มุกดา สุวรรณชาติ : ยึดสนามบิน ได้อภิสิทธิ์ ไม่ใช่ประยุทธ์ ชดใช้ 522 ล้าน แค่คดีเดียว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลังรัฐประหารยึดอำนาจ 2549 เพื่อโค่นนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ยุบพรรคไทยรักไทยและการเลือกตั้งปี 2550 พรรคไทยรักไทยซึ่งแปลงกายเป็นพรรคพลังประชาชนก็ลงสนามเลือกตั้งอีกครั้งโดยที่แกนนำ 111 คนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไม่สามารถลงแข่งเลือกตั้งได้ ถึงกระนั้นก็ยังได้รับชัยชนะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด แม้ไม่ถึงครึ่งสภา แต่ก็สามารถรวมกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาลได้

แผนสืบทอดอำนาจโดยการเลือกตั้งแม้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ จาก 2540 เป็น 2550 ก็ยังไม่บรรลุ จึงเกิดการ…เสียของ…

แต่กลุ่มอำนาจเก่าก็ยังไม่ยอมแพ้ ดำเนินการแผนโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป

การปะทะยก 2 จึงเกิดขึ้นเมื่อนายกฯ สมัคร สุนทรเวช เข้าบริหารราชการได้ไม่กี่เดือน แต่ครั้งนี้เริ่มด้วยม็อบและจบด้วยตุลาการภิวัฒน์

เหตุการณ์ผ่านมา 9 ปี คนที่อายุ 20 กว่าตอนนี้ ในอดีตอาจจะเป็นแค่เด็กอายุ 10 ขวบ ถ้าไม่สนใจการเมืองก็อาจจะจำอะไรไม่ได้

วันนี้พอมาฟังข่าวเรื่องมีการยึดสนามบินมีการฟ้องแพ่งให้แกนนำจ่าย 522 ล้านอาจจะยังงงๆ

แม้คนรุ่นเก่าที่พอรู้เรื่องอาจมีความเห็นไม่เหมือนกันเพราะแกนนำ 13 คนถูกเรียกชดใช้เงิน 522 ล้านไม่ใช่เรื่องเล็ก เมื่อรวมดอกเบี้ย 9 ปี คงประมาณ 900 ล้าน

แม้เฉลี่ยกันแล้ว ก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนธรรมดาที่จะหาเงินมาชดใช้

บางคนก็สงสัยว่าความเสียหายมีมากน้อยเท่าไรทำไมชดใช้ตั้ง 522 ล้าน หรือบางคนอาจคิดว่าทำไมแค่ 522 ล้าน

ลองทบทวนดูเหตุการณ์และท่านจะสรุปได้ว่าความผิดพลาดคืออะไร? แล้วคุ้มกับเป้าหมายทางการเมืองหรือไม่? ผลกระทบที่มีต่อคนอื่นเป็นอย่างไร? มีความยุติธรรมหรือไม่?

 

ปี 2551
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ชุมนุมยืดเยื้อ 6 เดือนกว่า

เริ่มชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่สะพานมัฆวาน ราชดำเนิน ปิดท้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิ

พอถึงมิถุนายน 2551 ก็มีการชุมนุมแบบดาวกระจาย ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ สถานทูตอังกฤษ ไปเซ็นทรัลเวิลด์ราชประสงค์

ไปชุมนุมหน้ากระทรวงการต่างประเทศเพื่อขับไล่ นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณีข้อพิพาทเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ไป กกต. ไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สิงหาคม พ.ศ.2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ยืดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย มีการใช้อาวุธปืนสั้นในครั้งนี้ด้วย

 

ยึดทำเนียบ

26 สิงหาคม ยึดทำเนียบรัฐบาล และใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุม

ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเข้าทำงานภายในทำเนียบรัฐบาลได้ ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ สมัคร จนจบสมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แม้ศาลแพ่งได้มีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ รื้อถอนเวทีปราศรัยและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดถนนทุกช่องการจราจร

แต่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว

ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมต่อไปจนกระทั่งประกาศยุติการชุมนุม

 

ปิดล้อมสภา

9กันยายน นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ถูกปลดจากนายกฯ ข้อหาสอนทำกับข้าวออกโทรทัศน์ โดยศาลรัฐธรรมนูญ

17 กันยายน สภาเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ แทน

6 ตุลาคม พันธมิตรฯ ขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังหน้าอาคารรัฐสภา ทำการปิดล้อมเพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ วันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจจึงได้ระดมยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมอาคารรัฐสภา

จึงเกิดคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551

 

ยึดสนามบิน

24 พฤศจิกายน แกนนำขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลในเวลา 04.00 น. ซึ่งยังไม่เปิดเผยว่าจะให้ทำอะไรบ้าง

แต่ก่อนหน้านั้นได้มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง และเข้ายึดพื้นที่ของสนามบินเพื่อไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้สถานที่เป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้

25 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯ ประมาณ 1,000 คน เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเจ้าหน้าที่ถอย ผู้ชุมนุมได้ทยอยเดินทางเข้ามาสมทบมากขึ้นประมาณ 20,000 คน ทำให้การเดินทางไปสนามบินทำไม่ได้

ส่วนสายการบินที่มีกำหนดลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องไปลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภาแทน

คืนวันที่ 25 จึงมีการย้ายผู้โดยสารออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด

ภายในจึงมีกลุ่มพันธมิตรฯ และผู้โดยสารชาวมุสลิมกว่า 400 คนที่รอเดินทางไปแสวงบุญนครเมกกะที่ตกค้างอยู่

26 พฤศจิกายน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศหยุดทำการบิน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน การชุมนุมยังมีต่อตลอด 8 วัน แบบที่นำมาล้อเลียนกันว่า… อาหารดี ดนตรีไพเราะ

2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุมทุกจุด ซึ่งใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 193 วัน

 

ผลกระทบ

รัฐบาลของประเทศต่างๆ เช่น จีน, ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ต่างได้เตือนพลเมืองของตนให้หลีกเลี่ยงที่จะเดินทางมายังประเทศไทย

สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ ออกไปจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างสงบ และกล่าวว่า ผลกระทบจากการชุมนุมประท้วง ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างถึงกว่า 100,000 คน กำลังทำให้ภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก

นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายของผู้ประกอบการการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้อีกประมาณกว่า 25,000 ล้านบาท และยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนปฏิกิริยาของตลาดหุ้นไทยนั้น พบว่า ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลง ลดลงมากกว่าตลาดสหรัฐประมาณ 20% ในขณะที่ Standard & Poor”s (S&P) และ Fitch ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลง

 

การดำเนินคดี

กลุ่มพันธมิตรฯ มีคดีความที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในระหว่างการชุมนุมรวมทั้งสิ้น 36 คดี แต่ส่วนใหญ่สั่งเลื่อนฟ้อง ใช้เวลาทำสำนวนถึง 5-7 ปี กลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ ยังไม่มีใครที่ต้องติดคุกในคดีการเมือง

กรณีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล จำคุก 6 แกนนำ 8 เดือน ตอนนี้รอฎีกา

คดีอาญา การบุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ลงโทษจำคุกนักรบศรีวิชัยของกลุ่มพันธมิตรฯ 6 เดือน-2 ปี 6 เดือน ปรับสูงสุด 1,500 บาท

คดีจี้รถเมล์ให้ไปยังรัฐสภา ศาลอาญามีคำสั่งจำคุก 5 การ์ดพันธมิตรฯ 2 ปี

คดีอาญา การบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

คดีการบุกรุกท่าอากาศยานดอนเมือง โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รุ่น 1 และ 2 รวมทั้งผู้ประกาศเอเอสทีวีที่ร่วมดำเนินรายการเวทีปราศรัย รวม 27 คน

ส่วนคดีบุกรุกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รุ่น 1 และ 2 รวมทั้งผู้ประกาศเอเอสทีวีที่ร่วมดำเนินรายการเวทีปราศรัย รวม 25 คน ใน 7 ข้อหา

การฟ้อง เลื่อนมาเกือบยี่สิบครั้ง และยังเลื่อนไปเรื่อยๆ แต่ผู้ต้องหาพอทนได้ เพราะอยู่นอกคุก

 

คดีแพ่ง
การบุกยึดท่าอากาศยานดอนเมือง
และสุวรรณภูมิ

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2551 ศาลแพ่งได้ตัดสินให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายทั้งกายภาพและทางพาณิชย์ 522,160,947.31 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าทนายความโจทก์ 8 หมื่นบาท นับจากวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2551 คดีจบลงในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2560 เนื่องจากศาลฎีกายกคำร้อง ส่งผลให้แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องชดใช้เงินเฉลี่ยคนละ 40,166,226.72 ล้านบาท

ยังมีคดีแพ่งตามมาอีก

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก รวม 14 คน กรณีนำกลุ่มพันธมิตรฯ ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง โดยเรียกค่าเสียหายจำนวน 103,483,141.80 บาท

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2552 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 36 คน ในข้อหาความผิดละเมิด เรียกค่าเสียหาย 575,229,059 บาท

นอกจากนี้ อาจมีผู้เสียหายรอฟ้องจากสายการบินอื่นๆ จากบริษัทที่ธุรกิจเสียหาย หลังจากดูผลคดีอาญา

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

26 พฤศจิกายน 2551 ผบ.ทบ. ไม่ทำรัฐประหาร แต่มีการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ระดับอธิบดี อธิการบดีและผู้นำภาคธุรกิจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เสนอให้นายกฯ ยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่

2 พฤษภาคม 2551 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรคชาติไทย และกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศชัยชนะและยุติการชุมนุม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น ทั้งใต้ดิน บนดิน ต้องไปฟังคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคต่างๆ ว่าโดนอะไรบ้าง

หลังการยุบพรรค ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ยกเว้น ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน…ไปสมัครสมาชิกพรรคภูมิใจไทยและกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลที่เปลี่ยนขั้วในค่ายทหาร เมื่อไปโหวตในสภาก็ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

ประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์ได้ประโยชน์โดยตรง สมัยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวประกอบ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังไม่มีใครรู้จัก พันธมิตรฯ จะทวงบุญคุณ ต้องทวงที่อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์และ ปชป.