มุกดา สุวรรณชาติ : วิถีแห่งอำนาจภายใต้สถานการณ์ใหม่ (1)

มุกดา สุวรรณชาติ
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

สถานการณ์เดิม
มีประชาธิปไตย ทุกคนมีโอกาสสร้างตัวเอง
ความขัดแย้งทางการเมืองแก้ไขได้

มีเพื่อนที่เป็นคนค้าขายมาปรึกษาว่า วันนี้การค้าตกต่ำลงมาก ลดลงครึ่งหนึ่ง จะไปไม่ไหวแล้ว คำถามของเขาคือ มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีเลือกตั้ง แล้วจะเป็นอย่างไร?

การทำมาค้าขายของครอบครัวเขา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เติบโตขึ้น ขยายมาเรื่อยๆ ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีนโยบายให้สถาบันการเงินนำเงินต่างประเทศมาให้ลูกค้ากู้ บริษัทเขาก็กู้ด้วย ดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารของไทย ผ่านรัฐบาล คุณบรรหาร ศิลปอาชา มาถึงรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ฟองสบู่แตก เขาไม่ได้กู้เงินมาเก็งกำไร แต่มาทำการผลิตสินค้า จึงกระทบเล็กน้อย จากการลดค่าเงินบาท การค้าตกต่ำอยู่ 2-3 ปี ก็ค่อยๆ ฟื้นตัว

ปี 2540 เศรษฐกิจฟุบไประยะหนึ่ง พอมาถึงยุค ทักษิณ ชินวัตร ก็ฟื้นขึ้นมาอีก แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 ก็ไม่รุ่งเรืองเหมือนเก่า พออยู่ได้ แต่ที่ลำบากสุดคือใน 2-3 ปีนี้ ความซบเซาเป็นไปเกือบทุกวงการ

เราจึงคุยกัน และลองวิเคราะห์ย้อนหลังไปพบว่า

1. ช่วงปี 2523-2530 เป็นการประนีประนอม ระหว่างอำมาตยาธิปไตย และประชาธิปไตย ทำให้นักการเมือง ทหาร ข้าราชการ และชนชั้นสูงอื่นๆ ยอมรับประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้บทเรียนสงครามกองโจร กับ พคท. ความหวาดระแวงจากสถานการณ์สงครามอินโดจีนที่เพิ่งสงบ แต่มีการปะทะทางทหาร ระหว่างจีนและเวียดนาม และสงครามชิงอำนาจในกัมพูชา

ช่วงนั้นเราจึงได้ พลเอกเปรม เป็นนายกฯ โดยไม่มีพรรคของตัวเอง แต่ใช้ ส.ว. และพรรคการเมืองอื่นสนับสนุน รัฐบาลผสมหลายพรรค ที่มีนายกฯ เป็นทหารแต่ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร แต่มาจากการชิงอำนาจในรัฐสภา อยู่มานานถึง 8 ปี 5 เดือนแล้วค่อยๆ ขยับมาเป็นประชาธิปไตย

2. ช่วงเวลาทองของประชาธิปไตย 2531-2549 เริ่มจากยุคนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ พอประชาชนขยับจะเงยหน้าอ้าปากก็เกิดการรัฐประหารของคณะ รสช. ซึ่งยึดอำนาจอยู่ได้ปีเดียวก็จัดการร่างรัฐธรรมนูญและมีเลือกตั้ง แต่ประชาชนต้องการให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลของ พลเอกสุจินดา คราประยูร จึงถูกโค่นล้มลงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และหลังจากนั้นกระแสประชาธิปไตยก็พัดแรงขึ้นมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายรัฐบาลตั้งแต่นายกฯ ชวน หลีกภัย นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แล้วก็กลับมาเป็น ชวน หลีกภัย อีกครั้ง

และเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 ปรากฏว่าได้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำนโยบายหาเสียงให้เป็นจริง เป็นการยืนยันว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพ นโยบายรัฐ ทำให้ชาวบ้านได้กินได้อยู่สบายขึ้น สร้างฐานะได้

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

การรับรู้ทางการเมืองเชิงเปรียบเทียบของประชาชน

การรัฐประหารของคณะ รสช. ในปี 2534 เป็นแค่กระตุ้นให้ประชาชนไม่พอใจ จนเกิดพฤษภาทมิฬ มีการแก้รัฐธรรมนูญ ในที่สุด ก็ร่างใหม่ในแบบค่อนข้างสมบูรณ์ จึงมีรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ การรัฐประหารจึงหายไปยาวนาน

ชาวบ้านรับรู้ว่า คนธรรมดา พ่อค้า สามารถมาลงสนามการเมือง และเป็นนายกฯ ได้ การเมืองท้องถิ่นเป็นเหมือนสนามฝึก และบันไดให้ไต่ขึ้นสู่ระดับชาติ ชาวบ้านธรรมดาได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ การลงทุน ฯลฯ

ดูเหมือนคนรุ่นใหม่จะลืมไปแล้วว่าแรงกดดันที่ได้รับจากคณะรัฐประหารเป็นอย่างไร เพราะช่วงเวลาของคณะรัฐประหาร 2534 เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากเพียงหนึ่งปีแถมยังมีนายกฯ ที่เป็นพลเรือนคือ นายอานันท์ ปันยารชุน เด็กที่เติบโตมาหลัง 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเกิดพฤษภาทมิฬ 2535 จะมีอายุอย่างมากเพียง 15 ปี การรัฐประหาร 2549 พวกเขาจะอายุอยู่ระหว่าง 30 ถึง 40 ปี

คนอายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสแรงกดดันจากเผด็จการในยุคสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งยาวนานถึง 16 ปี และได้ผ่านการต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงมีความเข้าใจลึกซึ้งกว่า จึงได้เห็นการใช้นโยบาย 66/23 ของ พลเอกเปรม และ พลเอกชวลิต ทำให้ประเทศหลุดจากหายนะมาได้ และได้แรงกระตุ้นในการทำมาค้าขาย จากปี 2530 ถึง 2549 จากนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยคนจนของรัฐบาลเลือกตั้ง

คนค้าขายรุ่นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วง 2531-2549 เติบโต สร้างฐานะได้มากมาย นี่เป็นช่วงที่คนชั้นล่าง และชั้นกลางได้ฟื้นตัวขึ้น มีสวัสดิการ จาก 30 บาทรักษาทุกโรค จากนโยบายประกันสังคม รัฐมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม เด็กได้เรียนฟรี ฯลฯ เมื่อสังคมมีกำลังซื้อเพิ่ม การผลิตก็เพิ่ม ธุรกิจต่างๆ ก็เติบโต

เพื่อนคนนี้สรุปว่า ยอดขายที่เคยทำได้สูงสุด คือเดือนสิงหาคม 2549 ก่อนรัฐประหาร 1 เดือน และขณะนี้ผ่านไป 10 ปีแล้วก็ยังไม่เคยทำได้ถึงขนาดนั้นอีก

คำถามคือ ทำไมต้องมีรัฐประหาร กันยายน 2549… แต่ไม่เคยมีคำตอบจาก พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

คำถามที่สองคือ ทำไมหลังรัฐประหารแล้ว มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีเลือกตั้ง ก็ยังไม่จบ ทำไมไม่เหมือนกับการรัฐประหารของ รสช. ปี 2534

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

การรัฐประหาร 2549
ได้สร้างสถานการณ์ใหม่ชี้ว่าอำนาจรัฐไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ความขัดแย้งยังยืดเยื้อยาวนาน

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ให้เห็นดังนี้ คือระบอบประชาธิปไตยที่ใช้ไม่สามารถดำเนินการเป็นแบบสากลได้แม้จะมีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ มี ส.ส. มี ส.ว. มีระบบรัฐสภา มีรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงอํานาจอธิปไตยของประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจผ่านตัวแทนที่เลือกตั้งมาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงถูกล้ม โดยตุลาการภิวัฒน์หรือการรัฐประหาร

ตัวเลขจากการหย่อนบัตร คือความนิยม ไม่ได้กำหนดพลังของอำนาจ การได้รับเสียงเลือกตั้งมากน้อยจึงยังไม่ใช่การชี้ขาดชัยชนะทางการเมืองสำหรับประเทศไทย

เพราะถ้าจะมองจำนวนคะแนนเลือกตั้ง จะเห็นว่าอำนาจไม่ได้แปรผันตามคะแนน

ปี 2548 การเลือกตั้งครั้งที่ 2 หลังจากเป็นรัฐบาลมาแล้วครบ 4 ปีทั้งผลงานชื่อเสียงมีอำนาจรัฐอยู่ในมือทำให้พรรคไทยรักไทยได้เสียงสนับสนุนถึง 19 ล้านเสียงนั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศัตรูทางการเมืองขี้เกียจคิดจะใช้วิธีทางการเมืองโค่นล้ม ที่คิดได้ก็คือใช้ม็อบและใช้กำลังรัฐประหาร

การเลือกตั้ง 2551 ก็กลับมาชนะอีกได้เสียง 12.32 ล้าน ได้รัฐบาลพรรคพลังประชาชน หลายคนเข้าใจว่านั่นเป็นชัยชนะ แต่เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ถึงปี ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง ก็จัดการโค่นล้มรัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยตุลาการภิวัฒน์ในปี 2551

2554 พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากเกินครึ่ง ได้ถึง 15 ล้านเสียง ได้นายกฯ หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ยังไร้อำนาจ ปกครองได้เพียงปีกว่าก็มีชุมนุมต่อต้านและก็ถูกโค่นล้มในที่สุด แต่เมื่อใช้วิธีการปลด ถอดถอนทางกฎหมาย แล้วไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้ สุดท้ายก็ต้องใช้การรัฐประหารในปี 2557

สรุปว่า 19 ล้านเสียง 12 ล้านเสียง 15 ล้านเสียง ไม่มีความหมาย

AFP PHOTO / MIKE CLARKE
AFP PHOTO / MIKE CLARKE

ประชาธิปไตย แบบสากล
ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วๆ นี้

เพราะเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น

ตามรัฐธรรมนูญ 2540 กลุ่มอำนาจเก่าที่เคยอาศัยโครงสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่มีเวทีให้ยืน

ผลการเลือกตั้ง ส.ว. 200 คนจากทั่วประเทศ ในปี 2543 และปี 2549 จะเห็นว่ามี ส.ว. จากข้าราชการเก่า ตัวแทนธุรกิจและคนชั้นสูง น้อยมาก ถ้าปล่อยให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ ก็เหมือนกับเป็นการเปลี่ยนแปลงชนชั้นปกครองเกือบทั้งหมด

ดังนั้น อำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติจะหายไป อำนาจฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบและชี้ถูกผิด เพราะ ส.ว. และผู้นำ ส.ส. จะเป็นผู้กำหนด หัวหน้าขององค์กรอิสระ ร่วมกับผู้นำฝ่ายศาล การเลือก ส.ว. ครั้งที่ 2 จึงทำได้แค่ 4 เดือนก็ถูกรัฐประหาร และจากนั้น ส.ว. จากการเลือกตั้งก็ถูกลดจำนวนลง สุดท้ายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ให้สิทธิ์ประชาชนได้เลือกอีกแล้ว

คนนอกมองความขัดแย้งไทยอย่างไร? ดูจากสัมภาษณ์และบทความของ ลี กวน ยิว อดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญของสิงคโปร์ที่เสียชีวิตไปแล้วในหนังสือ One Man”s View of the World ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2556 (ตัดตอนมาให้อ่านบางส่วน จากประชาไท)

…การเข้าสู่อำนาจของ ทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนการเมืองไทยไปตลอดกาล ก่อนที่เขาจะขึ้นสู่อำนาจนั้น ชนชั้นปกครองเน้นให้ผลประโยชน์ต่อเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ทักษิณทำเป็นการก่อผลกระทบต่อสถานะทางอำนาจแบบเดิม โดยการนำทรัพยากรไปให้กับคนที่ยากจนของประเทศ ที่เคยถูกกีดกันมาก่อนโดยชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ทักษิณเป็นเครื่องหมายของการเมืองแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นที่ทำให้เกษตรกรในภาคเหนือและภาคอีสานได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งที่ทักษิณทำเป็นแค่การปลุกประชาชนให้ตื่นรู้ว่ามีช่องว่างนี้อยู่ ให้เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมจากช่องว่างนี้ และใช้นโยบายเพื่อแก้ไขถมช่องว่างดังกล่าว ต่อให้ทักษิณไม่ทำ ผมก็เชื่อว่าใครสักคนก็จะคิดได้ แล้วจะทำแบบเดียวกัน…

…สำหรับศัตรูของทักษิณแล้วนี่ถือเป็นการพลิกโฉมประเทศแบบหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาไม่ยอมปล่อยให้ทักษิณรอดไปได้ พวกเขาเรียกทักษิณว่าเป็นพวกประชานิยมและอ้างว่านโยบายของเขาจะทำให้รัฐล้มละลาย…

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ไม่สนใจคำวิจารณ์เหล่านี้และยังคงเลือกเขากลับมาอีกในปี 2548 กลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เริ่มทนไม่ไหว ทำให้เขาถูกรัฐประหารโดยกองทัพในปี 2549 ในที่สุดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองหลวงของไทยก็ประสบแต่ความวุ่นวาย…

…ไม่มีทางอีกแล้วที่ประเทศไทยจะกลับไปสู่การเมืองแบบเก่าในยุคก่อนทักษิณที่ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ผูกขาดอำนาจไว้กับตนเอง ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปตามทางที่ทักษิณเคยนำทางมาก่อนหน้านี้

สถานการณ์ใหม่ล่าสุดจะเป็นอย่างไร?

กลุ่มที่ชิงอำนาจจะทำอย่างไร?

และชาวบ้านจะเจออะไร?

อ่านตอน 2