เทศมองไทย : “เพื่อไทย” เมื่อไม่มี “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ”

ข่าวคราว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในความผิดอาญาคดี “จำนำข้าว” เป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา และออกหมายจับให้เจ้าพนักงานตามตัวมารับโทษ กลายเป็นข่าวใหญ่ที่แพร่ออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 27 กันยายน

เร็วพอๆ กับข่าวคราวเมื่อตอนที่ อดีตนายกรัฐมนตรีหลบหนีกำหนดการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ เมื่อราวกลางเดือนที่ผ่านมา

ผลของคดีที่ปรากฏนี้ ดูเหมือนเป็นการตอกย้ำความเห็นของนักวิเคราะห์วิจารณ์ทั้งไทยและเทศก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า เลือกตั้งไทยในหนหน้า ที่คาดกันว่าจะมีขึ้นในปีหน้า คงไม่มีใครในตระกูลชินวัตร เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงอีกแล้ว

ตัวอย่างเช่น เกร็ก เรย์มอนด์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่บอกเอาไว้ว่า การเดินทางออกนอกประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ คือ “จุดสิ้นสุดของตระกูลชินวัตร” ในทางการเมือง

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาต่อเนื่องจากทัศนะดังกล่าวนั้นก็คือ แล้วพรรคการเมืองที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณปลุกปล้ำมาตลอดอย่างพรรคเพื่อไทยล่ะ อนาคตจะเป็นอย่างไร?

 

หลายคนบอกว่านี่เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบในเวลานี้ครับ

แต่ถึงอย่างนั้น คำถามนี้ก็ชวนให้ผมหวนคิดถึงข้อเขียนของ โจชัว เคอร์แลนท์ซิก นักวิชาการด้านกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำ “สภาว่าด้วยการต่างประเทศ” หรือ “เคาน์ซิล ออน ฟอรีน รีเลชั่น-ซีเอฟอาร์” องค์กรเชิงวิชาการไม่แสวงผลกำไรเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผ่านเว็บบล็อกของซีเอฟอาร์เมื่อ 18 กันยายนที่ผ่านมานี่เอง

เคอร์แลนท์ซิกเขียนถึงเรื่องอนาคตของพรรคเพื่อไทยนี้ไว้ละเอียดพิสดารทีเดียว

 

ข้อสังเกตประการแรกสุดของเคอร์แลนท์ซิก ก็คือ แม้ เกร็ก เรย์มอนด์ จะเชื่อว่าตระกูลชินวัตรเดินทางมาถึง “จุดจบ” ทางการเมืองแล้ว แต่เรย์มอนด์เองก็ยังยอมรับไว้ด้วยว่า “ความสามารถในการดึงดูดมวลชนในชนบท” และ “การลดทอนอำนาจอิทธิพล (ทางการเมือง) ของกรุงเทพฯ ลง” ของพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้ “การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล”

ซึ่งถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เคอร์แลนท์ซิกตั้งข้อสงสัยว่า จุดจบทางการเมืองของตระกูลชินวัตร คง “เป็นคนละเรื่อง” กับ “ชะตากรรม” ในอนาคตของพรรคเพื่อไทย

เขาชี้ให้เห็นว่า ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองพรรคนี้สามารถ “รีบาวด์” ดีดตัวกลับมาอยู่ในแถวหน้าทางการเมืองได้ทุกครั้ง และยัง “คงสภาพ” การเป็นองค์กร “ประชานิยมตามแบบฉบับทักษิณ” (Thaksinite, populist organization) ตลอดมาอีกด้วย-ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อพรรคอะไร

เคอร์แลนท์ซิกยกสถานการณ์ของพรรคในปี 2007 มาเป็นอุทาหรณ์ 1 ปีก่อนหน้านั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพิ่งรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ แต่พรรคเพื่อไทย (ในชื่อพรรคพลังประชาชนในเวลานั้น) กลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้งใน 1 ปีให้หลัง ภายใต้การนำของ สมัคร สุนทรเวช ที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

ในความเห็นของเคอร์แลนท์ซิก เหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2007 สะท้อนข้อเท็จจริงสำคัญไว้หลายประการ

แรกสุด และเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทยพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถ “อยู่รอดได้” โดยไม่จำเป็นต้องมี “ชินวัตร” ไหนๆ มาเป็นคนกุมบังเหียน

ถัดมา เขาบอกว่า การเลือกคุณสมัครในตอนนั้น แสดงให้เห็นว่า สมาชิกระดับแกนนำของพรรค “มีความยืดหยุ่นสูง” และสามารถ “ทำงานร่วมกันได้” กับนักการเมืองไทยระดับหัวแถว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในแถวในแนวทางเดียวกับสิ่งที่พรรคให้ความสำคัญสูงสุด

เพราะ สมัคร สุนทรเวช ในเวลานั้นเป็นที่รู้จักกันดีว่า “อนุรักษนิยมสุดขั้ว” ไม่เคยแสดงท่าทีให้การสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจประชานิยมและนโยบายเชิงสังคมมาก่อนในอดีต

 

อันที่จริง เคอร์แลนท์ซิกกลับมองว่า การไม่มี “ชินวัตร” อยู่ด้วยกลับจะเป็นการดีกับพรรคเพื่อไทยยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป ในทางหนึ่งนั้นจะทำให้พรรคไม่ตกเป็นเป้าถูกโจมตีว่าเป็น “พาหนะ” สู่อำนาจของตระกูลชินวัตร ในอีกทางหนึ่งนั้น เคอร์แลนท์ซิกเชื่อว่า เพราะพรรคยังคงมีแกนนำที่มี “ศักยภาพ” อยู่ ไม่ว่าจะเป็น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค หรือ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ เคอร์แลนท์ซิกเชื่อว่า การไม่มีทั้ง “ยิ่งลักษณ์และทักษิณ” อาจทำให้รัฐบาลทหาร “ฮึกเหิม” และยอมให้มีการเลือกตั้งในปี 2018 นี้ ที่อาจทำให้เพื่อไทยสามารถกลับมามีอำนาจได้อีกครั้ง

เพราะเคอร์แลนท์ซิกไม่เชื่อว่าทหารจะใช้เวลาเพียง 3 ปี ลบล้างอิทธิพลของนโยบายประชานิยมได้นั่นเอง