เที่ยวงานวันชาติ 2482 กับสามเกลอ (2)/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

เที่ยวงานวันชาติ 2482

กับสามเกลอ (2)

 

ป.อินทรปาลิตบันทึกถึงงานฉลองวันชาติ 2482 ไว้ในตอนสามเกลอจอมแก่นว่า

“รุ่งอรุณแห่งวันที่ 24 มิถุนายน วันสำคัญที่ประชาชนชาวไทยได้รับสิทธิ อิสระเสรีโดยทั่วหน้า วันที่ประชาชนชาวไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นมิ่งขวัญของชาติ เพื่อให้ประชาชนรำลึกถึงวันสำคัญนี้ ทางราชการจึงจัดให้มีงานมโหฬารขึ้นทุกจังหวัด ขนานนามวันที่ 24 มิถุนายน ว่า วันชาติ” (ป.อินทรปาลิต, 2520, 61)

คนร่วมสมัยได้เชิญชวนประชาชนให้แต่งตัวสวยงามว่า “เพื่อสิริสง่าแก่ชาติของเรา ให้เราได้สั่งสอนลูกหลานของเราว่า ตัวเรานี้เป็นไทย ชาติของเราเป็นไทย…ให้ลูกหลานของเราเห็นว่าชาติของเราจะต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ในวันนี้ขอให้ลูกหลานได้รื่นเริงบันเทิงใจกับเราด้วย”

(ความสำคัญของวันชาติ, 2483, 34-35)

ความงอกงามของการปฏิวัติ และภาพอนุสาวรีย์ไทย ปากน้ำ ที่รัฐบาลวางแผนสร้าง

ชมขบวนรถแห่

“วันมหาสนุกของทุกๆ คน”

หากมีผู้ใดไปร่วมงานในครั้งนั้นจะพบว่า บนถนนราชดำเนิน “ตึกรามทุกหนทุกแห่งแลไสวด้วยไตรรงค์สะบัดพลิ้ว รถราง รถแท็กซี่ รถสามล้อ และรถประจำทางเบียดเสียดเยียดยัดกัน…ตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ข้าพเจ้าก็เพิ่งเคยเห็นงานอันน่าตื่นเต้นตกใจในครั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยว่า คนไทยที่เป็นคนไทยจริงๆ จะรู้สึกโสมนัสใจเพียงใด”

หลังจากที่ผู้คนได้มาเที่ยวชมกิจกรรมแรก คือ ตลาดนัดยามเช้าที่เชิงสะพานพุทธฝั่งธนบุรีแล้ว เมื่อ “ตะวันสาย ประชาชนนับหมื่นแสนก็หลั่งไหลบ่ายหน้าไปสู่จุดหมายแห่งเดียวกันคือถนนราชดำเนินและบริเวณสนามหลวง เพื่อดูการประกวดรถในวันชาติ ตามถนนหนทางกลาดกลื่นไปด้วยประชาชนทุกชาติ ภาษาไทย จีน แขก พม่า มอญ กะเหรี่ยง ฝรั่ง อบิซเนีย ตลอดจนกระทั่งพระภิกษุสงฆ์ รวมความว่า วันนี้เป็นวันมหาสนุกของทุกๆ คน” (ป.อินทรปาลิต, 89-90)

สำหรับกิจกรรมการประกวดขบวนรถแห่ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เชิงความคิด ความสวยงาม และขบขัน โดยขบวนแห่เคลื่อนจากสนามเสือป่า 10.00 น. ผ่านถนนราชดำเนิน ลงสะพานผ่านพิภพ เลี้ยวขวาผ่านประตูวิเศษไชยศรี อ้อมสนามหลวง หยุดขบวนที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา (สมุดกำหนดการงานฉลองวันชาติ, 2482, 31-32)

ในวันนั้นมีรถเข้าร่วมขบวนกว่าร้อยคัน เริ่มด้วยทหารม้าเป่าแตร ตามด้วยธงชาติ และตามด้วยรถขบวนหน่วยงานราชการต่างๆ ตามลำดับ

ตามด้วยขบวนรถของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการในพระองค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ศาล หน่วยราชการ สโมสรคณะราษฎร สโมสรสยามสหมิตร ห้างร้าน และพ่อค้าจำนวนมาก (ณัฐกมล ไชยสุวรรณ์, 2559, 156-157)

พลนิกรได้ไปชมขบวนรถแห่เช่นกัน และเมื่อ “การประกวดรถแห่เมื่อ 10 น.เศษที่ผ่านพ้นไปแล้ว ประชาชนทั้งหลายตื่นเต้นในความวิจิตรงดงามของรถที่เข้าประกวดไปตามกัน…ในราว 13 นาฬิกา พลกับนิกรไปหาอาหารกลางวันรับประทานที่ราชวงศ์…” (ป.อินทรปาลิต, 90-91)

จากนั้น เวลาเที่ยงมีการยิงสลุตจากทหารบก เรือ โรงงาน รถยนต์ เรือไฟ ยานยนต์ต่างๆ เปิดหวูดและสัญญาณเป็นเวลา 1 นาที จากนั้นเมื่อ 13.30 น. เริ่มพิธีเจิมสนธิสัญญา ณ โรงพิธีบริเวณพระบรมรูปทรงม้า ติดตามด้วยพิธีสวนสนาม โดยขบวนสวนสนามจัดเป็น 1 กองผสม ทหารราบ 13 กองพัน กองพันนาวิกโยธินที่ 1 และที่ 2 ปืนใหญ่ทหารราบ 1 กองพัน ทหารม้า 1 กองพัน ทหารปืนใหญ่ 4 กองพัน ทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 3 กองพัน รถถัง 1 กองพัน ยุวชนทหารและยุวนารี 2 กองพัน (สมุดกำหนดการฯ, 31-32)

ขบวนทหารม้าเป่าแตร นำขบวนรถแห่

สำหรับพลนิกร หลังจากชมขบวนแห่เรียบร้อยแล้ว พวกเขาไปกินอาหารเที่ยงที่ราชวงศ์ “พอ 14 นาฬิกาก็ออกจากราชวงศ์ จับรถแท็กซี่ตรงมาที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ พลกับนิกรรู้สึกลานตาที่เห็นคนมากมายก่ายกองมืดฟ้ามัวดินอย่างนี้ ทั้งสองเดินข้ามถนนมายังฝั่งโรงเรียนนายร้อย ขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ท่านผู้นำของชาติกำลังกล่าวสุนทรพจน์โดยทางวิทยุถ่ายทอดเสียงจากวังสวนกุหลาบ ประชาชนและแถวทหารพากันยืนสำรวมสติตั้งอกตั้งใจฟังท่านรัฐบุรุษของเราที่นิยมการทหารราวกับจิตใจของท่าน” (ป.อินทรปาลิต, 90-91)

รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนมาร่วมงานวันชาติจำนวนมาก ดังนั้น บริเวณถนนราชดำเนิน สนามหลวง สี่แยกคอกวัว วงเวียนใหญ่ วงเวียนเล็ก สวนลุมพินี มีเต็นท์พยาบาลบริการ แต่ละเต็นท์มีแพทย์และพยาบาลประจำคอยช่วยเหลือประชาชนที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่อีก 6 หน่วยตระเวนดูแลประชาชน พร้อมรถพยาบาล 1 คัน และห้องน้ำสาธารณะที่สนามเสือป่า ถนนราชดำเนิน สนามหลวง สวนลุมพินี วงเวียน 22 กรกฎาคม วงเวียนใหญ่ และวงเวียนเล็ก จำนวนถึง 35 แห่งเพื่อรองรับประชาชนอย่างเต็มที่

หากผู้มาเที่ยวชม กระหายน้ำ มีถังน้ำสะอาดให้ดื่มที่สนามเสือป่า ถนนราชดำเนิน สนามหลวง สวนลุมพินี วงเวียน 22 กรกฎาคม วงเวียนใหญ่ วงเวียนเล็ก หน้าโรงมหรสพ รวมถึง 36 แห่ง และมีรถวิ่งเติมน้ำดื่มตามสถานที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีตำรวจสุขาภิบาลคอยแนะนำการวางหาบเร่แผงลอยและรักษาความสะอาดในที่สาธารณะด้วย

ในวันนั้น มีการสวนสนามของทหารบกและทหารเรือ 25 กองพัน ทั้งทหารม้า ปืนหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยาน รถถัง และยุวชนทหาร 6 กองพันและยุวนารี โดยต้นขบวนตั้งที่ถนนจักรพรรดิพงษ์ วิสุทธิกษัตริย์ ท้ายขบวนเป็นรถถังที่ถนนท้ายวัง ส่วนยุวชนทหารตั้งขบวนที่ถนนหน้าพระลานแลหน้าพระธาตุ (สมุดกำหนดการฯ, 15-21) ทั้งนี้ ในระหว่างงานฉลองระหว่าง 23-24 นั้นจะปิดการจราจรบนถนนสนามไชย รอบสนามหลวง ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามเสิอป่า ราชดำเนินนอก-ใน อู่ทองในและราชวิถีด้วย

นอกจากนี้ มีการจัดมรหสพหลากหลายชนิดในทุกอำเภอและกิ่งอำเภอทั่วประเทศ ส่วนในพระนครและธนบุรีในย่านชุมชนด้วย

ประชาชนร่วมบริจาคสร้างบ่อน้ำให้ “ชาติ”

ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลชักชวนให้พลเมืองบริจาคเงินเพื่อสาธารณะกุศล อันแสดงให้เห็นถึงความร่วมใจในการรักชาติและเสียสละ รัฐบาลจะนำเงินไปสร้างประโยชน์ให้คนในชนบท “เนื่องจากตามท้องที่จังหวัดต่างๆ ยังอัตคัดขาดแคลนน้ำสะอาดที่จะบริโภคอยู่หลายแห่ง อันจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่อนามัยและชีวิตแก่ประชาชน รัฐบาลมีความห่วงใยจึงขอระดมทุนจากประชาชน” เป็นการป้องกันอหิวาตกโรคและโรคทางเดินอาหารให้หายไป และส่งเสริมให้มีแหล่งน้ำบริโภคในจังหวัดต่างๆ (สมุดกำหนดการฯ, ข)

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ร่วมสมัยบันทึกว่า สมาคมเอกชนให้ความร่วมมือกับการจัดงานวันชาติอย่างคึกคัก เช่น สโมสรสยามสหมิตร สโมสรในพระนครบริจาคเงินช่วยสร้างบ่อน้ำในวันชาติและซื้อปืนกลให้กองทัพไทย รวมทั้งประชาชน พ่อค้าและข้าราชการการบริจาคเงินเพื่อสร้างบ่อน้ำจำนวนมาก นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ลงข่าวกิจกรรมของนักเรียนในวันฉลองวันชาติ

อันสรุปได้ว่า มีการชุมนุมนักเรียนกึ่งแสนในงานวันชาติในพระนคร ธนบุรี ส่วนโรงเรียนประชาบาลและเทศบาล นักเรียนร่วมร้องเพลงชาติ ชักธงชาติ โดยคาดว่าจะมีนักเรียนทั่วประเทศร่วมการฉลองถึง 5 แสนคน (ณัฐกมล, 156-158)

ร้านก๋วยเตี๋ยวหาบเร่ ในช่วงเวลานั้น เครดิตภาพ ประวิทย์ สังข์มี
สมุดรายงานการสร้างบ่อน้ำและประชามิตร เครดิตภาพ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ณัฐกมล ไชยสุวรรณ์