“เพื่อน…ที่ระลึก” : อีกหนึ่ง “ลักษณะอาการ” ของ “หนังไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง” [คนมองหนัง]

คนมองหนัง
ขอบคุณภาพจากเพจ "เพื่อนที่ระลึก"

เมื่อวันที่ 15 กันยายน มีโอกาสไปร่วมฟังงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ศึกษาครั้งที่ 7 จัดโดยสถาบันหนังไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

หนึ่งในการนำเสนอที่น่าสนใจมากๆ ของงานวันนั้น ก็คือ งานวิชาการหัวข้อ “จาก “โหยหา” ถึง “โมโห” : เมื่อ “ตลกเตะฝรั่ง” ในบริบทภาพยนตร์ไทยหลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ (พ.ศ.2540-2546)” โดย อิทธิเดช พระเพ็ชร นักศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเด็นหลักที่อิทธิเดชนำเสนอ คือ ลักษณะเด่น “สองแง่มุม” ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่เคียงคู่กันของหนังไทยยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540

ด้านหนึ่ง มีหนังไทยจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างภาพ “หมู่บ้าน” ในชนบทขึ้นมา เพื่อสะท้อนถึงอารมณ์โหยหาอดีตหรือความต้องการหวนคืนรากเหง้าอันงดงาม

แต่อีกด้านหนึ่ง หนังไทยยุคนั้นหลายเรื่อง ก็พยายามสร้าง “ศัตรูร่วม” ให้แก่ “หมู่บ้าน” ในจินตกรรมของตนเอง ก่อนจะระบายความโกรธแค้นเดือดดาลลงสู่ “ความเป็นอื่น” หรือ “ภัยคุกคามภายนอก” ดังกล่าว

ตัวอย่างชัดเจน คือ “บางระจัน” ที่หยิบยืมเอาประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบเดิม มาสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในยุควิกฤต 2540 โดยนำ “พม่า” มาเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์หรือไอเอ็มเอฟ

ก่อนที่ “เรื่องเล่า” ในแนวทางนี้จะคลี่คลายตัวเข้าสู่การพุ่งเป้ากล่าวโทษไปยัง “ฝรั่ง” ซึ่งสอดคล้องต้องตรงกับบริบทร่วมสมัยมากกว่า

ดังจะเห็นได้จากการใช้นักแสดงตลกคาเฟ่ไปเตะ ต่อย ปาระเบิดใส่ “ตัวร้ายฝรั่ง” ใน “มือปืน/โลก/พระ/จัน”

ตามความเห็นของอิทธิเดช ปฏิกิริยาที่หนังไทยยุคหลังปี 2540 สนองตอบต่อวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” จึงมีทั้งอาการโหยหาอดีต และอาการโมโหโกรธาต่อ “ความเป็นอื่น”

เกือบ 20 ปีถัดมา หนังเรื่อง “เพื่อน…ที่ระลึก” โดย “โสภณ ศักดาพิศิษฏ์” ก็เข้ามาช่วยขยับเขยื้อนประเด็น ให้เราได้มองเห็นถึง “อาการ” รูปแบบใหม่ๆ ที่ภาพยนตร์ไทยกระแสหลักมีปฏิกิริยาสนองตอบต่อวิกฤตเศรษฐกิจคราวนั้น

กล่าวคือ ตัวละคร “พม่า” และ “ฝรั่ง” อันเป็นภาพแทนของ “ความเป็นอื่น” ที่ก่อให้เกิดวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ได้เลื่อนไหลมาสู่ตัวละคร “ผี”

อย่างไรก็ดี “พม่า-ฝรั่ง” ในหนังไทยทศวรรษ 2540 กับ “ผี” ในหนังไทยของปี 2560 นั้นมีความแตกต่างกันอยู่

เพราะขณะที่ “พม่า-ฝรั่ง” เป็นตัวแทนของผู้ที่ทำให้เกิดวิกฤต “ผี” ในหนัง “เพื่อน…ที่ระลึก” กลับเป็นผลลัพธ์หรือหนึ่งในผู้ถูกกระทำจากวิกฤตครานั้น

“ผี” ในหนังของโสภณ จึงเป็น “บาดแผลตกค้าง” จากวิกฤตเมื่อ 20 ปีก่อน มิใช่ผู้ก่อวิกฤต

นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาว่า “พม่า” “ฝรั่ง” และ “ผี” ล้วนเป็นภัยคุกคามคล้ายคลึงกัน ความแตกต่างระหว่างภัยสองชนิดแรกกับภัยชนิดหลังสุดก็ยังมีให้เห็น

เนื่องจาก “พม่า-ฝรั่ง” นั้นมีสถานะเป็น “ภัยคุกคามจากภายนอก” ผิดกับ “ผี” ใน “เพื่อน…ที่ระลึก” ซึ่งเป็น “ภัยคุกคามจากภายใน”

เพราะ “ผี” ในที่นี้ คือ “เพื่อนเก่า” “เพื่อนร่วมชะตากรรม” “คนกันเอง” และอาจหมายถึง “ความรู้สึกผิดบาปในจิตใจตัวเอง” เสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ในหนังเรื่อง “เพื่อน…ที่ระลึก” ตัวละคร “ผี” และคนสองเจเนอเรชั่น ต่างต้องแบกรับรอยแตกร้าว, ภาวะพังทลาย และมรดกบาป อันเป็นพันธะผูกพันแน่นหนา ที่ถูกส่งมอบจากคนรุ่นพ่อแม่มาสู่ลูกๆ

ดังนั้น “ปัญหา” ที่ตัวละครไม่ว่าจะคนหรือ “ผี” ต้องเผชิญหน้า จึงเป็น “ความผิดพลาด” หรือ “ความขัดแย้ง” ที่ถูกสืบทอดบ่มเพาะขึ้นมาจากภายใน/บนผืนดินของสังคมไทยเอง

ไม่ใช่ภัยที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาโดย “ปีศาจแห่งความเป็นอื่น” จากภายนอก

สําหรับ “เพื่อน…ที่ระลึก” ปัญหาที่เชื่อมโยงสังคมไทยสองยุคใน พ.ศ.2540 และ 2560 เข้าหากัน คือ “ปัญหาเศรษฐกิจ”

ตัวละครอันเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวอย่าง “บุ๋ม” คือ ผู้หญิงที่ครอบครัวล่มสลายในปี 2540 ก่อนจะค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ

ชีวิตปัจจุบันของเธอดูน่าจะลงตัวดี แต่แล้วปัญหาต่างๆ ก็กลับมารุมเร้าอีกครั้งในปี 2560 ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ (ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว) ปัญหาครอบครัว (ความเป็น/ตายของลูกสาว) และปัญหาคั่งค้างจากอดีตเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว (ที่ชักนำเธอไปพบกับ “ผี”)

ขอบคุณภาพจากเพจ “เพื่อนที่ระลึก”

แน่นอนว่าสำหรับสังคมไทยนอกภาพยนตร์เรื่องนี้ ปัญหาที่ค่อยๆ สุมรุมซ้อนทับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นั้นไม่ได้มีเพียง “ปัญหาเศรษฐกิจ”

เพราะในกรอบเวลาดังกล่าว บ้านเราต้องประสบกับปัญหาทางด้านการเมือง-สังคมอีกมากมายหลายด้าน

ไม่ว่าจะประเมินอย่างไร ผ่านมุมมองแบบไหน “สภาพสังคมไทยปัจจุบัน” ก็เป็นผลมาจากปัญหาสลับซับซ้อนหลายหน้าเหล่านั้น

หรืออย่างน้อยที่สุด หน้าตา รูปร่าง คุณลักษณ์ และลักษณะอัปลักษณ์ของ “สังคมไทย 2560” ก็มิได้ก่อร่างขึ้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งแบบเพียวๆ

และหากจะนับเอา “ปัญหาเศรษฐกิจ” เป็นปัจจัยสำคัญ

ความเสียหายย่อยยับต่อศูนย์กลางทางธุรกิจที่เมืองหลวงและฐานะทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางเมื่อปี 2540 ก็อาจส่งอิทธิพลมายัง “สังคมไทยยุคปัจจุบัน” ไม่เท่ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ-รูปแบบการผลิตและบริโภคในภาคชนบท นับตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

การละเว้นไม่กล่าวถึงปัญหา/สภาพการณ์ด้านอื่นๆ (หรือละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ใน “เพื่อน…ที่ระลึก” อาจนำไปสู่การตั้งคำถามเล่นๆ ได้อีกชุดใหญ่ เช่น

ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย/เริ่มมีครอบครัวตอนอายุ 20 ปี บุ๋มมีท่าทีอย่างไรต่อชัยชนะของพรรคไทยรักไทย?

ในวัยกลาง 20 บุ่มอยู่ตรงไหนท่ามกลางปรากฏการณ์หวาดกลัวหรือพยายามขับไล่ “ผีทักษิณ” ที่ก่อตัวขึ้น?

ตอนบุ๋มอายุเกือบๆ 30 จนถึงกลาง 30 เธอมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า, การแบ่งสีเสื้อ, การเป่านกหวีด ตลอดจนการรัฐประหารสองหนภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ?

ขอบคุณภาพจากเพจ “เพื่อนที่ระลึก”

เอาเข้าจริง วิธีเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจ-ครอบครัว-การคุกคามของ “ผี” ที่ตัวละครนำอย่างบุ๋มเลือกใช้นั้น อาจสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์กับปัญหาชุดอื่นๆ ของเธออยู่เหมือนกัน

ตัวอย่างน่าสนใจที่ปรากฏใน “เพื่อน…ที่ระลึก” คือ เมื่อประสบทางตันยามต้องปะทะกับผี-ต้องช่วยชีวิตลูกสาว-ต้องกอบกู้ธุรกิจส่วนตัว บุ๋มก็มีอาการบ้าคลั่งหน้ามืด แล้วดึงคนอื่นเข้ามาร่วมเผชิญปัญหาด้วยอย่างที่เขาไม่เต็มใจ

เห็นชัดจากชะตากรรมของเด็กน้อยในไซต์ก่อสร้างคอนโดผีสิงที่ชื่อ “ม่อน”

ยามเข้าตาจน บุ๋มอยากโวยวาย-ทวงขอความเป็นธรรมจาก “ผีเพื่อนเก่า” ครั้นเธอพบว่าเด็กชายอายุไม่กี่ขวบอย่างม่อน เป็น “คนเห็นผี” บุ๋มก็ใช้ทุกวิถีทางในการบีบคั้นให้ม่อนช่วยเหลือเธอ รวมถึงการขู่จะไล่ครอบครัวแปดชีวิตของเด็กน้อยออกจากงาน

แล้วพอม่อนยอมช่วยเหลือนายจ้าง แต่ภารกิจล้มเหลว ตัวเด็กน้อยเองโดนผีเล่นงานจนแทบเป็นบ้า บุ๋มก็ดำเนินชีวิตส่วนตัวอย่างสับสนหลงทางไปอีกพักใหญ่ และทิ้งม่อนไว้ ณ เบื้องหลัง

ขอบคุณภาพจากเพจ “เพื่อนที่ระลึก”

คนดูไม่อาจรับรู้ได้ว่าหลังจากโดนผีเล่นงานในคืนนั้น สภาพจิตใจของม่อนจะเป็นเช่นไร? แม่และครอบครัวของม่อนยังจะตัดสินใจทำงานที่ไซต์ก่อสร้างแห่งเดิมอยู่อีกหรือไม่? หรือต่อให้พวกเขาเลือกปักหลักทำงานกันต่อ แต่พอบุ๋มตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะไม่รีโนเวตคอนโดผีสิงแล้ว ครอบครัวของม่อนจะโยกย้ายไปทำงาน-อาศัยที่ไหน?

การมุ่งหมกมุ่นกับการแก้ไขปมชีวิตส่วนตัว หรือการเผชิญโลกด้วยวิธีคิดที่นึกถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก ทว่า เพิกเฉย/ละเลย/หลงลืมปัญหาอีกจำนวนหนึ่งที่ตนเองมีส่วนก่อขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้อื่น (สอดคล้องกับพล็อต/ประเด็นหลักของหนัง ที่ผลักดันให้ “ผี” ต้องกลับมาทวงสัญญา)

อาจเป็นลักษณะเฉพาะในการดีลกับปัญหาต่างๆ ของตัวละครคนชั้นกลางกรุงเทพฯ อย่างบุ๋ม

อย่างไรก็ตาม การพยายามหาทางออกในช่วงท้ายเรื่องของบุ๋ม ก็ดูคล้ายจะเป็นการคิดต่อจากประเด็นที่ถูกตั้งไว้ในเปเปอร์วิชาการของอิทธิเดชอยู่ไม่น้อย (โดยบังเอิญ)

นั่นคือ เหมือน “เพื่อน…ที่ระลึก” จะลองตั้งคำถามชวนให้คนดูฉุกคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะเผชิญหน้าวิกฤต (ในกรณีนี้ คือ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตชีวิตครอบครัว และวิกฤตจากข้อผิดพลาด-ความทรงจำบาดแผลส่วนบุคคล) ผ่านท่าทีที่ไปให้พ้นจากความเดือดดาล และการสร้าง “ความเป็นอื่น” หรือศัตรู/ภัยคุกคามบางประการ ขึ้นมาแบกรับความโกรธแค้นชิงชังในใจเรา

ถ้าพูดในบริบทเฉพาะของหนังเรื่องนี้ ก็คือ การไปให้พ้นจากภาวะ “ผีก็บ้า คนก็บอ”

อาจอธิบายขยายความต่อจากคำถามตั้งต้นดังกล่าวได้ว่า ในขณะที่หลายคนพยายามเดินหน้าชนวิกฤตการณ์หรือปัญหาบางชุด ด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด คลั่ง แค้น ขาดสติ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เราจะสามารถเผชิญหน้ากับวิกฤต/ปัญหา ซึ่งอาจหมายถึงการรับมือกับผลตกค้างของความผิดพลาดจากอดีต และบาดแผลของความบกพร่องในปัจจุบันได้อย่างไร?

โดยไม่ต้องสร้าง “ศัตรู” “ภัยคุกคาม” หรือ “ความเป็นอื่น” ขึ้นมาเป็นกระโถนคอยรองรับการระเบิดอารมณ์โกรธเกลียดชังต่างๆ นานา อย่างไร้จุดสิ้นสุด

เราจะสามารถรับมือกับวิกฤต/ปัญหาต่างๆ ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ และภูมิปัญญาแบบอื่นๆ ได้หรือไม่?

ขอบคุณภาพจากเพจ “เพื่อนที่ระลึก”

ผมรู้สึกว่าคำถามชุดนี้อาจกินความไปถึงปัญหา/วิกฤตการณ์ด้านอื่นๆ ในสังคมไทย ที่หนังเรื่อง “เพื่อน…ที่ระลึก” (จงใจ) ไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ดี ต้องพึงตระหนักเช่นกันว่าบุ๋มนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับ “ผี” ในฐานะ “เพื่อน” ที่เท่าเทียมกัน และสามารถเจรจาต่อรองกันได้ (หลังจากค่อยๆ ตั้งสติ และลดทอนความหวั่นวิตกต่างๆ ลง)

ดังนั้น เมื่อเธอหยุดเตลิดเปิดเปิง ผีก็หยุดหลอกหลอน

การก้าวข้ามให้พ้นจากอารมณ์โกรธแค้นเดือดดาลใน “เพื่อน…ที่ระลึก” จึงมี “ภาวะเสมอภาค” เป็นตัวแปร/ปัจจัยสำคัญ