ใบส้มที่ต้องจำเป็นตำนาน (ภาค 2)/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ใบส้มที่ต้องจำเป็นตำนาน (ภาค 2)

 

หลังจากที่ศาลแพ่งได้พิพากษาให้ กกต.ต้องชดใช้เงิน 64.1 ล้านพร้อมดอกเบี้ย ให้แก่นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2565

ผู้เขียนได้เขียนบทความ “ใบส้มที่ต้องจำเป็นตำนาน” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2176 (วันที่ 29 เมษายน-5 พฤษภาคม 2565) วิเคราะห์มุมมองทางกฎหมาย แนวทางการพิจารณาของ กกต. และวิเคราะห์สาเหตุที่ กกต.แพ้ในคดีดังกล่าว

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไปสองเดือน ยังมีประเด็นที่ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และเป็นประเด็นของการบันทึกเป็นบทเรียนในการจัดการเลือกตั้ง เป็นภาค 2 ของเรื่องราวดังกล่าวต่อเนื่อง

‘ใบส้ม’ ที่ต้องจำเป็นตำนาน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

 

คำฟ้องบุคคลแต่ศาลตัดสินใจหน่วยงานชดใช้

คําพิพากษาของศาลจังหวัดฮอด คดีแดงที่ พ. 23/2565 ระบุ การฟ้องของผู้เสียหาย มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2-7 คือ กรรมการการเลือกตั้ง 6 คนที่ร่วมประชุมและลงมติให้ใบส้ม จำเลยที่ 8 คือ รองเลขาธิการ กกต. ที่รับผิดชอบ จำเลยที่ 9 คือ ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 10-12 คือ เจ้าหน้าที่ด้านสืบสวนสอบสวนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยที่ 13-14 คือผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่

ศาลได้ยกฟ้องจำเลยที่ 13 และ 14 และตัดจำเลยที่ 2-12 ออก เนื่องจากมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเหลือเพียงจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียว โดยตัดสินให้จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงิน 64.1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง

การคิดอัตราดอกเบี้ยปรับนั้นมี 2 อัตรา คือ ก่อนวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2564 ให้คิดร้อยละ 7.5 แต่หลังจากที่มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2564 อัตราดอกเบี้ยปรับคิดใหม่เป็นร้อยละ 5

ตัวเลขของเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ศาลตัดสินจึงรวมอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท และยังต่อเนื่องต่อไปในอัตราร้อยละ 5 หรือปีละประมาณ 3.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นวัน วันละ 10,000 บาทโดยประมาณ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขที่ราชการต้องจ่าย แต่หลังจากการจ่ายค่าเสียหายให้กับเอกชนแล้ว ต้องมีการสอบสวนหาผู้รับผิดทางละเมิดว่าความผิดพลาดจนเป็นเหตุให้ราชการต้องเสียเงินนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใดนับแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งลงไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่

ซึ่งหากเป็นการกระทำการโดยตั้งใจ หรือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องชดใช้ให้กับทางราชการ

 

การบังคับคดีต่อส่วนราชการทำได้เพียงไร

คําสั่งศาลให้สำนักงาน กกต.ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 45 วัน มิฉะนั้นจะมีการบังคับคดีตามกฎหมาย อันหมายถึง การยึดทรัพย์สิน การอายัดทรัพย์สิน การจำหน่ายทรัพย์สิน ซึ่งจะเกิดการตีความตามมาว่า การบังคับคดีด้วยการยึดทรัพย์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะกระทำได้หรือไม่

เมื่อไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ในมาตรา 64 ระบุว่า

“ทรัพย์สินของสํานักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้” ดูคล้ายจะช่วยคลายความกังวล

แต่จากการที่มีคำร้องของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ยื่นต่อศาลขอทุเลาการบังคับคดี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2565 หรือก่อนครบกำหนด 45 วันของการต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล เป็นสิ่งบ่งบอกความกังวลว่าฝ่ายโจทก์จะขออำนาจศาลในการบังคับคดี แม้ว่าจะไม่สามารถยึดทรัพย์หน่วยราชการได้ก็ตาม เพราะนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นทรัพย์สินแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นรายได้จากงบประมาณแผ่นดิน และรายได้จากค่าธรรมเนียมหรือทรัพย์สินของสำนักงาน

เมื่อศาลสั่งให้บังคับคดีได้ แต่กฎหมายไม่ให้บังคับคดีจากทรัพย์สิน ก็อาจเป็นการบังคับคดีจากรายได้ เพราะในมาตรา 62 ของ พ.ร.บ.กกต. ระบุคำว่า “รายได้และทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสำนักงาน” ซึ่งหมายความว่า รายได้คือรายได้ ทรัพย์สินคือทรัพย์สิน เมื่อยึดทรัพย์ไม่ได้ แต่ยึดเงินในบัญชีได้

เรื่องตลกร้ายในกรณีนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร้องต่อศาลเพื่อขอทุเลาการบังคับคดีว่า อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ และกำลังจะอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2565 (ตามคำขอขยายเวลาครั้งที่ 1) แต่พอถึงใกล้วันที่รับปากศาล ก็มีหนังสือขอขยายเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 โดยขอขยายเวลาส่งคำร้องอุทธรณ์ออกไปถึงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2565

คราวนี้คงขึ้นกับว่า ฝ่ายโจทก์ผู้เสียหาย จะมีหนังสือคัดค้านการขอทุเลาการบังคับคดีหรือไม่ เพราะในการขอทุเลานั้นระบุว่า กำลังจะอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2565 แต่ถึงเวลากลับขอขยายเวลาอุทธรณ์ต่อไปอีกหนึ่งเดือน

แม้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะอ้างว่า ฝ่ายโจทก์ไม่เสียหายเพราะยังได้รับดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จากการขยายเวลาอุทธรณ์ก็ตาม แต่การรับปากแล้วไม่เร่งรีบดำเนินการตามสัญญา อาจเป็นเหตุให้ศาลไม่เห็นชอบกับคำขอทุเลาการบังคับคดีก็เป็นได้

 

บทเรียนของการพิจารณาให้ใบส้ม

ที่ต้องจำเป็นตำนาน

กรณีการพิจารณาใบส้มที่ปราศจากความรอบคอบจนเป็นเหตุให้แพ้คดีก็ดี กรณีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลที่ล่าช้าจนต้องขอขยายเวลาการอุทธรณ์ไปถึง 2 รอบแล้วก็ดี การขอทุเลาการบังคับคดีโดยอ้างเหตุว่ากำลังจะขออุทธรณ์แต่ไม่สามารถทำได้จริงตามคำขอที่เขียนต่อศาลก็ดี เป็นสิ่งบ่งบอกว่าการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และตัวคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพและไม่รับผิดชอบต่อประชาชนเท่าที่ควร

นอกจากผลพวงในเรื่องดังกล่าว กรณีใบส้มยังแตกแขนงเป็นการร้องเรื่องกรรมการการเลือกตั้ง 1 ท่าน ที่ไม่เข้าประชุมในระหว่างเวลาที่มีการพิจารณาคดีทุจริตโดยไม่มีเหตุอันควรซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องจริยธรรมที่นำไปสู่การร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้มีการไต่สวน และอาจนำไปสู่การสั่งให้พ้นจากตำแหน่งจากศาลฎีกาอีกหนึ่งกรณี

ไม่รวมคดีความทางอาญาที่ผู้เสียหายจากการพิจารณาของ กกต. อาจแจ้งความดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157 ในเรื่องการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการโดยมิชอบตามมาเพิ่มเติมทั้งในเรื่องการวินิจฉัยที่หละหลวมคล้ายจงใจกลั่นแกล้งและการขาดสำนึกรับผิดชอบต่องบประมาณของรัฐ ไม่เร่งรีบในการดำเนินการทั้งๆ ที่สามารถประเมินได้ถึงความเสียหายที่ต้องเพิ่มภาระดอกเบี้ยเมื่อคดีความมีความยืดเยื้อออกไป

เพราะช้าหนึ่งวัน คือดอกเบี้ยที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม 10,000 บาท การขยายเวลาอุทธรณ์ไป 3 เดือน คือดอกเบี้ย 900,000 บาท หากอุทธรณ์แล้วต้องใช้เวลาพิจารณาหนึ่งปี คือดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้ หากเห็นว่าเป็นภาษีของประชาชนที่ต้องพึงช่วยรักษาผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการโดยเร็วด้วยสำนึกรับผิดชอบ มิใช่ปล่อยปละให้ดำเนินการแบบรอให้เจ้าหน้าที่เสนอจึงตัดสินใจ

ใบส้มใบเดียว เกิดเรื่องราวตามมามากมายทีเดียว จนเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกให้จำเป็นตำนาน