สร้าง ‘สับสน’ เพื่อผูกขาด/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

สร้าง ‘สับสน’ เพื่อผูกขาด

 

การผ่านกฎหมาย “กัญชาเสรี” ทำให้เหตุผลที่จะปิดทางกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” อันหมายถึงการคืนโอกาสผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ผิดกฎหมายให้กับชาวบ้านทั่วไปหลังจากใช้อำนาจรัฐเอื้อการผูกขาดสร้างความร่ำรวยให้กับทุนใหญ่มายาวนานถูกท้าทาย จนต้องยอมรับการแก้ไข

การเมืองอันหมายถึงการจัดการอำนาจรัฐที่เริ่มมาในทิศทางเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนทั่วไปเริ่มมีแนวโน้มให้เห็นมากขึ้น

แต่อีกนั่นแหละ เพราะ “อำนาจผูกขาด” ที่เอื้อต่อ “การสร้างทุนผูกขาด” ขึ้นมาสมคบกันแสวงหาประโยชน์จากโอกาสที่เหนือกว่าด้วยการปิดกั้นเสรีประชาชนเป็นระบบที่สถาปนาและใช้ควบคุมความเป็นไปของประเทศมายาวนาน จนกลายเป็นประเพณี วัฒธรรมที่สร้างความเคยชิน กระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่เพียงยอม ไม่เห็นการถูกจำกัดเสรีภาพของตัวเอง แต่ยังมีความรู้สึกแปลกแยก หรือกระทั่งหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง

เช่น กัญชาเสรีที่เริ่มพลิกกระแสสู่ความกังวลเรื่องสุขภาพ และชีวิตของเยาวชน พร้อมๆ กับ “เหล้า เบียร์เสรี” ถูกโจมตีเรื่องมาตรฐานการผลิตว่าจะได้ผลผผลิตที่ไม่ปลอดภัยออกมา

สร้างความกลัวให้กับสังคม

เหล่านี้หากมองลึกลงไปแล้วจะเห็นความกลัวการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สะสมความเคยชินมานานจนพัฒนาเป็นประเพณี กลายเป็นวัฒนธรรม

และเมื่อถึงเวลาที่จะคืนสู่ความปกติ กลับเป็นก่อความรู้สึกสับสนขึ้นมา ที่จริงแล้วอะไรดีกว่ากัน

 

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด แม้ความเห็นต่อการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดประเภท 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย จะมีผู้เห็นด้วยมากร้อยละ 34.81 ค่อนข้างเห็นด้วยร้อยละ 23.74 ขณะที่ร้อยละ 24.98 ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 16.56 ไม่ค่อยเห็นด้วย

อันหมายถึงคนที่เห็นด้วยกับกัญชามีมากกว่าทั้งๆ ที่ร้อยละ 67.02 ไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับกัญชา มีแค่ร้อยละ 32.98 เท่านั้นที่เคยมี

แต่เมื่อถามถึงความกังวลต่อปัญหาการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมในหมู่เด็กและเยาวชน กลับกลายเป็นว่า ร้อยละ 42.44 ตอบว่ากังวลมาก ร้อยละ 29.62 ค่อนข้างกังวล ที่ตอบว่าไม่กังวลเลยมีแค่ร้อยละ 16.95 และร้อยละ 10.99 ไม่ค่อยกังวล

หมายความว่าแม้คนส่วนใหญ่จะไม่มีประสบการณ์ใดๆ เกี่ยวกับกัญชาก็ยังเห็นด้วยกับกัญชาเสรี

แต่อีกทางกลับถูกความกังวล หรือความกลัวครอบงำ

 

ความเป็นกัญชาที่ถูกหล่อหลอมให้รับรู้ในนาม “ยาเสพติดให้โทษ” มาอย่างยาวนาน ในฐานะที่ถูกรณรงค์ให้รับรู้ในฐานะ “เครื่องทำลายชีวิต” จนหยั่งรากลึก กลายเป็นวัฒนธรรม ประเพณีไปแล้ว

ทำให้แม้ทางหนึ่งต้องการเสรี เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ แต่อีกทางหนึ่งกลับสับสนด้วยความกลัวว่าจะรับมือในส่วนที่เป็นโทษไม่ไหว

เป็นปกติว่าในที่สุดแล้ว ความสับสนจะเกิดกฎหมายที่สร้างมาป้องกัน และนั่นหมายถึงการควบคุม ตรวจสอบ และเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ในนามของการควบคุมเพื่อให้เสรีนั้นมีคุณภาพ

และตรงนี้เองที่เป็นทีเด็ดของการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อแสวงประโยชน์

วันใดที่ “อำนาจรัฐ” เข้ามาเป็นตัวตัดสินว่าจะเลือกให้เสรีกับใคร และจะลงโทษใคร

“อำนาจรัฐ” ที่ถูกควบคุมด้วยทุนใหญ่ ย่อมสร้างการผูกขาดแบบใหม่ขึ้นมาจากเสรีนั้น

การผลิตสินค้าที่มีกัญชาเป็นวัตถุดิบ หรือการทำฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อเป็นอุตสาหกรรม จะถูกผูกขาดด้วยทุนใหญ่ที่ทำงานร่วมกับอำนาจรัฐ

เหมือนอย่างที่ “ผูกขาดการผลิตเหล้า เบียร์” กันมายาวนาน