ความอยู่รอดทางธุรกิจของ ‘ละครจักรๆ วงศ์ๆ’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

ยิ้มเยาะเล่นหวัวเต้นยั่วเหมือนฝัน

คนมองหนัง

 

ความอยู่รอดทางธุรกิจ

ของ ‘ละครจักรๆ วงศ์ๆ’

 

เมื่อปลายปีที่แล้ว (เดือนพฤศจิกายน 2564) ผมเคยเขียนบทความชื่อ “ภาวะ ‘ท้าทาย-สุ่มเสี่ยง’ ของ ‘ละครจักรๆ วงศ์ๆ’ ไทย” เพื่อแสดงความเป็นห่วงต่อสถานะทางธุรกิจของบริษัท “สามเศียร” ผู้ผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ เจ้าเดียวในประเทศนี้

โดยพิจารณาจากงบกำไรขาดทุนในข้อมูลงบการเงินประจำปี 2563 ของสามเศียร ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ครั้นถึงปี 2565 ข้อมูลงบการเงินประจำปี 2564 ของบริษัท สามเศียรได้เผยแพร่ออกมาแล้ว จึงมีเรื่องเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

ในปี 2564 บริษัท สามเศียรมีรายได้รวมประมาณ 105 ล้านบาท

ถือว่าลดลงต่อเนื่องจากปี 2563 และ 2562 ซึ่งมีรายได้รวม 131.5 ล้านบาท และ 240.5 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน สามเศียรก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะพอสมควร (ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุจากการออกกองไปถ่ายทำละครเรื่องใหม่ๆ ไม่ได้ ในช่วงโควิดแพร่ระบาดหนัก)

โดยในปี 2564 สามเศียรมีรายจ่ายรวม 95 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2563 และ 2562 ที่มีรายจ่ายรวม 149 ล้านบาท และ 213 ล้านบาท ตามลำดับ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลประกอบการในปี 2564 บริษัท สามเศียรจึงมีกำไรอยู่ที่ 9.9 ล้านบาท

นับว่าดีกว่าผลประกอบการในปี 2563 ที่ขาดทุนไป 17.9 ล้านบาท แต่ยังไม่ฟื้นตัวเข้าสู่สภาพการณ์ในปี 2562 ที่บริษัทเคยมีกำไร 21 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าทางสามเศียรสามารถประคับประคองตัวเองได้เก่งขึ้น ในห้วงการระบาดใหญ่ (ระลอกท้ายๆ) ของโควิด

ผลประกอบการของบริษัท สามเศียรยิ่งดูน่าพอใจมากขึ้น หากนำไปเปรียบเทียบกับผลประกอบการของบริษัทในเครือเดียวกัน

เริ่มจากบริษัทที่มีภาพลักษณ์เป็นพี่ใหญ่สุดและมีอายุเก่าแก่สุดอย่าง “ดาราวิดีโอ” ซึ่งมีรายได้รวมในปี 2564 อยู่ที่ 75.6 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 และ 2562 ที่มีรายได้รวม 107 ล้านบาท และ 155.6 ล้านบาท ตามลำดับ

แม้รายจ่ายรวม 82 ล้านบาท ในปี 2564 ของดาราวิดีโอจะลดลงจากตัวเลข 99.8 ล้านบาท ในปี 2563 และ 147 ล้านบาท ในปี 2562

ทว่า ในปีที่แล้ว บริษัทก็มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ส่งผลให้มีผลประกอบการขาดทุนราว 6.6 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562-2563 ดาราวิดีโอเคยมีกำไรอยู่ที่ 5.5-5.6 ล้านบาท

สถานการณ์คล้ายคลึงกันยังเกิดกับบริษัท “ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น” ซึ่งมีรายได้รวม 52 ล้านบาท ในปี 2564 ลดลงจากการมีรายได้ 73 ล้านบาท ในปี 2563 และ 87.9 ล้านบาท ในปี 2562

แม้ในปี 2564 ดีด้าจะมีรายจ่ายรวม 56 ล้านบาท ต่ำกว่าตัวเลข 71 ล้านบาท ในปี 2563 และ 84 ล้านบาท ในปี 2562 แต่กระนั้น บริษัทก็ยังมีผลประกอบการขาดทุน 4.3 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว

ทั้งๆ ที่ดีด้าเคยมีกำไร 2 ล้านบาท และ 2.3 แสนบาท ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ

จึงเท่ากับว่า สามเศียรคือบริษัทเดียวในเครือ “ดาราวิดีโอ-ดีด้า-สามเศียร” ที่มีผลประกอบการเป็นบวก ณ ปีก่อน

 

อย่างไรก็ดี บริษัทผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ เจ้าเดียวที่เหลืออยู่ ยังคงต้องดิ้นรนต่อสู้ท่ามกลางสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ผันแปรไปไม่หยุดหย่อน

เห็นได้จากกรณีศึกษาเกี่ยวกับละคร “เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565”

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แม้ “เจ้าหญิงพิกุลทองฉบับใหม่” จะมีเนื้อหาที่สนุกสนาน และมีคุณภาพด้านโปรดักชั่นที่ดีกว่ามาตรฐานเดิมๆ

แต่เรตติ้งความนิยมของละครกลับวนเวียนอยู่ตรงหลัก 2 กว่าๆ เกือบตลอดเวลา โดยขึ้นไม่ถึงเลข 3 เสียที (ขนาดละคร “สังข์ทอง 2561” ที่ถูกนำมารีรันซ้ำอีกรอบในช่วงโควิดระบาด ยังมีเรตติ้งตอนอวสานอยู่ที่ 3.6 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565)

ในมุมมองของผู้ผลิตและ/หรือสถานี ดูเหมือนต้นตอของปัญหาใหญ่ข้อนี้จะเกิดจากนโยบายการรีรันละครผ่านเว็บไซต์ยูทูบ

เดิมที หลังละครจักรๆ วงศ์ๆ ทุกเรื่องออกอากาศทางช่อง 7 ในเวลา 08.00-09.00 น. ของวันเสาร์-อาทิตย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางสามเศียรก็จะอัพโหลดคลิปละครย้อนหลังขึ้นไปบนช่องยูทูบของตนเองโดยทันที ในเวลา 09.00 น. ของวันเสาร์-อาทิตย์ดังกล่าว

เรียกว่าพอละครในจอทีวีจบปุ๊บ คลิปละครย้อนหลังก็มีให้ดูในยูทูบปั๊บ แบบฉับพลันทันใด

ลักษณะการรีรันละครเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมของคนดูอย่างสำคัญ กล่าวคือ แฟนๆ ละครจักรๆ วงศ์ๆ นั้นไม่จำเป็นจะต้องตื่นแต่เช้า มานั่งดูละครสดหน้าจอโทรทัศน์ (หรือเว็บไซต์ช่อง 7) กันอีกแล้ว แต่พวกเขาสามารถตื่นสาย ตื่นเที่ยง ตื่นบ่าย เพื่อมาดูละครย้อนหลังผ่านยูทูบได้ในวันเดียวกัน

นักแสดงสามเศียร

เข้าใจว่าทางสามเศียรเอง (และอาจรวมถึงช่อง 7) น่าจะวิเคราะห์ว่า พลวัตทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนดู คือสาเหตุหลักที่ฉุดรั้งให้เรตติ้งของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565” นั้นไม่พุ่งสูงเท่าที่ควร

อันนำมาสู่การประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายรีรันละครในยูทูบเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยมีสาระสำคัญว่าคลิปละครที่ออกอากาศในเช้าวันเสาร์ จะถูกนำไปอัพโหลดขึ้นยูทูบตอนเที่ยงคืนวันพุธ (คืนวันอังคาร) ส่วนคลิปละครที่ออกอากาศในเช้าวันอาทิตย์ จะถูกอัพโหลดขึ้นยูทูบตอนเที่ยงคืนวันพฤหัสบดี (คืนวันพุธ)

ในสัปดาห์แรกของการเปลี่ยนผ่าน ผลปรากฏว่าเรตติ้งของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ยังคงตัวอยู่ที่หลัก 2 ปลายๆ พร้อมกันนั้นก็มีคนดูหลายรายเข้าไปทวงถามช่องยูทูบสามเศียรแบบงงๆ ว่าทำไมจึงไม่ยอมอัพโหลดคลิปละครย้อนหลังในช่วง 9 โมงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ อย่างที่แล้วๆ มา

น่าตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ดังกล่าว ได้มีเว็บไซต์แห่งหนึ่งที่นำเอาคลิปย้อนหลังของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ตอนล่าสุด มาปล่อยลงในโลกออนไลน์ทันทีหลังละครเพิ่งออกอากาศเสร็จ

หมายความว่านโยบายใหม่ของสามเศียรไม่อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ เพราะพวกเขายังสามารถรับชมละครรีรันได้อย่างรวดเร็วทันใจในช่องทางอื่นๆ (ที่ไม่เป็นทางการ-ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์)

แต่ในสัปดาห์ถัดมา เว็บไซต์เจ้าเดิมก็ตัดสินใจถอดคลิปย้อนหลังทั้งหมดของละคร “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ออกจากระบบ รวมทั้งไม่มีการอัพโหลดคลิปตอนใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย (ไม่ทราบว่าถูกเตือนด้วย “หนังสือโนติส” อะไรหรือไม่?)

ดังนั้น นอกจากการรีบตื่นเช้ามาดูละครสดตอน 8 โมงเช้าวัดหยุดแล้ว แฟนจักรๆ วงศ์ๆ จะได้ดู “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ย้อนหลังผ่านทางอินเตอร์เน็ตกันอีกที ก็ในตอนกลางสัปดาห์โน่นเลย

แล้วเรตติ้งความนิยมของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565” ก็กระเตื้องขึ้นมาทันตาเห็น ยืนยันด้วยตัวเลข 3.124 ในวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน และ 3.216 ในวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน

ก่อนจะตอกย้ำสูตรสำเร็จกันอีกครั้ง ด้วยเรตติ้ง 3.329 ในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน

 

การพยายามต่อรองกับพฤติกรรมผู้บริโภครอบนี้ของสามเศียรจึงลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

แต่กระนั้น ก็มีเรื่องน่าคิดต่ออยู่สองประเด็น

ประเด็นแรก การปรับเปลี่ยนนโยบายของสามเศียรอาจบ่งชี้ว่า รายได้จากแพลตฟอร์มยูทูบนั้นยังไม่มากเท่ากับรายได้จากการขายโฆษณาทางโทรทัศน์ (แม้คลิปละครจักรๆ วงศ์ๆ ย้อนหลังความยาวประมาณ 40 นาที/ตอน จะมียอดวิวหลายแสนจนถึงหลักล้านก็ตาม)

ด้วยเหตุนี้ ถ้าต้องเลือกจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง อย่างไรเสีย ตัวเลขเรตติ้งทีวีก็ต้องมาก่อนตัวเลขยอดผู้ชมคลิปผ่านยูทูบ

ประเด็นที่สอง หากพิจารณาในเชิงโมเดลธุรกิจ ดูเหมือนสามเศียรจะมุ่งประคองตัวเองอยู่บนทางเลือก-ทางรอดสองแพร่งระหว่าง “ทีวี” กับ “ยูทูบ” เท่านั้น ทว่า ยังไม่สามารถขายคอนเทนต์ป้อนให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าต่างๆ ได้ (ขณะที่ละครช่อง 3 หรือช่องวัน ดูจะไปได้ดีบนเส้นทางสายที่สาม)

คงต้องจับตาว่า ในอนาคต เราจะมีโอกาสได้เห็นละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย กระโดดข้ามไปเผยแพร่อยู่ตามแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งระดับอินเตอร์บ้างหรือไม่?

หากวันนั้นมาถึงจริง นั่นก็หมายความว่าการปรับตัวของนิทานจักรๆ วงศ์ๆ จะค่อยๆ เคลื่อนผ่านจากการเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะ ไปสู่แท่นพิมพ์หมอฝรั่ง สู่สื่อโทรทัศน์ สู่โซเชียลมีเดีย (แบบดูฟรี) และสู่ระบบวิดีโอสตรีมมิ่ง (แบบต้องจ่ายเงิน)… •

 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Sayom Sungvaributr