางการรุกคืบของข้าศึกทางตอนเหนือขึ้นอีกทางหนึ่ง

กำลังของส่วนแนวหน้าทั้งหมดได้ระวังป้องกันและผลักดันข้าศึกได้ผลดียิ่ง สามารถขัดขวางการเคลื่อนทัพฝ่ายข้าศึกไม่ให้รุกคืบสู่สันเขาสกายไลน์และเมืองล่องแจ้งได้โดยง่าย ทำให้กองพันทหารเสือพรานหน่วยอื่นๆ ได้มีเวลาปรับกำลังพลและฟื้นฟูสมรรถภาพภายในหน่วยได้เต็มที่

ผลการสู้รบหนักหน่วงที่ทุ่งไหหินทำให้กำลังพลบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก รวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บอีกหลายนาย เมื่อสถานการณ์สู้รบทวีความรุนแรง กำลังพลบางส่วนในแต่ละกองพันจึงตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย หลายคนขวัญเสียเครียดหนักจนเป็นโรคประสาทสงคราม แม้แต่ทหารเสือพรานบางนายที่เป็นอดีตเสือร้ายผู้มีประวัติปล้นฆ่ามาอย่างโชกโชนยังถอดใจผวา เกรงกลัวต่อานุภาพของกระสุนปืนและวัตถุระเบิด คนพวกนั้นจึงหลบหลีกซ่อนตัวเพราะกลัวตายเพียงให้พ้นวันๆ เท่านั้น ไม่กล้าแม้แต่การถืออาวุธป้องกันตนเอง หัวใจที่เคยกล้าแกร่ง ได้ส่อถึงความขี้ขลาดเห็นได้ชัด รายที่ไม่สามารถทนต่อสภาวะความเก็บกดได้ต่างมองหาช่องทางหลบหนีจากแนวหน้า แม้นายทหารบางคนผู้มีตำแหน่งเป็นถึงระดับผู้บังคับหน่วย ก็ยังละทิ้งลูกน้อง หนีหายจากฐานที่ตั้งไปได้ ยอมได้แม้กระทั่งการถูกส่งตัวขึ้นศาลทหารในข้อหาหนีทัพ

ในเรื่องเกี่ยวกับวินัยทหารนั้น ได้ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าการหนีการเกณฑ์ทหารเป็นความผิดร้ายแรง การหนีทัพเป็นข้อหาฉกรรจ์ ยิ่งหนีทัพต่อหน้าอริราชศัตรูแล้วมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตทีเดียว

สนามรบอันเป็นแดนประหารในท่ามกลางดงระเบิดเสียงปืนและกลิ่นคาวเลือดจึงเป็นเวทีการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงหัวใจอันเป็นธาตุแท้ของชายชาติทหาร นักรบคนใดได้สวมวิญญาณกล้าหาญใจถึง หรือเป็นคนขี้ขลาดหวาดผวา ย่อมเห็นได้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานในเหตุการณ์นั้นๆ ดังนั้น ทหารทุกคนเมื่อประจันหน้าข้าศึกศัตรู ต้องไม่หวาดหวั่นกลัวภัย พร้อมสวมวิญญาณหัวใจนักสู้ ด้วยการรบเคียงบ่าเคียงไหล่อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และยอมได้แม้สละชีพเพื่อสร้างวีรกรรมอันเป็นที่สุดในสนามรบ

เมื่อทหารเสือพรานส่วนหนึ่งได้หนีทัพ ทำให้ยอดกำลังพลของกองพันต่างๆ ไม่เต็มอัตรา บางกองพันมีจำนวนไม่ถึง 400 นาย (จากจำนวนเต็ม 500 นาย) อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่ากำลังพลส่วนที่เหลือนั้นต่างมีวินัยและประสบการณ์ด้านการรบมากเพียงพอ ซึ่งจะทำให้การบังคับบัญชาเกิดสภาพคล่องตัวยิ่งขึ้น แม้กระนั้นหน่วยเหนือยังจำเป็นต้องคัดเลือกสรรหาอาสาสมัครผู้กล้าหาญเพิ่มเติมให้เต็มอัตราในแต่ละกองพันนั้นเป็นกระบวนการจัดทัพให้พร้อมตามหลักยุทธศาสตร์

ข่าวการสู้รบอันดุเดือดในพื้นที่เมืองล่องแจ้งได้ขยายวงแพร่สะพัดไปสู่ภาคอื่นๆ ของลาวอย่างรวดเร็วได้เป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนทั่วไปว่าทหารฝ่ายรัฐบาลได้พลาดท่าเสียทีต่อข้าศึกอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเป็นเช่นนี้คาดว่าในไม่ช้าถ้าทหารฝ่ายรัฐบาลไม่รักษาเมืองล่องแจ้งไว้ได้แล้วย่อมส่งผลให้ข้าศึกยกกำลังเข้ายึดเชียงลม เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต และเมืองปากเซทางภาคใต้ได้ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงการพ่ายแพ้ทั่วประเทศ โดยจะเป็นชัยชนะตามแผนสะพานสงครามโดมิโนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เด็ดขาด

ข่าวเรื่องนี้เป็นที่ร่ำลือกว้างไกลไปถึงค่ายฝึกทหารเสือพรานในประเทศไทย จนทำให้กำลังพลที่อยู่ในระหว่างการฝึกบางส่วนเกิดความสับสนลังเล อาสาสมัครจำนวนมากได้ขอถอนตัวไม่เดินทางเข้าสู่สนามรบ

เมื่อสถานการณ์ตกอยู่ในภาวะล่อแหลม เจ้าสุวรรณภูมิมาในฐานะผู้นำรัฐบาลลาวได้เปิดประชุมขึ้นในกรุงเวียงจันทน์ต่อแม่ทัพนายกองทั้ง 4 ภาค รวมถึงฝ่ายพันธมิตรร่วมรบได้แก่คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ บก.ผสม 333 และฝ่ายสกาย ซีไอเอ เพื่อขอความร่วมมือตอบโต้โจมตีข้าศึกทุกด้านให้ถึงที่สุด อันจะนำมาซึ่งการรักษาอำนาจอธิปไตยของลาวและประเทศใกล้เคียงในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงได้ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในห้วงวิกฤตนั้นโดยการสยบข่าวลือและออกแถลงการณ์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยในระบอบคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันก็ระดมกำลังพลจากทุกภาคของลาวให้เข้าไปช่วยในพื้นที่เมืองล่องแจ้งเพิ่มขึ้น…

…ทหารเสือพรานผู้เคยกรำศึกหนักนับจากกองพันต้นๆ ตั้งแต่ปลายปี 2513 ถือว่าเป็นนักรบผู้มีประสบการณ์ จิตใจของพวกเขาได้ฝังรากลึกถึงความกล้าแกร่งห้าวหาญ จากที่เคยถูกสบประมาทว่าเป็นเพียง ‘นักรบรับจ้าง’ ครั้นเมื่อได้ผ่านความทุกข์ทรมานตลอดช่วงการรบอันสุดเหี้ยมโหดมาแล้ว จึงพิสูจน์ให้เห็นว่าเงินค่าจ้างไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญแต่อย่างใด

สิ่งที่ปรากฏคือเอกลักษณ์ความโดดเด่นสมชายชาติทหาร นั่นคือการยอมเสียสละชีวิตเพื่อดำรงสถานภาพของกำลังพลส่วนใหญ่ให้คงอยู่ หรือการเป็นนักสู้ที่ไม่มีวันถอดใจได้ง่าย จากสายใยความผูกพันที่ฝังลึกในสนามรบอันยาวนานทำให้พวกเขาสมัครใจอยู่ร่วมรบในปีต่อๆ ไปแม้ได้ถูกกล่าวหา ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘นักรบนิรนาม ไร้ชื่อสมรภูมิ’ จากชนชาติเดียวกัน ในขณะที่ศัตรูมหันตภัยที่ประจำอยู่เบื้องหน้า กลับได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากผู้นำและประชาชนของพวกเขาในฐานะ ‘กองทัพนักรบปลดแอกแห่งชาติ’

เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ส่งกำลังรบจำนวนหลายกองพลเข้าต่อสู้กันย่อมหมายถึงการทำสงครามระดับประเทศ โดยแต่ละฝ่ายมุ่งโจมตีเป้าหมายหลักทางทหารของแต่ละฝ่ายให้พินาศย่อยยับเพื่อหวังผลชัยชนะของกองทัพแห่งชาติตนเป็นสำคัญ”

 

ความล้มเหลวของเวียดนามเหนือ

6 เมษายน พ.ศ.2515 กองทัพเวียดนามเหนือมีคำสั่งยกเลิก “CAMPAING Z” อย่างเป็นทางการ ทิ้งไว้เพียงกองกำลังบางส่วนบนสกายไลน์ กำลัง 2 กองพลที่บอบช้ำหนักเคลื่อนย้ายกลับเวียดนามเหนือพร้อมภารกิจที่ล้มเหลว

“BATTLE FOR SKYLINE RIDGE” อ้างอิงรายงานการปฏิบัติของฝ่ายเวียดนามเหนือสรุปได้ว่า

กำลังรบทั้งสิ้น 27,000 นายของทหารเวียดนามเหนือประสบความพ่ายแพ้แก่ทหารลาว ทหารไทย และกำลังรบนอกแบบของม้ง

ทหารเวียดนามเหนือสูญเสียทั้งจากตายและบาดเจ็บมากกว่า 10,000 นาย บางหน่วย เช่น กรม 165 ถูกทำลายไปเกือบทั้งกรม เปรียบเทียบกับกำลังฝ่ายรัฐบาลลาวซึ่งสูญเสียเป็นจำนวนมากในช่วงแรกของการรบ โดยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับเป็นเชลยประมาณ 3,000 นาย

ผู้บังคับหน่วยทหารเวียดนามเหนือสรุปเหตุผลของความล้มเหลวใน “CAMPAING Z” ว่า “SKYLINE TOO FAR” สกายไลน์เป็นที่หมายที่ยากเกินไป พลทหารเวียดนามเหนือส่วนใหญ่ยังใหม่ต่อการรบ เคยแต่ทำงานเกษตรกรรม ทำประมง เรียนหนังสือ หรือไม่ก็ทำงานในโรงงาน ไม่ได้รับการฝึกสำหรับการรบโดยเฉพาะในพื้นที่ภูเขาซึ่งต้องใช้ประสบการณ์พิเศษ

ผู้บังคับหน่วยก็ไม่มีประสบการณ์การรบบนพื้นที่ภูเขาเช่นเดียวกัน แต่คาดหวังเต็มที่จากทหารของตน ผู้บังคับหน่วยล้วนไม่คุ้นเคยกับการเคลื่อนที่ในพื้นที่ยากลำบากซึ่งปราศจากเส้นทางบนภูเขา และยังเข้าใจผิดว่าทหารจะสามารถแบกสัมภาระได้เช่นเดียวกับการเคลื่อนที่ในที่ราบ

และยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของน้ำเพื่อบริโภคที่หาได้ยากยิ่งบนพื้นที่สูงของภูเขาในลาว ที่ปราศจากต้นไม้

นอกจากนั้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งเข้าตีเนิน 1800 ซึ่งประสบกับการต้านทานอย่างหนักของข้าศึกและอุปสรรคในการเคลื่อนที่ขึ้นภูเขา ทำให้ส่งผลต่อความราบรื่นและรวดเร็วทั้งของแผนการรุกและแผนการลำเลียงสัมภาระเป็นส่วนรวม

ขณะที่นายพลวังเปาและทหารชาวม้งของเขารอบรู้ในทุกตารางนิ้วของพื้นที่การรบ บวกกับประสิทธิภาพของการโจมตีทางอากาศโดยไม่ขาดสายต่อทหารเวียดนามเหนือ ซึ่งเป็นคนจากพื้นราบที่กำลังตะเกียกตะกายอย่างยากลำบากในการหาทางปีนป่ายขึ้นภูเขาอันเป็นเสมือนหลังบ้านของพวกม้ง

ฝ่ายเวียดนามเหนือยังยอมรับที่คาดไม่ถึงว่าจะต้องรบเกิน 100 วัน ซึ่งทำให้เกิดความต้องการการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากส่วนหลังโดยมิได้กำหนดแผนไว้ล่วงหน้า

ทุกรายงานหลังการรบของฝ่ายเวียดนามเหนือมีข้อความตรงกันเกี่ยวกับกำลังทางอากาศยุทธวิธีของสหรัฐว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการสู้รบของฝ่ายตน

ชัยชนะอย่างง่ายดายและรวดเร็วในระยะแรกเป็นเพราะกำลังทางอากาศของสหรัฐยังไม่เข้าร่วม

แต่ในเวลาต่อมา เฉพาะการโจมตีจาก B-52 เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2515 จนฝ่ายเวียดนามเหนือต้องสูญเสียกำลังไป 2 กรม ขณะรวมพลเตรียมเข้าตีหน้าสกายไลน์นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สถานการณ์พลิกผัน

 

พ.อ.เหงียน ชวง ผู้บังคับการกรม 165 รายงานว่า กรมของเขาได้รับความสูญเสียอย่างหนักจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐ รายงานตอนท้ายระบุว่า กำลังของเขาเมื่อเริ่มการเข้าตีนั้นมีประมาณ 1,500 นาย แต่มีเหลือเพียง 150 นายในตอนถอนกำลัง นอกจากนั้น กำลัง 1 กองพันที่เหลืออยู่ก็ถูกทำลายด้วยทหารไทยเมื่อถูกตรวจพบระหว่างหลบซ่อนอยู่ในสนาม ฮ. ใกล้ CE บนสกายไลน์

รายงานอีกตอนหนึ่งของ พ.อ.เหงียน ชวง สะท้อนความเป็นจริงนี้ในการออกคำสั่งเข้าตีครั้งสุดท้ายต่อที่หมายบนสกายไลน์

“…ที่ผ่านมาหลายวัน ข้าศึกได้ทิ้งระเบิดและยิงปืนใหญ่ใส่ฝ่ายเราอย่างต่อเนื่อง เช้าวันต่อมาเมื่อเราเริ่มสั่งหน่วยออกตี ข้าศึกก็เพิ่มทั้งการทิ้งระเบิดและการยิงปืนใหญ่ให้หนาแน่นยิ่งขึ้นไปอีก เสียงระเบิดดังติดต่อกันราวฟ้าคำราม แผ่นเดินสะเทือน จนรู้สึกปวดหูและเจ็บศีรษะ หมอกควันฝุ่นแผ่คลุมบดบังการมองเห็นไปทั่วพื้นที่ล่องแจ้ง สายโทรศัพท์สนามถูกตัดขาดจนเราไม่สามารถซ่อมคืนได้เพราะขาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายชั่วโมงเช้านั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถรับทราบข่าวสารใดๆ จากหน่วยรองของข้าพเจ้าเลย ทุกคนในกองบังคับการกระวนกระวาย เพราะไม่ทราบผลการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ ตามแผนที่กำหนดไว้ และไม่รู้เลยว่ามีใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บไปแล้วบ้าง จนกระทั่ง 16.00 น. การทิ้งระเบิดและการยิงปืนใหญ่ของข้าศึกก็ยิ่งหนาแน่นขึ้น…”

พล.ท.ตรัน ธู (Tran Thu) นายทหารในกรม 335 ซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการใน “CAMPAING Z” บันทึกไว้ใน Through A Number of Western Regions : Memoir by Lieutenant General Tran Thu ดังนี้

“14 มีนาคม 2515 ระหว่างการรบบนสกายไลน์ กรม 355 สนับสนุนโดยทหารปืนใหญ่ได้เคลื่อนที่เข้าปิดล้อมและเข้าตีที่หมายภูหมอก (ซึ่งข้าศึกเข้ายึดคืนจากกรม 148 ในปฏิบัติการขั้นที่ 2) กำลังฝ่ายเราสามารถเข้ายึดและควบคุมยอดเขาทั้ง 4 แห่งของภูเขาแห่งนี้ ข้าศึกได้เข้าตีโต้ตอบอย่างรุนแรงด้วยกำลัง 2 กองพัน ใช้เครื่องบินเข้าโจมตีอย่างหนัก ฝ่ายเราสูญเสียเป็นจำนวนมาก (เสียชีวิต 22 นาย บาดเจ็บ 70 นาย) บีบบังคับให้ต้องถอนกำลังกลับพื้นที่ส่วนหลังเพื่อปรับกำลังและวางกำลังตั้งรับ

18 มีนาคม 2515 กองบัญชาการรบส่งกรม 148 เข้าตีภูหมอก และก็ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน กรม 165 จากกองพล 312 ได้เข้าตีบ้านน้ำชา (Nam Cha) ทางเหนือของล่องแจ้งก็ประสบความล้มเหลว ซึ่งหมายความว่าการรุกตามขั้นที่สองได้เผชิญกับปัญหาสำคัญจนทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้เรายอมรับว่าคงไม่มีโอกาสที่จะปลดปล่อยล่องแจ้งได้ตามเป้าหมาย

ดังนั้น กองบัญชาการรบจึงตัดสินใจยกเลิกการปฏิบัติตาม CAMPAIGN Z ใน 5 เมษายน 2515 นับเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การรบของกองทัพทหารอาสาสมัครเวียดนามในลาวที่ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักจนไม่สามารถประสบชัยชนะในการรบ”