‘กัญชา’ เหรียญสองด้าน ดาบสองคม เสียงจากผู้ประกอบการ แนะรัฐบาลดูแลจริงจัง!

“กัญชา กัญชา กัญชา”

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มองไปทางไหน อ่านข่าวอะไร มักจะมี “ประเด็นกัญชา” อยู่แวดล้อมคนไทย หลังจากมีการปลดล็อกจากยาเสพติด

แน่นอนว่าประเด็นถกเถียงยังคง “เสียงแตก” ว่า “ความสมดุล” “ความเหมาะสม” ควรอยู่ที่จุดไหน?

การกำกับดูแลของระดับรัฐบาล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคงต้องทำหน้าที่กระตุ้นเตือนสังคมอย่างไร

แต่ในขณะเดียวกัน “ภาคธุรกิจ” ที่คิดวางแผนจะต่อยอด หาจุดขาย โดยตอบสนองนโยบายที่ให้มีการปลดล็อกนี้อย่างไร

“มติชนสุดสัปดาห์” ไปจับเข่าคุยกับผู้ประกอบการว่าเขา “รู้สึก” อย่างไร?

“อยากบอกว่ากัญชานั้นก็เหมือนเหรียญสองด้านหรือดาบสองคม เพราะมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ถ้าใช้เกินขนาดและไม่เหมาะสมกับตัวเอง อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ในเรื่องการใช้กัญชาอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น เพราะโทษของกัญชาถ้าใช้เกินขนาด หรือใช้ไม่เหมาะสมกับวัยหรือร่างกายตัวเอง ก็จะมีผลเสียตามมามากมาย” คือเสียงจาก ดร.ณัฐชยา คุปตะพันธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเชิงเขาหมอน และเป็นผู้บริหาร ‘สามัคคีฟาร์ม’ ฟาร์มกัญชงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดจากสารเคมี เป็น Organic 100% ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก

ดร.ณัฐชยาย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาที่ไปว่าทำไมถึงจับพลัดจับผลูเข้ามาทำฟาร์มได้ หลังจากก่อนหน้านี้เธอมีประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีข่าวว่า กัญชาและกัญชงจะถูกดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศเมื่อหลายปีก่อน ตัวเองก็มีความสนใจมาก

โดยเริ่มต้นความสนใจที่กัญชาก่อน จึงตัดสินใจไปลงเรียนประมาณปี พ.ศ.2562-2563 ในหลักสูตรกัญชาเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รุ่นที่ 1

ปรากฎว่าช่วงที่เรียนในหลักสูตรดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพาไปดูงานที่แม่โจ้ และได้ทราบว่าที่แม่โจ้มีการทำวิจัยเรื่องการปลูกกัญชากัญชงกันแบบจริงจัง

ซึ่งตอนนั้นเองจึงได้รู้จักและเรียนรู้ศาสตร์นี้อย่างแท้จริงจาก ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งทุกคนในวงการจะขนานนามว่าอาจารย์เป็นนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านการปลูกกัญชา กัญชง เบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย

หลังจากนั้นเราก็ติดตามข่าวคราว และต่อมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการทำเรื่องเพื่อขอปลูกกัญชา

จนกระทั่งกรมการแพทย์แผนไทยได้มีการทำ MOU ร่วมการแพทย์ทางเลือก กับกลุ่มบริษัท และกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรอื่นที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาสูตรตำรับ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการพาณิชย์ เป็นการเปิดทางให้กลุ่มวิสาหกิจสามารถปลูกกัญชงได้

จุดนี้เราเลยตัดสินใจมาทำฟาร์มกัญชงเลย

ดร.ณัฐชยา เป็นคนที่ลงมาดูเอง ทำเองทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การทำโรงเรือน การเตรียมดิน คัดเลือกพันธุ์ ไปจนถึงการแปรรูปในรูปแบบของการนำดอกไปสกัดสาร CBD เพื่อรองรับวงการอุตสาหกรรมด้านอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เจ้าตัวบอกว่า “การปลูกและการดูแลไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

ส่วนตัวเคยมี “บทเรียนราคาแพง” ครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้ตัวเองต้องไปกลับที่ฟาร์มทุกวัน และเข้าไปควบคุมการปลูก การดูแล เอาใจใส่ และกระบวนการทุกอย่างต้องผ่านการคำนวณเรื่องแสง อุณหภูมิ ระบบดูแลที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด รัดกุมที่สุด และกรองผู้คนเข้าเรือนต้องใส่ชุดที่กำหนด เพื่อไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาอย่างเด็ดขาด

จนวันนี้ได้ขยายเรือนเพาะปลูกเต็มพื้นที่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี บนเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ตั้งเป้าจะมีโรงเรือนในการปลูกกัญชงทั้งสิ้น 35 เรือน

ซึ่งต้องบอกว่า ทางฟาร์มของเราได้รับคำปรึกษาจากศาสตราจารย์ ดร.อานัฐจากแม่โจ้ เป็นที่ปรึกษาด้านการเพาะปลูก และมี อ.อ๊อด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาด้านเคมีอินทรีย์ เราเองก็เป็นคนที่บ้างาน ลุยงาน คิดจะต่อยอดสิ่งต่างๆ ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการในประเทศของเราต้องมีใบอนุญาตเพื่อขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่มาของเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าเมล็ดพันธุ์ต้องชัดเจน และต้องรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบด้วยว่า ผลผลิตที่ได้นั้นนำไปส่งขายที่ไหน

ถ้าจะไปส่งที่โรงงานสกัด โรงงานนั้นก็ต้องมีใบอนุญาตโรงงานสกัดที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษา

พูดถึง “กัญชง” และ “กัญชา” หลายคนอาจสงสัยว่ามันแตกต่างกันอย่างไร เพราะหากดูจากลักษณะภายนอกคือใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่พูดถึงความต่างชัดเจนคือสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของ “วัตถุประสงค์ในการใช้” และ “ปริมาณสาร” ซึ่งกัญชงจะมีปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (THC) น้อยกว่า 1 (น้อยกว่า 0.3 ไม่ถือว่าเป็นสารเสพติด)

ส่วนกัญชาจะมีปริมาณ THC 1-20 กล่าวสรุปสั้นๆ ได้ง่ายๆ ว่า กัญชงไม่ได้ถูกนำมาใช้ในแง่ของยาเสพติด แต่ในขณะเดียวกัน กัญชาถ้าหากถูกนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และถูกวิธี ก็จะสามารถนำมาใช้ในวงการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยบางโรคได้เช่นเดียวกัน

คนส่วนใหญ่คุ้นเคยที่จะเรียกกัญชา-กัญชง ว่า Cannabis แต่ถ้าเป็นกัญชง จะมีคำเฉพาะว่า Cannabis sativa เป็น Cannabis ที่มี CBD หรือ Cannabidiol ซึ่งเป็นสารสกัดจากกัญชงที่ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ไม่ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มและเลื่อนลอย เหมือนสาร THC หรือ Tetrahydroconnabinol ในกัญชา

แต่สาร CBD ในกัญชง จะมีสรรพคุณที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ อย่างแพร่หลายได้มากกว่า

ต้องเน้นย้ำว่า การดูแลต้นกัญชงต้องใส่ใจอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ว่าจะปลูกกันได้ง่ายๆ เราจะพบว่ามีขั้นตอนรายละเอียดจำนวนมาก ต้องควบคุมปัจจัย ทั้งความชื้น การเจริญเติบโตไม่ให้ต้นสูงจนเกินไป ต้องอาศัยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ต้องเป็นนักช่างสังเกตแบบละเอียดมาก เพราะถ้าหากมีความผิดปกติ จะส่งผลไปถึงทั้งเรือนได้

ขณะเดียวกัน ภายใน “ครอบครัว” ได้มีการพูดคุยว่า เนื่องจากพวกเราลงมาดู มาทำ มากำกับเองทุกขั้นตอน เพื่อสุขภาพของเราและคนอื่นๆ เราจึงตั้งมั่นใจแน่วแน่ ว่าจะไม่มีสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% เท่านั้น

“ส่วนตัวก็เชื่อในเรื่องบุญ การให้ และผลของการกระทำ ถ้าเราตั้งใจดี คิดดี จะทำเพื่อสุขภาพ คำตอบเดียวที่มีคือ ‘การทำเกษตรแบบอินทรีย์’ เพราะดีต่อทั้งเรา ครอบครัว คนในพื้นที่ คนทั้งประเทศ และดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

ดร.ณัฐชยากล่าวย้ำ

ในส่วนของการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น ดร.ณัฐชยากล่าวว่า ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ในการนำเอากัญชง กัญชา ไปครีเอตเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์แทบจะทุกสิ่งอย่างในชีวิต ในฐานะผู้ที่ตั้งใจศึกษาศาสตร์ด้านนี้ และมีการต่อยอดทางความคิดในแง่การใช้ประโยชน์ และต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมเป็นคุณต่อผู้บริโภค

ดร.ณัฐชยากล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า ทุกผลิตภัณฑ์ต้องมีการคิดค้น ทดลอง และสำคัญที่สุดคือ “การคำนวณ” ปริมาณต่างๆ ให้มีความเหมาะสม รัดกุม และทำด้วยความเข้าใจ ใส่ใจในทุกโปรดักต์ ส่วนตัวเองกว่าจะต่อยอดหรือทำผลิตภัณฑ์ตัวไหนออกมา เช่น กาแฟ โกโก้ ชา ยาดม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% ตลอดจนน้ำผึ้ง หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ที่เร็วๆ นี้ (6-10 กรกฎาคม 2565) จะมีการออกบูธครั้งใหญ่ ณ งาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” อิมแพ็ค เมืองทองธานี เราก็ได้มีการส่งผลไปตรวจ คำนวณหาค่าต่างๆ ทุกครั้ง มิเช่นนั้นหากใครก็ตามที่ใช้ไม่คำนึงถึงจุดนี้เลย ก็จะมีปัญหาตามมา

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่ากัญชานั้นก็เหมือนเหรียญสองด้าน เป็นดาบสองคม มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ถ้าใช้เกินขนาดและไม่เหมาะสมกับตัวเอง เราต้องรณรงค์และให้ความรู้เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง จึงเป็นหน้าที่สำคัญของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง