พิษ ‘เงินเฟ้อ’ กดดันพาณิชย์ สกัดราคาสินค้าพุ่งทะยาน รัฐกัดฟันตรึงดีเซลต่อ 35 บาท/ลิตร/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

พิษ ‘เงินเฟ้อ’ กดดันพาณิชย์

สกัดราคาสินค้าพุ่งทะยาน

รัฐกัดฟันตรึงดีเซลต่อ 35 บาท/ลิตร

สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% และเป็นการสูงขึ้นในรอบ 13 ปี และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าสูงขึ้น 1.40%

เรียกว่า เกินกว่ากรอบที่ประมาณการกันไว้มาก (4-5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.5%)

สำหรับปัจจัยหลักที่กระทบเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 ก็คือ ราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มและทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ประกอบกับฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำจึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ 7.10%

แน่นอนว่า ดัชนีเงินเฟ้อที่สูงทะลุกรอบถึง 7.10% ส่งผลทันทีต่อราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สินค้าควบคุม” ภายใต้ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่ผู้ประกอบการต่างทยอยยื่นเรื่องเข้ามายังกรมการค้าภายใน เพื่อขอปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน

ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช ไม่รวมสินค้าน้ำอัดลม ปุ๋ย วัสดุการเกษตร จากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าโดยเฉพาะ ข้าวสาลี ในฐานะที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตสัดส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของโลก ไม่รวมปุ๋ย และพลังงานต่างๆ

 

โดยในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็มีการ “ไฟเขียว” ให้ต่ออายุสินค้าและบริการที่เป็นสินค้าและบริการควบคุม 51 รายการ (สินค้า 46 รายการ บริการ 5 รายการ) ต่อไปอีก 1 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566

ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ใช้กำกับดูแลราคาสินค้าในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยังมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงต่อเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นกระทบค่าขนส่ง ต้นทุนค่าไฟฟ้าในการผลิต รวมถึงราคา “วัตถุดิบ” นำเข้าต่างปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังยืนหยัดใช้ “วิน-วินโมเดล” เป็นสูตรดูแลราคาสินค้าเพื่อสร้างสมดุลให้ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือในการ “ตรึงราคา” สินค้า 18 กลุ่มสินค้าไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, หมวดอาหารสด, อาหารกระป๋อง, ข้าวสารถุง, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, น้ำอัดลม, นมและผลิตภัณฑ์จากนม, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง, ปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, อาหารสัตว์, เหล็ก, ปูนซีเมนต์, กระดาษ, ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง

แต่ในฟากฝั่งผู้ผลิตเอง เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ได้ออกมาสะท้อนภาพว่า ปัญหาต้นทุนราคาน้ำมัน แป้ง น้ำมันพืช ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงกว่า 5-6 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าวิกฤตครั้งนี้หนักกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 พร้อมเรียกร้องให้กรมการค้าภายในอนุญาตให้ปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและผงซักฟอก หลังต้นทุนวัตถุดิบใช้ผลิตสูงขึ้นทุกอย่าง

โดยชี้ให้เห็นว่า หลังเกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้วัตถุดิบสำคัญเกิดการขาดแคลนและราคาปรับขึ้นสูงมาก เช่น แป้งสาลีราคาต่อกระสอบ (22.5 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นจาก 200 กว่าบาท เป็น 400-500 กว่าบาทต่อกระสอบ ส่วนน้ำมันปาล์มก็ขึ้นเท่าตัวทำให้ต้องขอปรับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ขึ้น 1 บาท จาก 6 เป็น 7 บาท ไปนานหลายเดือนแล้ว ซึ่งการปรับราคาครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี

ในขณะที่สินค้าอื่นที่ไม่เป็นสินค้าควบคุม พบว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ทยอยปรับราคาขึ้นตามต้นทุนไปบ้างแล้ว เช่น ปลากระป๋อง ปรับราคามาอยู่ที่ 17-18 บาทต่อกระป๋อง แต่ยังต่ำกว่าผู้ผลิตรายอื่นที่ขายในราคา 20-22 บาทต่อกระป๋อง ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างศึกษาจะออกสินค้าสูตรใหม่และขนาดใหม่เป็นแพ็กไซซ์ เพื่อให้ราคาสินค้าต่อชิ้นถูกลง แต่คงไม่ใช่ในหมวดอาหาร อาจจะเป็นหมวดอื่น เช่น ผงซักฟอก

 

ทางด้านประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายเจริญ แก้วสุกใส มองว่า หากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อยาวเกิน 3 ปี จะเข้าสู่ภาวะที่เหมือนกับสงครามโลกกลายๆ ดังนั้น วัตถุดิบอาหารจะโดนทำลายไปจำนวนมาก เช่น ข้าวสาลีหายไป 30% ข้าวโพดหายไป 25% นั่นหมายถึงจะเกิดภาวะขาดแคลนแน่นอน หรือส่วนที่ “ไม่ขาด” ก็จะแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่าจะมีจำนวนคนอดอยากถึง 440 ล้านคน ใน 2-3 ปีข้างหน้า และที่สำคัญอาหารไม่ฟื้นเร็วเหมือนอย่างอื่น แม้สงครามเลิก แต่ภาคการผลิตอาหารต้องใช้เวลาฟื้นตัว 1-2 ปี

แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากสงคราม นำมาสู่การบอยคอตน้ำมันรัสเซีย เมื่อส่งออกไม่ได้ก็จะทำให้ซัพพลายน้ำมันในตลาดโลกขาดแคลน ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แบบ “ไม่มีขาลง” กระทบกับต้นทุนการผลิตอาหาร ตั้งแต่ฟาร์ม การผลิต การขนส่ง หมายความว่าเมื่อผลิตอาหารออกมาแล้วก็ต้องบวกราคาเพิ่มขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งมองว่าในปีนี้มีโอกาสขยายตัว 5-10% เพราะภูมิภาคยุโรปไปถึง 8% แล้ว

โดยขณะนี้ต้นทุนวัตถุดิบสินค้าในกลุ่มเบเกอรี่ ปรับราคาขึ้น 50% ไก่หมู-อาหารสัตว์ ปรับขึ้น 30-70% เนื้อไก่ เนื้อหมู ปรับเฉลี่ย 25% อาหารกระป๋อง ได้รับผลกระทบจากกระป๋องที่แพงขึ้น 50% คิดเป็นต้นทุนที่แพงขึ้น 10% ซึ่งในมุมของผู้ผลิตเพื่อส่งออก จะสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าส่งออกได้

แต่ที่น่าห่วงคือในมุมของผู้ผลิตสินค้าที่เน้นจำหน่ายในประเทศที่ทางกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไปก่อน

 

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า 4-5 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกอบการยื่นขอตั้งราคาสินค้าใหม่มาพอสมควร “เป็นหลักสิบไม่ได้ถึง 100 รายการ” ซึ่งถือว่า “ยังปกติ” เพราะการตั้งราคาเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ผิด แต่หากจำหน่ายในราคาสูงเกินสมควรจึงจะมีความผิด

สำหรับการพิจารณาอนุญาตให้ตั้งราคาใหม่นั้น ทางกรมการค้าภายในจะดูจากโครงสร้างราคาสินค้า สมมุติว่าหากแจ้งมาว่าจะตั้งราคาใหม่สำหรับสินค้าชนิดหนึ่ง ทางกรมจะไปดูว่าสินค้าใหม่มีโครงสร้างราคาอย่างไร เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่ หากวิเคราะห์แล้วก็จะแจ้งราคาสินค้าใหม่ เช่น มีการแนะนำว่าควรจำหน่ายราคา 10 บาท หากผู้ผลิตไม่ปฏิบัติตาม ยังจำหน่าย 15 บาท จะเข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 29 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่กำหนดเรื่องการจำหน่ายในราคาที่สูงเกินสมควร เป็นต้น

โดยบทบาทสำคัญกรมการค้าภายในจะเน้นการดูแลราคาสินค้าตามสูตรวิน-วินโมเดล แต่โจทย์ต้องมอนิเตอร์ทั้ง “ราคาและปริมาณ” ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า แต่ต้องประเมินสถานการณ์ความพร้อมในการผลิตด้วยว่าจะมีปริมาณสินค้าเพียงพอหรือไม่ เช่น ผู้ผลิตใช้กำลังการผลิต 100% หรือไม่ พร้อมทั้งเข้าไปช่วยแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต เช่น ประสานกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบมาเสริม ป้องกันไม่ให้สินค้าขาดตลาด

รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ผ่านสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งตัวเลขล่าสุดระหว่างเดือนมกราคม – 16 มิถุนายน 2565 มีจำนวน 1,521 เรื่อง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 4,200 เรื่อง

แต่ประเด็นหลักที่ร้องเรียนคือ ปัญหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า 888 เรื่อง

ส่วนการร้องเรียนว่าสินค้าแพง มี 201 เรื่อง เรื่องการปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้น 74 เรื่อง และการกักตุนสินค้า 74 เรื่อง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ความพยายามของรัฐบาลในการดูแลราคาสินค้าจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ต้องรอดูผลสะท้อนจากตัวเลขเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง

ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินไปกว่ากรอบ 35 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะหยุดยั้งเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งสูงไปกว่านี้จนกระทบกับภาคการผลิตทั้งหมด