‘100 กิโลเมตร’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘100 กิโลเมตร’

 

ทํางานอยู่ในป่าที่ห่างไกล แต่ในยุคนี้ไม่มีแห่งใดไกลเกินกว่าข่าวหรือข้อความสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับเราจะเดินทางไปถึง

ไม่ว่าจะโดยวิธีใดๆ จากวิทยุสื่อสารส่งตรงมาจากสถานีแม่ข่าย ผ่านหลายสถานี

หรือมีคนเดินทางเข้ามาแจ้ง

ข้อความเหล่านี้ช้าแต่มาถึง และมักจะเป็นข้อความสำคัญที่เราไม่อยากได้ยิน

 

กลางๆ ฤดูฝนปีหนึ่ง ในป่าด้านตะวันตก

“เดือนนี้เราเดินกันกว่าร้อยกิโลแล้วนะครับ” น้องในทีมร่างผอมบาง ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักวิจัยพูดขณะขยับท่อนฟืน ลูกไฟแตกกระจาย เขาหยิบฟืนท่อนเล็กขึ้นมาจุดยาเส้น เอียงหน้าหลบควัน ในทีม ผมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพวกเขา

ผมมองหน้าที่วับแวมอยู่ในแสงกองไฟ

พรุ่งนี้เราจะออกจากป่า ภารกิจอย่างหนึ่งเสร็จสิ้น หลังใช้เวลาแรมเดือนเดินป่ายาวไกล

ทีมพบสิ่งที่ตามหา นั่นคือ ปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณซึ่งอยู่กับเสือโคร่งตัวเมียตัวหนึ่ง ปลอกคอหลุดจากเสือก่อนกำหนดเวลาที่ควรถึงสามเดือน

“พรุ่งนี้ก็เจอลูกชายแล้วล่ะ” ผมยิ้มให้เขา

ลูกชายวัยขวบกว่าๆ ของเขากำลังน่าเอ็นดู

เดินป่ากว่าร้อยกิโลเมตร ใช้เวลานานนับเดือน ทุกวันเดินไปบนเส้นทางที่สัตว์ป่าใช้ ไม่ใช่ความเหนื่อยล้าหรอกที่ต้องเผชิญ ไม่ใช่ความยากลำบากด้วยซ้ำ เพราะเราเตรียมพร้อมรับรู้ว่า เราต้องเผชิญกับอะไร ป่าย่อมไม่ใช่ที่พิสูจน์ความสามารถ เตรียมพร้อมเพื่อรับมือ นั่นสำคัญ

ไม่ใช่ความยากลำบาก แต่ห่างไกลจากสิ่งที่จากมา รวมทั้งเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า ความอบอุ่นในบ้านมีมากเพียงไรนั่นแหละ ทำให้ดูคล้ายกับว่า ในค่ำคืนที่สายฝนพรำ สภาพอากาศเย็นยะเยือกมากขึ้น

 

เมื่อนักวิจัยพบว่า สัญญาณหายไป ไม่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างที่ควรเป็น

ทีมผู้ช่วยถูกส่งไปค้นหา เริ่มต้นจากพิกัดสุดท้ายก่อนสัญญาณจะหาย ที่นั่นไม่มีร่องรอย พวกเขาเดินขึ้นสันเขา ตรวจสอบสัญญาณ

จีพีเอสใช้ประกอบกับแผนที่ช่วยให้เข้าหาจุดหมายใดๆ ในป่าไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

กระนั้นก็เถอะ เรายังคงต้องอาศัยด่านที่สัตว์ใช้ ช้างผู้นำทาง มักจะอ้อมหากมีเขาขวาง หลายครั้งเราจะเลือกทางลัด นั่นหมายถึงต้องขึ้นสันเขา-ลงหุบ อีกทั้งรกทึบ

ระยะทางในแผนที่ 4-5 กิโลเมตร บางครั้งใช้เวลาทั้งวัน

ในที่สุด งานก็เสร็จ เราพบเครื่องส่งสัญญาณกับเสือตัวนี้ นักวิจัยจะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันล่าเหยื่อได้ หรือไปที่ไหน มันพ้นไปจากการติดตามแล้ว

พรุ่งนี้เราจะออกจากป่า กลับบ้าน

หมาไน – หมาไนทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืชทำหน้าที่เช่นเดียวกับเสือ การรวมฝูงช่วยกันล่าทำให้วิธีการพวกมันมีประสิทธิภาพมาก

วันนั้น ผมออกจากป่า พบว่าพ่ออยู่โรงพยาบาล ในห้อง ccu

ผู้ชายคนหนึ่งนอนบนเตียง สายระโยงระยาง อาการโรคหัวใจหลังทำบายพาสเมื่อสิบปีก่อนกำเริบ ถึงเวลาที่ทุกอย่างชำรุดอีก ผมเดินเข้าไปบีบมืออย่างให้กำลังใจ สภาพพ่อดูอิดโรย อาจมีเพียงแววตาที่ผมเห็นแววเข้มแข็ง

อาการพ่อค่อนข้างหนัก การผ่าตัดอีกครั้งดูจะเสี่ยงเกินไป อีกทั้งจะรักษาเส้นเลือดก็อาจมีผลกระทบกับไตหรืออวัยวะอื่นๆ แต่หมอพยายามช่วยกระทั่งพ่อทุเลา กลับบ้านได้

ทุกวันผมไปเยี่ยมพ่อ ยืนข้างเตียง พ่อลูบแขนที่เต็มไปด้วยริ้วรอยหนาม อันเป็นผลมาจากการเดินในป่ารกทึบ

ไม่ต้องพูด พ่อรู้ว่าผมผ่านวันเวลามาอย่างไร

 

ผมกลับเข้าป่า ผ่านไปสองสัปดาห์ ข่าวจากวิทยุสื่อสารก็เดินทางมาถึง ข่าวสำคัญที่ไม่อยากได้ยิน ถ้อยคำสั้นๆ ตรงๆ ไม่อ้อมค้อมจากพนักงานวิทยุสถานีแม่ข่ายชัดเจน พ่อจากไปแล้ว

จากนี้ พ่อจะไปไหนผมไม่รู้หรอก เพียงแต่หวังว่า เส้นทางนั้นจะไม่รกทึบสูงชัน เต็มไปด้วยหนาม เหมือนเส้นทาง 100 กิโลเมตรในป่าที่ผมเดิน

ผมจำช่วงเวลาการเดินป่า 100 กิโลเมตรนั้นได้ดี นึกถึงช่วงเวลานั้นเสมอๆ ไม่ใช่เพราะต้องใช้เวลานานนับเดือน ไม่ใช่เพราะความทุรกันดาร

แต่เพราะเป็นช่วงเวลาอันทำให้ผมรู้และเข้าใจว่า

บ้านที่จากมา อบอุ่นเช่นไร… •