90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง… ไปเป็นอะไร? (1) หลัง 24 มิ.ย. 2475 มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

มุกดา สุวรรณชาติ

2475-2565
90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง…
ไปเป็นอะไร? (1)
หลัง 24 มิ.ย. 2475 มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

 

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในเดือนมิถุนายน 2475 เป็นลักษณะเฉพาะของไทย ต่างกับการปฏิวัติในยุโรปที่มีมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก ใช้เวลาและชีวิตคนมากกว่า เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 การปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ.1917 แต่ถ้าดูผลของมันก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติ เพราะ…

1. มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ

2. เปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลที่มาจากชนชั้นใหม่ขึ้นมามีอำนาจหรือมาเป็นส่วนสำคัญในอำนาจการบริหาร การปกครองประเทศ

3. มีการจัดแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบใหม่ให้กับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม

4. มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมโดยเปลี่ยนทั้งตัวกฎหมาย กฎเกณฑ์ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และตัวบุคคลที่ควบคุมกติกา ใช้อำนาจ ให้คุณให้โทษ

ไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพียงวันเดียว แต่มีการต่อสู้ที่ยาวนานติดต่อกันมาหลายปี

โดยเฉพาะปี 2476 มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด มีการยึดอำนาจสภา มีกบฏบวรเดช เมื่อปราบกบฏบวรเดชลงได้ จึงมีการเลือกตั้งครั้งแรก 15 พฤศจิกายน 2476 แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลและผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แน่นอนว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเคยอยู่ในวงราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งมียศทหารนำหน้าหรือมีตำแหน่งเป็นมหาอำมาตย์ อำมาตย์เอก อำมาตย์โท อำมาตย์ตรี เข้ามาเป็นผู้แทนฯ

มีการพัฒนาการหลายเรื่องตามมา เช่น มีการออกประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ จัดระบบพิจารณาคดีความทำให้ประเทศสยามขณะนั้นมีระบบยุติธรรมและกฎหมายเป็นแบบสากลครั้งแรก เพราะนี่จะเป็นหนทางที่จะยกระดับของประเทศสยามให้ทัดเทียมกับประเทศในยุโรปและแก้ไขสัญญาที่เสียเปรียบ

ด้านการศึกษา มีการตั้งกรมอาชีวะเปิดสอนโรงเรียนช่างกลช่างก่อสร้าง โรงเรียนพณิชยการซึ่งเป็นพื้นฐานและการสร้างอาชีพสร้างประเทศในเวลาต่อมา

 

จาก 2475 ผ่าน 15 ปี
อยากสร้างระบอบประชาธิปไตย…
แต่ไม่สำเร็จ

การเลือกตั้ง 2481 แม้กลุ่มคณะราษฎรจะได้รับเสียงข้างมาก แต่พระยาพหลฯ ไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีกแล้ว กลุ่มคณะราษฎรจึงเสนอชื่อ…พันเอกหลวงพิบูลสงคราม…เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาเป็นผู้บัญชาการในการปราบกบฏบวรเดชจึงได้เป็นรอง ผบ.ทบ.ในปี 2476 และเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในปี 2477 เมื่อได้มีอำนาจเป็นถึงนายกรัฐมนตรี อายุเพียง 41 ปี…ยังควบตำแหน่ง ผบ.ทบ. ช่วงเวลานั้นกระแสความคิดแบบอำนาจนิยมขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ทั้งอิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น นายกฯ หลวงพิบูลสงคราม สร้างกระแสชาตินิยมขึ้นมาในประเทศ กลายเป็นผู้นำ

การต่อสู้กับอำนาจเก่าผ่านมาได้ แต่สุดท้ายก็สู้กันเอง ต้องยุติการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในปี 2490 เพราะการรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และไม่ได้กลับมาอีกเลย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้าของอำนาจตัวจริง ครองอำนาจต่อเนื่อง รัฐประหารตนเองในปี 2494 แล้วใช้ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มีจำนวนเท่ากับ ส.ส.เลือกตั้ง 2495 ค้ำอำนาจอยู่มาถึง พ.ศ.2500 ก็ถูกรัฐประหาร ระบบเผด็จการแบบแปลงกาย อยู่มาได้ถึง 10 ปี

ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร 2490 แต่มีระบบเผด็จการครึ่งใบ หรือเต็มใบ เราดูได้จากการเข้าสู่อำนาจ และการปกครอง

1. มีใช้กำลังอาวุธ เข้าแย่งชิงอำนาจ

2. แต่งตั้งและกำหนดตัวผู้ปกครองและผู้บริหาร โดยไม่ต้องฟังความเห็นจากประชาชน

3. ร่างกฎกติกาให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและพรรคพวกเพื่อทำการปกครองและรักษาอำนาจ บังคับให้ทุกคนยอมรับและทำตามกฎนี้

4. สร้างระบบยุติธรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ปกครอง ซึ่งจะใช้บังคับให้คนเคารพและเชื่อฟังกลุ่มผู้ปกครอง

5. การกำหนดนโยบายในการบริหาร กำหนดโดยคณะผู้ปกครอง

6. ผู้ที่ต่อต้านหรือมีความเห็นขัดแย้งจะต้องถูกลงโทษ เช่น ถูกฆ่าหรือจับไปขังหรือเนรเทศ

ยุคเผด็จการยาวนานมาก แม้จอมพล ป.ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ 2500 ภายใต้การหนุนหลังของอเมริกา แต่จอมพลสฤษดิ์ก็ปกครองโดยอำนาจคณะปฏิวัติแบบเผด็จการเต็มใบ เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต 2506 กลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร ก็ครองอำนาจต่อ มีเลือกตั้ง ปี 2512 แล้วก็รัฐประหารตัวเองในปี 2514 ระบบเผด็จการต่อเนื่องช่วงนี้ยาวนานถึง 15 ปี

ถ้านับรวมการรัฐประหาร 2490 ฝ่ายอำนาจนิยมก็ยึดครองการปกครองอย่างยาวนาน รวม 25 ปี มาสิ้นสุดเมื่อ 14 ตุลาคม 2516

 

การเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประชาชน แต่ทำได้แค่

เป็นประชาธิปไตย 3 ปี+เผด็จการ 3 ปี+เผด็จการครึ่งใบ 9 ปี

2516-2519 พลังนักศึกษาประชาชนโค่นอำนาจกลุ่มถนอม-ประภาสลงได้ ก็มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง แต่เพียงแค่ 3 ปีก็ถูกรัฐประหาร

เกิดระบอบเผด็จการขึ้น จนถึงปี 2523 และแปลงกายเป็นเผด็จการครึ่งใบ ผู้มีอำนาจใช้ ส.ว.แต่งตั้ง และ ส.ส.จากการเลือกตั้ง ค้ำอำนาจครึ่งใบจนกระทั่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระบอบประชาธิปไตยจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

การพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เริ่มออกตัวด้วยการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้าโดย พล.อ.ชาติชาย ก็เกิดการรัฐประหารของคณะ รสช.ในปี 2534 แต่ก็ถูก ประชาชนต่อต้าน ไม่สามารถสืบทอดอำนาจต่อได้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

 

หลังพฤษภาทมิฬ 2535
ประชาธิปไตยมีโอกาสพัฒนา 15 ปี

การพัฒนาประชาธิปไตยก็เดินต่อ มีการเปลี่ยนรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย 4 ครั้งในรอบ 8 ปี มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย 2540 การเลือกตั้งใหม่มีขึ้นในเดือนมกราคม 2544 ผลปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นพรรคใหม่ได้ ส.ส.มากที่สุด ทักษิณเป็นนายกฯ คนใหม่จัดตั้งรัฐบาลผสม มีชาติไทยและความหวังใหม่เข้าร่วม บริหารไปจนถึงปี 2547 ครบวาระ

มีการเลือกตั้งใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นได้ ส.ส.ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ถึง 377 เสียง ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เพียง 96 เสียง

การตั้งรัฐบาลพรรคเดียวโดยประชาชนเลือก เพราะมีผลงานเพื่อประชาชน กลับทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

ยุคของการพัฒนาประชาธิปไตย และสร้างความเจริญ นับตั้งแต่นายกฯ ชาติชาย จนถึงนายกฯ ทักษิณ 3+15 = 18 ปี จึงจบลงที่ตรงนี้

 

2549-2565 สร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย 17 ปี

นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 จนถึงการเลือกตั้ง 2562 คือการสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย และสืบทอดอำนาจจนถึงเวลานี้ก็กินเวลาเกือบ 17 ปี

เป็นการเมืองที่การชิงอำนาจใช้ทุกรูปแบบ ทุกองค์กรไม่เคารพหลักการใดๆ เริ่มจากการต่อต้านการเลือกตั้ง ป่วนสภา เกมม็อบบนถนน ใช้สื่อ ใช้องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ ใช้กำลังยึดอำนาจ ใช้การปราบประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ ใช้การร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ นับเป็นการพัฒนาวิธีการของอำมาตยาธิปไตย ที่สูงสุดในรอบ 90 ปี

ถ้าจะสรุปว่า 90 ปีมีอะไรเปลี่ยน คงต้องบอกว่า…วงจรมิได้ย้อนกลับ แต่จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจขณะนี้เป็นของกลุ่มนายทุน ขุนศึก ศักดินา 80% ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนสาหัส ปัญหาและวิธีแก้ไขจะนำเสนอในตอนต่อไป