รู้จัก มันปู ผักพื้นบ้านและสมุนไพร / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

รู้จัก มันปู

ผักพื้นบ้านและสมุนไพร

 

วัฒนธรรมอาหารของคนใต้มีผักเหนาะ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มผักที่ใช้กินเป็นผักเคียงกับอาหารประเภทต่างๆ ของภาคใต้

ผักมันปู จัดเป็นผักเหนาะยอดนิยมชนิดหนึ่ง แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ผักมันปูที่ชาวบ้านเรียกกันนี้ เมื่อนำมาจัดจำแนกทางวิทยาศาสตร์พบว่าหมายถึงพืชอย่างน้อย 3 ชนิด คือ Glochidion littorale Blume, Glochidion wallichianum M?ll.Arg. และ Glochidion zeylanicum (Gaertn.) A. Juss.

สองชนิดแรกพบเห็นได้บ่อยมีจำหน่ายในตลาดพื้นเมืองทั่วไป แต่ชนิดสุดท้ายมีชื่อทางราชการว่า “ชุมเส็ด” มีจำหน่ายเป็นผักค่อนข้างน้อย

ส่วนใหญ่มีรายงานเรื่องการใช้เป็นสมุนไพรมากกว่าผัก

 

เริ่มจากลำดับที่ 1 มันปู (ภาคใต้) หรือนกนอนทะเล (นราธิวาส) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion littorale Blume มีชื่อสามัญว่า Monkey apple เป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร ปลายกิ่งห้อยลง

ใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่ง แผ่นใบรูปรี ถึงรูปไข่กลับ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ปลายใบมน โคนใบสอบ

ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อน แยกเพศอยู่ต้นเดียวกัน ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ กลีบเลี้ยง 6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก

ผลแก่สีชมพูถึงแดง กลมแป้น มี 10-12 พู เมื่อแห้งจะแตก มี 10-12 เมล็ด เมล็ดเล็ก ค่อนข้างกลม ขึ้นในป่าน้ำกร่อย และบริเวณชายป่าพรุ มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เวียดนามใต้ และมาเลเซีย ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-ตุลาคม

มันปู หรือนกนอนทะเลชนิดนี้มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร คือ รากและลำต้นแก้ร้อนใน เป็นยาบำรุง

ในต่างประเทศนำมาต้มใช้เป็นยาล้างปากในเด็ก

ยอดอ่อนชาวใต้ใช้เป็นผักสดกินกับน้ำพริก แกง และขนมจีน

ลําดับที่ 2 มันปู (ตรัง) หรือมันปูใบเล็ก (ภาคใต้) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion wallichianum M?ll.Arg. เป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ สูงเต็มที่ประมาณ 15-20 เมตร ปลายกิ่งห้อยลง

ใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่ง แผ่นใบเป็นรูปรี ถึงรูปรีไข่กลับ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ มีเส้นแขนงใบ 5-7 คู่ ใบสีเขียวสด ยอดอ่อนมีสีแดง

ดอกเป็นกลุ่มมีขนาดเล็กมากสีเขียวอ่อนหรือเหลืองนวล เป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบไม่มีกลีบดอก ดอกแยกเพศ อยู่ในต้นเดียวกัน ออกดอกตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม

ผลแก่สีชมพูถึงแดง ทรงกลมแป้น ผลมี 10-12 พู ผลแห้งจะแตก มี 10-12 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลม

พบตามที่น้ำกร่อย บริเวณป่าพรุน้ำกร่อย แต่สามารถขึ้นได้ดีตามป่าโปร่ง ป่าดิบ ที่ราบเชิงเขา ใบอ่อนใช้กินเป็นผักสดกับขนมจีน แกงเผ็ด น้ำพริก รสชาติหวานมัน

มันปูชนิดที่สองนี้ ความรู้ทางสมุนไพรมีการนำรากและลำต้นมาต้มดื่ม แก้ร้อนใน เป็นยาบำรุง แต่ไม่พบรายงานการใช้ประโยชน์ทางยาในต่างประเทศ

 

ลําดับที่ 3 ที่เรียกว่า ชุมเส็ด มีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ใคร้มด (ภาคเหนือ) ชุมเส็ด พุงหมู (ชุมพร) มันปู มันปูใหญ่ (นครศรีธรรมราช) สมเส็ด (นราธิวาส) ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Umbrella Cheese Tree, Sri Lanka Glochidion, Hong Kong Abacus มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glochidion zeylanicum (Gaertn.) A. Juss. เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม สูง 2-15 เมตร เปลือกสีเทา

ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ทรงรี โคนใบสอบ ปลายมน เนื้อใบหนา ขอบเรียบ มีเส้นแขนงใบ 8-12 คู่

ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกเพศผู้และเมียอยู่แยกคนละดอก กลีบดอกไม่มี มีกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ

ผลกลมรีแบน แบ่งเป็นร่อง 8-12 ร่อง ขนาด 10×5 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง เมื่อแก่จะแห้งแตก มีเมล็ดเป็นครึ่งวงกลม สีแดง

ชอบกลางแจ้ง ชอบขึ้นตามโขดหินชายทะเลและป่าดิบ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน-เขตอบอุ่น มีการกระจายพันธุ์อยู่ในจีน ญี่ปุ่น อนุทวีปอินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย-นิวกินี ออสเตรเลีย หมู่เกาะโซโลมอน

ผักหรือสมุนไพรที่เรียกว่ามันปูชนิดที่สามนี้ มีการใช้ประโยชน์ในภูมิภาคอื่นด้วย

เช่น ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนามีการจำแนกชนิดย่อยที่เรียกว่า ผักขี้มด (Glochidion zeylanicum var. tomentosum (Dalzell) Trimen) จะใช้เปลือกต้นผสมกับเปลือกต้นมะขาม และโกฐทั้งห้า นำมาบดให้เป็นผง ละลายกับน้ำร้อนดื่มเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ ในแง่อาหารการกินใบของชุมเส็ดใช้กินเป็นผักเหนาะได้เหมือนมันปูทั้งสองชนิดที่กล่าวมาแล้ว

แต่ชุมเส็ดมีประโยชน์ทางยาที่น่าสนใจ คือ ในประเทศจีนมีการใช้ส่วนของรากเข้ายาแก้ไอและรักษานิวมอเนีย (Pneumonia) หรือโรคปอดบวม ส่วนของลำต้นและใบใช้เข้ายาแก้ปวดท้อง ปวดฟัน และรักษาบาดแผล ในประเทศอินเดียใช้ใบรักษาอาการคันและหิด ผลมีรสเย็นช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย

ส่วนเปลือกของลำต้นใช้แก้อาการปวดกระเพาะ

ตำรับยาพื้นบ้านไทยใช้ใบที่มีรสฝาดเป็นยาฝาดสมาน

 

ช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อปีกลาย จะได้ยินข่าวถึงตำรับยาขาว ซึ่งมีส่วนประกอบยาสมุนไพรชื่อ สมเส็ด (Glochidion lutescens Blume) อยู่ด้วยนั้น ให้รู้กันว่าสมุนไพรชนิดนี้อยู่ในสกุลเดียวกับมันปู

แต่มีรายงานการใช้เป็นยาตามภูมิปัญญาเดิมน้อยมาก

ดังนั้น ในการศึกษาเบื้องต้นพบว่า สมเส็ดในตำรับยาขาวน่าจะหมายถึง ชุมเส็ด (Glochidion zeylanicum (Gaertn.) A. Juss.) ที่แนะนำให้รู้จักไว้ในที่นี้นั่นเอง

ข้อมูลจากสรรพคุณที่ใช้ในตำรับยาจีนยาอินเดียก็ดี จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยก็ดี แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรในกลุ่มนี้มีศักยภาพในการส่งเสริมให้มีการใช้เป็นยา และอาหารสุขภาพที่ดีมาก ภูมิปัญญาคนใต้กินผักเหนาะผักมันปูมาเนิ่นนาน

เราน่าจะส่งเสริมการปลูกและศึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป •