คำ ผกา | กัญชา ความกลัว และคุณพ่อรู้ดี

คำ ผกา

ฉันเข้าใจความห่วงใยของหลายภาคส่วนในสังคมไทยเรื่องกัญชา

แต่เราต้องมาแยกแยะความห่วงใยของเราให้ดีว่าเราห่วงเรื่องอะไรกันแน่

เพราะหลายครั้งการสื่อสารแบบสั้นๆ ทว่า ต้องการอิมแพ็กหรือผลตอบรับแรงๆ ก็อาจทำให้เราสร้างคู่เปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัวก็เป็นได้

เช่น เราพูดว่า เหล้ายังกำหนดเวลาซื้อ แต่ทำไมกัญชาซื้อได้ตลอด (ตามกฎหมาย)

พูดแบบนี้ปุ๊บเราต้องสำรวจตรรกะของเราทันทีว่าตกลงเราต้องการให้ สสส. มาผลักดันกฎหมายให้ซื้อขายกัญชาเป็นเวลาเหมือนเหล้า และต้องการให้กำหนดว่าห้ามซื้อขายกัญชาวันพระและวันเลือกตั้งด้วยหรือไม่?

เพราะสำหรับฉันยืนอยู่ในจุดที่บอกว่าการกำหนดเวลาซื้อขายแอลกอฮอลล์ รวมทั้งข้อห้ามซื้อขายในวันพระเป็นสิ่งไร้สาระ

เพียงเพราะเรามีความกังวลเรื่องกัญชา เราจะเผลออนุญาตให้สังคมถูกดูแลด้วยวิธีคิดแบบ “คุณพ่อรู้ดี” อีกแล้วหรือ?

แต่การปลดล็อกกัญชาครั้งนี้มีข้อที่ควรกังวลหรือไม่?

คําตอบคือ “มี”

ดูตัวอย่างการปลดล็อกกัญชาในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา หลายมลรัฐในอเมริกา เนธอร์แลนด์ โปรตุเกส ที่กัญชาสามารถใช้ตามที่กฎหมายอนุญาตให้ได้ ไม่ว่าจะในเชิงการแพทย์หรือสันทนาการ เราจะเห็นว่า นิยามของกัญชาคือ “ยาเสพติดที่มีคุณค่าในการบำบัดรักษา”

ดังนั้น ข้อแรกที่เราต้องยอมรับก่อนคือ กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์มหาศาล แต่ขณะเดียวกันมันมีข้อบ่งใช้ที่จำเพาะเจาะจงด้วยเช่นเดียวกัน อันเนื่องมาจากฤทธิ์ต่อจิต-ประสาท เพราะฉะนั้น สิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือ

หนึ่ง การออกกฎหมาย “ควบคุม” การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างชัดเชน เช่น การกำหนดอายุ เช่น ห้ามขาย จำหน่าย จ่าย แจกให้กับผู้ที่มีอายุต่ำว่า 21 ปี, ใครจะขายต้องมีใบอนุญาต และมีข้อกำหนดชัดเจนว่า ขายใครได้บ้าง ขายได้ครั้งละไม่เกินกี่กรัม สามารถสต๊อกกัญชาไว้ในร้านได้ไม่เกินกี่กรัมต่อเดือน

สอง ต้องหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดูแลเรื่องกัญชาปลอม การผสมกัญชาในปริมาณที่ไม่ถูกต้องและก่อให้เกิดอันตราย การตรวจสารปนเปื้อนในกัญชา การขายสินค้าที่แอบอ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา แต่จริงๆ แล้วไม่มี การขายกัญชาคุณภาพต่ำในราคาแพง ฯลฯ

สาม กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งให้ความรู้เรื่องกัญชาแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดการใช้กัญชาแบบผิดๆ หรือไม่ให้เกิดความตระหนกหวาดกลัวจนเกินกว่าเหตุ

สี่ การขายสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาเพื่อ “การพทย์” หรือเพื่อหวังผลในการักษา ควรทำได้เมื่อมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น

และเนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ องค์การเภสัชกรรมควรจำแนกประเภทของสินค้าออกมาอย่างเป็นทางการว่า ยาที่ผสมกัญชาตัวไหนซื้อกิน/ใช้เองจากร้านขายได้ ยาประเภทไหนต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น

เหล่านี้เป็นรายละเอียดเชิง “เทคนิค” ที่ฉันเชื่อว่าคณะทำงานทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว และรู้ดีกว่าฉันที่เป็นเพียงผู้ติดตามข่าวสาร แต่ปัญหานี้ก็เหมือนกับทุกปัญหาในประเทศไทย นั่นคือ เราไม่ได้ขาด “กฎ” แต่เราขาดความเชื่อถือในการ “รักษากฎ” ของเจ้าหน้าที่รัฐ

กฎระเบียบอันหยุมหยิมยิบย่อยตลอดประวัติศาสตร์แห่งการมีอยู่ของมันไม่ได้มีเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่มีเพื่อเป็นช่องทางให้เจ้าที่รัฐใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ กลั่นแกล้ง รีดไถ เรียกรับทรัพย์จากประชาชนเสียมากกว่า ดังนั้น ทุกครั้งที่เราเรียกร้องให้เพิ่มกฎ เราก็ไม่มั่นใจว่ากฎนั้นเพื่อให้ทุกอย่างรัดกุมขึ้นหรือแค่เพิ่มช่องทางทำมาหากินให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต

เสรีกัญชาในประเทศนี้จึงมาในเวลาที่ผิดฝาผิดตัวอย่างมาก นั่นคือ มาในเวลาที่รัฐบาลเผชิญกับวิกฤตศรัทธาจากประชาชนสูงยิ่ง และประชาชนไม่ไว้วางใจว่ารัฐบาลจะบริหารกัญชาไปในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษกันแน่

ณ จุดนี้ฉันถึงบอกว่า เข้าใจในความห่วงใยและความกังวล

แต่อีกจุดหนึ่งที่ฉันกังวลคือ กังวลว่าภาวะไม่ไว้วางใจรัฐบาลนี้ และทำให้เราปริวิตกไปหมดว่า กัญชาจะทำลายชาติ ทำลายเยาวชน คนจะเมา จะตาย จะฉิบหายวายป่วงกันไปหมด

อันนั้นก็เกิดจากการที่เรามีชีวิตในประเทศที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมเรื้อรัง ส่งผลให้ลึกๆ เราไม่เคยอยากออกจากอ้อมอกของระบอบคุณพ่อรู้ดี กลัวคำว่า “เสรี” และไม่เชื่อมั่นในเพื่อนร่วมชาติว่าสามารถดูแลตัวเองได้ตามสมควร โดยไม่ต้องมีใครมาคอยถือไม้เรียวขนาบอยู่

และหน่วยงานที่สร้างภาวะลักลั่นนี้มากที่สุดคือ หน่วยงานการแพทย์ทั้งหลายที่ชอบออกมาด่าประชาชนเรื่องดื่มเหล้า บริโภคไขมัน น้ำตาล ประณามว่าเราคือภาระทางภาษี ทางงบประมาณสาธารณสุข แต่ตอนนี้เดินตามนายโปรโมตกัญชาหน้าตาเฉย – ประชาชนก็งงสิ

สิ่งที่ประชาชนอย่างเราควรเรียกร้องอันเกิดจากความกังวลเรื่องกัญชา ไม่ใช่เรียกร้องให้รัฐเพิ่มความเป็นคุณพ่อรู้ดีมากขึ้น คุมมากขึ้น

แต่ควรเรียกร้องให้ “ปล่อย” มากขึ้นบนการสร้างสังคมอุดมความรู้และการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชน ไม่ใช่เพื่อรีดไถประชาชน

กฎเกณฑ์เรื่องการห้ามโฆษณาขายเหล้า การกำหนดเวลาซื้อเหล้า เบียร์ เท่านั้นเท่านี้โมง ควรยกเลิก

จากนั้นการควบคุมทั้งกัญชาเพื่อสันทนาการ เหล้า บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ควรอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน โฆษณาได้ ซื้อขายได้ แต่โฆษณาซื้อขายได้ตามที่กฎหมายระบุ และกฎหมายนั้นต้องมุ่งคุ้มครองและยังประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคจริงๆ

อันตรายจากยาเสพติดส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากตัวยาเสพติดเอง แต่เกิดจากการใช้ยาเสพติดอย่างผิดๆ เช่น ผิดโดส ผิดวัตถุประสงค์ ผิดกาลเทศะ ใช้โดยขาดความรู้ ใช้เพราะเข้าใจสรรพคุณของมันอย่างผิดๆ รู้ข้อมูลมาอย่างผิดๆ ใช้โดยขาดการชี้แนะ ชี้นำ จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ดังนั้น ยิ่งห้าม ยิ่งควบคุม ยิ่ง “จำกัด” การมีอยู่ของมัน สำหรับฉันยิ่งเป็นการผลักให้มัน “อันตราย” มากขึ้น

เอามันมาอยู่ในที่แจ้ง พูดถึงมัน เขียนถึงมัน มองมันให้เต็มตา สำรวจมัน ทำความรู้จักมัน และเชื่อมั่นในประชาชนเพื่อนร่วมชาติว่า ด้วยความรู้เราจะรอด และด้วยความรู้เราจะเติบโต

อย่าปล่อยให้โรคเผด็จการเรื้อรังลวงให้เราโหยหาคุณพ่อรู้ดีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจงกล้าที่จะอนุญาตให้ตัวเองเติบโตพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้รัฐบาลทำงานบนความเคารพประชาชนเป็นที่ตั้ง