ภารกิจหลัก ของ ‘ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย’ ชื่อ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

ภารกิจหลัก

ของ ‘ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย’

ชื่อ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’

 

หลังประกาศหวนคืนบ้านเก่า ด้วยการเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย รายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ก็ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” โดยทันที

และนี่คือคำถาม-คำตอบบางส่วนจากบทสนทนาน่าสนใจดังกล่าว

: กลับมาเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นหรือผนึกกำลังกับคนเสื้อแดงอีกครั้งหนึ่งใช่หรือไม่?

พี่น้องเสื้อแดงจนถึงวันนี้ ถ้าคิดเป็นสัดส่วน ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็ยังอยู่เพื่อไทยเหมือนเดิม แต่ว่าก็เป็นความจริงเหมือนกันที่บางส่วนก็ไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นแล้ว ในฝ่ายประชาธิปไตย (ด้วยกัน)

ทีนี้ ภารกิจของผม แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็คือต้องพยายามรวบรวมพลังพี่น้องเสื้อแดงนี่แหละ ที่อยู่เพื่อไทยอยู่แล้วก็ทำให้เข้มแข็งขึ้น แทนที่จะเป็นเพียงแค่ผู้สนับสนุน รอไปกาลงคะแนนอย่างเดียว ก็อาจจะต้องพยายามทำให้กลายเป็นผู้ร่วมปฏิบัติงานในมิติต่างๆ ให้พลังการเมืองของพรรคมันได้มีการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่

ส่วนคนที่เขาไปอยู่ในพรรคอื่นๆ เราก็อยากจะเชิญชวนมา (กลับ) มานี่ยินดี ถ้าไม่มาจะทำยังไงล่ะครับ? มันก็เป็นสิทธิโดยชอบของเขา ถ้าไม่ได้ข้ามข้างไปอยู่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ก็ถือว่าเพื่อนเรา พี่เรา น้องเรา ทั้งนั้นแหละครับ

แล้วให้สบายใจเลย ผมทำเต็มที่ เราจะสู้สุดกำลัง ให้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดเป็นของพรรคเพื่อไทยให้ได้ คือพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านกัน มีคนเสื้อแดงอยู่ รับรู้ครับ แต่เจอกันในสนามอย่าได้ออมมือกัน แม้แต่ฝ่ายไหนพรรคไหนก็ตาม มันต้องเอาแบบนี้ ต้องเคารพต่อประชาชน และต้องเคารพต่อสิทธิของนักการเมืองและพรรคการเมืองด้วยกัน

สำคัญก็คือสู้กันแล้ว อย่าโกรธกันเท่านั้นแหละ สู้กันแล้วไม่ต้องกระทบกระทั่ง ไม่ต้องไปฟาดฟันกัน เพราะปลายทาง ใครจะได้มาเท่าไหร่อย่างไร ก็ต้องจับมือทำงาน ผมคาดหวังแบบนี้

ดังนั้น ผมประกาศตั้งแต่วันเปิดตัว ว่าสุดฝีมือ สุดความสามารถแน่นอน แล้วก็ไม่ว่าจะไปเจอกับพรรคไหน ไม่มีผ่อนคันเร่ง แต่ว่าในหัวใจ เพื่อนก็คือเพื่อน มิตรก็คือมิตร ไม่คิดจะหาเศษหาเลย ไปชกใต้เข็มขัด เล่นเกมใต้โต๊ะ เพื่อสร้างความขัดข้องหมองใจกัน ไม่มีครับ

แต่ว่าอีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่จะต้องเร่งทำกันอีกมากๆ ก็คือพลังของประชาชนกลุ่มอื่นๆ คือผมไม่ได้มาในภารกิจว่าเอาเสื้อแดงกลับบ้านแบบอย่างเดียวเลย มันแคบไป และมันทำอย่างนั้นไม่ได้ ภารกิจก็ไม่สำเร็จด้วย ถ้าคิดเท่านั้น มันไม่ถูกทาง

ดังนั้น การประสานความร่วมมือ การพยายามจะสร้างเครือข่ายขยายแนวร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำครับ

: การยึดคืน “หมู่บ้านเสื้อแดง” จาก “แรมโบ้อีสาน เสกสกล อัตถาวงศ์” และ “อานนท์ แสนน่าน” ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทยด้วยหรือไม่?

คือผมต้องเล่าตรงๆ อย่างนี้ว่า “หมู่บ้านเสื้อแดง” นี่ปี 2551-2552-2553 ไม่มี มาปรากฏเอาทีหลังช่วงเราเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว ประมาณช่วงปี 2555-2556 อะไรนี่แล้วมั้งครับ แล้วก็กระบวนการที่มาขับเคลื่อนหมู่บ้านเสื้อแดง หลายคนก็เป็นคนหน้าใหม่สำหรับการต่อสู้ เพราะว่าช่วงปี 2552-2553 บางคน (ที่ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง) พี่น้องประชาชนที่สู้ด้วยกัน ก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน

ดังนั้น ผมก็ไม่คิดที่จะไปทวงถาม ทวงคืน เพราะว่ามันไม่ใช่ของผมแต่เดิม แล้วก็ไม่ได้อยู่ร่วมในกระบวนการนั้น ในนามบุคคลก็คงมีที่เคยได้ร่วมเคลื่อนไหว เคยได้ร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดง แต่ว่าเมื่อได้ไปยืนร่วมกับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ รัฐบาลเผด็จการนี้แล้ว ผมคิดว่าก็ไม่ควรอ้างความเป็นเสื้อแดงอะไรอีก

เพราะความเป็นเสื้อแดงมันไม่ได้อยู่ที่สีเสื้อที่ใส่ วันนี้ผมใส่เสื้อสีดำ แต่ว่าผมนี่แหละครับ “คนเสื้อแดง” มันอยู่ที่จุดยืน มันอยู่ที่จิตวิญญาณทางการเมือง

เพราะฉะนั้น กลุ่มที่คุณถามว่าเป็นแกนนำหมู่บ้านเสื้อแดงอะไรนั่น ก็ว่าไปเลยครับ ผมไม่คิดจะไปราวีไปอะไรด้วย ผมก็จะทำงานแบบผม เพราะผมเห็นว่าประชาชนที่เขาเข้าใจความจริง ประชาชนที่เขาเชื่อในหลักการที่ถูกต้อง เป็นคนมหาศาล แล้วก็เป็นคนส่วนมากกว่าของประเทศแน่ๆ อยู่แล้ว นี่คือการบ้านของเรา

: พรรคเพื่อไทยจะเอาชนะใจคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวทางการเมืองและไปไกลกว่าคนรุ่นก่อนๆ ได้อย่างไร?

ตรงนี้ พรรคเพื่อไทยต้องเข้าไปใกล้ๆ ครับ ไปพบ ไปพูด ไปคุย ไปรับฟัง ไปตอบคำถาม ไปอธิบาย ประเด็นที่เป็นข้อสงสัย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการทำงานของครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเราต้องออกแบบกัน

คือมันมีความละเอียดอ่อนตรงนี้ด้วยนะ ว่าในการไปพบปะพูดคุย ในการไปสื่อสารกัน ก็อย่าไปทำให้คนเขารู้สึกว่า ไอ้นี่หมายมั่นปั้นมือแต่จะเอาคะแนนอย่างเดียว คือเข้ามาใกล้ เอะอะก็จะคะแนน คะแนน ไม่ได้เหมือนกันนะครับ

คือคนเรามันต้องมีระยะ มีท่วงทำนองที่แต่ละฝ่ายสบายใจ แต่ละฝ่ายรู้สึกไว้วางใจที่จะนั่งลงพูดคุย ฝ่ายการเมืองที่จะไปพูดคุยกับประชาชนก็อย่าไปตั้งเป้าว่าคุยจบต้องได้คะแนนเลย เขาต้องรับปากทันทีว่าเลือกเราแน่ ในขณะที่ฝ่ายประชาชนก็อย่าไปรู้สึกว่าต้องตั้งกำแพง กับคำว่าพรรคการเมือง หรือกับคำว่านักการเมือง

เพราะถึงที่สุด แต่ละเรื่องมันหลีกหนีการเมืองไม่พ้น และไม่ว่าจะสถานการณ์การเมืองอย่างไร การเมืองในระบบเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้ เราเห็นอยู่แล้วว่าการทำลายระบบ มันนำมาสู่รัฐประหาร 2549 มันนำมาสู่รัฐประหาร 2557 แล้วพังไม่เป็นท่าจนวันนี้

ดังนั้น เมื่อเราต้องช่วยกันรักษาการเมืองในระบบไว้ กระบวนการทำงานของพรรคการเมือง ก็เป็นเรื่องที่อยากจะให้ประชาชนได้เปิดโอกาส วันนี้เราเห็นพรรคนี้ในมุมนี้ แต่ว่าเมื่อดูดีๆ มันอาจจะมีหลายแง่หลายมุมให้ประกอบการตัดสินใจเลือก ให้ประกอบการพิจารณาก็ได้ เงื่อนไขของสังคมมันไม่ได้มีประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพียงอย่างเดียว

สำหรับผม ผมมองว่าวันนี้ ใครจะว่ายังไงก็ตามเถอะ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนอันดับหนึ่ง วิกฤตอย่างยิ่ง ต้องการรัฐบาลมาแก้ปัญหา แต่รัฐบาลชุดนั้น ถ้าจะมาทำงานอย่างที่ว่า มันต้องยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ทั้งในแง่ของที่มาและทั้งในแง่ของที่ไป

หมายความว่าการเดินไปข้างหน้า อย่าพาบ้านเมืองถอยหลัง อย่าเป็นอุปสรรคขัดขวางพัฒนาการทางการเมือง แต่ว่าไอ้คำว่า “พัฒนาการทางการเมือง” ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตีความแบบไหนอีก ตีความว่านี่คือการวิ่ง 100 เมตร ที่ต้องสับเต็มฝีเท้าเพื่อจะเข้าเส้นชัย หรือนี่คือการวิ่งมาราธอน คือการเดินทางไกล ซึ่งยังมีระยะทางอีกยาวนานพอสมควรให้ต้องฝ่าฟัน

อันนี้ ถ้าโจทย์ที่ตั้งไม่เหมือนกัน คำตอบก็อาจจะแตกต่าง ทีนี้ พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็มีหน้าที่ต้องอธิบายความ ให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกส่วนเห็นความจริง ว่าตกลงสถานการณ์มันอยู่ที่ตรงไหน? มันอยู่ใกล้เส้นชัยแล้ว หรือว่าระยะทางยังอีกยาวไกล และวิถีการเดินของแต่ละพรรคการเมืองเป็นอย่างไร?

ผมว่าเรื่องพวกนี้มันคุยกันด้วยเหตุด้วยผลได้ มันมีข้อเท็จจริง มันมีรูปธรรม มันมีตัวอย่าง มันมีประวัติศาสตร์ ที่จะอธิบายเทียบเคียง แล้วก็ถึงที่สุดนะครับ การตัดสินใจก็เป็นของประชาชนอยู่ดี

แต่ว่าวันนี้ ถ้าใครพรรคไหนเดินลงสู่สนามแล้วไม่ถือเอาปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนเป็นความสำคัญลำดับหนึ่ง ผมคิดว่าอาจจะประเมินสถานการณ์ไม่ตรงข้อเท็จจริงหรือไม่? (เขา) อาจจะถูกก็ได้นะ แต่ว่าผมเห็นต่างก็แล้วกัน

ทีนี้ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องมันมองข้ามปัญหาทางการเมืองไม่ได้ด้วย เพราะว่าสังคมไทยมันขัดแย้งทางการเมืองมายาวนาน อย่างน้อยที่สุดในยุคหลังนี่ก็สิบกว่าปีแล้ว ก็ต้องพยายามสร้างทางออกให้กับสังคมในมุมนี้ด้วยครับ