เมืองใหม่คณะราษฎรในย่านเก่ากรุงเทพฯ (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมืองใหม่คณะราษฎรในย่านเก่ากรุงเทพฯ (1)

 

สําหรับคนที่ชอบศึกษาแผนที่เก่าในกรุงเทพฯ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475” ต่อไปจะเรียก “แผนที่ 2475” และ “แผนที่กรุงเทพฯ ทศวรรษ 2490” ต่อไปจะเรียก “แผนที่ 2490”

แผนที่ทั้งสองชุดถูกจัดทำขึ้นด้วยมาตราส่วน 1/5000 ซึ่งถือว่าเป็นมาตราส่วนที่ใหญ่มากจนทำให้มองเห็นรายละเอียดองค์ประกอบของอาคารในแผนที่ได้อย่างค่อนข้างชัดเจน

อีกทั้งยังเป็นแผนที่ที่พิมพ์ด้วยสี จึงช่วยให้คนดูเข้าใจลักษณะกายภาพของเนื้อเมืองได้ดีขึ้น อ่านง่ายว่าตรงไหนคือน้ำ ตรงไหนเป็นพื้นที่สีเขียว อาคารไหนก่อสร้างด้วยไม้ และอาคารไหนสร้างด้วยวัสดุถาวร เช่น อิฐ หรือคอนกรีต เป็นต้น

แผนที่ 2475 มีทั้งหมด 95 ระวาง เกิดขึ้นจากการสำรวจรังวัดในช่วงระหว่าง พ.ศ.2464-2469 และจัดพิมพ์ขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.2473-2475 (ดูรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับแผนที่ชุดนี้ในหนังสือ “พินิจพระนคร 2475-2545” จัดทำโดย กรมแผนที่ทหาร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ในขณะที่ แผนที่ 2490 เท่าที่ทราบ ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังว่ามีทั้งหมดกี่ระวาง (ต้องขออภัยล่วงหน้า หากข้อมูลไม่อัพเดต) เท่าที่ส่วนตัวเคยเห็นมีอยู่ 6 ระวางในพื้นที่ที่เป็นย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์และฝั่งธนบุรีบางส่วน ซึ่งในความเป็นจริงควรจะมีมากกว่านี้ เพียงแต่ผมเองยังไม่เคยเห็น โดยแผนที่ชุดนี้จัดทำขึ้นจากแผนที่ 2475 เพียงแต่มีการสำรวจรังวัดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ๆ และแก้ไขรายละเอียดทับลงไปในแผนที่ 2475 ซึ่งการปรับปรุงแผนที่ชุดนี้ได้มีการสำรวจรังวัดในช่วงราว พ.ศ.2495-2496

แผนที่ทั้งสองชุดนี้ถูกศึกษาและใช้อ้างอิงมากในการศึกษาเรื่องพัฒนาการของเมืองในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (ราวช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 25) อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่เนื้อเมืองกรุงเทพฯ จะถูกเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลอีกครั้ง จากการเข้ามาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ภายใต้โมเดลการพัฒนาเมืองแบบอเมริกันเต็มรูปแบบ หลัง พ.ศ.2500

ผมเองใช้แผนที่สองชุดนี้บ่อยครั้งในงานศึกษาหลายชิ้นในรอบหลายปีก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสมานั่งอ่านแผนที่สองชุดนี้สลับกันไปมาอย่างละเอียดอีกครั้ง และในการอ่านครั้งนี้ทำให้มองเห็นนัยยะสำคัญบางอย่างที่แผนที่สองชุดนี้ได้บันทึกเอาไว้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้สังเกต

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475 ที่มา : กรมแผนที่ทหาร

โดยสรุป แผนที่ 2475 แม้ชื่อจะบอกว่า 2475 แต่ลักษณะทางกายภาพที่ถูกบันทึกเอาไว้ในแผนที่ชุดนี้คือการบอกเล่าสภาพเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเกิดจากการสำรวจรังวัดในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 6 มาสู่รัชกาลที่ 7

หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ แผนที่ 2475 คือแผนที่เมืองสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในขณะที่ แผนที่ 2490 แม้ชื่อจะบอกว่า 2490 และทำการสำรวจรังวัดในช่วงกลางทศวรรษ 2490 แต่ลักษณะทางกายภาพที่ถูกบันทึกเอาไว้เกือบทั้งหมด คือ การบอกเล่าสภาพเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงยุคคณะราษฎร (พ.ศ.2475-2490) หรือพูดให้ชัดก็คือ แผนที่ 2490 คือแผนที่เมืองคณะราษฎร

ดังนั้น เมื่อเรานำแผนที่สองชุดมามองเทียบกัน ก็จะทำให้เราเห็นว่า ในช่วง 15 ปีของคณะราษฎร ได้ทำการปรับเปลี่ยนเนื้อเมืองกรุงเทพฯ ในส่วนไหนไปอย่างไรบ้าง

ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏให้เห็นจากเอกสารประเภทลายลักษณ์อักษรหรือรูปถ่ายเก่า

แผนที่กรุงเทพฯ ทศวรรษ 2490 ที่มา : กรมแผนที่ทหาร

ตัวอย่างเช่น เป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ลงไปบนถนนราชดำเนินกลาง ตัดต้นมะฮอกกานีที่ปลูกไว้เดิมลง ขยายถนน และสร้างกลุ่มอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ไว้สองข้างถนน พร้อมทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นรายละเอียดในภาพใหญ่ของโครงการหาอ่านได้ทั่วไป

แต่การมองเมกะโปรเจ็กต์นี้ผ่านแผนที่ ช่วยทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในระดับรายละเอียด มองเห็นการหายไปของกลุ่มอาคาร “ตึกดิน” ที่เคยเป็นที่ตั้งเดิมของ โรงเรียนสตรีวิทยา ก่อนที่จะย้ายข้ามฟากมาอีกฝั่งของถนนราชดำเนิน ว่ากินอาณาบริเวณเท่าไรและมีหน้าตาอย่างไร

มองเห็นว่า มีอาคารอะไรบ้างที่ถูกรื้อถอนไป

รวมไปถึงมองเห็นลักษณะกายภาพบริเวณด้านหลังของอาคารพาณิชย์ถนนราชดำเนินกลาง ว่ามีสภาพเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างจากการเกิดขึ้นของเมกะโปรเจ็กต์ชิ้นสำคัญนี้ของคณะราษฎร

 

นอกจากนี้ การมองแผนที่สองชุดนี้คู่กัน ทำให้เราเห็นการเกิดขึ้นของ “พื้นที่สาธารณะ” ภายใต้ระบอบใหม่ ที่เข้ามาแทนที่ “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของสนามหลวง, สวนสัตว์ดุสิต, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สวนสราญรมย์, สนามมวยราชดำเนิน ฯลฯ

รวมไปถึงมองเห็นรายละเอียดของโครงการอีกหลายอย่างของคณะราษฎรในระดับแผนผัง ซึ่งข้อมูลตรงนี้หาไม่ได้จากหลักฐานประเภทอื่น เช่น ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากวัดพระแก้ววังหน้า ภายในพื้นที่วังหน้า ที่เปลี่ยนมาเป็น โรงเรียนศิลปากรแผนกดุริยางค์ หรือการเปลี่ยนพื้นที่ทหารจากกรมทหารบกราบที่ 2 และคลังแสงทหารบก มาเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย “หลักการศึกษา” อันเป็นหนึ่งใน “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร

หรือมองเห็นการเปลี่ยนผ่านของการวางผังและออกแบบพื้นที่ใช้สอยของกลุ่มอาคารศาลยุติธรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เปลี่ยนมาสู่กลุ่มอาคารศาลยุติธรรมรูปแบบใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล เมื่อ พ.ศ.2481 เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย “หลักเอกราช” อันเป็นหลักข้อแรกของ “หลักหกประการ”

 

ที่สำคัญที่สุดคือ การเทียบแผนที่สองชุดจะช่วยทำให้เราทราบได้ว่ามีอาคารอะไรอีกบ้างที่ถูกสร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรมคณะราษฎร (รวมถึงศิลปะคณะราษฎรด้วย) เพราะการค้นหาสถาปัตยกรรมยุคนี้ที่ผ่านมา ทำได้เพียงการสืบค้นจากเอกสารลายลักษณ์และภาพถ่ายเก่า ซึ่งมักจะให้ข้อมูลเพียงแค่อาคารที่มีความสำคัญเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คงมีอาคารที่มิได้สำคัญมากนัก แต่ถูกสร้างขึ้นอย่างสอดคล้องกับอุดมการณ์ใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 อีกพอสมควร

ในปัจจุบัน แม้ว่ามีอาคารยุคคณะราษฎรบางหลังหลงเหลือมาจนปัจจุบัน แต่ด้วยรูปร่างหน้าตาอาคารที่บางครั้งแยกแยะยากว่าถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยไหนกันแน่ เพราะรูปแบบ สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หรือ Art Deco ที่เป็นรูปแบบหลักของสถาปัตยกรรมคณะราษฎรนั้น มีบางส่วนที่ถูกสร้างขึ้นก่อน 2475 และหลายหลังก็ยังถูกสร้างขึ้นหลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจไปแล้ว

ซึ่งในทางประวัติศาสตร์เราไม่อาจนิยามอาคารเหล่านี้ได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ทั้งหมดนี้ทำให้ลำบากในการนิยามว่าอาคารไหนควรเรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎรบ้าง แต่แผนที่สองชุดนี้จะช่วยให้การนิยามง่ายขึ้น แม้จะไม่สมบูรณ์ 100%

ผมเคยเขียนไปแล้วในคอลัมน์นี้ว่า การศึกษาเรื่องเมืองยุคคณะราษฎรในพื้นที่เมืองเก่ากรุงเทพฯ นั้นยังมีช่องว่างที่ยังรอการศึกษาอยู่อีกมาก แม้มีงานศึกษาพอสมควรตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่เกือบทั้งหมดเน้นหนักไปที่เมืองใหม่ลพบุรี สระบุรี และเพชรบูรณ์ ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือไม่ก็เป็นการศึกษาในประเด็นเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการเทศบาลเมืองยุคหลัง 2475 เป็นหลัก

ช่องว่างทางวิชาการดังกล่าว ผมอยากเสนอว่า อาจถูกลดให้แคบลงได้จากการอ่านแผนที่ 2475 และแผนที่ 2490 ควบคู่กัน

ซึ่งในสัปดาห์ต่อๆ ไป ผมจะทดลองนำเสนอกรณีตัวอย่างต่างๆ จากการเปรียบเทียบแผนที่สองชุดนี้ ว่าจะช่วยให้เราเข้าใจเมืองยุคคณะราษฎรได้มากขึ้นอย่างไรบ้าง

 

แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่า แผนที่ 2490 เท่าที่มีหลักฐานอยู่ มีเพียงแค่บริเวณที่เป็นเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์และบางส่วนของฝั่งธนบุรีเท่านั้น

โดยเหนือสุดจะมีไปถึงประมาณสนามม้านางเลิ้ง

ใต้สุดประมาณสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี

ตะวันตกสุดมีข้อมูลไปถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย

และฝั่งตะวันออกสุด ไปได้ถึงประมาณสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การอ่านเทียบเคียงกันคงจำกัดได้แค่เพียงบริเวณเมืองเก่าเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม แม้พื้นที่จะไม่ได้กินอาณาบริเวณกว้างขวางมากนัก แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ ก็น่าเชื่อว่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจการออกแบบเมืองและโครงการสาธารณะตามอุดมการณ์ใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรในพื้นที่เมืองเก่ากรุงเทพฯ ได้อย่างเข้าใจดีขึ้นไม่มากก็น้อย