ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
คนมองหนัง
เบื้องหลังความสำเร็จ
‘วงนั่งเล่น-ธีร์ ไชยเดช’
ณ ‘มิวเซียมสยาม’
ถ้าใครเป็นแฟนเพลงและแฟนเพจของ “วงนั่งเล่น” คงจะพอทราบข่าวคราวว่าแนวคิดการจัดกิจกรรมแสดงดนตรีสดบนสนามหญ้าด้านหน้ามิวเซียมสยามเมื่อวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นมาก่อนกระแส “ดนตรีในสวนยุคชัชชาติ” และเกิดก่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 22 พฤษภาคมเสียอีก
เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อมีอีเวนต์ ออร์แกไนเซอร์เจ้าหนึ่ง ว่าจ้าง “วงนั่งเล่น” และ “ธีร์ ไชยเดช” ไปแสดงดนตรีในบรรยากาศแคมปิ้งที่จังหวัดเชียงใหม่และนครราชสีมา พร้อมทั้งเก็บเงินค่าเข้าชม (ใครจะไปดูต้องจองตั๋วก่อน)
แต่ต่อมา กิจกรรมเหล่านั้นกลับถูกยกเลิกไปแบบงงๆ โดยที่ทั้งนักดนตรีและคนดูที่จ่ายเงินค่าเข้าชมไปแล้วต่างติดต่อผู้จัดงานไม่ได้ (เข้าใจว่า ขณะนี้ ผู้เสียหายบางส่วนกำลังฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้จัดงานกันอยู่)
ดังนั้น “วงนั่งเล่น” จึงอยากจะจัดฟรีคอนเสิร์ตเพื่อขอโทษ-เยียวยาแฟนเพลงที่ได้รับผลกระทบจากกรณีข้างต้น จนสุดท้าย ก็มาได้สถานที่แสดงดนตรีเป็นสนามหญ้าด้านหน้ามิวเซียมสยาม (ผ่านการประสานงานของ “จิระนันท์ พิตรปรีชา”)
ทั้งยังโชคดีที่กำหนดการจัดงาน ซึ่งวางเอาไว้ล่วงหน้า ดันมาอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่สองของกระแสฟื้นฟูกิจกรรม “ดนตรีในสวน” พอดิบพอดี
นี่คือที่มาของปรากฏการณ์คนล้นทะลักมิวเซียมสยาม ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้กัน
แม้ด้านหนึ่ง จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการแสดงดนตรีบนลานหญ้าของ “วงนั่งเล่น” และ “ธีร์ ไชยเดช” ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย (วัดจากปริมาณผู้เข้าชม) เพราะกระแส “ดนตรีในสวนยุคชัชชาติ” และการโพสต์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมบนเพจเฟซบุ๊กของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” (ซึ่งมีคนมาคลิกไลก์หลายหมื่นราย)
แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นอีกอย่างน้อยๆ สองส่วนที่ช่วยหนุนส่งกิจกรรมอยู่เช่นกัน
องค์ประกอบข้อแรก คือ สถานที่จัดงาน ซึ่งเดินทางไปถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน
องค์ประกอบประการถัดมา คือ แนวดนตรีของ “วงนั่งเล่น” และ “ธีร์ ไชยเดช” ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยกีตาร์อะคูสติกนั้น นับเป็นการจับคู่ที่เหมาะสมลงตัวกับงาน “ดนตรีในสวน” อย่างยิ่ง
และถือเป็น “ทางเลือกใหม่” ซึ่งช่วยต่อยอดให้นิยามของ “ดนตรีในสวน” ขยับขยายออกมาจากวงเครื่องสาย วงเครื่องเป่า หรือดนตรีแจ๊ซ
นอกจากนี้ ใครที่ชอบฟังเพลง-ดูการแสดงดนตรีย่อมตระหนักได้ว่า “วงนั่งเล่น” และ “ธีร์ ไชยเดช” ล้วนมี “ต้นทุนทางวัฒนธรรม” ที่สูงในระดับหนึ่งมาแต่เดิม
กระทั่งน่าแปลกใจไม่น้อย ที่สื่อมวลชนซึ่งรายงานข่าว-ภาพเกี่ยวกับกิจกรรมแสดงดนตรีที่มิวเซียมสยาม ต่างพากันวิเคราะห์มันในฐานะส่วนหนึ่งของ “ปรากฏการณ์ชัชชาติ” โดยแทบไม่ให้รายละเอียดเลยว่าศิลปินที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมหลายพันคนไว้ได้นานหลายชั่วโมงนั้นเป็นใคร? มาจากไหน? มีฐานแฟนคลับมากน้อยเพียงใด?
(ถ้าเรามองว่าพลังโซเชียลมีเดียจากเพจเฟซบุ๊กชัชชาติได้กระตุ้นผู้คนจำนวนมหาศาลให้ออกไปร่วมกิจกรรมที่มิวเซียมสยามเมื่อวันเสาร์ เราก็ไม่ควรมองข้ามว่าโพสต์ประชาสัมพันธ์การจัดงานครั้งนี้ในเพจของวงนั่งเล่นเองนั้นมียอดไลก์ระดับหลายพัน)
ในฐานะคนที่ตามดูฟรีคอนเสิร์ต (รวมถึงคอนเสิร์ตแบบเก็บเงิน) ของ “วงนั่งเล่น” มาไม่น้อย ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกผมว่า กิจกรรมแสดงดนตรีส่วนใหญ่ของพวกเขา มักมีคนดู/คนฟังเดินทางมาเต็ม (หรือหนาแน่น) พื้นที่จัดงานแทบทุกครั้ง
ปรากฏการณ์คนมาดูการแสดงดนตรีของ “วงนั่งเล่น” จน “ล้นทะลัก” เคยเกิดขึ้นแล้วหนหนึ่งเมื่อปี 2562 ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้จัดงานเปิดตัวแผ่นไวนิลของวง พร้อมด้วยกิจกรรมมินิคอนเสิร์ต (มีศิลปินรุ่นน้อง เช่น “อภิรมย์” มาเป็นแขกรับเชิญ) ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้นล่างของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม นับแต่ช่วงโควิดแพร่ระบาดเป็นต้นมา “วงนั่งเล่น” กลับร้างลาจากกิจกรรมแสดงดนตรีในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ไปนาน ทั้งๆ ที่การเล่นสดคือจุดขายที่แข็งแรงที่สุดของวงดนตรีวงนี้
ดังนั้น งานที่มิวเซียมสยามเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 จึงเป็นดั่งรูระบาย ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการเล่นของ “วงนั่งเล่น” และความต้องการดูของแฟนเพลง ที่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกอัดอั้นตันใจมานาน ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ
ไม่ต่างอะไรกับ “ธีร์ ไชยเดช” ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาจะจัดงานคอนเสิร์ตยาวๆ แต่มีสเกลเล็กๆ (ผู้ชมหลักร้อยคนต่อรอบ) ที่หอศิลป์ กทม. อย่างน้อยปีละครั้ง (ครั้งหนึ่งมีรอบการแสดง 3-4 รอบ) เพื่อสื่อสารกับบรรดาแฟนคลับที่เหนียวแน่นของตนเอง
แล้วกิจกรรมทำนองนั้นก็ถูกระงับยับยั้งไปในยุคโควิดเช่นกัน จนการเล่นดนตรีที่มิวเซียมสยามอาจถือเป็นการแสดงสดต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีของธีร์
หมายความว่าความสำเร็จที่มิวเซียมสยาม มิได้วางฐานอยู่บนความนิยมทางการเมืองของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เท่านั้น หากยังวางฐานอยู่บนความเข้มแข็งในทางวิชาชีพของศิลปินอย่าง “วงนั่งเล่น” และ “ธีร์ ไชยเดช” ด้วย
ประเด็นสุดท้ายที่ขออนุญาตกระตุกเตือนกันสักเล็กน้อย ก็คือ การประเมินความสำเร็จของงาน “ดนตรีในสวน” ตลอดจนการแสดงดนตรีของ “วงนั่งเล่น-ธีร์” ที่มิวเซียมสยาม คงไม่สามารถถูกวิเคราะห์ด้วยกรอบคิดเรื่องการปะทะกันระหว่าง “ชัชชาติ/ประชาธิปไตย” กับ “ทหาร/เผด็จการ” เสมอไป
หากมองเรื่องนี้ โดยยึด “การเมือง” เป็นแก่นแกน คงต้องยอมรับว่า “การเมืองไทย” ได้เคลื่อนที่มาไกลอีกระดับหนึ่งแล้ว อย่างน้อยที่สุด คะแนนเสียงมหาศาลเข้าขั้นฉันทามติของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ก็บ่งชี้ว่าชัยชนะเด็ดขาดทางการเมืองจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อเราสามารถคลี่คลาย/กลืนกลาย “ความแตกแยกแบบแบ่งขั้ว” บางอย่างให้สูญสลายเลือนรางลงไป
(เอาเข้าจริง งานดนตรีที่มิวเซียมสยามก็คงมีผู้ชมที่เป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อส้ม คนเสื้อเหลือง สลิ่ม หรือคนเคยเป่านกหวีด ปะปนผสมผสานกัน)
หรือถ้าจะมองโดยยึดเอา “ดนตรี” เป็นแกนกลาง ก็ต้องเข้าใจว่าดนตรีป๊อปนั้นมี “พลัง/มนต์วิเศษ” ที่ดลบันดาลให้เกิดผลลัพธ์-สายสัมพันธ์ยอกย้อนเกินคาดเดาได้ตลอดเวลา
และ “พลัง/มนต์วิเศษ” ที่ว่า ก็มักล่องลอยอยู่เหนือภาวะการเป็นขั้วตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งทางการเมือง
เช่น ในแง่หนึ่ง คนฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากอาจชื่นชอบ “วงนั่งเล่น” และชื่นชมผลงานการแต่งเพลงของสมาชิกในวง ที่เป็นนักแต่งเพลงยอดฝีมือแห่งยุค 90
แต่อีกแง่หนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาจเป็นแฟนเพลง “วงนั่งเล่น” เหมือนกัน
เห็นได้จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชอบเปิดเพลง “คนดีไม่มีวันตาย” ให้ใครต่อใครฟัง หรือในยามท้อแท้โดนมรสุมการเมืองรุมกระหน่ำ นายกฯ ก็เคยเปิดเพลง “อย่ายอมแพ้” ปลอบใจตนเองต่อหน้าธารกำนัลมาแล้ว
เรื่องบังเอิญก็คือทั้งสองบทเพลงดังกล่าวล้วนเป็นผลงานการเขียนคำร้อง-แต่งทำนองชิ้นสำคัญของ “ปิติ ลิ้มเจริญ” สมาชิก “วงนั่งเล่น” พอดี
บางที ถ้าไม่ต้องทำรัฐประหาร ไม่ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน ในวันเสาร์ที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นนายทหารเกษียณวัยใกล้ 70 ปีคนหนึ่ง พาภรรยาและลูกๆ ไปนั่งชมดนตรีอยู่บนสนามหญ้าหน้ามิวเซียมสยาม
ทว่า การเลือกเส้นทางอีกสาย (ไม่ว่าจะด้วยการตัดสินใจของตนเองหรือแรงบีบบังคับของเหตุปัจจัยอื่นๆ) ก็ผลักไสให้ชะตากรรมของ “ลุงตู่” ต้องถูกผูกมัดอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังรากลึกยากสะสาง
การเปรียบเทียบความนิยมอันน้อยนิดของกิจกรรมแสดงดนตรีโดยกรมดุริยางค์ทหารบกและการสื่อสารสาธารณะที่ล้มเหลวในฐานะผู้นำประเทศ กับภาพผู้คนคับคั่งที่มิวเซียมสยามและบทบาทผู้ว่าฯ กทม. อันตื่นเต้นเร้าใจของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”
ก็คือกิ่งก้านสาขาหนึ่งของความขัดแย้งเช่นนั้น •