ญี่ปุ่น…เด็กเกิดน้อย(少子化)/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ญี่ปุ่น…เด็กเกิดน้อย(少子化)

 

ปัญหาด้านประชากรที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ นอกจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรอายุยืนที่สุดในโลก ทำสถิติในกินเนสบุ๊กหลายครั้งทั้งหญิงและชาย ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยที่ประชากรมีอายุเกิน 100 ปี(人生百年時代) ในปี 1963 มีเพียง 153 คนเท่านั้น และ 35 ปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเกิน 10,000 คน เมื่อเข้าสู่ศตวรรษ 21 ก็ยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและกำลังจะแตะ 100,000 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ในอีกด้านหนึ่ง เด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลง(少子化)สวนทางกับจำนวนผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น เป็นสังคมผู้สูงวัย(高齢化社会)และสังคมที่มีเด็กเกิดน้อย คนวัยทำงานต้องแบกรับภาระมากขึ้น

หลังยุคเบบี้บูม(ベビーブーム)ช่วงหลังทศวรรษ 1940 – 1970 เป็นต้นมา จำนวนการเกิดของเด็ก(出生数)ที่เคยมีจำนวนเกินกว่า 2 ล้านคนทุกปี ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการเจริญพันธุ์(合計特殊出生率 TFR)จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่หญิงวัย15-49 ปี จะให้กำเนิดบุตรได้ ในขณะนั้นคิดเป็น 4%

ปี 2020 มีเด็กเกิดใหม่ราว 8.4 แสนคน อัตราการเจริญพันธุ์ 1.34 % เป็นจำนวนที่น้อยกว่าปีก่อนหน้า และน่าสังเกตว่า หญิงวัย 20 ปี ให้กำเนิดบุตรลดลง อีกทั้งจำนวนคู่สมรสใหม่ก็ลดลงถึง 12% อาจเป็นเพราะผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีปัญหาด้านการงาน และเศรษฐกิจ ทำให้หนุ่มสาวมีโอกาสทำความรู้จักกันและตัดสินใจแต่งงานยากขึ้น และจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2021 น่าจะลดลงต่ำกว่า 8 แสนคน

สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทำการสำรวจเกี่ยวกับรายได้ครัวเรือนและการแต่งงาน ผู้อยู่ในช่วงวัย 20 – 60 ปี จำนวน 2 หมื่นคน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วถึงเดือนมกราคม 2022 พบว่าผู้อยู่ในช่วงวัย 30 ปี ที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสเป็นชาย 54.6% หญิง 62.6%

เมื่อสอบถามคนโสดในวัยเดียวกันที่ไม่เคยสมรสว่ามีความตั้งใจจะแต่งงานหรือไม่ ทั้งชายและหญิง 46.4% ตอบว่า “ตั้งใจจะแต่งงาน” และชาย 26.5% หญิง 25.4% กล่าวคือ จำนวนสูงถึง 1ใน 4 คนทีเดียวที่ตอบว่า “ไม่คิดจะแต่งงาน” “ไม่อยากแต่งงาน” “ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากแต่งงาน” แต่ที่น่ากังวลคือ มีหนุ่มสาวที่ “ไม่คิดจะแต่งงาน” อยู่ในช่วงอายุที่น้อยลงไปอีกคือ 20 ปี เป็น ชาย 19.3% และหญิง 14%

เหตุผลใหญ่ ๆ ของการไม่อยากแต่งงาน คือ “อยากมีอิสระ” และ “ไม่มั่นใจในความรับผิดชอบเกี่ยวกับครอบครัว การเลี้ยงดูบุตร และรายได้ในอนาคต” จำนวนผู้จดทะเบียนสมรส 5.14 แสนคู่ ในปี 2021 จึงเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้หญิงไม่ได้เป็นแม่บ้านเท่านั้น ต้องออกไปทำงานหารายได้มาช่วยกันอีกทางหนึ่งมากขึ้น การมีลูกจึงเป็นภาระหนัก อีกทั้งการเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงแต่เพียงผู้เดียวตามลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆจนกว่าลูกจะโตก็มิใช่น้อย

จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้หญิงทำงานถึงเหตุผลที่ไม่อยากมีลูก กว่า 70% ตอบว่า งานที่เอื้อให้ผู้หญิงมีเวลาทำงานพร้อม ๆกับดูแลลูกไปด้วยมีน้อยมาก จำเป็นต้องมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูลูก แต่ลักษณะงานสำหรับผู้หญิงก็ไม่เอื้อให้มีเวลาดูแลลูก และ 37% ตอบว่าลักษณะครอบครัวใหญ่ที่อยู่ร่วมกับพ่อแม่ เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ไม่มีปู่ ย่าช่วยดูแลลูกเล็ก 32% ตอบว่าการลาคลอดและการเลี้ยงลูกเป็นอุปสรรคต่อหน้าที่การงาน มีอีกราว 17% ตอบว่าการตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นภาระทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงจำนวนหนึ่งมีความคิดเห็นว่า เด็กเกิดน้อยเป็นปัญหาสังคมที่ยังมี

ทางออก หากผู้หญิงจะได้รับความช่วยเหลือ เช่น ผู้ชายช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูลูกบ้าง มีสถานดูแลเด็กก่อนวัยเรียนจนกว่าจะถึงเวลาเลิกงาน มีเงินช่วยค่าเลี้ยงดู ค่าการศึกษา หรือช่วยลดภาษีเงินได้สำหรับครอบครัวที่มีลูก รัฐบาลควรมีสิทธิประโยชน์จูงใจให้คนที่แต่งงานแล้วอยากมีลูก เพราะเด็กคือสมบัติล้ำค่าของสังคม ต้องยอมรับกันแล้วว่า บัดนี้ได้มาถึงยุคสมัยที่การมีลูกไม่ใช่ความสุขของพ่อแม่ครอบครัวใหม่เท่านั้น แต่เป็นการทำหน้าที่ของชายและหญิงเพื่อสังคมและประเทศชาติไปเสียแล้ว

สภาพสังคมที่เด็กเกิดน้อยลงคงจะดำเนินต่อไป เพราะปัจจุบันการใช้ชีวิตของทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีกิจกรรมหลากหลายที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้น คนที่แต่งงานช้าลง(晩婚) คนที่แต่งงานแล้วไม่อยากมีลูกก็เพิ่มมากขึ้น จะย้อนกลับไปยุคหลังสงครามที่พ่อแม่มีลูก 5-6 คนเป็นธรรมดา คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

จากข้อมูลปี 2019 สำรวจอัตราการเจริญพันธุ์ของแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่น พบว่า โอกินาวา มีอัตราสูงเป็นอันดับ 1 (1.82%) รวมทั้งอีกหลายจังหวัดบนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศด้วย จังหวัดที่อยู่ท้าย ๆ มักเป็นจังหวัดที่มีเมืองใหญ่ ๆ ส่วนโตเกียวรั้งท้ายสุด…เป็นอันดับที่ 47 (1.15%) ข้อมูลนี้เป็นการเฉลยว่า จังหวัดที่มีปัจจัยเอื้อต่อการมีบุตรนั้น เป็นพื้นที่ที่มีอัตราส่วนของคนมีบ้านของตัวเองสูง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแน่นแฟ้น เอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็ก คนในท้องถิ่นอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ มีพ่อแม่ ปู่ย่า ญาติพี่น้อง และคู่แต่งงานต่างก็มีการงานที่มั่นคง เป็นต้น

การเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตขึ้นมาไม่ใช่ภาระและหน้าที่ของชายและหญิงที่ให้กำเนิดเท่านั้น คน

ในสังคมต้องมีส่วนช่วยกันอุ้มชูให้สมาชิกน้อย ๆ เติบโตและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขด้วย

หากเด็กยังคงเกิดน้อย… ภาระหนักที่ยิ่งนานวันก็ยิ่งหนักมากขึ้นในอนาคต ย่อมตกอยู่ที่พี่ ป้า น้า อา คนวัยทำงานในวันนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้