โลกหมุนเร็ว/บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ… รัฐทำดี

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ… รัฐทำดี

เดือนสิงหาคม ได้ข่าวรัฐบาลให้คนจนไปลงทะเบียนที่ธนาคาร มีผู้ชราบางคนที่ติดอกติดใจกับการแจกเงินผู้สูงอายุที่ถึงวัย 60 ขึ้นไป อยากจะไปลงทะเบียนบ้าง

แต่เมื่อดูรายละเอียดในใบสมัครแล้ว ไม่น่าผ่านเกณฑ์ เพราะยังมีเงินในธนาคาร และมีลูกหลานเลี้ยงดู แม้ว่าจะไม่มีชื่อในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ใดๆ แล้ว เพราะว่ายกให้ลูกหลานไปหมดเนื่องจากเป็นไม้ใกล้ฝั่งอายุ 90 ปีเข้าไปแล้ว

แต่ดูไปดูมา แม่บ้านที่ทำงานกับเราซึ่งไม่มีที่ดินทำกินที่จังหวัดร้อยเอ็ดแล้ว ไม่มีบ้านที่เป็นของตนเองได้แต่เช่าเขาอยู่ ลูกก็เพิ่ง 18 ยังเรียนไม่จบ ไม่มีอาชีพที่จะเลี้ยงแม่ได้ ตัวแม่บ้านมีรายได้เดือนละหมื่น ไม่มีเงินฝาก ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดแม้ทองสักเส้น ชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่ทุกวัน

เธอผู้นี้น่าจะเข้าข่าย จึงสนับสนุนให้ไปสมัคร

ตอนที่ไปสมัครนั้น ได้ยินว่าถ้าผ่านเกณฑ์จะได้เงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่งในแต่ละปี ก็บอกเธอว่าเอาเถอะ เงินนิดหน่อยก็มีความหมาย

เธอก็ไปสมัคร ถึงกำหนดเดือนกันยายน รัฐประกาศให้ไปดูรายชื่อว่าผ่านไหม เธอให้ลูกชายเช็กชื่อในเว็บที่รัฐบาลแจ้งไว้ แต่ก็ไม่พบชื่อจนบัดนี้

ต่อมารัฐบาลก็แถลงข่าวว่ามีผู้ไปลงทะเบียน 16 ล้านคน และผ่านเกณฑ์ 11 ล้านคน

ต่อมาได้ทราบว่าประชาชนที่ไปลงทะเบียนไว้แล้วผ่านจะได้บัตรที่เรียกว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” มาถือไว้ และสามารถใช้ขึ้นรถไฟกับรถเมล์ฟรีได้ เป็นการกรองคนที่สมควรจะได้รับสวัสดิการจากรัฐเพราะเป็นผู้มีรายได้น้อยจริงๆ

เป็นอันว่าฝรั่งมังค่าที่เกษียณอายุแล้วมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ไม่มีสิทธิ์ขึ้นรถเมล์และรถไฟฟรีแล้วนะคะ

รู้สึกสรรเสริญรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง ที่มีวิธีช่วยคนจนแบบนี้ ดียิ่งกว่าแจกเงินเป็นไหนๆ

สำหรับแม่บ้านที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์และยังไม่ได้บัตรนี้มาถือไว้ คิดไปคิดมาไม่ทราบว่าจะเกี่ยวข้องกับการที่เธอมีสามีเป็นทหารผ่านศึกและได้รับสวัสดิการบางส่วนจากสงเคราะห์ทหารผ่านศึกหรือเปล่า ทางหน่วยงานที่เธอไปสมัครไว้แนะนำให้ไปอุทธรณ์

เริ่มเข้าใจรัฐบาลกับนโยบาย 4.0 มากขึ้นว่าไม่ใช่เรื่องฝันเฟื่องลอยฟ้า แต่มีรูปธรรมติดดิน แตะสัมผัสคนข้างล่าง เป็นการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนโดยตรง ไม่ผ่านตัวกลางเช่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. ที่เคยเป็นผู้รับเงินจากรัฐมาสู่มือลูกบ้าน

อบต. ที่เคยชินกับการชักเงินที่ผ่านมือก็จะไม่สามารถฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ได้ (ที่พูดนี้มีหลักฐานนะคะ ก็แม่บ้านคนเดียวกันนี่แหละเล่าว่า รับเงินมา 200 จากมือผู้ใหญ่บ้าน แต่ให้เธอเซ็นว่ารับเงิน 300!!!)

ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาส่งสัญญาณว่าหนี้ครัวเรือนของไทยสูงน่าเป็นห่วง หลังจากนั้นก็มีการระบุว่าหนี้ครัวเรือนเกิดจากการซื้อของฟุ่มเฟือย ไม่ได้เกิดจากการนำไปเป็นต้นทุนเพื่อก่อเกิดรายได้

บริษัทอิปซอสส์ บิสสิเนส คอนซัลติ้ง เคยรายงานไว้หลายปีมาแล้วว่าคนกรุงเทพฯ มีไลฟ์สไตล์หรูหราเหมือนผู้คนในเมืองใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างนิวยอร์ก โตเกียว ซิดนีย์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับรายได้ เช่น คนกรุงเทพฯ ต้องซื้อกาแฟยี่ห้อดังด้วยเงิน 0.73% ของรายได้ต่อเดือน ในขณะที่คนที่โตเกียวใช้เงินเพียง 0.13% ของรายได้ต่อเดือนสำหรับกาแฟยี่ห้อดังแก้วเดียวกัน ผู้สำรวจยังตั้งข้อสังเกตว่าค่าครองชีพในกรุงเทพฯ สูงเกินไปหรือรายได้ของคนกรุงเทพฯ น้อยเกินไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานเมื่อปลายปี 2559 ว่า “หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงในไตรมาส 3 ปี 2559″ และปี 2560 คาดอยู่ในกรอบ 80.5-81.5% ต่อจีดีพี”

ข่าวจากสำนักเครดิตบูโรเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 บอกว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2560 ของปีนี้ลดลงอยู่ที่ 78.6% ซึ่งถือว่าลดลงอีกจากปี 2559

สำนักเครดิตบูโรระบุว่าหนี้ครัวเรือนยังมาจากการอุปโภคบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยไม่เหมือนจากต่างประเทศที่มาจากการซื้อที่อยู่อาศัยหรือการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และบอกว่ากลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าช่องทางอื่นๆ หนี้ครัวเรือนจากกลุ่มสหกรณ์ในไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นหนี้จากครู 7 แสนล้านบาท

ผู้เขียนเฝ้าสังเกตว่าโดยทั่วไปมีคนไทยแค่ขยิบมือเดียวที่ไม่นิยมเป็นหนี้ ในขณะที่คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนระดับล่างคิดว่าหนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นเรื่องธรรมดา คนชั้นล่างยังยอมเสียดอกสูงอย่างน่าตกใจ ดูเหมือนว่าในดีเอ็นเอของคนไทยจะมีการยอมเป็นหนี้ฝังอยู่ ผิดกับคนญี่ปุ่นที่มีดีเอ็นเอเป็นการออม หรือคนจีนมีดีเอ็นเอเป็นความขยัน

เคยคิดและพูดว่าน่าจะมีรายการเกมโชว์ที่เกี่ยวกับหนี้ ก็มีผู้ตอบว่ามีนะ ก็เลยคิดต่อไปว่า น่าจะสอดแทรกเรื่องหนี้เข้าไปในละคร เหมือนกับละครช่องเจ็ดที่ระดมเอาดาราระดับหน้ามาเล่นเป็นพระเอกสวมบททหารเหล่าต่างๆ เพื่อสอดแทรกความรักชาติ

ชาติมีคนรักท่วมท้น เช่นเดียวกับหนี้ที่ท่วมชาติเหมือนกัน

แต่จะทำละครเกี่ยวกับหนี้ที่ท่วมชาตินี่ได้ยังไง เป็นเรื่องท้าทายคนเขียนบทหนักหนา และเมื่อไหร่จะมีผู้ผลิตก้าวออกมาทำเรื่องนี้เป็นคนแรก ก็ต้องคอยดูและปรบมือให้