2503 สงครามลับ สงครามลาว (86)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (86)

 

28 มีนาคม : อีกครั้งกับ B-52

“ภูสิน” บันทึกเหตุการณ์จากฐานยิงไทเกอร์หน้าสุดบนสกายไลน์ในตอนบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2515 ดังนี้

“ตอนบ่ายมีการโจมตีทางอากาศต่อ CW และเวลาประมาณ 15 นาฬิกา บีซี 602 เอ ก็จัดกำลังเพียง 1 หมวดเข้าไปลาดตระเวน แล้วก็ถอนตัวออกมาให้เครื่องบินเข้าโจมตีโดยไม่มีการยึดที่หมาย ฐานยิงไทเกอร์ก็ยิงคุ้มครองให้สองข้างทาง ฝ่ายเราปลอดภัย และจัดวางทุ่นระเบิดดักรถถังบนเส้นทางจากซำทอง บริเวณเนินอานม้า ระหว่าง CC และ CB ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานยิงไทเกอร์”

“ประมาณสองทุ่มกว่าๆ บีซี 603 และบีซี 605 รายงานว่า รถถัง ที 34 ของข้าศึกขึ้นมาตามถนนจากซำทอง พร้อมทั้งยิงใส่ทั้งสองหน่วย ขอให้หน่วยเหนือสนับสนุนการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ให้ด้วย บาวน์เดอร์ คอนโทรล ของซีไอเอได้ประสาน บก.ลอยฟ้า ขอให้สนับสนุนอย่างเร่งด่วน ซึ่งได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี โดยจัดสเปกเตอร์ (เครื่องบินซี-130 ติดตั้งปืนใหญ่ 105 มิลลิเมตร) มาสนับสนุน และหน่วยก็รายงานว่า รถถัง ที 34 คันหนึ่งแล่นทับทุ่นระเบิด สายพานขาด วิ่งต่อไปไม่ได้ และอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา เครื่องบินก็รายงานผลว่า ทำลายรถถังได้ 2 คัน ซึ่งตรงกับรายงานของ ฉก.วีพี ที่ว่า ‘รถถังข้าศึกซึ่งกำลังมุ่งหน้าจากซำทองขึ้นสกายไลน์ถูกทุ่นระเบิด ชำรุด 2 คัน’…”

“…หลังเที่ยงคืน 28/29 มีนาคม เครื่องบินบี 52 ทิ้งระเบิด ‘ปูพรม’ ในหุบซำทอง บนแนวสกายไลน์ ตามร่องเขา และต่อเนื่องไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงภูผาไซ บ้านหินตั้ง ได้ยินเสียงปืนเล็กเหมือนมีการปะทะดังจากบีซี 604 ตรวจสอบไปได้ความว่า ข้าศึกเข้ามาตีฉาบฉวยเพียงเล็กน้อย เลิกปะทะแล้ว ฝ่ายเราก็ไม่ได้จัดกำลังออกติดตามไป”

การทิ้งระเบิดจาก B-52 ตามบันทึกของ “ภูสิน” ครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่ฝ่ายเวียดนามเหนืออีกครั้งหนึ่งดังที่เคยปรากฏมาแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2515

 

29 มีนาคม

“07.00 น. บีซี 601 เอ เข้าตี CA ส่วนบีซี 602 เอ ซึ่งจะเข้าตี CW บก.ฉก.วีพีให้รอ ที 28 โจมตีทางอากาศเสียก่อน ที 28 ที่มาโจมตี CW บินวนอยู่พักหนึ่ง เมฆปกคลุมที่หมายมาก นักบินว่าไม่เห็นที่หมายแล้วบินกลับไป”

“09.15 น. CE CB (ปีกด้านตะวันตก หรือด้านซ้ายของสกายไลน์ 2) ก็ถูกยิง แรกๆ จังหวะการยิงห่างๆ คล้ายเป็นการยิงรบกวนและขัดขวาง แต่ก็รู้สึกว่าถูกยิงมากกว่าทุกวัน รอบเช้าหยุดเอาเกือบๆ เที่ยง ฝ่ายเราไม่มีการยิงต่อต้าน เพราะปืนใหญ่ที่แคนเดิลและวีนัสก็ถูกยิงด้วย ล่องแจ้งจึงยังคงไม่ปลอดภัย”

“17.00 น. ข้าศึกเข้าตีบีซี 604 ด้วยกำลัง 2 กองพัน และรถถัง 10 คัน ตามเส้นทางจากซำทองข้ามสกายไลน์”

“บีซี 604 ได้รับข่าววิทยุว่า “ฉก.วีพี สั่งให้อาสาสมัครทหารเสือพรานถอนตัว และ ผบ.ฉก.วีพี ได้เดินทางไปเวียงจันทน์แล้ว ทำให้บีซี 604 เสียขวัญและถอนตัวไปล่องแจ้ง”

ข่าววิทยุครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องแปลก ซึ่ง “ภูสิน” บันทึกไว้ว่า

“ในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุนั้น แต่ละหน่วยจะมีพนักงานวิทยุเพียง 2-3 คนซึ่งมักจะจำเสียงกันได้อยู่แล้ว สถานการณ์นี้ข้าศึกส่งข่าวลวงเข้าวิทยุของฝ่ายเราว่า…ฉก.วีพี สั่งให้อาสาสมัครทหารเสือพรานถอนตัว และ ผบ.ฉก.วีพี ได้เดินทางไปเวียงจันทน์แล้วนั้น ถ้าเป็นข่าวมาจากฝ่ายเราจริง หน่วยเหนือจะต้องส่งข่าว ซึ่งพนักงานวิทยุต้องจำเสียงกันได้ หากข้าศึกดักฟังและส่งข่าว พนักงานวิทยุซึ่งไม่คุ้นกับเสียงข้าศึกย่อมจะสงสัย แต่ในกรณีนี้ ไม่มีรายงานว่าหน่วยอื่นได้รับทราบข่าวลวงนี้ด้วย ผมไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวลวงจากข้าศึก อาจจะเป็นข่าว ‘ลวงกันเอง’ หรือ ‘กุ’ ข่าวขึ้นมาเองเพื่อถอนตัว”

“แสน” ผบ.ฉก.วีพีไปประชุมวางแผนการตั้งรับรักษาล่องแจ้งร่วมกับนายพลวังเปา และดั๊ก สแวนสัน (Doug Swanson) ที่ปรึกษาอเมริกัน ที่กองบัญชาการ ทชล.2 ของนายพลวังเปา เมื่อออกจากที่ประชุมและชี้แจงความจริง และให้ทุกคนกลับแนวรบดังเดิม

กำลังพลบีซี 604 ก็แสดงวินัยอันดี เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของ “แสน” กลับแนวรบดังเดิม เป็นการแสดงความเป็นผู้นำเหมาะสมกับสถานการณ์ของ “แสน” เป็นอย่างยิ่ง

17.30 น. บนสกายไลน์ ฐานยิงไทเกอร์ยังถูกยิงอย่างต่อเนื่อง บีซี 603 ซึ่งวางกำลังล้อมข้าศึกที่ CC (สกายไลน์ 1 ทางด้านตะวันตก) แจ้งว่าปะทะกับข้าศึกซึ่งลงไปจาก CC (ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ) ปะทะกับฝ่ายเราบนถนนและมีข่าวว่ารถถังข้าศึกกำลังมาจากซำทองด้วย

19.00 น. บีซี 604 แจ้งข่าวว่ามีการปะทะประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็สงบ ฐานยิงไทเกอร์ยิงไปที่ CC CW และ CA จนประมาณ 3 ทุ่ม B-52 ก็ทิ้งระเบิดทางด้านทิศเหนือ พวกเราเตรียมรับสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุด

21.00 น. บีซี 604 แจ้งว่า เห็นรถถังมาตามถนนจากซำทอง 3 คัน ปืนใหญ่จากทุกที่ตั้งยิงระดมยิงกันใหญ่ เครื่องสเปกเตอร์ก็มาทำงานให้ SPIKE (แฟกซ์ประจำบีซี 604) ฟังวิทยุโต้ตอบกันสรุปความได้ว่ายังไม่ได้ผล บีซี 604 คาดว่า รถถังข้าศึกอาจจะแล่นออกนอกถนนและดับเครื่องยนต์เสียก่อนก็ได้ และว่า หากเห็นหรือกำหนดที่ตั้งเป้าหมายได้แล้วจะส่งคำขอยิงมาใหม่

ล่องแจ้งยังคงไม่ปลอดภัย

วันนี้ฝ่ายเราดักฟังการส่งข่าวของข้าศึกได้ว่า จากการทิ้งระเบิดเมื่อคืน (28 มีนาคม 2515) ส่งผลให้ผู้บัญชาการกองพลเสียชีวิต กรม 148 และกรม 174 สูญเสียหนัก ไม่สามารถทำการรบต่อไปได้ จนต้องถอนกลับทุ่งไหหินและเชียงขวางทันที ภารกิจเข้ายึดล่องแจ้งตามเป้าหมายของ “CAMPAIGN Z” ประสบความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง

 

ล่องแจ้งจึงกลับสู่ความปลอดภัย

วันแห่งชัยชนะ

สปอตไลต์เล่าว่า

“เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่า ’17 วันอันตราย’ ของฝ่ายเรา เนื่องจากทหารเสือพรานทุกกองพัน รวมทั้ง บก.ใหญ่ที่ล่องแจ้ง ต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักหน่วงที่สุดของทหารเวียดนามเหนือหลายกรมที่ทุ่มโถมกำลังหมายจะยึดพื้นที่ให้ได้ โดยใน 7 วันแรกการรบอย่างฉกาจฉกรรจ์เกิดขึ้นที่ซำทองซึ่งเราสูญเสียพื้นที่หลังจากนั้น อีก 10 วันเป็นการรบที่ล่องแจ้งซึ่งฝ่ายเราป้องกันอย่างเหนียวแน่น”

“การโจมตีอย่างหนักหน่วงต่อล่องแจ้งทำให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงซึ่งอยู่ใน บก.ด้านล่าง ต้องย้ายขึ้นไปอยู่บน บก.ส่วนหลัง เพื่อลดอันตรายจากอาวุธหนักของข้าศึก”

“แต่ทหารเวียดนามเหนือยังคงโหมกระหน่ำโจมตีอีก ทำให้เหล่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงทั้ง ‘นายเทพ’ (พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์) ‘นายแสน’ (พล.อ.จุไฑ แสงทวีป) ต้องย้ายที่ตั้งอีกครั้งหนึ่งเข้าไปอยู่บริเวณหน้าถ้ำด้านหลังสนามบินพร้อมกับศูนย์ควบคุม ‘บาวน์เดอร์ คอนโทรล’ และ ‘บก.สิงหะ'”

“กระนั้น สถานการณ์ก็ยังคงวิกฤตอยู่ เพราะเมื่อถึงวันที่ 28 มีนาคม ทหารเวียดนามเหนือได้ใช้รถถังจำนวน 3 คันเป็นหัวหอกบุกตะลุยเข้ามาสู่ล่องแจ้งเพื่อโจมตีขั้นแตกหัก ‘นายเทพ’ สั่งการอย่างเด็ดขาดว่า ‘ไม่ให้ทุกหน่วยถอนกำลัง แม้จะต้องสู้จนทหารคนสุดท้ายก็ตาม'”

“ด้วยเหตุนี้ทุกกองพันจึงปักหลักทำการรบอย่างเข้มแข็ง ทั้งกองพันทหารเสือพราน บีซี 603 กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และกองพันทหารเสือพราน 607 รวมทั้งกองพันประจัญบานที่ 22 ซึ่งเป็นทหารลาวฝ่ายขวา แต่โชคดีเป็นของฝ่ายเราที่รถถังของข้าศึกแล่นเข้ามาทับทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ที่วางดักไว้ ซึ่งหากไม่เป็นดังนั้น โอกาสที่รถถังของเวียดนามเหนือจะเจาะทะลวงเข้ามาสู่ล่องแจ้งก็จะมีโอกาสเป็นไปได้สูง และหากถึงวันนั้นเมื่อไหร่ก็หมายความว่าล่องแจ้งต้องถูกตีแตกอย่างแน่นอน”

“อานุภาพของกับระเบิดดังกล่าวทำให้รถถังข้าศึกแล่นต่อไปไม่ได้ คงมีเพียงป้อมปืนเท่านั้นที่ยังคงสาดกระสุนเข้าใส่กองพันทหารเสือพรานได้อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้นไม่นานฝ่ายเราก็ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายรถถังของฝ่ายเวียดนามเหนือได้ 2 คัน ส่วนอีกคันหนึ่งหนีรอดไปได้”

“อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ฝ่ายเรารักษาเมืองล่องแจ้งไว้ได้ก็คือการโจมตีของเครื่องบินบี 52 โดยในตอนเที่ยงคืนของวันนั้น (28 มีนาคม) ขณะที่ทหารเวียดนามเหนือกำลังรวมพลครั้งใหญ่เพื่อเตรียมที่จะบุกเข้าโจมตีล่องแจ้งอีกครั้งหนึ่ง เครื่องบินบี 52 ได้บินเข้ามาอยู่เหนือล่องแจ้งและทำการทิ้งระเบิดลงไปยังพื้นที่โดยรอบ”

“การโจมตีของบี 52 ทำให้เกิดการระเบิดอย่างมหาศาล แผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นติดต่อกันหลายนาที ท้องฟ้าที่มืดมิดปรากฏเป็นแสงวูบวาบสะท้อนขึ้นมาจากพื้นดิน…การโจมตีเมืองล่องแจ้งจึงยุติลง พร้อมๆ กับการถอนตัวของกองทัพเวียดนามเหนือในแนวรบอื่นๆ อันหมายถึงว่าฝ่ายเราได้รับชัยชนะในศึกครั้งนั้น”

ขณะที่ “แสน” (พล.อ.จุไฑ แสงทวีป) บันทึกว่า

“เป็นวันที่ข้าศึกโหมกำลังหนักที่สุดของการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ล่องแจ้ง กองกำลังม้งของท่านนายพล (วังเปา) และกองกำลังอาสาฝ่ายไทยร่วมกันต่อต้านข้าศึกอย่างเหนียวแน่น สู้กันทั้งคืน ข้าศึกสูญเสียอย่างหนัก สูญเสียผู้นำ หมดกำลังใจต่อสู้ ละทิ้งอาวุธถอนตัวเร่งด่วน ท่านนายพล (วังเปา) วิทยุมาหาผมแต่รุ่งสาง และพูดด้วยเสียงอันดัง ‘พี่แสน ผมขอสรรเสริญ เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว’ พูดซ้ำๆ หลายเที่ยว เราพบกันเมื่อตอนสาย แสดงความดีใจ เดินเข้ามากอดกัน คนของมิตรประเทศก็เข้ามาร่วมแสดงความยินดี แต่เราก็หดหู่เสียใจไปกับผู้สูญเสีย ไม่ว่าเขา ไม่ว่าเรา ขอให้ทุกๆ ท่านจดจำวันนี้ไว้ให้ดี ขอให้รับรู้ว่า ‘วันนี้ คือวันแห่งชัยชนะ'”

สปอตไลต์บันทึกปิดท้ายว่า

“การถอนกำลังของกองทัพเวียดนามเหนือในเหตุการณ์สู้รบละเลงเลือดเดือนมีนาคมถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งของสงครามในลาว ทำให้ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่สามารถยึดครองลาวทั้งประเทศได้ตามต้องการ”

“เพราะในความเป็นจริงแล้วหากล่องแจ้งถูกยึด กองทัพเวียดนามเหนือก็จะสามารถควบคุมพื้นที่การรบไว้ได้ทั้งหมดและสามารถรุกต่อเข้าสู่เมืองอื่นๆ จนเข้าถึงเวียงจันทน์ได้สำเร็จ และหากลาวทั้งประเทศถูกยึด คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทหารเวียดนามเหนือจะกรีธาทัพข้ามแม่น้ำโขงมาสู่ฝั่งไทยหรือไม่”

“การต่อสู้อย่างทรหดและกล้าหาญของทหารเสือพรานในช่วงเวลานั้นจนสามารถรักษาล่องแจ้งไว้ได้จึงถือว่าเป็นการทำหน้าที่ป้องกันประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนในทางลับ”

“เป็นวีรกรรมของนักรบนิรนามซึ่งถูกปกปิดด้วยเหตุผลทางการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยไม่อาจยอมรับความจริงได้ว่ามีการส่งทหารไปทำการรบในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน”

“แม้ว่าทุกวันนี้ร่างของทหารเสือพรานตลอดจนผู้นำอากาศยานหน้าหรือแฟกซ์จำนวนไม่น้อยจะยังคงสาบสูญอยู่ในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิโหดเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว แต่เรื่องราวอันเปี่ยมไปด้วยเกียรติภูมิแห่งความกล้าหาญจากการอุทิศชีวิตและเลือดเนื้อของนักรบเลือดไทยเหล่านี้ซึ่งข้ามโขงไปเพื่อปกป้องปฐพีจะคงดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์”

ในประวัติศาสตร์การรบของสงครามลับครั้งนี้ การรบที่ทุ่งไหหินระหว่างธันวาคม พ.ศ.2514 จนถึงมีนาคม พ.ศ.2515 นับว่ารุนแรงที่สุด สร้างความสูญเสียให้กับทั้ง 2 ฝ่ายมากที่สุด และอาจถือได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ฝีมือรบของทหารเสือพรานไทยโดยเฉพาะ

กำลังพลอาสาสมัครทหารเสือพรานซึ่งส่วนใหญ่มิใช่ทหารประจำการ ได้เข้าสู่สนามรบแทนกรมผสมที่ 13 ซึ่งถอนตัวกลับประเทศไทยเมื่อกลางปี พ.ศ.2514 และจากนั้นเป็นต้นมาทหารเสือพรานไทยก็จะต้องเผชิญหน้าตามลำพังกับทหารเวียดนามเหนือซึ่งเป็นทหารประจำการที่ช่ำชองในการรบ รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากกลุ่มประเทศสังคมนิยม โดยเฉพาะปืนใหญ่และรถถังอีกด้วย

การรบใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ.2514 ถึงต้นปี พ.ศ.2515 ครั้งนี้จึงเป็นเสมือนบทพิสูจน์ของทหารเสือพรานไทย