เสน่หาพญาแร้ง (1) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

เสน่หาพญาแร้ง (1)

 

เกิดเป็นสาวสวย แต่ซวยเพราะปาก จะโทษใคร นอกจากปากตนเอง

เจ้าหญิงพิกุลทอง พระธิดาท้าวสันนุราช กับนางพิกุลจันทรา มีคุณลักษณะประจำตัวโดดเด่นไม่เหมือนใคร บทละครนอกเรื่อง “พิกุลทอง” เล่าว่า

“เกศานางหอมขจรกลิ่น รวยรินไม่มีที่เปรียบได้

จะแย้มโอษฐ์เจรจาออกเมื่อใด พิกุลทองก็ไหลจากโอษฐ์มา”

ชีวิตของสาวผมหอม ทุกครั้งที่พูดมีดอกพิกุลทองร่วงออกจากปากเริ่มพลิกผันเมื่อวัน ‘ไปสรงพระคงคา ยังที่ท่าท้องฉนวนใน’ ขณะนางพิกุลทองและพวกพ้องทั้งพี่เลี้ยงและนางกำนัลกำลังเล่นน้ำสำราญใจ

“หัวระริกหยิกหยอกกันไปมา บ้างว่ายบ้างคว้าหากัน

บ้างเล่นปะเปิงจ้ำจี้ ยินดีปรีดิ์เปรมเกษมสันต์

บ้างโผบ้างคว้าหาเพื่อนกัน ยื้อยุดฉุดพันกันไปมา

ลางนางบ้างเล่นชิงช่วง จับกันเหนี่ยวหน่วงแล้วยื้อคร่า

บ้างขับลำร้องอยู่ไปมา เล่นน้ำในมหานัที ฯ”

ความสุขหายวับทันทีที่

“กัลยาผันแปรแลไป

เห็นพญาแร้งกินสุนัขเน่า เจ้าคิดเกลียดชังไม่ทนได้

อาเจียนเหียนรากเป็นพ้นใจ ทรามวัยเจ้าถ่มเขฬะลง

อ้ายแร้งอุบาทว์ชาติข้า กินหมาลอยมาที่กูสรง

ขัดใจเจ้าถ่มซ้ำลง โฉมยงเมินเสียไม่แลดู”

 

โบราณสอนว่า ‘น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก’ ความหมายคือ ถึงจะขุ่นเคือง โกรธแค้น ไม่พอใจเพียงใดก็ตาม ควรเก็บไว้ในใจและมีสีหน้ายิ้มแย้มเป็นมิตร แต่นางพิกุลทองกลับทำตรงข้าม เหยียดหยามด่าทอทั้งวาจาและท่าที กระตุ้นโทสะพญาแร้งให้ตอบโต้รุนแรงไม่แพ้กัน

“พญาแร้งจึงร้องตอบมา ว่าเหวยเจรจาหยาบใหญ่

เป็นลูกท้าวพญาสามานย์ใจ ด่ากูทำไมอีอัปรีย์

อาหารกูเคยรับประทานกิน ดูหมิ่นถ่มรดอีบัดสี

ชีวิตมึงจะไปเท่าไรมี พาทีกับหน้าไม่สมกัน”

นางพิกุลทองฟังแล้วแค้นใจนัก นางเป็นถึงลูกกษัตริย์ แต่ถูกสัตว์เดรัจฉานสกปรกจ้วงจาบหยาบช้าว่า สวยแต่หน้า วาจาทราม ใจนางคิดอย่างไร ก็หลุดปากไปอย่างนั้น ถึงขั้นใช้สรรพนาม ‘มึง กู’ ดูแคลนพฤติกรรมของอีกฝ่าย

“ชาติมึงอย่างนั้นจึงสมใจ

กินของโสโครกทั้งตาปี กูเหม็นซากผีกูด่าให้

ลอยมาท่าฉนวนของกูไย อ้ายแร้งจังไรอ้ายหูยาน”

เมื่อถูกด่าไม่ไว้หน้าราวกับไพร่สถุล พญาแร้งถึงกับคุมอารมณ์ไม่อยู่ ลั่นปากว่าจะจองเวรให้ถึงที่สุด

“อีสามานย์ด่ากูจะย่อยยับ

กูจะกินต้นลิ้นมึงให้ได้ ถ้ามิได้กูไม่นอนตาหลับ (ต้นลิ้น = โคนลิ้น)

จะผูกเวรผลาญมึงให้ย่อยยับ จะจิกสรรพมึงกินเสียทั้งเป็น”

ปกติแร้งจะกินแต่ซากศพไร้ชีวิต ในที่นี้ความโกรธแค้นทำให้ข้ามขั้นไปฆ่าคนกินทั้งเป็น นางพิกุลทองฟังแล้วก็เหลืออด ด่ากลับฉับพลันทั้งยังเย้ยหยันท้าทาย

“อ้ายตายห่าอย่าพักมาจองเวร แต่บาทากูจะเห็นก็ไม่มี

กี่ชาติที่มึงจะกินกู ทุดอ้ายสู่รู้อ้ายบัดสี”

นางเอกของเรื่องปากไวด่าไฟแลบสมกับเป็นนางเอกในบทละครนอก พรั่งพรูคำด่าเป็นชุดตั้งแต่ ‘อ้ายตายห่า อ้ายสู่รู้ อ้ายบัดสี’ นางพิกุลทองด่าเสร็จก็ขึ้นจากน้ำ ปล่อยเป็นหน้าที่ทาสีรับช่วงด่าต่อไป

 

ความแค้นแน่นอกทำให้พญาแร้งคิดเอาคืนอย่างสาสม

“อันหญิงคนนี้จะย่อยยับ จะจิกสรรพกินเนื้อมันให้ได้

จะคิดอ่านผูกเวรเอามันไซร้ ให้ได้สมจิตกูจินดา

ความแค้นกูแสนสุดคิด ไม่สมจิตกูไม่กลับไปจอมผา”

ด้วยเหตุนี้พญาแร้งจึงขึ้นจากน้ำแล้วแปลงกายเป็นคน แปลงทั้งทีต้องดูดีเหนือคนทั่วไป

“เป็นมนุษย์หนุ่มน้อยโสภา พักตราแช่มช้อยเฉิดฉาย

ทรงโฉมประโลมเลิศชาย ผันผายมาตามมรคา”

แล้วหนุ่มน้อยงามสง่ามีราศี รูปลักษณ์เหนือกว่าชายทั้งหลายก็ ‘เที่ยวชมตึกร้านบ้านช่องนั้น’ ติดตามหาคู่กรณี ปรากฏว่า ‘ทุกบ้านร้านตลาดทุกแห่งมา ไม่สมจิตจินดาอารมณ์ใน’ หาในเมืองเท่าไรก็ไม่พบ จึงเปลี่ยนที่หาไกลออกไปแถวชายป่า เห็นกระท่อมของสองตายายก็เข้าไปขออยู่ด้วย ต่อมาออกอุบายขอไปเก็บผักหักฟืนในป่า ‘จะได้มาซื้อขายเลี้ยงกัน’

ถึงป่าลับตาคน หนุ่มแร้งแปลงร่างก็ใช้เวทมนต์ทันที

นิมิตเป็นเงินทองใส่กระเช้า จัดแจงหาบเข้ามาใส่บ่า

ทำเดินโซเซเก้กังมา รีบลัดลีลาเข้ามาพลัน”

เมื่อตายายถามว่าได้เงินทองมาจากไหน หนุ่มแร้งที่โกหกแต่แรกก็ต้องโกหกต่อไปว่า เจอตุ่มหลายใบ ใบหนึ่งเป็นตุ่มทอง จึงนำเงินทองในนั้นมาให้ ตายายกลายเป็นคนมั่งมี ฐานะดีมีความสุข หนุ่มตัวช่วยของตายายก็ออดอ้อนว่า ‘ตาจ๋ายายจ๋ารักข้าไหม ถ้ารักข้าช่วยข้าด้วย’

“ยายตาข้าไหว้ได้เมตตา

ข้านี้มีจิตคิดรักใคร่ ลุ่มหลงปลงใจใฝ่หา

ข้าพอใจลูกสาวเจ้าพารา ชื่อว่าโฉมนางพิกุลทอง

ข้าคิดจำนงจงรัก อักอ่วนป่วนนักให้ขุ่นหมอง

แม้นมิได้สมอารมณ์ปอง ข้าจะครองตัวไว้ไปไยมี

แม้นว่าตายายมิตามใจ ก็จะม้วยบรรลัยไปเป็นผี

ถ้าว่าเมตตาปรานี โปรดเกศีเถิดจงเร่งไป”

ตายายหนักใจคำขอร้องแกมบังคับ แต่ขัดไม่ได้ ก็ชวนกันแต่งเนื้อแต่งตัวถือไม้เท้าไปเฝ้าท้าวสันนุราช พออยู่เบื้องพระพักตร์เท่านั้น ทั้งคู่แม้จะตัวสั่นงันงก ก็ลนลานกราบทูลจนครบถ้วน

“ชีวาอยู่ใต้ฝ่าธุลี

จะฆ่าก็ตายขายก็ขาด ด้วยราชกุมารผู้หลานนี่

จะเป็นเกือกทองรองธุลี จะขอพระบุตรีศรีโสภา”

ท้าวสันนุราชฟังแล้วกริ้วจัดตรัสว่า ‘อันชีวาของมึงจะบรรลัย อาจเอื้อมมาขอพระบุตรี’ ถ้าหลานมีบุญจริงตามที่อ้างก็ทำให้สำเร็จตามกำหนด

“จงเร่งทำตะพานทองมา แต่เคหาของมึงจนถึงวัง”

ถ้าทำสะพานทองจากบ้านมาถึงวังได้ภายใน 3 วัน จะยกลูกให้ตามที่ขอ

“แต่ในสามวันถ้ามิได้ ก็จะม้วยบรรลัยอาสัญ

มึงไปเร่งคิดอ่านกัน ตรัสแล้วทรงธรรม์เข้าวังใน”

พระบัญชาราวฟ้าผ่าเปรี้ยง ทำเอาสองเฒ่ากลัวหัวหด หมดเรี่ยวแรง เดินเซแซ่ดๆ ออกจากวังพลางพึมพำ ‘ตะพานทองๆ’ ตลอดทาง กลับถึงบ้านด้วยสภาพประสาทเสีย

“ทิ้งไม้เท้าลงไว้ต้ำผาง

ชักผ้าคลุมหัวลงนอนคราง จะบอกกล่าวอย่างไรก็ไม่มี

โอ้ตัวเราเอ๋ยจะบรรลัย แม่นแท้แน่ใจจะเป็นผี

สองเฒ่ากอดคอกันโศกี ตายจริงครั้งนี้นะอกอา”

จะหมู่หรือจ่า ฉบับหน้ารู้ •