พระพิฆเนศในอินเดีย ผีช้างจากสุวรรณภูมิ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระพิฆเนศ คือ มหาเทพทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของชาวอารยันในอินเดีย มีต้นตอจากการนับถือผีช้างทางศาสนาผีของชาวมุนดะในอินเดียใต้ซึ่งอพยพโยกย้ายไปจากสุวรรณภูมิ

ศาสนาผีมีก่อนศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ดังนั้น ผีช้างได้รับการนับถือก่อนเทพต่างๆ ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นเหตุให้ต่อมาเมื่อชาวอินเดียนับถือพระอีศวรและพระนารายณ์เป็นใหญ่ต้องพากันเคารพนบไหว้พระพิฆเนศเป็นลำดับแรกเสียก่อน เสร็จแล้วจึงกราบพระอีศวรกับพระนารายณ์ ทั้งนี้เพราะพระพิฆเนศคือผีช้างเป็นที่เคารพนับถือมาก่อนที่จะมีการนับถือมหาเทพอื่นๆ

ข้อมูลความรู้นี้สรุปจากหนังสือ พระพิฆเนศ มหาเทพฮินดูชมพูทวีปและอุษาคเนย์ ของ ไมเคิล ไรท (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548)

ชาวอารยัน พูดตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน (หรือ อินโด-อารยัน) อพยพโยกย้ายไปจากทุ่งหญ้าในเอเชียกลางเข้าสู่อินเดียเหนือ หลังจากนั้นจึงรู้จักการนับถือผีช้างของชาวมุนดะในอินเดียใต้

ชาวมุนดะ พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร (หรือ ออสโตรเอเชียติก) นับถือผีช้างและชำนาญการจับช้างป่ามาฝึกใช้งาน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชื่อกันว่าอพยพโยกย้ายไปจากสุวรรณภูมิ แล้วตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในอินเดียใต้ทางอ่าวเบงกอลเมื่อหลายพันปีมาแล้ว

ชาวอารยันกับชาวมุนดะอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในอินเดียไล่เลี่ยหรือคราวเดียวกันอย่างน้อย 4,000-3,000 ปีมาแล้ว David Reich บอกไว้ในหนังสือ Who We Are and How We Got Here (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ดีเอ็นเอปฏิวัติ โดยก้อง พาหุรักษ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2565 หน้า 208)

ถ้าเป็นจริงทั้งหมดตามที่ยกสรุปมานี้ก็เท่ากับพระพิฆเนศมีกำเนิดจากการนับถือผีช้างของชาวสุวรรณภูมิ เพราะชาวสุวรรณภูมิดั้งเดิมทุกชาติพันธุ์ล้วนชำนาญการจับช้างป่าและนับถือผีช้าง

 


พระพิฆเนศในอินเดียมีต้นตอจากความเชื่อผีช้างและผีประกำในวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ 2,500 ปีมาแล้ว (หรือราว พ.ศ.1)
/ ช้างถูกวาดภาพมีขนาดโตสุดแสดงความสำคัญในพิธีเลี้ยงผีบรรพชนเพื่อขอขอความอุดมสมบูรณ์ เช่น ขอฝน ราว 2,500 ปีมาแล้ว [ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ลายเส้นคัดลอกฝีมือ พเยาว์ เข็มนาค กรมศิลปากร]

จับช้างป่า

ผีช้างสุวรรณภูมิมีต้นตอจากการยกย่องนับถือช้างเป็นสัตว์มีพลังเฮี้ยนและมีคุณ ซึ่งเห็นจากคนสุวรรณภูมิบางพวกเรียกตนเองอย่างนอบน้อมยอมเป็นลูกของช้างว่า “ลูกช้าง” มีพิธีกรรม “เลี้ยงผีช้าง” เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารและวาดรูปไว้บนเพิงผา (ที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี)

ชาวสุวรรณภูมิมีพิธีกรรมขอขมาเมื่อไปจับช้างป่ามาฝึกใช้งานหนัก ซึ่งเรียกตามภาษาท้องถิ่นแม่น้ำมูลในอีสานใต้ว่า “โพนช้าง” หมายถึงกิจกรรมขี่หลัง “ช้างต่อ” ไล่จับ “ช้างป่า” (“ต่อ” หมายถึงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อนำไปล่อสัตว์ป่าชนิดเดียวกันให้ติดกับดักเพื่อจับสัตว์ป่านั้น เช่น นกต่อ, ไก่ต่อ เป็นต้น)

“โพน” เป็นคำยืมจากภาษาเขมรว่า “โพล” [โพล (อ่าน โปล) แปลว่า พูด, บอก, บ่น, ว่า, แถลง, แสดง, บอกบทพากย์ (พจนานุกรมเขมร-ไทยฯ พ.ศ.2323 หน้า 448)] แล้วกลายรูปเป็นโพน [ไทยยืมคำเขมร “โพล” ใช้ว่าโพนทะนา (หมายถึง นินทาว่าร้ายหรือกล่าวโทษต่อสาธารณะ)] โพนช้างจึงมีความหมายหลายอย่างดังนี้

1. ปรนเปรอและโอ้โลมเกลี้ยกล่อมช้างต่อ เพื่อให้มีกำลังแข็งแรงพร้อมปะทะช้างป่า

2. วิงวอนร้องขอต่อผี (คืออำนาจเหนือธรรมชาติ) ด้วยคำคล้องจองในพิธีเซ่นผีขอให้ปัดเสนียดจัญไรในการจับช้างป่า

3. เกลี้ยกล่อมโอ้โลมช้างป่าที่คล้องได้แล้วด้วยคำคล้องจอง ให้หยุดเกรี้ยวกราดอาละวาดวุ่นวายจะได้อยู่ดีกินดี

ชาวกูย (หรือกวย, ส่วย) เป็นกลุ่มชำนาญการโพนช้างซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปปัจจุบัน คนกลุ่มนี้พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล เขตต่อเนื่องไทย-ลาว-กัมพูชา

การจับช้างป่าหรือโพนช้างมาฝึกเป็นช้างงาน แล้วใช้งานตามต้องการในความควบคุมของคนซึ่งถูกเรียกว่า “ควาญช้าง” เป็นวัฒนธรรมสุวรรณภูมิเมื่อหลายพันปีมาแล้ว (พบหลักฐานเก่าสุดขณะนี้เป็นลายนูนบนภาชนะสำริด พบที่โนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิมคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร) มีเครื่องมือสำคัญเรียกประกำ [เป็นคำยืมจากภาษาเขมรว่าปฺรกำ (อ่าน ปฺรอ-กำ) (พจนานุกรมเขมร-ไทยฯ เล่ม 2 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2521 หน้า 343) ในภาษาไทยมักเขียน “ปะกำ”] มีความหมายหลายอย่าง ได้แก่ ผี, เชือก, คน ดังนี้

ผีประกำ คือผีที่เฮี้ยนมากสิงในเชือกประกำ ซึ่งต้องมีพิธีเลี้ยงผีประกำทุกครั้งก่อนออกไปจับช้างป่า

เชือกประกำ หมายถึงเชือกฟั่นใช้ผูกช้างป่ามี 2 อย่าง คือ เชือกหนังทำจากหนังควาย และแส้หวาย เรียกแส้ประกำทำจากต้นหวาย

หมอประกำ หมายถึงหมอช้างผู้ทำพิธีเลี้ยงผีประกำก่อนไปจับช้างป่า โดยปริยายเป็นผู้อาวุโสมีประสบการณ์สูงในการจับช้างป่า จึงได้รับยกย่องเป็นครูว่า “ครูประกำ” ซึ่งเป็นผู้รู้พิธีกรรม และเชื่อกันว่ารู้ภาษาช้างป่า (ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร) สามารถพูดจาเกลี้ยกล่อมต่อรองแล้วจับช้างป่าได้สำเร็จเสมอ

คนถือหนังปะกำในมือขวา ขณะนั่งคร่อมบนหลังช้างในพิธีโพนช้าง [ภาพขยายจากลายเส้นของกรมศิลปากรที่คัดจากลายนูนรูปกวางรอบกระบวยสำริดจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนหนองหอ ต.นาอุดม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ระหว่าง พ.ศ.2551-2553]

ทมิฬ-มุนดะ-สุวรรณภูมิ

ชาวทมิฬเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียใต้หลายพันหลายหมื่นปีมาแล้ว

ราว 3,000 ปีมาแล้ว ชาวมุนดะอพยพโยกย้ายจากสุวรรณภูมิไปอยู่อินเดียใต้โดยตั้งชุมชนบ้านเรือนปะปนกับชาวทมิฬ ทำให้ชาวทมิฬกับชาวมุนดะคุ้นเคยช้างป่าและการจับช้างป่ามาฝึกใช้งาน แล้วนับถือผีช้างเป็นใหญ่เรียก “เจ้าสมิงไพร” มีหัวเป็นช้าง (ไมเคิล ไรท 2548 หน้า 17)

ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.1 ชาวอินเดียได้รับข้อมูลข่าวสารจากชาวมุนดะจึงเสี่ยงโชคไปซื้อทองแดงจากดินแดนภาคพื้นอุษาคเนย์แล้วเรียกชื่อว่า “สุวรรณภูมิ” (แปลว่าดินแดนทองแดง) ขณะเดียวกันก็น่าจะเริ่มซื้อช้างงาน นับเป็นต้นตอ “ค้าช้าง” (ต่อไปข้างหน้า)

 

พระพิฆเนศถึงไทย

ผีช้างของชาวสุวรรณภูมิ (ผ่านทางชาวมุนดะ) ถูกชาวอารยัน-อินเดียยกย่องเป็นเทพทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แล้วเรียก “พระพิฆเนศ” จากนั้นส่งต่อเข้าอุษาคเนย์แล้วถึงไทย ทำให้เกิดสิ่งใหม่เกี่ยวข้องกับผีช้างและพระพิฆเนศ (ซึ่งไม่พบในอินเดีย) เช่น พระเทพกรรม, พราหมณ์พฤฒิบาศ (รายละเอียดมีในบทความเรื่องพระคเณศ ครูช้างพราหมณ์สยาม ของศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม พ.ศ.2557 หน้า 34-39) ดังนี้

1. พระเทพกรรม หรือเทวกรรม เป็นเทพพื้นเมืองมีต้นตอจากผีประกำถูก “จับบวช” เข้าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

2. พราหมณ์พฤฒิบาศ คือหมอประกำ หรือหมอผีช้างที่ถูก “จับบวช” เข้าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

3. สังเวยและกล่อมช้าง วรรณกรรมมีขึ้นจากพิธีกรรมเข้าทรงผีช้าง แล้วดัดแปลงเข้ากับพระราชพิธีของราชสำนักสมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น •