สำนึก ‘บุคคลสาธารณะ’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

สำนึก ‘บุคคลสาธารณะ’

 

บ้านเมืองเรานี้ยิ่งอยู่ยากขึ้นทุกวัน คนที่ควรเป็นหลักนำพาบ้านเมืองให้ไปสู่ทิศทางที่ดีเป็นเบ้าหลอมให้ประชาชน เด็กและเยาวชนรักป่า รักสิ่งแวดล้อม กลับกลายเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมบุกรุกป่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติเสียเอง มิหนำซ้ำยังอ้างข้อกฎหมายเลี่ยงบาลี ทั้งๆ ที่มีหลักฐานพิสูจน์ชัด

ภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2510 ปี 2537 จนถึงปี 2545 ยืนยันว่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้เขียวชอุ่ม

เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกับโฉนดที่ดินที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ถือครองอยู่พบว่าโฉนดของ 2 พ่อลูกซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 150 ไร่อยู่ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่า นางกนกวรรณสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดโดยมิชอบ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเนื่องจากนางกนกวรรณอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดฟ้องเป็นคดีอาญา

นักข่าวถามนางกนกวรรณว่าจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ นางกนกวรรณบอกว่า ไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ แต่เชื่อและเคารพในกระบวนการยุติธรรมของศาล

ระหว่างนี้นางกนกวรรณยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี รอคำพิพากษาจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 จังหวัดระยอง

 

ในทางนิตินัย ถือว่านางกนกวรรณเป็นผู้บริสุทธิ์

แต่ภาพของนางกนกวรรณที่ปรากฏต่อสาธารณะนั้นรายล้อมไปด้วยคำถาม

เป็นคำถามทิ่มตรงไปยังต่อมสำนึกของผู้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะว่าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรกับคดีความที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

บางคนบอกว่า นางกนกวรรณน่าจะลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว ไม่ควรรอให้ศาลตัดสิน

เสียงเรียกร้องกดดันให้นางกนกวรรณทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีไม่เป็นผล ผู้คนหันไปจ้องมองนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยว่า จะใช้ดุลพินิจพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร ได้คำตอบว่า เรื่องของนางกนกวรรณ เป็นเรื่องส่วนตัว

เป็นคำตอบที่ไม่เกินการคาดเดาของสังคม แต่น่าฉงนตรงที่นายอนุทินบอกกับสื่อว่า

“นางกนกวรรณรับผิดชอบส่วนตัวไปแล้ว แต่ถ้าหากกระทำผิดจริงก็ไม่ต้องรอใบเสร็จ”

“ใบเสร็จ” ตามความหมายของนายอนุทินคงไม่ใช่หลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ หลักฐานการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินแน่นอน

 

เมื่อหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมีปฏิกิริยาวางเฉยกับคดีของนางกนกวรรณผู้เป็นลูกพรรค คำถามชุดเดิมจึงถูกโยนไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้แต่งตั้งนางกนกวรรณเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ

อย่างที่รู้กัน การจะแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรีสักคนต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียดว่าในอดีตใครมีประวัติด่างพร้อย มีพฤติกรรมที่ขัดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงและข้อกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ในเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ ผมขออนุญาตเล่าประสบการณ์ตรง เมื่อครั้งไปสมัครหน่วยงานอิสระของรัฐแห่งหนึ่ง คณะกรรมการสรรหาฯ อ้างคุณสมบัติของผมขัดข้อกฎหมายเพราะเมื่อ 20 ปีก่อนเคยมีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ (ตำรวจส่งศาลเพราะวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ 53 เปอร์เซ็นต์/มิลลิกรัม เกินกฎหมายกำหนดไว้ที่ 50% มิลลิกรัม)

ตำแหน่งที่สมัคร ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนตำแหน่งรัฐมนตรี ยังตรวจสอบคุณสมบัติละเอียดเข้มข้น

หรือเป็นไปได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ถือว่าการบุกรุกป่ายึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัว เป็นพฤติกรรมที่ขัดจริยธรรมและข้อกฎหมายจึงแต่งตั้งนางกนกวรรณเป็นรัฐมนตรี

การมอบหมายให้นางกนกวรรณไปร่วมกำหนดนโยบายการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนทั่วประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเล็งเห็นว่านางกนกวรรณมีศักยภาพสูง สามารถกำกับงานที่เป็นอนาคตของชาติได้เป็นอย่างดี

ในเวลาเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ป่าวประกาศลั่นไปทั้งโลกว่าจะคุ้มครองปกป้องทรัพยากรของชาติ จะดูแลรักษาป่า จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

วันนี้หน่วยงานของรัฐกล่าวหานางกนกวรรณว่ารุกป่า ผิดจริยธรรมร้ายแรง พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ร้อน

ผมถึงบอกว่า บ้านเมืองนี้ยิ่งอยู่ยากขึ้นทุกวัน เพราะไม่รู้ว่าเอาอะไรมาเป็นมาตรฐาน

หลักฐานที่ ป.ป.ช.นำมาประกอบในคดี ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายทางอากาศ หลักฐานที่นายสุนทรเมื่อครั้งเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี และนางกนกวรรณเป็นผู้นำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินด้วยตัวเอง ชาวบ้านตาดำๆ ไม่มีฤทธิ์เดช ไม่กล้าเหิมเกริมละเมิดข้อกฎหมายได้แน่

การบุกรุกเอาป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติมาครอบครองเป็นของตัวเอง จะมีแต่เจ้าหน้าที่ไร้สำนึก ไม่มีความละอายต่อบาปร่วมกับนายทุน นักการเมืองเลวๆ เท่านั้น

 

อนาคตประเทศไทยจึงดูน่าหดหู่วังเวง ยิ่งเปรียบกับประเทศศิวิไลซ์อย่างญี่ปุ่น เห็นถึงความต่างในเรื่องของต่อมสำนึกสาธารณะของผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ อดีตนายกฯ เมื่อปี 2553 ประกาศขอลาออกจากตำแหน่งเพราะผิดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

ก่อนลาออก นายฮาโตยามะกล่าวขอโทษกับชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศด้วยเหตุที่ไม่สามารถย้ายฐานทัพสหรัฐออกจากเกาะโอกินาวาอย่างที่หาเสียงไว้

หรือกรณีนายมาซาฮิโระ อิมามุระ ไขก๊อกพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีผู้ดูแลงานฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เพราะไปพูดในงานเลี้ยงบรรดา ส.ส.พรรคเสรีประชาธิปไตยว่า

“ดูเป็นเรื่องดีที่เหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น แทนที่จะเกิดกับกรุงโตเกียว มิฉะนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายคิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาล”

คำพูดของนายอิมามุระ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเขตโทโฮกุซึ่งเผชิญกับความยากลำบากเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงไฟฟ้าฟูคุชิมา ระเบิด กัมมันตรังสีรั่วไหล

นี่เป็นตัวอย่างของสำนึกสาธารณะที่ผู้นำประเทศไทยไม่มี •