หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๓๑)/บทความพิเศษ ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ

ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๓๑)

 

วันหนึ่งฉันหยิบหนังสือของกิมย้งขึ้นมาอ่านใหม่หมด นิยายเรื่องยาวของเขามี ๑๒ เรื่อง

การกลับมาอ่านครั้งนี้ พบว่ามันเหลวไหลเหลือเกิน

แต่ข้อดีของเขาก็มี เขาเป็นนักเล่าเรื่องตัวยง เหมือนชายชรา นักเล่านิทาน ที่ไปไหนมาไหนมีคนรุมล้อม ฟังเขาเล่านิทาน ซึ่งพลั่งพรูหลั่งไหลดั่งสายน้ำ บางครั้งก็ไหลเชี่ยวกรากดั่งแม่น้ำฮวงโหของจีน ไหลตรงแน่วออกสู่ทะเล

บางครั้งเขาตัน หรือไปไม่ถูก ก็อาศัยว่ากล้าคิด กล้าโม้ สรรหาความเหลวไหลทั้งมวลมา นำพาต่อไป ออกสู่ช่วงน้ำกว้าง

เรียกว่าพยายามดิ้นรนเอาตัวรอด

แต่หากถามฉันว่า สมควรให้รางวัลโนเบลแก่เขาไหม

ฉันยังคงเห็นว่า ควร

ทั้งนี้เพราะรางวัลโนเบลที่ให้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นการให้ผลงานที่คณะกรรมการถือว่าลึกซึ้ง หรือเป็นงานวรรณกรรมชั้นยอด แต่มันจริงแล้วหรือ เพราะมันมีแนวโน้มจะฝ่อตัว เหมือนดีเอ็นเอสายนี้ ยิ่งฝ่อตัวลง ยิ่งห่างไกลจากมนุษย์ นักเขียนมากมาย ฉันไม่รู้จัก ไม่เคยคิดจะอ่าน ไม่เสียดายที่ไม่ได้อ่าน มันเป็นสายน้ำเล็กที่แยกออก ไม่รู้ไปไหน

อาการแข็งตัวนี้เอง ที่เป็นอาการของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์

ทำไปทำมา งานวรรณกรรมที่ได้รางวัลโนเบล ก็ค่อยๆ เลือนหายไป หมดความหมาย

อาจเพราะมันกลายเป็นอะไรที่ลึกซึ้งเกินไป ซึ่งไม่ได้หมายว่าไม่ดี เพียงแต่ในสิบปี ไม่ควรให้งานแนวนี้ทั้งหมด น่าจะมีหนึ่งหรือสองปี มอบให้งานที่ป๊อปปูลาร์ แบบกิมย้ง หรือ เจ.เค. โรว์ลิง ผู้เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือจอร์จ มาร์ติน ที่เขียน Game of Thrones

วิธีการมอง คือมองว่าโนเบลไพรซ์ต้องการความไร้สาระบางประการ มาเป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ

เพราะพวกเขาสามคนนี้ สร้างปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งแก่วงการหนังสือ คุณของพวกเขาคือทำให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น ทำให้ธุรกิจการพิมพ์ก้าวหน้า ร้านค้ามีกำไร คุณข้อนี้ใหญ่หลวง เราจะวัดคุณค่าของงานจากไหน แสวงหาความลึกซึ้งอะไร หากงานนั้นออกมาไม่มีคนอ่าน หรือถึงมีก็น้อยนิด หากยึดแต่แนวนี้ ไม่ช้า งานวรรณกรรมก็จะดับไป ตายไปเหมือนไดโนเสาร์

หากงานแนวนี้ได้โนเบลไพรซ์ จะมีผลอย่างมหาศาล ทำให้งานไร้สาระเหล่านี้ มีสาระขึ้นมาทันที ผู้คนจะวิเคราะห์ลึกซึ้งขึ้น อ่านทวนใหม่ จากไม่มี ค้นหาจนมี และเพราะความไร้สาระที่กว้างใหญ่นี้เอง ที่สร้างสิ่งมีสาระได้ ไม่ช้าก็จะมีคนค้นพบ เหตุผลว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงมีอยู่

นี้คือความลึกซึ้งของ Being

 

ทุกสิบปี มอบให้นักเขียนที่สร้างแรงกระพือได้อย่างใหญ่หลวง สักหนึ่งหรือสองคนก็พอ เก็บที่เหลือให้งานแนวอื่น แบบนี้ดีเอ็นเอของโนเบลไพรซ์ก็จะแข็งแรง สมบูรณ์ สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลง มันมีผลต่อจิตใจของเด็กรุ่นใหม่

สิ่งที่น่ากลัวของดีเอ็นเอ คือมันจะฝ่อตัว จะเรียวเล็กลงไปเรื่อย มันคิดว่ามันลึกซึ้งขึ้น มันยอดเยี่ยมขึ้น แต่ทว่า ไม่อาจตอบคำถามว่า จริงแล้วหรือ เราเอาอะไรมาวัด ในเมื่อเรามองจากมุมเดียว คณะกรรมการเหล่านั้น อาจกลายเป็นคนแก่ที่อยู่ในหอคอยงาช้างเมื่อไหร่ไม่รู้

๑๐

ลองดูรายชื่อของคนที่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เลือกเอาเฉพาะสิบสองปีหลัง

2021 Abdulrazak Gunah

2020 Louise Gluck

2019 Peter Handke

2018 Olga Tokarczuk

2017 Kazuo Ishiguro

2016 Bob Dylan

2015 Svetlana Alexievich

2014 Patrick Modiano

2013 Alice Munro

2012 Mo Yan

2011 Tomas Transtromer

2010 Mario Vargas Llosa

เราจะเห็นถึงความห่างเหิน ความห่างไกล ของรางวัลนี้กับมนุษยชาติ เหมือนต่างคนต่างเดิน ไม่สนใจกันและกัน หากแต่นี้คือการเลือก ซึ่งแสดงว่า ที่จริงมันไม่จำเป็นต้องออกมาแบบนี้

๑๑

ที่

จริง ฉันไม่ได้คัดค้านทั้งหมด อยากให้เปลี่ยนสักสองสามรายชื่อข้างต้น ด้วยการเปลี่ยน Criteria ในการให้รางวัลนั้น อย่าวางตัวเป็นชนชั้นสูงลิบลับอย่างนั้นเลย

มองหาความเหลวไหลบ้าง

หรือมองหาสิ่งที่ดึงดูดใจมนุษย์ หนังสือใดทำให้คนนับร้อยล้านพันล้านอยากอ่านหนังสือ มันมีมนต์เสน่ห์อะไรหรือ มีฤทธิ์เดชอะไร สิ่งใดทำให้เด็กๆ ลืมกินลืมนอน อยากอ่านหนังสือ

๑๒

หากสังเกตรายชื่อข้างต้น มีคนแปลกปลอมหนึ่งคือ คือ Bob Dylan คล้ายหนึ่งว่าคณะกรรมการกำลังปรับตัว อย่างที่ฉันเสนอ แต่มันกลับให้ผลเป็นตรงข้าม

Criteria ของโนเบลไพรซ์ได้ถูกบิดจริง แต่แทนที่จะบิดมาหาหนังสือ กลับบิดไปหาเนื้อเพลง

คณะกรรมการคล้ายจะประกาศตัวว่า พวกเขากว้างใหญ่ยิ่งนัก แต่ทว่า มันกลับยิ่งตอกย้ำความคับแคบ

๑๓

หากเป็นอย่างนี้ วันหนึ่งคณะกรรมการโนเบลไพรซ์ อาจให้แก่คนทำโฆษณา คนที่สร้างสโลแกนได้สวยหรู สุดเท่ และบอกว่านี้คือความลึกซึ้ง หรือให้แก่งานคอนเซ็ปช่วล ที่ยิ่งไปไกลในโลกอนาคต เป็น SF ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเลว แต่ทว่า สิ่งที่ขาดหายไป คือหนังสือ

เหมือนหนึ่งคณะกรรมการหมดหวังกับตัวหนังสือเอง

 

๑๔

องสมมุติว่า รายชื่อของนักเขียนโนเบลไพรซ์สิบสองปีที่ผ่านมาคือ

2021 Abdulrazak Gunah

2020 จอร์จ มาร์ติน

2019 Peter Handke

2018 Olga Tokarczuk

2017 Kazuo Ishiguro

2016 Bob Dylan

2015 เจ เค โรว์ลิง

2014 Patrick Modiano

2013 Alice Munro

2012 กิมย้ง

2011 Tomas Transtromer

2010 Mario Vargas Llosa

สิ่งที่ฉันเห็นคือชีวิตชีวา ความสดใส มีการไหลเวียน

ดีเอ็นเอสายนี้ มีธาตุหายากบางตัว และมีธาตุหาง่ายอย่างเหลือเชื่อบางตัว แบบนี้จึงจะคาดเดาไม่ได้