ทะลุม่านหมอกเขม่าควัน วิเคราะห์การกลับมาของ ‘ทะลุแก๊ส’ อนาคตประชาธิปไตยไทย ในวาระ 90 ปี 2475/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ทะลุม่านหมอกเขม่าควัน

วิเคราะห์การกลับมาของ ‘ทะลุแก๊ส’

อนาคตประชาธิปไตยไทย

ในวาระ 90 ปี 2475

คํ่าวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา เสียงประทัด พลุในแยกดินแดงดังขึ้นอีกครั้งพร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระในนาม ‘ทะลุแก๊ส’ เป็นครั้งแรกในปี 2565 หลังจากเกิดการชุมนุมต่อเนื่องกันที่แยกดินแดงกว่า 3 เดือน เมื่อสิงหาคม-ตุลาคมของปีที่ผ่านมา

ราวค่อนปีพวกเขาหายไปไหน อะไรทำให้ ‘ทะลุแก๊ส’ กลับมาอีกครั้ง และสังคมควรทำความเข้าใจวิธีการการเคลื่อนไหวของพวกเขาอย่างไร และนัยยะการเคลื่อนไหวนี้เชื่อมโยงกับ การเมืองภาพใหญ่ และพัฒนาการประชาธิปไตยตลอด 90 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของสังคมไทยแบบไหน

‘กนกรัตน์ เลิศชูสกุล’ อาจารย์จากภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่คนเดือนตุลา-สมัชชาคนจน-คนเสื้อเหลือง เสื้อแดง-การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ จนถึงการติดตามสัมภาษณ์ ทำความเข้าใจผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงตอนนี้ เพื่อแหวกม่านควันแก๊สและเขม่าดิน ชวนเข้าใจรากของปัญหา ชวนหาทางออกสังคมไทย

: มองการกลับมาของกลุ่มทะลุแก๊ซครั้งนี้อย่างไร

ต้องบอกว่าไม่แปลกใจ จากการประเมินว่ามีผู้ชุมนุมแนวหน้าทั้งหมดเกือบ 500 คน ดิฉันเข้าไปสัมภาษณ์เยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ประมาณ 50 คน ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าไม่เห็นการทำงานเชิงรุกจากรัฐ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปคุยหรือพยายามทำความเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร ทางแก้คืออะไร เราไม่เห็นมากกว่าการจับกุม-ดำเนินคดี

สอง ในเชิงการรับรู้และความรู้สึก ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนอง ปีที่แล้วคือให้นายกฯ ลาออก แต่ถ้ามองในสายตาของคนทำงานนโยบายพัฒนาสังคม ต้องเข้าใจไกลกว่าสิ่งที่เรียกร้อง ปัญหาของพวกเขาคือปัญหาของคนชนชั้นกลางระดับล่างที่เจอในช่วงโควิด เป็นแรงงานนอกระบบในภาคบริการที่มีอายุน้อย บางคนอายุต่ำกว่า 15 ปี นี่เป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องออกงานเมื่อโควิดมา และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงาน

สาม กิจกรรมทางการเมืองของลูกหลานชนชั้นกลางที่ไปม็อบหยุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ไม่มีใครจัดม็อบ ยกเว้นคนที่ตื่นตัวจริงๆ แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในม็อบทะลุแก๊ซเป็นกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงนั้น กลายเป็นมวลชนสำคัญของการชุมนุมทุกรูปแบบ ทั้งม็อบชาวนา การชุมนุมของป้าๆ เสื้อแดง หรือการชุมนุมของชาวจะนะ เยาวชนเหล่านี้อยู่กับที่ชุมนุมตลอด ไปกินไปนอน พวกเขาร่วมชุมนุมและเรียนรู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในปีนี้

: ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการเรียกร้องคือตอบโต้กับเจ้าหน้าที่รัฐ มีภาพความรุนแรง ทำไมอาจารย์เสนอว่ามันคือ ‘ไวยากรณ์ที่ต่างจากม็อบเยาวชน’

เด็กกลุ่มนี้เป็นเยาวชนที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐและสังคมอย่างต่อเนื่อง พวกเขาเติบโตท่ามกลางสังคมที่มีความรุนแรงรอบตัวไปหมด ทุกคนที่สัมภาษณ์ไม่มีใครไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม และจำนวน 10 ใน 50 คนเคยติดคุกมาแล้ว ตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยจนถึงช่วยแม่เข็นรถแล้วโดนเทศกิจจับ ทุกคนผ่านความกลัวต่อเครื่องมือและกลไกความรุนแรงของรัฐ การจับเขาไปขังคุกไม่ได้ช่วยอะไรเลย ชีวิตในคุกก็มีเพื่อน ชีวิตตอนนี้ก็ไม่ได้เลวน้อยกว่าในคุก มีคนบอกว่าติดคุกก็ดี จะได้มีข้าวกินเพราะทุกวันนี้จะนอนข้างถนนอยู่แล้ว

บางคนถามดิฉันว่า “สันติวิธีแปลว่าอะไรนะ ‘จารย์” เขาไม่เคยได้ยินแม้กระทั่งคำคำนี้ หรือหลายคนบอกให้พูดปราศรัย พูดไม่เป็นนะ การเมืองยังไม่รู้จักเลย รู้แต่ชีวิตลำบากมาก บางคนฝึกทำลูกกระทบตั้งแต่ยังเด็ก บางอย่างเขาไม่อยากทำ แต่คุณอยู่ในสังคมแบบนี้คุณต้องทำ ไม่อย่างนั้นคุณอยู่ไม่ได้ พูดอย่างนี้หลายคนบอกว่าชีวิตมีทางเลือกเยอะแยะ เราพูดแบบชนชั้นกลางมีทางเลือกในชีวิต แต่สำหรับคนที่อยู่ในโครงสร้างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เลือก ในโลกความเป็นจริงมันยากมาก สำหรับเรามันเหมือนเรื่องเล่า แต่สำหรับเขาคือชีวิตจริง

ดังนั้น การเลือกแสดงออกในวิถีทางนี้เหมือนเป็นการปลดปล่อยและเอาคืนกับเจ้าหน้าที่ที่เขาถูกรีดไถ ถูกบูลลี่ คล้ายกับเหตุการณ์ที่กลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ และเครือข่ายไปตะโกนหน้ากระทรวงศึกษาฯ ให้ผู้ใหญ่เข้าคิว บอกว่าจริงๆ แล้วเธอไม่ได้ถูกนะ เธอทำผิดเหมือนกัน พูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงเข้าข้างทะลุแก๊ซ ดิฉันไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้ แต่ถ้าเราจะแก้ปัญหา ไม่เข้าใจแล้วเราจะแก้ได้ไหม ถ้าเราเริ่มต้นจากบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด จับเขาเข้าคุก ออกมาแล้วเขาจะหยุดม็อบไหม

: เห็นความเปลี่ยนแปลงในวิธีเคลื่อนไหวอะไรบ้าง

ในเชิงรูปแบบ มองเผินๆ อาจจะบอกว่าไม่มีอะไรใหม่ ปา โยน ใช้พลุเหมือนเดิม แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพวกเขารู้จักการเมือง เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง พัฒนาพันธมิตรในหลายกลุ่ม เรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวอื่นๆ หรือภาษาที่ใช้ก็ต่างจากเดิม เช่น มีการยืนหยุดขังแบบของตัวเอง เพื่อเรียกร้องให้เพื่อนๆ ลูกหลานชนชั้นล่างที่ถูกจับ

ปีที่แล้ว เราถามเขาว่ากลัวไหม ทุกคนบอกว่าไม่กลัว บางคนบอกว่ายอมตาย ติดคุกก็ไม่กลัว แต่พอติดคุกจริงๆ แล้วมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ถูกยึดรถ หรือออกมาแล้วชีวิตลำบากกว่าเดิม หางานทำไม่ได้ การกลับมาของพวกเขามีปีนี้คนเข้าใจมากขึ้น ด้านหนึ่งเขาก็พิสูจน์ว่าชีวิตยากลำบาก ไม่สู้ไม่ได้ ด้านหนึ่งสังคมก็ทบทวนบทเรียนหลายอย่างว่ารัฐไทยไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และไม่ได้โทษว่าเด็กพวกนี้หัวรุนแรง ไม่ใช้สมอง เข้าใจมากขึ้น แม้แต่ภาครัฐเองก็เริ่มตระหนักว่าหยุดเขาไม่ได้

: มองเปรียบเทียบกับกลุ่มการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างไร ข้อสังเกตสำคัญคือไม่มีม็อบใหญ่เหมือนเดิม แกนนำหลายคนไม่เห็นการเคลื่อนไหว

เราคุ้นชิน (addicted) กับการเห็นการประท้วงขนาดใหญ่ไง รู้สึกว่าถ้าไม่มีม็อบดูไม่มีพลัง แต่จริงๆ ไม่ใช่ ไม่มีม็อบเยาวชนที่ไหนที่ม็อบได้ 5 ปี 10 ปี ต้องเข้าใจว่าการเรียกร้องทางท้องถนนเป็นเครื่องมือชั่วคราว และไม่ควรเป็นเครื่องมือถาวร เพราะควรมีทางเลือกอื่นในการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ

เราจะเห็นแกนนำรุ่นเก่าเปลี่ยนพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองไปสู่สิ่งอื่น เช่น พรรคการเมือง องค์กรที่เคลื่อนไหวรายประเด็นที่ทำงานเชิงนโยบาย หรือในพื้นที่มหาวิทยาลัยเราเห็นประกาศยุติระบบโซตัส การรับน้องที่ก้าวหน้า ฯลฯ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นการวัดว่าสถานการณ์ตอนนี้จะเป็นอย่างไร

แต่ถ้าถามว่าม็อบเยาวชนจะกลับมาไหม กลับมาแน่นอน แต่ไม่ใช่แกนนำรุ่นเก่าแบบเดิม ก็คิดว่าเขามีอายุการใช้งานในฐานะเป็นแกนนำ และความพยายามจัดการของรัฐก็หยุดพวกเขาได้ในระยะสั้น แต่หยุดพวกเขาไม่ได้ในระยะยาวในบทบาทอื่น

: ในวาระครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทางออกสังคมไทยอยู่ตรงไหน

ตลอด 90 ปี เราอาจจะเห็นประเทศไทยก้าวหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง แต่มองภาพรวมจะเห็นแนวโน้มของคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมขยายตัวมากขึ้น รัฐไทยที่เรามองว่าไม่ปรับตัวเนี่ย ไม่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่ใช่เฉพาะประเด็นทางการเมือง แต่เป็นการรับรู้ทางสังคมและเศรษฐกิจที่พลิกผัน (disrupt) จนรัฐแบบเดิมไม่เปลี่ยนเลยอยู่ไม่ได้จริงๆ

เราผ่านประสบการณ์เปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนมาแล้วในหลายมิติ หลายคนอาจจะบอกว่ายังไม่ใช่ แต่เราก็รู้ว่าท้ายที่สุดคนที่เสียก็ลุกขึ้นมาแล้วต่อต้าน เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลคุณจะอยู่ได้โดยไม่ถูกล้มด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ปีกที่มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญก็ควรเรียนรู้ได้แล้วว่าถ้าไม่ยอมปรับอะไรเลย ท้ายที่สุดไม่มีทางรักษาระเบียบสังคมแบบเดิมได้

และความรุนแรงอย่างเดียวก็หยุดพวกเขาไม่ได้แล้ว