ธงทอง จันทรางศุ | ไม่ตรงต่อเวลา

ธงทอง จันทรางศุ

ในบรรดาเพจทั้งหลายที่อยู่ใน Facebook เพจหนึ่งที่ผมสนใจติดตามอยู่สม่ำเสมอ คือเพจที่ใช้ชื่อว่า “มนุษย์กรุงเทพฯ”

เพราะเนื้อหาที่นำเสนอเป็นเรื่องราวของผู้คนหลากหลายชีวิตที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จะเรียกว่าเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกก็เห็นจะได้ โดยเป็นการพูดคุยกับมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ละครั้งคราวละหนึ่งคน ทุกครั้งที่เปิดอ่านก็จะได้รับความรู้ในแง่มุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน และพร้อมกันนั้นก็ได้ความคิดที่ไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกัน

ถ้าใครยังไม่เคยอ่านก็ขอเชิญชวนเข้าไปอ่านดูนะครับ

 

สองวันที่ผ่านมา ผู้เขียน “มนุษย์กรุงเทพฯ” มาแปลก เพราะไม่ได้สัมภาษณ์ใคร แต่บ่นพึมพำเรื่องการนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่า จำนวนไม่น้อยของผู้คนที่นัดสัมภาษณ์มักไม่ตรงต่อเวลา หลายคนล่าช้าไปเป็นชั่วโมง

และเมื่อมาช้าแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองบกพร่องแต่อย่างไร ดูประหนึ่งว่าการมาช้ากว่านัดหมายไปเป็นเวลามากมายถึงขนาดนั้นเป็นมาตรฐานปกติของคนกรุงเทพฯ ไม่มีอะไรต้องขอโทษขอโพยกัน

ผู้เขียน “มนุษย์กรุงเทพฯ” ยังได้สละเวลาไปถามคนโน้นคนนี้อีกมาก ว่าประเทศอื่นเขาเป็นอย่างนี้บ้างกันไหม คำตอบที่ได้รับคือเป็นโดยเฉพาะกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยนี่แหละ

คำถามจึงเกิดขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นกับคนไทยในเรื่องของการนัดหมายแล้วไม่ตรงต่อเวลา

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากเรื่องอะไร และเรื่องนี้สภาวิจัยแห่งชาติหรือมหาวิทยาลัยทั้งหลายก็อาจจะทำเป็นหัวข้องานวิจัยหรือหัวข้อมือ วิทยานิพนธ์ได้อีกมาก

แต่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางสังคม ผมอยากจะเสนอสมมุติฐานสักข้อหนึ่ง ให้พวกเราทั้งหลายได้ลองคิดพิจารณาครับ

ผมคิดว่าเมืองไทยของเราเป็นสังคมเกษตรกรรมมาช้านาน ในสังคมเกษตรกรรมแบบเรานั้นเวลาเป็นของที่ไม่ต้องเคร่งครัด ทุกอย่างไม่ต้องเป๊ะ ช้าไปสองชั่วโมงสามชั่วโมงก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร จึงไม่รู้จะรีบร้อนไปทำไม

ลองสังเกตดูวิธีนัดหมายของเราก็ได้ครับ เช่น พบกันก่อนเพลก่อนแล้วกัน หรือใกล้ๆ ค่ำอย่าลืมแวะมาที่บ้านนะ

วิธีบอกความยาวสั้นของเวลาเราก็มีความเฉพาะตัวของเรา เช่น เดินไปไม่ไกลหรอก ชั่วเคี้ยวหมากแหลกหรือชั่วหม้อข้าวเดือดก็เดินถึง

เรื่องที่เราจะเคร่งครัดต่อเวลามาก ผมนึกออกเพียงอย่างเดียวคือบรรดาเรื่องหรือกิจการที่ต้องมีฤกษ์ เช่น ทำพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ โหรจะกำหนดมาทีเดียวว่า ต้องยกเสาลงหลุมเวลาเก้านาฬิกาเก้านาที ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้ หลังนั้นก็ไม่ได้ หรืออย่างเก่งก็อาจให้เป็นช่วงเวลามาว่า ฤกษ์เอกตั้งแต่เวลาเท่านั้นจนถึงเวลาเท่านั้น แถมมีฤกษ์โทให้ด้วยนะครับ คือเป็นทางเลือกให้เลือกอีกแบบหนึ่งว่า อาจใช้เวลาประกอบพิธีตั้งแต่เวลาเท่านั้นถึงเวลาเท่านั้นก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าของงาน

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีเพื่อนนำหนังสือเก่ามามอบให้เป็นของขวัญวันเกิดผมเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ระลึกงานศพหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ผู้ทรงเป็นสถาปนิกออกแบบพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เมื่อราวปีพุทธศักราช 2504 ตอนแรกสร้างพระตำหนักโหรคำนวณพระฤกษ์เอกพระฤกษ์โทถวายแบบนี้เหมือนกัน

ในขณะที่บ้านเราเป็นสังคมเกษตรกรรมดังที่ว่า ประเทศที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมมาช้านานแล้วเขามีความจำเป็นเคร่งครัดต้องตรงต่อเวลามากกว่าเรา

ลองนึกดูสิครับว่า การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นจำเป็นต้องเริ่มงานพร้อมกันจบงานพร้อมกัน อธิบายง่ายๆ ว่า การประกอบสินค้าอะไรสักอย่างหนึ่ง ใช้ระบบสายพานที่วิ่งผ่านหน้าคนงานแผนกต่างๆ ช่วยกันประกอบสินค้านั้นขึ้นเป็นรูปร่าง ทันทีที่เดินสายพาน คนงานทุกแผนกต้องอยู่ประจำที่แล้ว ถ้าแหว่งหรือโหว่ไปเพียงคนใดคนหนึ่ง คนงานอีกร้อยคนที่อยู่ในสายการผลิตก็จะวุ่นวายไปหมด

การตรงต่อเวลาของสังคมอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากกว่าการตรงต่อเวลาของสังคมเกษตรกรรม

ซึ่งถ้าปลูกข้าวหรือปลูกมะม่วงช้ากว่าที่ตั้งใจไว้เดิมไปหนึ่งวัน โลกก็ยังไม่แตก

ข้อสันนิษฐานของผมอีกอย่างหนึ่งคืออุปกรณ์เครื่องใช้ในการบอกเวลา โลกตะวันตกพัฒนาไปเร็วกว่าเรามาก พูดง่ายๆ คือเขาคิดนาฬิกาได้ก่อนเรา แต่ก่อนแต่ไรมาเราไม่เคยมีเครื่องจักรกลที่บอกเวลาได้แม่นยำกว่าที่ใช้กันทั่วถึงและแพร่หลาย สำหรับชาวบ้านทั่วไปก็ดูพระอาทิตย์ดูพระจันทร์เป็นสำคัญ รู้แค่พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก หรือพระอาทิตย์อยู่ตรงหัวก็พอใช้การได้แล้ว

ผมเคยอ่านจดหมายเหตุโบราณ เวลามีการพระราชพิธีที่จะต้องใช้ฤกษ์เป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดเวลา จะมีชาววังแผนกหนึ่งที่เรียกชื่อแผนกว่า “ชาวนาฬิกา” เอานาฬิกามาตั้ง เพื่อคอยร้องบอกเวลาให้ตรงตามกำหนด

นั่นอาจจะแปลว่า นาฬิกาแบบฝรั่งที่บอกได้แม่นยำถึงชั่วโมงนาทีต่างๆ เป็นเรื่องที่มีเฉพาะวงจำกัด ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปไม่มีนาฬิกาหรอกครับ

ในอดีตทางราชการจึงต้องสงเคราะห์ให้ชาวบ้านรู้เวลา โดยใช้วิธีตีกลองบอกเวลาย่ำพระสุริย์ศรี หรือยิงปืนเวลาเที่ยง เพื่อให้รู้กันทั่วทั้งพระนครว่าเวลานี้คือเวลาเที่ยงตรงแล้ว ถ้าใครอยู่ไกลจากจุดที่ยิงปืนเที่ยงออกไปมาก ก็ถือว่าอยู่ห่างไกลความเจริญ เพราะไม่ได้ยินเสียงปืนบอกเวลา

เป็นพวกไกลปืนเที่ยง น่าสงสารมาก ฮา!

แม้แต่คำว่า “นาฬิกา” นี้ก็น่าสนใจ เพราะเชื่อมโยงไปถึง “นาฬิเก” ซึ่งเป็นชื่อเรียกมะพร้าวที่นำมาเจาะรูแล้ววางลงในขันหรืออ่างน้ำสำหรับประโยชน์เพื่อการบอกเวลาในสมัยโบราณ เช่นใช้ประโยชน์ในเวลาชกมวย ถ้ากะลามะพร้าวนาฬิเกจมน้ำมิดลงเมื่อไหร่ก็เป็นอันรู้ว่าได้เวลาครบยกแล้ว

ถ้าไม่รู้เวลาก็ต่อยกันไม่รู้จบ แบบนั้นเหนื่อยตายเลยครับ

ผมเข้าใจว่านาฬิกาแบบฝรั่งเพิ่งจะเข้ามาในเมืองไทยกว้างขวางขึ้นก็ราวรัชกาลที่สี่ รัชกาลที่ห้าแล้ว นาฬิกาติดฝาบ้านหรือนาฬิกาข้อมือจึงเป็นที่รู้จักของคนกว้างขวางขึ้น แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราเคร่งครัดต่อเวลานะครับ เราก็ยังทำตัวเป็นคนปลูกข้าวปลูกต้นมะม่วงอยู่เหมือนเดิม

เมื่อครั้งที่ผมเรียนหนังสืออยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคนบอกว่ามหาวิทยาลัยของเรามีเวลาเป็นของตัวเอง เรียกว่า CU Time หรือเวลาของจุฬาฯ เวลาที่ว่านี้จะช้ากว่าเวลาปกติประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง นั่นหมายความว่า ถ้าเวลานัดหมายกันเก้าโมง เราไปถึงที่นัดเกือบสิบโมงก็ยังถือว่ามาตรงต่อเวลา

นี่นัดกันแบบทำไร่ไถนามากครับ

ทุกวันนี้ธรรมเนียมนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะสำหรับผมเอง เวลาแต่ละนาทีแต่ละชั่วโมงมีค่ามาก ยิ่งถ้าคิดต่อไปว่า การนัดหมายแต่ละครั้งกับคนอื่นย่อมหมายความว่าคุณค่าของเวลาของแต่ละคนที่ร่วมนัดหมายเมื่อมาบวกรวมกันแล้วยิ่งมีคุณค่ามหาศาล

การมาแกร่วเพื่อรอให้คนมาตามนัด เป็นอะไรที่หงุดหงิดมาก และไม่เป็นผลดีเลยสำหรับทุกฝ่าย

การไปตามนัดตรงต่อเวลาจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เป็นทั้งการรักษาประโยชน์ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และอาจจะกล่าวว่าเป็นการให้เกียรติกับผู้ที่ร่วมนัดก็ได้

จริงอยู่ว่าบ้านเราอาจมีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้การนัดหมายต้องคลาดเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจราจร หรือฝนตกแล้วมีน้ำรอระบาย เรื่องนี้ผมพอเข้าใจได้อยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถในการบริหารจัดการ เช่น ถ้ารู้ว่าตำบลที่นัดหมายอยู่ในย่านที่การจราจรติดขัด เราก็ต้องเผื่อเวลาในการเดินทาง หรือวางระบบการเดินทางที่เหมาะสม เช่นใช้รถไฟฟ้ารถใต้ดินหรือเรียกมอเตอร์ไซค์แล้วซ้อนท้ายไป

ถ้าขลุกขลักขัดข้องจริงๆ ก็ควรโทรศัพท์แจ้งผู้รอการนัดหมายอยู่ปลายทางให้เข้าใจสาเหตุ เขาจะได้ไม่กระวนกระวายใจ ระหว่างเวลาที่เราล่าช้าไป เขาอาจจะคิดใช้เวลาช่วงนั้นไปทำประโยชน์อย่างอื่นเสียก่อนก็ได้

นี่ควรเป็นมารยาททางสังคมที่ควรปฏิบัติอย่างหนึ่งในยุคปัจจุบัน

ถ้าใครเคยนัดหมายกับผมคงพอนึกออกว่าผมวุ่นวายอยู่กับเรื่องเวลานาทีนี้มาก เพราะแต่ละวันมีเรื่องต้องปฏิบัติ ต้องดำเนินการหลายอย่าง

การแบ่งนัดหมายของผมเป็นช่วงเวลาต่างๆ จึงต้องเคร่งครัดกับตัวเอง และขอความกรุณาหรือขอความร่วมมือท่านอื่นช่วยตรงต่อเวลาเช่นเดียวกันด้วย

ผลที่ได้รับคือ แต่ละนาที แต่ละชั่วโมง ทั้งของผมและผู้ที่นัดหมายกับผมไม่สูญเปล่า

สมมุติฐานของผมเรื่องเวลาและการตรงต่อเวลาดังที่ได้วิสัชนามานี้ จะบกพร่องโดยอรรถาธิบายประการใด ขอท่านผู้อ่านได้โปรดให้อภัยแก่อาตมภาพผู้มีสติปัญญาน้อยด้วย เทอญ