มีราพาอี : เจ้าหญิงเร่ร่อน เจ้าสาวผู้รอคอยพระเจ้า / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Krishna And Radha: The Divine Couple

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

มีราพาอี

: เจ้าหญิงเร่ร่อน เจ้าสาวผู้รอคอยพระเจ้า

 

“ฉันมีเพียงพระคิริธรโคปาลเท่านั้น มิมีใครอื่น ฉันมองไปยังคนทั้งหลาย ทว่า ไม่มีใครอีกแล้ว ครอบครัวและเพื่อนฝูงพากันละทิ้งไป ด้วยการสมาคมกับเหล่าสาธุ ฉันได้สูญเสียความเคารพจากผู้คน เมื่อมองไปยังผู้ภักดี ฉันเปี่ยมสุข แต่โลกียชนทำให้ฉันเศร้า ราณาส่งถ้วยเต็มไปด้วยยาพิษมา แต่ฉันก็ดื่มด้วยความภักดีและเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า มีราถูกดึงดูดใจด้วยเสน่ห์ของพระกฤษณะ ซึ่งคงจะมาหาในสักวัน”

บทกวีข้างต้นมีชื่อในภาษาฮินดีว่า “มหรา เร คิริธร โคปาล” ของนักบุญมีราพาอี ได้รับการขับร้องและบันทึกเสียงในปี ค.ศ.1974 โดยคุณลตา มังเคศกร (Lata Mangeshkar) นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ของภารตประเทศซึ่งเพิ่งสิ้นชีวิตไปไม่นาน

หากใครฟังเพลงอินเดียย่อมจะคุ้นเคยกับน้ำเสียงหวานแต่ทรงพลังของท่าน ทำให้บทกวีอายุหลายร้อยปีนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปในอินเดีย มันถูกขับขานในรายการโทรทัศน์ ในภาพยนตร์ ถูกเปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในบ้านเรือนนับครั้งไม่ถ้วน

เช่นเดียวกับ มีราพาอี (Mira Bai) ผู้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนักบุญสตรีฝ่ายภักติซึ่งเป็นที่รักมากที่สุดในอินเดียภาคเหนือ หรือในหมู่ผู้ใช้ภาษาฮินดี บทกวีของมีราจำนวนนับพันบทและเรื่องราวชีวิตของมีรายังคงถูกเล่าขานอยู่

และได้สร้างความบันดาลใจต่อสตรีอินเดียหลายยุคสมัย

 

ในทางส่วนตัว มีราเป็นกวีภักติคนแรกที่ผมรู้จัก เมื่อเริ่มสนใจศึกษาศาสนาฮินดูแล้วพบว่า ศาสนิกฮินดูสามารถมองพระเจ้าเป็นคนรักก็ได้ ผ่านการได้อ่านบทกวีของมีรานี่เอง ทำให้ผมตื่นตาตื่นใจมาก

มีราพาอีมีชีวิตในช่วงคริสต์ศตศวรรษที่ 16 ว่ากันว่าเธอเกิดในปี ค.ศ.1504 (บางตำราว่า 1498) ที่เมรตา (Merta) ในราชสถาน เธอเป็นเจ้าหญิงราชปุต ซึ่งเป็นวรรณะกษัตริย์และปกครองหลายเมืองในอินเดียเหนือ บิดาของเธอคือ เรา รัตนสิงห์ผู้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรบ เวลานั้นราชปุตต้องทำสงครามกับพวกมุฆัลหรือโมกุลอย่างยืดเยื้อยาวนาน

เธอเติบโตมาในวังของปู่ ว่ากันว่าเธอเป็นศิษย์ของคุรุไรทาสหรือรวิทาส นักบุญภักติที่มีชื่อเสียง แต่ที่จริงอาจเป็นคุรุของแม่สามีเธอมากกว่า เพราะช่วงเวลาไม่ตรงกัน ฝ่ายปู่ก็เป็นผู้นับถือไวษณพนิกายอยู่ก่อนด้วย นี่คงเป็นอิทธิพลสำคัญในชีวิตของมีรา

มีราได้รับการศึกษาดีเท่าที่สตรีจะได้รับในสมัยนั้น แม้รายละเอียดที่แท้จริงของชีวิตเธอจะมีน้อยและส่วนมากเป็นไปในทางตำนาน

แต่เราพอจะทราบได้ว่า เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวังและออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว

 

รักแรกของมีราเกิดขึ้นในวัยเด็ก ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีขบวนแห่เจ้าบ่าวผ่านหน้าวัง มีรามองลอดช่องหน้าต่างจากด้านบนแล้วถามมารดาของตนว่า นี่คือขบวนแห่อะไร มารดาตอบว่า นี่คือขบวนแห่เจ้าบ่าวไปยังบ้านเจ้าสาว ด้วยความไร้เดียงสา เธอถามมารดาต่อว่า แล้วใครคือเจ้าบ่าวของเธอ

มารดาจูงมือมีราไปยังวิหารน้อยแห่งพระกฤษณะในวัง พลางบอกว่า นั่นไงเจ้าบ่าวของมีรา เธอตกหลุมรักเทวรูปพระกฤษณะในทันที นับแต่นั้นมา มีราเฝ้าปรนนิบัติเทวรูปทุกวัน

“โอ้ มาเถิดผู้เย้ายวนหัวใจ วาจาท่านอ่อนหวานนักหนา พระกฤษณะ! ท่านยังให้ค่ากับรักในวัยเด็กของฉันอยู่หรือไม่?” มีรากล่าวไว้ในบทกวีบทหนึ่ง

เธอถูกจับแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับเจ้าชายโภชราช โอรสของราณา (ตำแหน่งกษัตริย์ในราชสถาน) สางคา แห่งราชวงศ์เมวาร์ เพื่อความเป็นปึกแผ่นในการรวมกำลังต่อสู้กับผู้ปกครองชาวมุสลิม ขณะนั้นเธอมีอายุได้เพียงสิบสองปี

มีราไม่เคยรักโภชราชเพราะในหัวใจเธอมีเพียงพระกฤษณะเท่านั้น

เพียงไม่กี่ปีต่อมาโภชราชก็สิ้นชีพในการรบ มีรากลายเป็นหม้ายตั้งแต่วัยสาว เธอปฏิเสธที่จะทำพิธีสตี (โดดเข้ากองไฟตายตามสามี) ตามธรรมเนียมของสตรีชั้นสูง เพราะเธอไม่ยอมรับการแต่งงานนี้ตั้งแต่แรก

นั่นทำให้เธอถูกหยามเกียรติจากฝั่งสามี

 

เมื่อบิดาของเธอสิ้นชีวิต ญาติของมีราคือวิกรมชิตขึ้นครองตำแหน่งราณาคนถัดมา ราณาไม่พอใจพฤติกรรมของมีราที่เอาแต่ร้องเพลง เต้นรำบูชาพระกฤษณะ ส่วนฝ่ายสามีก็ไม่ประสงค์จะยุ่งเกี่ยวกับเธออีก ราณาเริ่มกักขังเธอ รวมทั้งพยายามกำจัดเธอ

ดังที่มีราเล่าในบทกวีที่ผมนำมาไว้ในต้นบทความ “ราณาส่งถ้วยเต็มไปด้วยยาพิษมา” แต่ไม่ว่าจะพยายามทำร้ายเธอด้วยวิธีไหน มีราก็รอดพ้นมาได้ทุกครั้ง เธอเชื่อว่าพระกฤษณะได้คอยปกป้องเธออยู่ตลอดเวลา

ท้ายที่สุด มีราตัดสินใจหนีออกจากวัง ละทิ้งความหรูหราของราชสำนัก ละทิ้งสถานภาพเจ้าหญิง ใช้ชีวิตเร่ร่อนเยี่ยงขอทาน คบค้าสมาคมกับเหล่านักบวชหรือสาธุทั้งหลาย ขับร้องบทกวีที่เธอแต่ง

รูปเคารพเธอจึงมักทำเป็นสตรีสาวสวยในชุดผ้าย้อมฝาด มือหนึ่งถือพิณตานปุระ อีกมือถือกรับ กำลังซาบซึ้งดื่มด่ำกับการร้องเพลงสรรเสริญ (ภชัน)

มีราเดินทางไปจนถึงเมืองพฤนทาวัน ป่าแสนสำราญในวัยเยาว์ของพระกฤษณะ ตำนานเล่าว่า เธอปรารถนาจะเข้าไปบูชาเทวรูปพระกฤษณะในวิหารชั้นใน ทว่า ถูกพราหมณ์ผู้ดูแลห้ามไว้เพราะเธอเป็นสตรี (บางธรรมเนียมเชื่อว่า สตรีไม่ควรเตะต้องเทวรูป) มีราจึงตั้งคำถามว่า “ต่อหน้าพระกฤษณะเอกองค์บุรุษ ยังจะกล้ากล่าวว่าตนเองเป็นบุรุษอยู่หรือ?”

ในปรัชญาฝ่ายไวษณะบางพวก เชื่อว่าความจริงแท้มีสองส่วน ส่วนแรกคือพระเป็นเจ้า (ปรมาตมัน) อีกส่วนคือดวงจิตวิญญาณของสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด (ชีวาตมัน) ความสัมพันธ์ของสองสิ่งนี้เป็นอย่างพระกฤษณะกับนางโคปี คือพระเจ้าเป็นเพียงเอกบุรุษหนึ่งเดียว ส่วนสรรพสิ่งเป็นดุจคนรัก (สตรี) ของพระองค์ ดวงจิตวิญญานจึงหมายมุ่งที่จะเข้าไปร่วมเริงรำในความรักกับพระเจ้าอยู่นิรันดร์

ด้วยเหตุนี้มีราจึงถามพราหมณ์ผู้ดูแลนั้นว่า กล้าเรียกตนเองว่าบุรุษได้อย่างไร เพราะเมื่อคิดจากปรัชญานี้ มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นบุรุษ และไม่มีใครเลยที่จะเป็นบุรุษได้ เพราะทุกสิ่งคือสตรี คือคนรักของพระเจ้าเท่านั้น

 

มีราเดินทางต่อไปถึงเมืองทวารกา เมืองหลวงของพระกฤษณะ เธอปักหลักอยู่ที่นั่นหลายปี เมื่อญาติฝั่งมารดาส่งพราหมณ์มาหาเพื่อนำเธอกลับไปยังบ้านเดิม มีราปฏิเสธ ว่ากันว่าเธอขังตัวเองในวิหารพระกฤษณะ เมื่อเปิดประตูออกในวันถัดมาก็พบเพียงชิ้นส่วนผ้าห่มของเธอ เธอได้หลอมรวมกับเทวรูปพระกฤษณะที่เธอรักไปแล้ว

ตำนานทำนองนี้ก็เช่นเดียวกับตำนานของนักบุญตุการาม ผู้เชื่อว่ามีบุษบกวิมานมารับท่านไปไวกูณฑโลก ที่จริงอาจเป็นเพียงตำนานที่กลบเกลื่อนการอุ้มหายหรือการบังคับสูญหาย เพราะนักบุญในขบวนการภักติมักท้าทายและตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจในสังคมเสมอ

เชื่อกันว่ามีราสิ้นชีพในปี ค.ศ.1547 ถ้าเธอเกิดในปี 1504 จริง เธอก็มีชีวิตในโลกนี้เพียงสี่สิบสามปีเท่านั้น

 

แนวคิดและบทกวีของมีรามิได้มีความซับซ้อน หรือตั้งคำถามกับสังคมอย่างหนักหน่วงดังเช่นกวีนักบุญท่านอื่นๆ ต่างกับของนักบุญชนาพาอี กวีสตรีวารกรี ซึ่งยังแสดงให้เห็นแนวคิดทางปรัชญาของความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าอยู่บ้าง

บทกวีของมีรามีจุดเด่นที่ความเรียบง่าย มีเอกลักษณ์ที่เน้นความรักแบบหนุ่มสาวซึ่งเร้าร้อน โหยหา บางทีก็ตัดพ้อต่อว่า บางครั้งก็เปี่ยมไปด้วยจินตนาการถึงคนรัก และแสดงภาพลักษณ์ชัดเจน กระนั้นก็งดงามอย่างยิ่ง

“โอ้ ศยาม (นามพระกฤษณะ) ปราศจากพระองค์แล้วข้าจะนอนหลับได้อย่างไร ทุกวินาทีก็ยาวนานชั่วกัปกัลป์ ทุกขณะช่างทรมานจากการแยกจากกัน ปราศจากคนรัก ฉันจมในความมืด แม้ประทีปหรือเวียงวังก็ไม่น่าพึงใจ เตียงนอนโรยกลีบบุปผาก็แข็งดุจศิลา…พระกฤษณะ จะมีดวงจิตวิญญาณน่ารักไหนกันในโลก ใครเล่าจะบรรเทาความเจ็บปวดของฉัน ก็มีเพียงพระหริผู้ไม่อาจทำลายของมีราเท่านั้นแหละ แม้นรูปของพระองค์ก็ยังให้นัยตาชุ่มชื่นได้”

ด้วยเหตุนี้กระมัง ชีวิตที่เหมือนนิยายโรแมนติก การฝ่าฝันความยากลำบากและค่านิยมของสังคม นักบุญหญิงผู้โดดเด่นท่ามกลางนักบุญบุรุษจำนวนมาก รวมทั้งบทกวีดุจเพลงรัก ทว่าเป็นเพลงรักของหญิงสาวกับพระเจ้าผู้ที่เธอเฝ้าคิดถึง มีราและบทกวีของเธอจึงเป็นที่รักของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะสตรีอินเดียซึ่งโหยหาอิสรภาพและความเท่าเทียม ผู้แสวงหารักแท้ในวัฒนธรรมคลุมถุงชนและการเชื่อฟังผู้ใหญ่ แม้ในปัจจุบัน

ผมขอจบด้วยกวีบทหนึ่งของมีรา ดังนี้

“พี่สาวเอย ศยามแย้มยิ้มให้ฉัน

และจ้องมองร่างกายของฉันด้วยดวงตาปรารถนา

คิ้วโก่งของพระองค์ดุจคันศร

ส่วนการชำเลืองข้างๆ ก็ดุจลูกศร

ซึ่งพุ่งตรงเข้ามาปักกลางหัวใจ” •