การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระญาอนันตยศ ปฐมกษัตริย์แห่งนครเขลางค์ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

การจัดสร้าง

พระบรมราชานุสาวรีย์พระญาอนันตยศ

ปฐมกษัตริย์แห่งนครเขลางค์

 

ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาดิฉันเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนเขตล้านนา 8 จังหวัด นับแต่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน ได้พบว่าในแต่ละชุมชนย่อยๆ ต่างบังเกิดปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความเข้มแข็ง พวกเขาพยายามลุกขึ้นมาอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองอย่างน่าชื่นชม

ไม่ว่าข้อมูลที่พ่อน้อยพ่อหนานบอกเล่านั้นจะถูกหรือผิด จะสอดคล้องหรือขัดแย้งกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีกระแสหลักหรือไม่ก็ตาม

ดังเช่นกรณีศึกษาล่าสุด 3-4 พื้นที่ที่ดิฉันกำลังเข้าไปมีส่วนสัมผัสในระดับลึก ได้แก่ ชุมชนในเขต อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ชุมชนในเขต อ.พาน จ.เชียงราย และชุมชนในเขต อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ชุมชนหลังสุดนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดิฉันกำลังจะนำเสนอในบทความนี้

 

สวนเจ้าอนันตยศสร้างนานหลายปี

หากยังไม่มีอนุสาวรีย์ชื่อเจ้าของสวน

เมื่อเราขับรถข้ามดอยขุนตานจากฝั่งเชียงใหม่-ลำพูนไปยังจังหวัดลำปาง พบทางแยกใหญ่เขียนว่า “ห้างฉัตร” ให้เลี้ยวซ้ายเข้าตัวอำเภอห้างฉัตร ลัดเลาะไปเรื่อยๆ เราจะพบถนนสายหลักอันกว้างใหญ่ที่มีชื่อว่า ถนนจามเทวี (ชาวบ้านเรียกถนนห้างฉัตร-ลำปาง) เป็นถนนที่คู่ขนานกับสาย A1 ของซูเปอร์ไฮเวย์ด้านนอก มุ่งตรงไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าเขตอำเภอเมืองลำปางได้เช่นกัน

ด้านซ้ายของถนนจามเทวี มีสวนสาธารณะอันกว้างใหญ่ไพศาลชื่อ “สวนอนันตยศ” ครั้นเมื่อเราขับรถเข้าไปในสวนแห่งนี้ กลับวังเวง ไม่พบเรื่องราวองค์ความรู้ใดๆ เชิงประวัติศาสตร์ ไร้แม้กระทั่งร่องรอยอนุสาวรีย์ของชื่อเจ้าของสวนแห่งนี้

เหตุที่สวนแห่งนี้แทบจะร้าง ไร้การสานต่อ ทั้งๆ ที่เมื่อแรกสร้างสวนนั้น มีการวาดฝันไว้บรรเจิดว่าควรมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของเจ้าอนันตยศด้วย ทว่า ปมปัญหาคาราคาซังของหน่วยงานที่ทับซ้อนกันนั้นเคยเป็นอุปสรรคกีดขวางมิให้การจัดสร้างสวนสาธารณะแห่งนี้ เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

เรื่องเลวร้ายต่างๆ นานาผ่านพ้นไปสิ้นแล้ว จึงไม่ขอฟื้นฝอยหาตะเข็บกล่าวถึงในที่นี้

เรามาทำความรู้จักกันดีกว่า ว่าเจ้าอนันตยศเป็นใคร ทำไมต้องนำชื่อพระองค์มาตั้งเป็นชื่อสวน และนำชื่อพระนางจามเทวีมาตั้งเป็นชื่อถนน? เป็นคำถามที่คาใจประชาชนที่พบเห็น

เนื่องจากเมื่อเอ่ยถึงนครลำปางหรือเมืองละกอนคราใด คนทั่วไปรู้จักแต่เพียงแค่ “หนานทิพย์ช้าง” “พระเจ้ากาวิละ” หรือไม่ก็เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายคือ “เจ้าบุญวาทย์วงค์มานิตย์” เท่านั้น

 

จากแฝดน้องสู่ปฐมกษัตริย์นครเขลางค์

เจ้าอนันตยศ หรือ พระญาอนันตยศ (คำว่า “พระญา” เป็นคำภาษามอญโบราณ แปลว่าผู้ทรงภูมิ ผู้ทรงธรรมปัญญา เป็นคำที่ใช้เรียกกษัตริย์สมัยหริภุญไชย) จากตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่าเป็นพระราชโอรส “แฝดน้อง” ของพระนางจามเทวี

ตำนานทั้งสองเล่มระบุว่าพระนางจามเทวีกระทําพิธีบรมราชาภิเษก (นั่งเมือง) ใน พ.ศ.1205 และเมื่อเสด็จมาได้เพียง 7 วัน พระครรภ์ได้ครบทศมาส (10 เดือน) พระนางจามเทวีทรงมีประสูติกาลพระโอรส 2 พระองค์ ในวันเพ็ญเดือน 3

ดิฉันเคยสอบถามศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ราวปี 2550 เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ถึง คำว่า “วันเพ็ญเดือน 3” ในตำนานนี้ ควรหมายถึงเดือน 3 เหนือหรือเดือน 3 ภาคกลางกันแน่? ผู้ปริวรรตตำนานจะมีการปรับเดือนมาเป็นไทยกลางเพื่อสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้นให้แก่ผู้อ่านด้วยหรือไม่

เหตุที่ต้องถามก็เพราะไม่มีใครได้เห็นเอกสารต้นฉบับตำนานทั้งสองเล่มดังกล่าวว่าเขียนอย่างไร

อาจารย์ประเสริฐกรุณาอธิบายว่า ต้องหมายถึงเดือน 3 เหนือ เพราะผู้แปลตำนาน ถอดความตามต้นฉบับ ไม่ได้แปลงให้มาเป็นเดือนภาคกลาง ดังนั้น ผู้อ่านที่ไม่ใช่คนภาคเหนือต้องมีความรู้ความเข้าใจในการนับเดือนที่มีรูปแบบพิเศษด้วย กล่าวคือ คนเหนือนับเดือนไปล่วงหน้าจากภาคกลาง 3 เดือน อันเป็นเรื่องยากพอสมควร

ฉะนั้น วันนั่งบัลลังก์ของพระนางจามเทวี (นั่งเมืองก่อนประสูติพระโอรส 7 วัน) ย่อมตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 3 เหนือ (เดือน 3 เหนือตรงกับเดือนธันวาคม ในขณะที่ภาคกลางเดือนธันวาคมยังเป็นเดือน 12 ย่างเดือนอ้ายอยู่) คํานวณดูแล้วตรงกับวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.1205

ส่วนวันประสูติโอรสแฝดนั้น อยู่ในช่วงหลัง “วันพระแม่นั่งเมือง” ไปแล้ว 1 สัปดาห์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เหนือ ก็ย่อมตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.1205

โอ! วันประสูติพระโอรสแฝดไปตรงกับวันคริสต์มาสที่พระเยซูถือกำเนิดอย่างไม่น่าเชื่อ

โอรสแฝดพี่ เท่าที่พบมีเพียงชื่อเดียวคือ “เจ้ามหันตยศ” แต่โอรสแฝดน้องกลับมีการระบุอยู่หลายชื่อ ที่รู้จักกันดีคือ “เจ้าอนันตยศ” นอกจากนี้ ยังมีชื่อ “เจ้าอินทวร” “เจ้าอินทเกิงกร” อีกสองชื่อด้วย

วีรกรรมของสองโอรสแฝดที่โดดเด่นที่สุดคือ การสกัดการรุกรานของเจ้ามิลักขุ (ชนเผ่าลัวะ) นาม “ขุนหลวงวิลังคะ” มิให้กรีธาทัพมาโจมตีหริภุญไชยนครจนย่อยยับ ได้สำเร็จตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ด้วยอำนาจและฤทธานุภาพของ “พญาคชสาร” นาม “ปู้ก่ำงาเขียว”

เมื่อขุนหลวงวิลังคะเสียชีวิต ณ ดอยคว่ำหล้อง (อยู่ใน อ.สะเมิง) พระนางจามเทวีได้สู่ขอธิดาทั้งสองของขุนหลวงวิลังคะมาเป็นชายาให้กับโอรสแฝดทั้งสอง เป็นการ “กินดอง” กันเพื่อระงับรอยบาดหมางระหว่าง “ลัวะ” และ “เม็ง” (มอญ)

นอกจากจะวิวาห์กับธิดาของขุนหลวงวิลังคะแล้ว ตำนานท้องถิ่นของเมืองลำพูนระบุเพิ่มจากตำนานกระแสหลักว่า เจ้ามหันตยศ-เจ้าอนันตยศ ยังได้ธิดาของ “ขุนพลเตโค” ทหารเอกที่ถวายอารักขาตลอดกระบวนเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวีจากละโว้สู่หริภุญไชย (ลำพูน) มาเป็นชายาอีกด้วย

เมื่อโอรสแฝดสองพี่น้องเจริญชันษาถึงวัยอันควรแก่การครองราชย์สมบัติ พระนางจามเทวีได้สละบัลลังก์ให้แก่เจ้ามหันตยศ และส่งโอรสแฝดน้องขยายดินแดนข้ามขุนตานไปยังทิศตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำวัง อันเป็นที่มาของการสร้างเมืองเขลางค์นคร

การชำระประวัติศาสตร์หน้าแรกเพิ่งเริ่มต้น

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุม ตึกบุญชูปณิธาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ตั้งอยู่ที่ อ.ห้างฉัตร อำเภอที่มีการดำริจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระญาอนันตยศ ณ สวนอนันตยศ นั้น ได้มีการเปิดเวทีเสวนาทางวิชาการหัวข้อ

“ตามรอยเจ้าอนันตยศ : ปฐมกษัตริย์เขลางค์นคร สู่ทิศทางการพัฒนานครลำปางอย่างยั่งยืน” โดยดิฉันเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมบรรยายด้วย รายละเอียดคล้ายกับข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

หัวใจหลักของเวทีคือการนำเสนอถึง “ที่มาที่ไปของการออกแบบ” พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระญาอนันตยศ ว่าใช้ตรรกะอันใดในการกำหนดเสื้อผ้าหน้าผม ทำไมจึงต้องสวมมงกุฎทรงนี้ ไยต้องถืออะไรในพระหัตถ์แบบนั้น ฯลฯ

ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ “ดร. พรศิลป์ รัตนชูเดช” อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปกรรม คณะพุทธศิลป์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ (มจร. สวนดอก) อาจารย์พรศิลป์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโท เอก จากอินเดีย

ผู้ออกแบบได้อธิบายว่า ได้ทำการศึกษาเรื่องศิลปะสมัยหริภุญไชยอย่างละเอียดในทุกมิติ จึงสามารถสเกตช์ภาพ “กษัตริย์หนุ่มแฝดน้องนามอนันตยศ” ออกมาได้ว่าควรมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

มงกุฎทรงเทริดที่ประดับด้วยขนนกเช่นนี้ ก็สอดคล้องกับประติมากรรมพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยหริภุญไชย ซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะพุกาม โดยทั้งคู่ต่างรับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียเหนือราชวงศ์ปาละ

กรองศอ สังวาล กุณฑล ธำมรงค์ ฉลองพระบาท ภูษาทรง ทั้งหมดทั้งมวล พยายามออกแบบให้แตกต่างไปจากศิลปะสมัยล้านนาที่เรารู้จักกันดีคือประติมากรรมรูปเทวดาปูนปั้น ประดับที่ผนังวิหารวัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ซึ่งกรมศิลปากรโดยคุณไข่มุกด์ ชูโต ได้นำไปเป็นต้นแบบในการออกแบบอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

อันนั้นคือรูปแบบศิลปะล้านนา ทว่า พระญาอนันตยศคือบุคคลในตำนานสมัยหริภุญไชย ซึ่งเหลือหลักฐานด้านศิลปกรรมน้อยกว่าสมัยล้านนาหลายเท่า จึงถือว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยากพอสมควร

สิ่งที่อยู่ในพระหัตถ์ของเจ้าอนันตยศนั้นคืออะไร ดร.พรศิลป์กล่าวว่า เป็นแผ่นรูปพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ ซึ่งจะนำมาติดต่างหาก

ตามตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวีมีพระพุทธปฏิมาสำคัญอยู่สององค์ สีขาวกับสีดำ พระนางได้มอบพระแก้วขาว เสตังคมณีให้แก่แฝดพี่คือเจ้ามหันตยศ ประดิษฐานไว้เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองนครหริภุญไชย (กระทั่งพระญามังรายยึดลำพูนได้ จึงย้ายพระแก้วขาวไปไว้ที่นครเชียงใหม่)

ส่วนแฝดน้องคือเจ้าอนันตยศนั้น พระนางจามเทวีได้มอบ “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” ให้เป็นพระคู่พระองค์ นำไปประดิษฐาน ณ นครเขลางค์ (แต่ในที่สุด เมื่อมีสงครามระหว่างเหนือ-ใต้ สมัยหลังจากยุคหริภุญไชยไปแล้ว ทางกรุงศรีอยุธยาได้ขึ้นมาตีเขลางค์ อัญเชิญพระสิกขีปฏิมาศิลาดำไปไว้ที่อยุธยาด้วย)

จวบปัจจุบันไม่มีใครทราบว่า พระสิกขีปฏิมาศิลาดำในอยุธยาอยู่ที่ไหน คือองค์ใด

อย่างไรก็ดี ในตำนานยังระบุต่ออีกว่า นครหริภุญไชยยังได้รับพระสิกขีปฏิมาศิลาดำอีกองค์หนึ่ง (พิมพ์เดียวกัน เพราะเมื่อแรกสร้าง ทำพร้อมกันถึง 5 องค์) จากอาณาจักรพุกาม องค์ใหม่ที่ได้มานี้ ประดิษฐาน ณ นครหริภุญไชย ไม่ได้อยู่เขลางค์

ความยากของการออกแบบอยู่ที่ต้องตีความ “พระพุทธรูปที่ไม่มีใครเคยเห็น” ว่าหน้าตาควรเป็นแบบใดนั้น หนักหนาสาหัสเอาเรื่อง แต่ ดร.พรศิลป์ก็เสนอว่า พระพุทธสิกขี ควรเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบปาละที่สวมมงกุฎทรงเทริดขนนกด้วยเช่นเดียวกัน เหตุที่ สิกขี แปลว่า นกยูง, กินรี

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธรูปในพระหัตถ์ที่พระญาอนันตยศประคองนั้น จะสวมมงกุฎทรงเทริดขนนกสอดรับล้อกับมงกุฎที่พระองค์สวมด้วยเช่นกัน

เรื่องการออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์จึงผ่านพ้นไปด้วยดี โดยภาพรวมถือว่ามีความงามสง่าราวเทพบุตรอยู่มาก

สิ่งที่เป็นปัญหาที่ยังคาราคาซัง รอการชำระสะสางน่าจะเป็นเรื่อง ความสับสนของประวัติศาสตร์หน้าแรกแห่งนครเขลางค์มากกว่า ว่าตกลงแล้ว “เวียงอาลัมภางค์” นั้นอยู่ที่ไหนกันแน่

เวียงนี้เจ้าอนันตยศสร้างถวายให้เสด็จแม่ (พระนางจามเทวี) ประทับ ตอนแรกนักวิชาการทุกคนพุ่งเป้าไปที่บริเวณพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา ด้วยเห็นว่าเป็นที่ตั้งของพระธาตุองค์สำคัญ

จนกระทั่งอาจารย์ศักดิ์ (สักเสริญ) รัตนชัย ชี้เปรี้ยงว่า ไม่ใช่! น่าจะเป็นบริเวณกู่ขาว-กู่คำ ตรงจุดที่มีวัดพระเจ้าทันใจในปัจจุบันมากกว่า เหตุที่บริเวณนี้พบร่องรอยศิลปะสมัยหริภุญไชยมากกว่าบริเวณวัดพระธาตุลำปางหลวง

หวังว่าปริศนาหน้านี้จักคงได้รับการชำระสะสางให้กระจ่างอีกไม่นาน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองกับวาระพิเศษที่กำลังจะมีการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระญาอนันตยศ ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าแรกให้แก่นครเขลางค์ •