ลุงสีเป็นเหตุ : จากพึ่งพาตะวันตก มาคบหาหุ้นส่วนเนื้อในที่ไว้ใจได้ (3)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ลุงสีเป็นเหตุ

: จากพึ่งพาตะวันตก

มาคบหาหุ้นส่วนเนื้อในที่ไว้ใจได้ (3)

 

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับรัสเซียในยุคจีนใหม่ปฏิรูปเปิดประเทศและรัสเซียหลังระบบคอมมิวนิสต์อิงสนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือฉันมิตรปี ค.ศ.2001 เป็นฐานซึ่งทำขึ้นในสมัยประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Xin Zhang, “‘Endonegous Drives’ with ‘No-Limits’ : Contrasting Chinese Policy Narratives on Sino-Russian Relations since 2014”, Russian Analytical Digest, 265, 19 March 2021, pp. 5-8)

หลักชี้นำความสัมพันธ์จีน-รัสเซียในสนธิสัญญาดังกล่าวคือหลักการ “สามไม่” อันได้แก่ “ไม่เป็นพันธมิตร (กันทางทหารแบบสมัยสงครามเย็น), ไม่ขัดแย้ง, ไม่พุ่งเป้าใส่ประเทศที่สามใด”

หลักดังกล่าวคล้องจองเคียงขนานไปกับหลักการ “สามไม่” ที่ชี้นำกำกับแนวนโยบายต่างประเทศจีนสมัยเติ้งเสี่ยวผิงโดยรวมอย่างไม่เป็นทางการ กล่าวคือ “ไม่เป็นพันธมิตร, ไม่แทรกแซง, ไม่ชี้นำ” หรือสรุปง่ายๆ

รวบรัดคือ “เป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่พันธมิตร”

ท่าทีเหล่านี้เริ่มขยับปรับเปลี่ยนหลังปูตินทำสงครามรุกรานยูเครนรอบแรกปี 2013/2014 และยึดครองคาบสมุทรไครเมียไป จนถูกฝ่ายตะวันตกเริ่มแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจการค้าในปี 2014

ปูตินหันมาต้อนรับ เอาใจจีนมากขึ้นตามแนวทางการทูต “ปักหมุดเอเชีย” ของรัสเซียที่ประกาศไว้เมื่อปลายปี 2013

นับจากนั้นมีการพบปะแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศ ทำข้อตกลงสำคัญกันหลายฉบับ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้รับเชิญเป็นแขกเกียรติยศเพียงผู้เดียวในโอกาสงานฉลองชัยชนะเหนือนาซี ในสงครามโลกครั้งที่สองครบรอบ 70 ปีของรัสเซียที่กรุงมอสโกในปี 2015

ในการประชุมสุดยอดสองผู้นำปีนั้น ปูตินประกาศว่าโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนกับโครงการสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ของรัสเซียไม่ได้เป็นคู่แข่ง หากแต่เสริมเติมเต็มกัน นำไปสู่การลงนาม “ข้อตกลงหลอมรวมกัน” (conjugation deal) ของโครงการพัฒนาระดับภูมิภาคทั้งสอง

รัสเซียยังถ้อยทีถ้อยอาศัยเปิดทางให้บริษัทจีนถือหุ้นเพิ่มขึ้นในโครงการพลังงานสำคัญของตนและหนุนหลังการที่จีนพยายามประกาศตัวเป็น “รัฐใกล้อาร์กติก” (near Arctic state) โดยชอบด้วย

สี่ปีถัดมาใน ค.ศ.2018 ก็ถึงทีจีนโดนอเมริกาสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศสงครามการค้าและแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจเข้าบ้าง

บรรดานักวิชาการชาวรัสเซียผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์จีน-รัสเซียพากันส่งสารบอกเพื่อนชาวจีนของตัวในทำนอง…อะฮ้า เห็นหรือยัง เราเตือนลื้อมานานแล้วว่าสิ่งที่เราโดน ลื้อจะโดนเองจนได้

 

แต่นั้นมา จีนก็เฝ้าจับตาดูและศึกษาสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ต้านแซงก์ชั่นของรัสเซียว่ารัสเซียพัฒนาการทดแทนการนำเข้า (import substitution) ในบางภาคส่วนเศรษฐกิจได้สำเร็จบางระดับอย่างไร, แยกตัว (decoupling) ออกจากตลาดการเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐได้บางส่วนอีท่าไหน, จะดำเนินเศรษฐกิจแห่งชาติท่ามกลางภาวะแวดล้อมภายนอกทางเศรษฐกิจที่เป็นอริยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นใดดี เป็นต้น พร้อมทั้งทำข้อตกลงทวิภาคีต่างๆ ที่โอนอ่อนผ่อนตามเงื่อนไขของรัสเซียมากขึ้น

น่าสังเกตว่าในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2020 คณะกรรมการประจำแห่งกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้นำเสนอยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ “ทวิหมุนเวียนในกับนอกประเทศ” (国内国际双循环) เพื่อปรับทิศทางเศรษฐกิจจีนใหม่ โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนแก่ “การหมุนเวียนภายใน” (การบริโภคในประเทศ) ขณะที่ยังเปิดรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (หรือนัยหนึ่ง “การหมุนเวียนภายนอก”)

ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เลขาธิการใหญ่สีจิ้นผิงของพรรคได้ทบทวนแก้ไขยุทธศาสตร์ดังกล่าวโดยเน้นย้ำให้ความสำคัญแรกสุดแก่ “การหมุนเวียนภายใน” อันได้แก่การขยายอุปสงค์ในประเทศ พุ่งเป้ารวมศูนย์ที่ตลาดในประเทศ ปรับปรุงสมรรถภาพนวัตกรรมของประเทศให้ดีขึ้น ลดการพึ่งพาตลาดภายนอก แต่ก็ยังเปิดต่อโลกภายนอกอยู่

ส่วนคำนิยามทางวิชาการของ “ทวิหมุนเวียน” คือการปรับดุลทางเศรษฐกิจใหม่ที่ขับดันโดยการบริโภคในประเทศเพื่อบรรลุการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Alicia Garc?a Herrero, “What is Behind China’s Dual Circulation Strategy”, China Leadership Monitor, 1 Septebmer 2021, https://www.prcleader.org/herrero)

ข้อเสนอนี้ก่อไห้เกิดวิวาทะอย่างเข้มข้นในจีน ในบรรดาหลากหลายการตีความแนวคิดนโยบายดังกล่าว อย่างน้อยมีฝ่ายหลักฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคำเรียกร้องของเลขาฯ สีให้กระตุ้นหนุนเสริม “การหมุนเวียนภายใน” เป็นสัญญาณบอกให้จีนมุ่งพึ่งตนเองมากขึ้นเพื่อตอบรับสภาพตลาดภายนอกที่เป็นอริ ด้วยการเน้นข้อได้เปรียบที่จีนมีตลาดในประเทศอันใหญ่โตและศักยภาพการบริโภคมหึมาที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้

ด้วยเหตุผลเดียวกัน ทางการจีนและแวดวงนโยบายก็แสดงความห่วงใยเพิ่มทวีขึ้นต่อการที่จีนพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นระบบเงินสกุลระหว่างประเทศมากเกินไป ถึงแก่นักการทูตอาวุโสจีนคนหนึ่งเรียกร้องให้ถือการเลิกใช้เงินสกุลดอลลาร์ (de-dollarization) เป็น “ประเด็นสำคัญที่สุดในเศรษฐกิจการเมืองโลกปัจจุบัน”

ในสถานการณ์เยี่ยงนี้ประสบการณ์ของรัสเซียในการตอบโต้ด่านกีดขวางตลาดระหว่างประเทศด้วยการส่งเสริมทางเลือกในประเทศขึ้นมาทดแทน (เช่น แทนที่เครือร้านเบอร์เกอร์อเมริกัน McDonald’s ที่เลิกกิจการถอนตัวจากรัสเซียไปด้วยร้านเบอร์เกอร์ยี่ห้อ Vkusno-i Tochka หรือรสแซบจบนะ ของนายทุนรัสเซียเอง https://www.itv.com/news/2022-06-12/inside-russias-tasty-mcdonalds-substitute)

รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จีนจะประสานนโยบายเข้ากับรัสเซียกระทั่งแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อตะวันตกร่วมกัน ทำให้ฝ่ายนำรัฐ-พรรคจีนมองการกระชับสายสัมพันธ์กับรัสเซียว่าเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจหรือแม้แต่จำเป็น

 

อเมริกาในฐานะแหล่งที่มาของภัยคุกคามร่วมกันได้ผลักดันจีนและรัสเซียให้ขยับเข้าใกล้กันยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นกระแสแนวทางการทูตใหม่ในจีน 2 กระแสที่ทดแทนหลักการ “สามไม่” แห่งสนธิสัญญาเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือฉันมิตรปี ค.ศ.2001 เดิม ได้แก่ :

– กระแสหลักการ “สามไม่” ใหม่ : นำเสนอโดยตัวแทนกระทรวงต่างประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไต้ปิ่งกั๋ว มนตรีแห่งชาติจีน, เล่ออวี้เฉิง รมช.ต่างประเทศจีน,หัวชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ฯลฯ เพื่อปลดเปลื้องข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งของหลักการ “สามไม่” เดิมออกไป (ไม่เป็นพันธมิตร, ไม่ขัดแย้ง, ไม่พุ่งเป้าใส่ประเทศที่สามใด)

โดยนำเสนอ “ความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างมหาประเทศ” ซึ่งยกระดับเหนือกว่าแค่ความเป็นพันธมิตรกันทางทหารด้วยซ้ำไป ดังที่ รมว.ต่างประเทศจีน หวังอี้ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 2 มกราคมศกก่อน เสนอหลักการ “สามไม่” ใหม่ โดยย้ำยืนยันว่าความร่วมมือจีน-รัสเซียทางยุทธศาสตร์นั้น “ไม่มีขีดจบจำกัด ไม่มีพื้นที่ต้องห้ามและไม่มีเพดานเบื้องบน” (没有止境,没有禁区,没有上限  http://www.xinhuanet.com/world/2021-01/02/c_1126937927.htm)

– กระแสหลักการ “แรงดันจากเนื้อใน” หรือ “เนื้อใน” : นำเสนอโดยแวดวงวิชาการและสถาบันคลังสมองด้านนโยบายของจีนดังที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเอ่ยถึงมันเป็นครั้งแรกในคำกล่าวกับนายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ ของรัสเซียเมื่อปี 2015 ว่า

“มีทั้งฉันทามติการเมืองอันแข็งแกร่ง แรงหนุนมติมหาชนอันเข้มแข็ง และแรงขับดันจากเนื้อในอันแข็งแรงเพื่อพัฒนาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์จีน-รัสเซียอันกว้างขวาง”

ประธานาธิบดีสียังกล่าวย้ำเรื่องนี้ในคำสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีปูตินเมื่อปี 2020 ว่าความสัมพันธ์จีน-รัสเซียมี “พลวัตเนื้อใน” อันแข็งแรงและค่านิยมอิสระที่ไม่สะทกสะท้านกับความเปลี่ยนแปลงในเวทีระหว่างประเทศและไม่ถูกรบกวนจากปัจจัยอื่นๆ

นัยของกระแสหลักการ “เนื้อใน” นี้ดูเหมือนจะมุ่งให้เป็นกลไกปรับแก้ถ่วงดุลในตัวเพื่อผู้กำหนด นโยบายฝ่ายจีนในความสัมพันธ์กับรัสเซียสามารถชักเท้าถอยหนึ่งก้าวจากกระแสหลักการ “ไม่มีขีดจบจำกัด” ได้ในยามจำเป็น (เช่น ในสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนปัจจุบัน) มันสะท้อนท่าทีตรงไปตรงมาและเยือกเย็นกว่ากระแสแรกในแวดวงผู้เชี่ยวชาญนโยบายของจีน โดยเน้นสิ่งไม่พึงทำ (แบบหลักการ “สามไม่” แต่เดิม) เพราะจีนกับรัสเซียก็มีความแตกต่างกันอยู่ทั้งในแง่มุมมองปัญหาสากล ผลประโยชน์ที่แผกต่าง ห่วงใยปฏิกิริยาของฝ่ายที่สามไม่เหมือนกัน กระทั่งแก่งแย่งแข่งขันกันในนโยบายบางด้านที่สำคัญ

ในท่ามกลางโลกที่ซับซ้อนหลากฝักฝ่ายหลายมิติเช่นนี้ จีนกับรัสเซียจึงไม่จำต้องดำเนินนโยบายที่สมมาตรกันอย่างสมบูรณ์แบบ หรือคาดหมายให้อีกฝ่ายฝักใฝ่เข้าข้างเดียวกับตัวในนโยบายทุกเรื่อง ต่างก็ไม่อยากให้อีกฝ่ายต้องตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็แตกหักกัน เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียมีพื้นฐานที่แข็งแรงและยั่งยืนยิ่งขึ้นนั่นเอง

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการทูตจีนเป็นเช่นนี้ แต่ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของจีนและโลกไม่แน่ว่าจะคล้อยตามรับลูกไปด้วย…

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)