LGBTQ+ Pride Month 2022/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

LGBTQ+ Pride Month 2022

 

เดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นเดือน LGBTQ+ Pride Month คือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ ทั้ง Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer เพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญและบทบาททางสังคมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในปี 2000 อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนของทุกปี เป็น LGBT Pride Month

นอกจากนั้น วันที่ 26 มิถุนายน ยังเป็นวันสำคัญของคนรักร่วมเพศในอเมริกา เมื่อปี 2015 คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกามีมติ 5-4 เสียง รับรองสิทธิการแต่งงาน ของคู่รักเพศเดียวกัน

ที่ประเทศอินเดีย มีหนุ่มหล่อกล้ามใหญ่จากกรุงเดลี ชื่อ อาเรียน ปาชา (Aryan Pasha) วัย 30 ปี เป็นนักเพาะกายชายข้ามเพศคนแรกของอินเดียที่เข้าแข่งขันเพาะกายครั้งแรกในปี 2018 ในรายการ Musclemania India ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

เจ้าตัวบอกว่า ไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลกลับบ้าน เพราะครั้งนั้นเป็นการแข่งขันเพาะกายครั้งแรกในชีวิต ตัวเขาแค่ต้องการเข้าร่วมแข่งขันเพื่อประกาศให้โลกได้ทราบว่าเขาคือชายข้ามเพศที่สามารถลงแข่งเพาะกายกับผู้ชายแท้ๆได้อย่างไม่เกรงกลัว

ดังนั้น เขาจึงฝึกซ้อมอย่างหนักและทุ่มเทเต็มร้อยในการแข่งครั้งนั้น และผลที่ได้รับก็เกินความคาดหมาย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1991 เด็กหญิงอาเรียน ปาชา ได้ลืมตาดูโลก หลังจากนั้นไม่นานเธอก็เริ่มเข้าใจว่าตัวเองไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเด็กผู้หญิง

ตั้งแต่อยู่ชั้น ป.2 อาเรียนก็เริ่มสวมชุดนักเรียนผู้ชายไปโรงเรียน ชอบใช้เวลาอยู่กับญาติพี่น้องผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาเรียนจำไม่ได้ว่ามีความอยากเป็นผู้ชายตั้งแต่ตอนไหน เพราะตอนเป็นเด็กเราจะไม่ทราบความต่างของผู้ชายกับผู้หญิง เขาแค่ทราบมาตลอดว่าตัวเองคือเด็กผู้ชาย

ความโชคดีของอาเรียนคือมีครอบครัวที่ดี คอยสนับสนุนเขาทุกเรื่อง คนในครอบครัวไม่เคยขอให้อาเรียนสวมชุดแบบเด็กผู้หญิง ไม่เคยถามว่าทำไมตัดผมสั้นและพูดจาท่าทางเหมือนผู้ชาย

พออายุ 16 ปี อาเรียนก็มีความคิดอยากจะเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้ชาย

เขานำเรื่องนี้ไปคุยกับครอบครัว และครอบครัวก็เคารพการตัดสินใจของอาเรียน

ปี 2011 พออายุครบ 19 ปี อาเรียนก็เริ่มขั้นตอนฮอร์โมนบำบัดและผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้ชาย

 

แน่นอนว่าขั้นตอนการผ่าตัดแปลงเพศเป็นช่วงเวลาที่สร้างความลำบากทางร่างกาย กิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกายต่างๆ ที่เขาชอบเล่นเป็นประจำก็ต้องงดไปก่อน

แต่อาเรียนบอกว่าความรู้สึกดีๆ ที่เขาได้รับทางใจนั้นเอาชนะทุกสิ่ง

สมัยเรียนเขาเล่นกีฬาหลายชนิด เป็นนักกีฬาของโรงเรียน เคยเป็นแชมป์กีฬาสเก๊ตระดับประเทศ ซึ่งเมื่อก่อนนี้เขาต้องระวังตัวและพยายามปกปิดร่างกายที่เป็นผู้หญิงไว้ไม่ให้ทุกคนโดยเฉพาะเพื่อนๆ ในทีมทราบ

แต่ตอนนี้เขารู้สึกแข็งแรง รู้สึกมั่นใจในตัวเอง เพราะไม่มีสิ่งไหนที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัดหลงเหลืออยู่บนร่างกายแล้ว และเขาไม่ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ เรื่องราวของตัวเองอีกต่อไป

ปี 2014 ช่วงที่เรียนคณะนิติศาสตร์อยู่ในนครมุมไบ อาเรียนก็เริ่มมีโอกาสได้เล่นเวทเพาะกาย เพราะเพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยต้องการฟิตหุ่นให้มีกล้ามกัน เขาก็เลยหันมาฟิตหุ่นตัวเองบ้าง

เวลาผ่านไปเรื่อยๆ การเพาะกายก็เริ่มเป็นงานอดิเรกของอาเรียน แล้วก็กลายเป็นความหลงใหล จากนั้นพอเขาตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันเพาะกาย สิ่งนี้ก็กลายเป็นเป้าหมายในชีวิต

 

ปี2017 อาเรียนตัดสินใจลาออกจากอาชีพนักกฎหมายเพื่อมาตั้งใจกับการฝึกเพาะกายแบบเต็มเวลา ในช่วง 3-4 เดือนก่อนแข่งเขาใช้เวลาอยู่ในยิมวันละ 6 ชั่วโมงทุกวัน

อาเรียนบอกว่า การแข่งกับผู้ชายแท้ๆ เป็นเรื่องที่ท้าทายเขาหลายอย่าง เพราะร่างกายเขาไม่ได้สร้างฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนได้เองตามธรรมชาติในระดับเดียวกับผู้ชาย นอกจากนี้ร่างกายเขาก็ไม่สามารถตอบสนองต่อการออกกำลังกายได้พอๆ กับความเร็วเฉลี่ยของผู้ชายแท้ ซึ่งหมายความว่าเขาต้องใส่ความพยายามลงไปให้มากกว่าผู้ชายจึงจะเห็นผลในระดับที่เท่ากัน

ในกรณีของอาเรียน ตามขั้นตอนของการบำบัดเปลี่ยนแปลงเพศ เขาจะต้องฉีดฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนเข้าสู่ร่างกายทุกๆ 21 วัน เขานำเรื่องนี้ไปปรึกษาคณะกรรมการจัดแข่ง ได้ข้อสรุปว่า เขาแค่ต้องหยุดรับฮอร์โมนเพศชายที่เป็นโดสสุดท้ายก่อนถึงวันแข่งขัน

ถึงแม้ว่าจะต้องเจอกับความท้าทายหลายอย่าง แต่สุดท้ายอาเรียนก็ได้เข้าแข่งขันเพาะกายกับผู้ชายแล้วก็ได้รางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งเขารู้สึกภูมิใจกับตัวเอง

แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เชื่อว่าการเพิ่มประเภทแข่งขันสำหรับชายข้ามเพศโดยเฉพาะก็เป็นความคิดที่ดี

 

ช่วง 2-3 ปีหลังจากผ่าตัดแปลงเพศเสร็จ อาเรียนตัดสินใจออกมาเปิดเผยตัวตน และใช้ชีวิตในฐานะชายข้ามเพศ เขาเริ่มทำงานกับองค์กรคุ้มครองสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป้าหมายของเขาคือกระตุ้นให้คนข้ามเพศรักในสิ่งที่พวกเขาเป็น และรวมใจทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียว

อาเรียนบอกว่า ช่วงแรกๆ ที่เขาผ่าตัดแปลงเพศเสร็จแล้ว เขาคิดว่าทำไมเขาจะต้องไปประกาศให้คนอื่นทราบด้วยล่ะว่าผมคือชายข้ามเพศ เพราะเขาไม่ได้ดูผิดสังเกตในสายตาคนอื่นอยู่แล้ว

แต่เมื่ออาเรียนได้เห็นถึงปัญหามากมายที่กลุ่มคนข้ามเพศต้องเจอ ทั้งเรื่องครอบครัวไม่ให้การสนับสนุน สังคมข้างนอกไม่ยอมรับ หรือแม้แต่เพื่อนๆ และคู่รักก็ไม่ได้ให้ความเคารพคนเหล่านี้เลย พ่อแม่พาลูกๆ ไปบำบัดทางเพศ ฯลฯ เขามองว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง

ถ้าพวกเขาสามารถยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้ การออกมาเปิดเผยตัวตนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร อาเรียนจึงเลือกที่จะออกมาแสดงตัวตน